ซัลฟา (Sulfa drugs) ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ทั่วไป

ยาซัลฟา (Sulfa drugs) เป็นกลุ่มยาที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) ถูกสังเคราะห์เพื่อนำมากำจัดเชื้อแบคทีเรีย (Antimicrobials) และนำมาผลิตเป็นยารักษาโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน (Anti-diabetic agents) ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) ยารักษาโรคลมชัก (Anticonvulsants) เป็นต้น ส่วนใหญ่เมื่อมีการใช้กลุ่มยาซัลฟาเราสามารถพบอาการแพ้ได้อย่างเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะเรื่องที่ยาซัลฟาเข้าไปก่อให้เกิดความเสียหายในสมองของผู้ป่วย ซึ่งจัดหมวดหมู่ยาซัลฟาตามกลุ่มของการรักษาได้ดังนี้

ก. ยาต้านจุลชีพ (Antimicrobials) จำแนกตามระยะเวลาของการออกฤทธิ์ ได้แก่

  • ออกฤทธิ์ระยะสั้น เช่น Sulfacetamide, Sulfadiazine, Sulfadimidine, Sulfafurazole, และ Sulfisomidine
  • ออกฤทธิ์ระยะกลาง เช่น Sulfadoxine, Sulfamethoxazole, Sulfamoxole
  • ออกฤทธิ์นาน เช่น Sulfadimethoxine, Sulfamethoxypyridazine
  • ออกฤทธิ์นานมาก เช่น Sulfadoxine, Sulfametopyrazine

ข. ยารักษาโรคเบาหวาน (Anti-diabetic agents) โดยมีโครงสร้างของกลุ่มยาซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylureas) เช่น Acetohexamide, Carbutamide, Chlorpropamide, Glibenclamide, Glibornuride, Gliclazide, Glyclopyramide, Glimepiride, Glipizide, Gliquidone, Glisoxepide, Tolazamide, Tolbutamide

ค. ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เช่น Acetazolamide, Bumetanide, Chlorthalidone, Clopamide, Dorzolamide, Furosemide, Hydrochlorothiazide, Indapamide, Mefruside, Metolazone, Xipamide

ง. ยารักษาโรคลมชัก (Anticonvulsants) เช่น Ethoxzolamide, Sultiame, Topiramate, Zonisamide

จ. ยาต้านไว้รัส (Antiretrovirals) เช่น Amprenavir, Darunavir, Delavirdine, Fosamprenavir, Tipranavir

ฉ. ยากลุ่มอื่นๆ เช่น Apricoxib, Bosentan, Celecoxib, Dofetilide, Dronedarone ,Ibutilide,Parecoxib, Probenecid, Sotalol, Sulfasalazine, Sumatriptan, Tamsulosin, Udenafil

อนึ่ง เนื่องจากยาซัลฟาจัดเป็นยาอันตราย ในบางรายหลังใช้ยานี้จะเกิดการแพ้ยาและมีอาการรุนแรงมาก การเลือกใช้ยาซัลฟากลุ่มใดกับผู้ป่วยนั้น จะขึ้นกับอาการโรคซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป ความปลอดภัยในการใช้ยานี้ จึงควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาซัลฟามีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ซัลโฟนาไมด์

ยาซัลฟามีสรรพคุณดังนี้

  • รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย
  • รักษาโรคเบาหวาน
  • รักษาและป้องกันโรคลมชัก
  • เป็นยาขับปัสสาวะ
  • ยาต้านไวรัส

ยาซัลฟามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

เนื่องจากยาซัลฟามีหลายกลุ่ม ดังนั้นกลไกการออกฤทธิ์จะขึ้นกับชนิดของยานั้นๆ ซึ่งมีกลไกและรายละเอียดแตกต่างกันออกไป จึงไม่ขอกล่าวในบทความนี้

ยาซัลฟามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซัลฟามีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาเม็ด ขนาด 5, 10, 300, และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำ ขนาด 250 มิลลิกรัม/4 มิลลิลิตร
  • ยาน้ำ ขนาด 325 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

ยาซัลฟามีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาซัลฟาจะขึ้นกับกลุ่มและชนิดของยา รวมถึงอาการโรคของผู้ป่วย ทำให้ขนาดรับประทานมีความแตกต่างกัน และเป็นเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์เท่านั้นที่สามารถสั่งจ่ายยาได้ในขนาดที่ปลอดภัย ถูกต้อง และเหมาะสมกับคนไข้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซัลฟา ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาซัลฟาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซัลฟา สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาซัลฟามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซัลฟามีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ที่หลากหลาย เช่น ทำให้ทางเดินปัสสาวะมี ความผิดปกติ (เช่น ปัสสาวะขุ่นหรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ) ดีซ่าน วิงเวียน ปวดศีรษะ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นคัน แพ้แสงแดด โลหิตจาง ปัสสาวะเป็นเลือด ระบบเลือดผิดปกติ และอาจถึงขั้นแพ้ยา เช่น มีอาการของ Stevens-Johnson syndrome เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาซัลฟาอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซัลฟาดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาซัลฟา
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กทารก เด็กแรกเกิด
  • ระวังการใช้ยาอื่นที่มีส่วนประกอบของธาตุกำมะถัน (เช่น ยาทารักษาโรคผิวหนังบางชนิด) ในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาซัลฟา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะตับ-ไตทำงานผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์
  • การใช้ยาซัลฟา ควรดื่มน้ำตามเป็นปริมาณที่เพียงพอ (2 แก้ว) ในการละลายและกระจายตัวมิให้เกิดการตกตะกอนในปัสสาวะ
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซัลฟาด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาซัลฟามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซัลฟามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้

  • การใช้ยาซัลฟา เช่น Sulfamethoxazole ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin จะทำให้การทำงานของยาต้านการแข็งตัวของเลือดมีฤทธิ์นานขึ้น ควรปรับขนาดรับ ประทานให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาซัลฟา เช่น Sulfasalazine ร่วมกับยาต้านไวรัสเฮชไอวี เช่น Tenofovir สามารถ ก่อให้เกิดปัญหาที่ไตของผู้ป่วย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรต้องปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสม
  • การใช้ยาซัลฟากับผู้ป่วยที่มีภาวะปัสสาวะเป็นกรด จะทำให้ยาซัลฟาหลายตัวตกตะกอนในปัสสาวะ เกิดทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ หรือรับประทานร่วมกับยาบางตัว เช่น Methenamine (ยารักษาการอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะ) ซึ่งทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นกรด และเกิดตะกอนในปัสสาวะได้เช่นกัน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาซัลฟาในผู้ป่วยมีภาวะปัสสาวะเป็นกรด
  • การใช้ยา Sulfamethoxazole/Trimethoprim ร่วมกับยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE inhibitors จะทำให้ระดับโพแทสเซียมในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น ควรปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายไป
  • การใช้ยาซัลฟาร่วมกับยารักษาโรคหัวใจ เช่น Digoxin สามารถเพิ่มระดับ Digoxin ในกระแสเลือด และทำให้เกิดพิษของ Digoxin ต่อร่างกายเพิ่มขึ้น หากไม่มีความจำเป็นควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยาซัลฟาร่วมกับยารักษาโรคข้อรูมาตอยด์ เช่น Cyclosporine จะทำให้ฤทธิ์ในการ รักษาของ Cyclosporine ด้อยประสิทธิภาพลง อีกทั้งทำให้เกิดปัญหากับไตได้มากขึ้น ควรเลี่ยงที่จะใช้ยาร่วมกันหรือควรปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสม

ควรเก็บรักษายาซัลฟาอย่างไร?

สามารถเก็บยาซัลฟาได้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาซัลฟามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซัลฟาที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Eadazine (อีดาซีน) Chew Brothers
Famidine (แฟมิดีน) Chew Brothers
Odiazine (โอดิเอซีน) Chew Brothers
Rediazine (รีไดอะซีน) Chew Brothers
Sul B.C.O. (ซัล บี.ซี.โอ.) Newcharoen Pharma
Sulfadiazine A.N.H. (ซัลฟาไดอะซีน เอ.เอ็น.เฮท.) A N H Products
Sulfadiazine Chew Brothers (ซัลฟาไดอะซีน ชิว บราเทอร์) Chew Brothers
Sulfadiazine Picco (ซัลฟาไดอะซีน พิคโค) Picco Pharma
Sulfadiazine SSP (ซัลฟาไดอะซีน เอส เอส พี) SSP Laboratories
Sulfamethoxypyridazine A.N.H. (ซัลฟาเมโทซิไพริดาซีน เอ.เอ็น.เฮท.) A N H Products
Sulfazine-M (ซัลฟาซีน-เอ็ม) Patar Lab
Sulphadiazine General Drugs House(ซัลฟาดิเอซีน เจนเนอรัล ดรักซ์ เฮาส์) General Drugs House
Sulphadiazine Patar (ซัลฟาดิเอซีน พาต้าร์) Patar Lab
Sulphamethoxypyridazine(ซัลฟาเมโทซิไพริดาซีน ชิว บราเทอร์) Chew Brothers
Triple Sulphas (ทริปเปิล ซัลเฟส) Chew Brothers
Trisulfa Co-P (ไตรซัลฟา โค-พี) P P Lab
Trisulfapyrimidines (ไตรซัลฟาไพริมิดิน) A N H Products

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Sulfonamide_%28medicine%29#Function [2014,Sept 20]
2 http://www.medscape.com/viewarticle/482766_4 [2014,Sept 20]
3 http://diabetes.emedtv.com/glipizide/glipizide-warnings-and-precautions.html [2014,Sept 20]
4 http://www.healthofchildren.com/S/Sulfonamides.html [2014,Sept 20]
5 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=sulfonamide [2014,Sept 20]
6 http://www.medicinenet.com/sulfonamides-oral/article.htm [2014,Sept 20]
7 http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/sulfonamide-oral-route/proper-use/drg-20069536 [2014,Sept 20]