ยาเบาหวาน หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic agents)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 28 มกราคม 2566
- Tweet
สารบัญ
- ยาเบาหวานหมายถึงยาอะไร?
- ยาเบาหวานมีกี่ประเภท?
- ยาเบาหวานมีรูปแบบการจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อบ่งใช้ยาเบาหวานอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาเบาหวานอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเบาหวานอย่างไร?
- การใช้ยาเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาเบาหวานในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาเบาหวานในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากยาเบาหวานเป็นอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ยาอินซูลิน (Insulin)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- อินเครติน มิเมติกส์ (Incretin mimetics)
- เลือดเป็นกรดเมตะบอลิก (Metabolic acidosis)
- เลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน (Diabetic ketoacidosis)
ยาเบาหวานหมายถึงยาอะไร?
ยารักษาโรคเบาหวาน หรือคนทั่วไปมักเรียกว่า ‘ยาเบาหวาน’ (Antidiabetic agents หรือ Antidiabetic drug หรือ Antidiabetic medication)หมายถึง/คือ ยาที่ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ
ซึ่งวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคเบาหวาน คือ เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆแทรกซ้อนจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เช่น โรคหลอดเลือดอักเสบ โรคไต โรคเส้นประสาท เบาหวานขึ้นตา และแผลเรื้อรังตามเนื้อเยื่อต่างๆโดยเฉพาะที่เท้า ทั้งนี้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงระดับปกติมากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนทั่วไป
(แนะนำอ่านบทความทั่วไปของโรคเบาหวานจากเว็บhaamor.com เรื่อง รู้ทันโรคเบาหวาน และเรื่อง โรคเบาหวาน)
ยาเบาหวานมีกี่ประเภท?
ยาเบาหวาน แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ คือประเภท ยาชนิดเม็ดรับประทาน, ชนิดยาฉีดอินซูลิน, และยาอินซูลินชนิดสูดพ่น
ก. ยาชนิดเม็ดรับประทาน: แบ่งตามกลไกการออกฤทธิ์เป็น 4 ประเภท/กลุ่ม ได้แก่
- ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemic drugs): ได้แก่
- ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylureas): เช่นยา อะซีโตเฮกซาไมด์ (Acetohexamide), คลอร์โพรพาไมด์ (Chlorpropamide), โทลาซาไมด์ (Tolazamide), ไกลเมพิไรด์ (Glimepiride), ไกลพิไซด์ (Glipizide), ไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) หรือ อีกชื่อคือ ไกลบูไรด์ (Glyburide)
- ยากลุ่มที่ไม่ใช่ซัลโฟนิลยูเรีย (Non-sulfonylureas หรือ Glinides หรือ Meglitinides): เช่นยา รีพาไกลไนด์ (Repaglinide), นาทิไกลไนด์ (Nateglinide), มิทิไกลไนด์ (Mitiglinide)
- ยาที่ออกฤทธิ์ต้านการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด(Antihyper glycemic drugs): เช่น
- ยากลุ่มไบกัวไนด์(Biguanides): เช่นยา เมทฟอร์มิน (Metformin)
- ยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน (Thiazolidinediones): เช่นยา ไพโอกลิทาโซน (Pioglitazone)
- ยากลุ่มที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อัลฟ่ากลูโคซิเดส/เอนไซม์ยับยั้งการย่อยสลายคาร์โบไฮเดรตในลำไส้ (Alpha – glucosidase inhibitor) เช่นยา อะคาร์โบส (Acarbose), โวกลิโบส (Voglibose), ไมกลิทอล (Miglitol)
- ยาในกลุ่มอินครีตินฮอร์โมน(Incretin hormones, ฮอร์โมนสร้างจากลำไส้เล็กเพื่อกระตุ้นการหลังอินซูลินเมื่อมีการบริโภคอาหาร) หรือ อินเครตินมิเมติกส์ (Incretin mimetics): ได้แก่
- ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์เลียนแบบการทำงานของฮอร์โมน Glucagon (Glucagon-like peptide-1 receptor agonists ย่อว่า GLP-1 receptor agonist) เช่นยา เอ็กซีนาไทด์ (Exenatide)
- ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Dipeptidyl peptidase/เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการย่อยสลายของน้ำตาลGlucose (Dipeptidyl peptidase-4 Inhibitor, DPP-4 Inhibitor) เช่นยา วิลดากลิปติน (Vildagliptin), ซิตากลิปติน (Sitagliptin), แซกซ่ากริปติน (Saxagliptin), ลิน่ากลิปติน (Linagliptin)
- ยากลุ่มใหม่ซึ่งเป็นยาออกฤทธิ์ควบคุมการดูดซึมกลับของน้ำตาลกลูโคส บริเวณท่อไต: ได้แก่
- ยากลุ่ม Sodium - glucose Cotransporter inhibitors (SGLT2 inhibitors): เช่นยา ดาพากลิโฟลซิน (Dapagliflozin), คานากลิโฟลซิน (Canaglifloziin), เอ็มพากลิโฟลซิน (Empagliflozin)
ข. ยาฉีดอินซูลิน/ยาอินซูลิน(Insulin Therapy): แบ่งเป็นกลุ่ม/ประเภท/ชนิดต่างๆตามระยะเวลาการออกฤทธิ์ ได้แก่
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ไวมาก(Rapid acting insulin หรือ Ultrashort acting insulin): เช่น ยาลิสโปร (Lispro), แอสพาร์ท (Aspart), กลูไลซีน (Glulisine)
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น (Short acting insulin หรือ Regular insulin, RI): เช่นยา แอ็คทราพิด (Actrapid®), ฮิวมูลินอาร์ (Humulin R®), เจ็นซูลินอาร์ (Gensulin R®)
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นานปานกลาง(Intermediate acting insulin หรือ NPH Insulin): เช่นยา ฮิวมูลินเอ็น (Humulin N®) อินซูลาทาร์ด (Insulatard HM® ) เจ็นซูลินเอ็น (Gensulin N®)
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นาน(Long acting insulin): เช่นยา ดีทีเมียร์ (Detemir), กลาร์จีน (Glargine)
ค. ยาอินซูลินชนิดสูดพ่น(Inhaled Insulin): เป็นยาอินซูลินที่สังเคราะห์ให้มีโครงสร้างเช่นเดียวกับฮอร์โมนอินซูลินที่ร่างกายมนุษย์สังเคราะห์ขึ้น ใช้สูดพ่นเข้าทางปาก ได้แก่ เอ็กซูเบอร่า (Exubera®)
ยาเบาหวานมีรูปแบบการจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบาหวานมีรูปแบบการจำหน่าย คือ
- ยาชนิดรับประทานที่อยู่ในรูปแบบยาเม็ด (Tablet)
- ยาฉีดอินซูลินอยู่ในรูปแบบยาน้ำใส (Solution)/ยาชนิดที่ออกฤทธิ์ไวมาก, และยาน้ำแขวนตะกอน(Suspension)ที่มีลักษณะเป็นยาน้ำขุ่น/ยาชนิดออกฤทธิ์นานปานกลาง หรือออกฤทธิ์นาน
- ยาอินซูลินชนิดสูดพ่นข้า ทางปาก หรือ ทางจมูก อยู่ในรูปแบบผงแห้ง (Dry powder aerosol) และ ในรูปของเหลว (Liquid aerosol) ซึ่งจะใช้ในกรณีผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการกลืนยา และ/หรือเรื่องการฉีดยา
*อนึ่ง: อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบต่างๆของยาได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม)
มีข้อบ่งใช้ยาเบาหวานอย่างไร?
ข้อบ่งใช้ยาเบาหวาน คือใช้รักษาโรคเบาหวานชนิด/ประเภทต่างๆ ได้แก่
- รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes mellitus ย่อว่า T1DM)
- รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes mellitus ย่อว่า T2DM)
- รักษาโรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (Other specific types) เช่น โรคเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม (Maturity-Onset Diabetes of the Young, MODY), โรคเบาหวานที่เกิดจากโรคของตับอ่อน, โรคเบาหวานที่เกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์
- รักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์(Gestational diabetes mellitus ย่อว่า GDM) อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com เรื่อง เบาหวานกับการตั้งครรภ์
มีข้อห้ามใช้ยาเบาหวานอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาเบาหวาน เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ
- ห้ามใช้ยากลุ่ม Sulfonylureas ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1, ผู้ป่วยที่ตับอ่อนถูกทำลาย, ผู้ป่วยที่ร่างกายมีภาวะเครียดรุนแรง เช่น มีไข้สูง หรือติดเชื้อรุนแรง, ผู้ป่วยโรคตับ, โรคไต, และผู้ที่มีประวัติแพ้ยาในกลุ่มซัลฟา(Sulfa drugs)
- ห้ามใช้ยา Metformin ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1, ผู้ป่วยโรคตับ, โรคไต, ภาวะหัวใจล้มเหลว, ภาวะหายใจล้มเหลว, โรคพิษสุราเรื้อรัง, และผู้ที่มีภาวะเลือดเป็นกรด/เลือดเป็นกรดเมตะบอลิก (Metabolic acidosis)
- ห้ามใช้ยากลุ่ม Thiazolidinediones ในโรคเบาหวานชนิดที่ 1, ผู้ป่วยโรคตับ, ภาวะหัวใจล้มเหลว, และโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- ห้ามใช้ยากลุ่ม Alpha – glucosidase inhibitor ในผู้ป่วยโรคตับ, โรคกระเพาะอาหาร และโรคลำไส้ เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease ย่อว่า IBD)
- ห้ามใช้ยาอินซูลินชนิดสูดพ่นในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/โรคซีโอพีดี(COPD) และโรคหืด เพราะอาจทําให้หลอดลมหดตัว/ตีบจนส่งผลให้เกิดอาการหายใจลำบาก/หอบเหนื่อยได้
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบาหวานอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบาหวาน เช่น
- ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่ม Sulfonylureas, Glinides และยาฉีดอินซูลิน อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) เมื่อใช้ยาเบาหวานในกลุ่มเหล่านี้เกินขนาด, รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา, รับประทานอาหารน้อยกว่าปกติ, หรือออกกำลังกายหักโหม, ซึ่งผู้ป่วยสามารถรักษาภาวะนี้ได้เอง โดยการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลGlucoseเมื่อเกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น ลูกอม น้ำส้มคั้น น้ำอัดลม ขนมปัง นมสด ไอศครีม หรือ กล้วย เป็นต้น ซึ่งอาการฯมักจะดีขึ้นภายในประมาณ 15 นาที แต่ถ้าอาการฯไม่ดีขึ้น ให้รับประทานอาหารดังกล่าวซ้ำอีกครั้ง แต่ถ้าอาการฯยังไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลง ควรรีบไปโรงพยาบาล
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน นอกจากการรับประทานยาเพื่อควบคุมโรคฯแล้ว ควรปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติตัว โดยการลดน้ำหนัก, บริโภคอาหารที่เหมาะสม เช่น รับประทานผลไม้ที่มีรสหวานในปริมาณจำกัด เช่น เงาะ ทุเรียน ขนุน, ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพเป็นประจำทุกวัน, เลิกสูบบุหรี่, และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ควรรับประทานยาเบาหวานและอาหารให้ตรงเวลาทุกวัน หากผู้ป่วยลืมรับประทานยาเบาหวานเมื่อเลยเวลาไป 1 – 2 ชั่วโมง ให้รับประทานทันทีที่นึกได้(ยากลุ่ม Alpha – glucosidase inhibitor ที่ต้องรับประทานพร้อมอาหารด้วย) แต่ถ้านึกได้เมื่อใกล้มื้อต่อไป ให้รับประทานยามื้อต่อไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรดูแลสุขภาพเท้า โดยตรวจดูเท้าทุกวันว่า มีอาการบวม มีรอยช้ำ หรือมีบาดแผลต่างๆหรือไม่ เนื่องจากเส้นประสาทรับความรู้สึกในผู้ป่วยเบาหวานจะเสื่อมลง ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวหากมีบาดแผลที่เท้า ซึ่งอาจทำให้แผลเกิดเป็นแผลเรื้อรัง หรือเกิดแผลติดเชื้อได้ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมจากเว็บcom บทความเรื่อง การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน)
- ระวังการใช้ยากลุ่ม Sulfonylureas ร่วมกับยาอื่นๆต่อไปนี้ เช่น ยาขับปัสสาวะเพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น, และ ยาลดความดันกลุ่ม ACE inhibitors ยาปฏิชีวนะกลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง
- ระวังการใช้ยากลุ่ม Sulfonylureas ร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิด ปฏิกิริยาไดซัลฟิแรม (Disulfiram-like reaction) คือ มีอาการ ใจสั่น ใบหน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน และความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
- ผู้ป่วยไม่ควรฉีดยาอินซูลินซ้ำที่เดิมบ่อยๆ ควรเลื่อนตำแหน่งฉีดยาให้ห่างจากตำแหน่งหลังสุดประมาณ 1 นิ้ว เพราะการฉีดซ้ำที่เดิมอาจทำให้บริเวณที่ฉีดยาบุ๋มลงหรือบวมนูนขึ้น ส่งผลให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง และไม่ควรนวดหรือคลึงบริเวณที่ฉีดยาหลังฉีดยาเสร็จแล้ว เพราะอาจทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเร็วเกินไป
- ยาฉีดอินซูลินมีทั้งชนิดที่เป็นน้ำใสที่เป็นชนิดออกฤทธิ์ไวมาก และชนิดน้ำขุ่นที่ออกฤทธิ์นานปานกลาง/ออกฤทธิ์นาน หากต้องการผสมยาทั้ง 2 ชนิด โดยใช้อินซูลินชนิดน้ำใส ผสมกับอินซูลินน้ำขุ่นเพื่อให้ได้ระยะเวลาออกฤทธิ์ตามที่ต้องการ ผู้ผสมต้องใช้กระบอกฉีดยาดูดอินซูลินชนิดน้ำใสก่อน แล้วจึงดูดชนิดน้ำขุ่นตามมา เพราะหากดูดชนิดน้ำขุ่นก่อน อาจส่งผลให้อินซูลินชนิดน้ำใสมีลักษณะและประสิทธิภาพเปลี่ยนไป
- ยาอินซูลินที่ยังไม่เปิดใช้ ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง เมื่อจะใช้จึงนำออกมาจากตู้เย็น คลึงขวดยาเบาๆบนฝ่ามือทั้งสองข้าง เพื่อให้ตัวยาผสมเข้ากันและมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับร่างกาย เพื่อช่วยลดอาการปวดหลังจากฉีดยา
- ระวังการใช้ยาอินซูลินชนิดสูดพ่นในหญิงตั้งครรภ์ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ในผู้ใหญ่ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ เพราะยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยานี้ฯในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวที่เพียงพอ
การใช้ยาเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวาน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง เบาหวานกับการตั้งครรภ์) ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับปกติให้มากที่สุด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งมารดาและกับทารกในครรภ์
ยารักษาโรคเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ที่แพทย์เลือกใช้มักเป็นยาฉีดอินซูลิน เพราะเป็นยาที่ไม่สามารถผ่านรกเข้าไปในครรภ์ และยังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ายาเม็ดรับประทาน ไม่ควรใช้ยาเม็ดลดระดับน้ำตาลในเลือด เพราะยาสามารถผ่านรกเข้าไปในครรภ์ ส่งผลให้ทารกแรกคลอดอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรืออาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดความพิการแต่กำเนิดได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าใช้ยาฉีดอินซูลินแล้ว ไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ แพทย์อาจใช้ยาเม็ด Metformin หรือ Glibenclamide ร่วมด้วย เพราะมีการศึกษาแล้วว่า ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
การใช้ยาเบาหวานในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การรักษาโรคเบาหวานในผู้สูงอายุ แพทย์จะพิจารณาจากสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เพราะหากผู้ป่วยมีโรคร่วม/โรคประจำตัวหลายชนิด เป้าหมายในการควบคุมระดับน้ำตาลนั้น ไม่จำเป็นต้องเข้มงวดมาก
การใช้ยาเบาหวานในผู้ป่วยสูงอายุ จะเลือกใช้ยาที่มีความเสี่ยงน้อยต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และเน้นให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีข้อระวังเพิ่มเติม หากใช้ยาฉีดอินซูลิน หรือยากลุ่ม Sulfonylureas จะทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ควรระวังการเกิดแผลบริเวณเท้า เพราะอาจเป็นสาเหตุให้ต้องตัดเท้า หรือตัดขาได้ หากแผลเกิดการลุกลามหรือติดเชื้อ
การใช้ยาเบาหวานในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การรักษาโรคเบาหวานในผู้ป่วยเด็ก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น) มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กมีสุขภาพและการเจริญเติบโตที่ดีตามวัย รวมทั้งลดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)จากโรคเบาหวานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การรักษาจะต้องให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหาร และมีการออกกำลังกาย ร่วมกับการใช้ยาเบาหวาน ผู้ปกครองต้องได้รับคำแนะนำเรื่องยาต่างๆและการปฏิบัติตัว เพราะผู้ป่วยเด็กอาจยังดูแลตัวเองได้ไม่ดี
ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แพทย์ให้การรักษาโดยใช้ยาฉีดอินซูลิน และในโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากยาฉีดอินซูลิน แพทย์อาจเพิ่มยาเม็ด Metformin ร่วมด้วย เมื่อไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการ ส่วนยาเม็ดรับประทานในกลุ่มอื่นๆ ยังมีข้อมูลสนับสนุนไม่เพียงพอที่จะใช้ในผู้ป่วยเด็ก
อาการไม่พึงประสงค์จากยาเบาหวานเป็นอย่างไร?
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง)จากยาเบาหวาน เช่น
- ยากลุ่ม Sulfonylureas ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้บ่อย และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- ยากลุ่ม Glinides ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ปวดหัว ปวดข้อ คลื่นไส้
- ยา Metformin ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย รู้สึกขมในปาก เบื่ออาหาร
- ยากลุ่ม Thiazolidinediones ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น บวมน้ำ เป็นพิษต่อตับ/ตับอักเสบ โรคซีด
- ยากลุ่ม Alpha – glucosidase inhibitor ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด มีลม/แก๊สในกระเพาะอาหารมาก ผายลมบ่อย
- ยากลุ่ม GLP-1 receptor agonist ทำให้ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักตัวลดลง
- ยากลุ่ม DPP-4 Inhibitor ทำให้ตับอ่อนอักเสบ เกิดผื่นจากการแพ้ยา
- ยากลุ่ม Sodium - glucose Cotransporter (SGLT2 inhibitors) ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะเลือดเป็นกรด (Metabolic acidosis) ภาวะขาดน้ำ และเป็นพิษต่อไต/ไตอักเสบ
- ยาฉีดอินซูลิน ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำหนักตัวเพิ่ม บวมน้ำ เกิดผื่นแพ้ยา และอาจเป็นรอยแดงบริเวณที่ฉีดยา
- ยาอินซูลินชนิดสูดพ่น ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ไอ ปวดหัว ท้องเสีย คลื่นไส้
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบาหวาน) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560 สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย. https://www.dmthai.org/new/index.php/sara-khwam-ru/bukhlakr-thangkar-phaethy/cpg/clinical-practice-2017 [2023,Jan28]
- สุรีย์ เจียรณ์มงคล. อินสุลิน และยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (Insulin and antidiabetic drugs). กรุงเทพมหานคร: คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553. (อัดสำเนา)
- สาธิต วรรณแสง. Pharmacotherapy of Diabetes Mellitus. กรุงเทพมหานคร: ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, (อัดสำเนา)
- สุชยา ลือวรรณ. โรคเบาหวานในสตรีตั้งครรภ์. https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/medical-student-5/3695/ [2023,Jan28]