ยาลดความอ้วน (Diet pill or Weight loss drug)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 8 เมษายน 2566
- Tweet
สารบัญ
- ยาลดความอ้วนมีคุณสมบัติอะไร?
- แบ่งยาลดความอ้วนเป็นประเภทใดบ้าง?
- ยาลดความอ้วนอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?
- ยาลดความอ้วนมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาลดความอ้วนอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาลดความอ้วนอย่างไร?
- การใช้ยาลดความอ้วนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาลดความอ้วนในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาลดความอ้วนในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาลดความอ้วนมีอะไรบ้าง?
- สรุป
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วถุงน้ำดี (Gallstone)
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- เกาต์ (Gout)
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- นอนกรน (Snoring)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
ยาลดความอ้วนมีคุณสมบัติอะไร?
ยาลดความอ้วน/ยาลดน้ำหนัก (Diet pill หรือ Weight loss drug) คือ ยาที่ใช้ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินเพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด นิ่วในถุงน้ำดี ภาวะไขมันผิดปกติ/โรคไขมันในเลือดสูง โรคเกาต์ ข้อเสื่อม นอนกรน รวมทั้งภาวะที่มีปัญหาทางสังคมและจิตใจ และคุณภาพชีวิตที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนฯ เช่น ภาวะซึมเศร้า ปัญหาทางจิตประสาท ทั้งนี้ไม่ควรใช้ยาลดความอ้วนเพื่อความสวยงาม เช่น ใช้ในผู้ที่ต้องการมีรูปร่างผอมทั้งๆที่ไม่ได้มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
แบ่งยาลดความอ้วนเป็นประเภทใดบ้าง?
ทั่วไป แบ่งยาลดความอ้วนเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้
ก. ยาออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathomimetic drugs): ยากลุ่มนี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีความอยากอาหารลดลง ทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
- Noradrenergic Agents เป็นกลุ่มยาที่ยับยั้งการเก็บกลับสารสื่อประสาทนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) และโดปามีน (Dopamine) เช่น ยาเฟนเทอร์มีน (Phentermine) เฟนไดเมตราซีน (Phendimetrazine) ไดเอทธิลโพรพิออน (Diethylpropion)
- Noradrenergic-Serotonergic Agents เป็นกลุ่มยาที่ยับยั้งการเก็บกลับสารสื่อประสาทซีโรโตนิน (Serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) เช่น ‘ไซบูทรามีน (Sibutramine)’
***อนึ่ง: ในปี พ.ศ. 2553 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) และไทย (Thai FDA) ได้ทำการถอนทะเบียนตำรับยาทุกตำรับที่มีส่วนประกอบของ Sibutramine แล้วเนื่องจากมีข้อมูลว่ายานี้มีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อผู้ป่วยมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ แต่ปัจจุบันยังมีการจำหน่ายยานี้และอาหารเสริมเพื่อลดความอ้วนที่มียา Sibutramine เป็นส่วนผสมอยู่ในท้องตลาด
ข. ยาออกฤทธิ์โดยขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ไลเพส/เอนไซม์ช่วยดูดซึมไขมัน (Gastrointestinal lipase inhibitor): ทำให้ร่างกายดูดซึมไขมันจากระบบทางเดินอาหารได้ลดลงเช่น ยาออริสแตท (Orlistat)
ยาลดความอ้วนอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?
รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยาลดความอ้วน:
- ยาเม็ด (Tablets)
- ยาแคปซูล (Capsules)
ยาลดความอ้วนมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
ข้อบ่งใช้ยาลดความอ้วน ทั่วไป คือ
- ใช้ลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินที่เกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไป
- ใช้ลดน้ำหนัก
- ในผู้ป่วยที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index, BMI) มากกว่า 30 กิโลกรัม/ เมตร2 ในผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ
- หรือ มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 27 กิโลกรัม/เมตร2 ในผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ/โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
ทั้งนี้ แพทย์จะพิจารณาใช้ยาลดน้ำหนักเป็นวิธีการรักษาเสริมก็ต่อเมื่อ ผู้ป่วยควบคุมอาหาร, มีการออกกำลังกาย, และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว แต่ยังไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้อย่างชัดเจน
มีข้อห้ามใช้ยาลดความอ้วนอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาลดความอ้วน เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ
- ห้ามใช้ยานี้เป็นวิธีการเดียวในการรักษาโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ห้ามใช้ยาลดความอ้วนในกลุ่มยา Sympathomimetic drug กับผู้ป่วยที่มีการกินอาหารผิดปกติเช่น อโนเร็กเซีย เนอร์โวซ่า (Anorexia nervosa) และโรคบูลีเมีย (Bulimia nervosa)
- ห้ามใช้ยาลดความอ้วนในกลุ่มยา Sympathomimetic drug ในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหัวใจฯ(เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ภาวะหัวใจล้มเหลว, หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน), มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมอง(อัมพาต), ภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้ เช่น ความดันโลหิตสูงกว่า 145/90 มิลลิเมตรปรอท
- ห้ามใช้ยาลดความอ้วนในกลุ่มยา Sympathomimetic drug ร่วมกับยากลุ่ม Monoamine oxidase inhibitors (เอมเอโอไอ/MAOIs) เพราะอาจเกิดพิษต่อระบบประสาทส่วนกลางได้ จึงควรใช้ยาลดความอ้วนหลังจากหยุด MAOIs ไปแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และห้ามใช้ร่วมกับยาที่มีผลเพิ่มระดับสาร Serotonin เช่น ยาเออร์โกตามีน (Ergotamine), ยากลุ่มทริปแทน(Triptans), ยาต้านเศร้าในกลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs), เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเกิด กลุ่มอาการเซโรโทนิน(Serotonin syndrome) ได้
- ห้ามใช้ยา Orlistat ในผู้ป่วยที่มีภาวะดูดซึมผิดปกติแบบเรื้อรัง (Chronic malabsorption syndrome) และมีภาวะคั่งของน้ำดี (Cholestasis)
- ห้ามใช้ยาลดความอ้วนมากกว่า 1 ชนิดร่วมกัน เพราะยังไม่มีการศึกษาใดพบว่าการใช้ยาลดความอ้วน 2 ตัวร่วมกันได้ประโยชน์มากกว่าการใช้ยาเพียงตัวเดียวและอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้มากกว่าด้วย
มีข้อควรระวังการใช้ยาลดความอ้วนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลดความอ้วน เช่น
- ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหากหยุดใช้ยาลดน้ำหนัก ดังนั้นควรปรับพฤติกรรมอื่นๆโดยการ คุมอาหารและมีการออกกำลังกายอย่าสม่ำเสมอเพื่อให้น้ำหนักตัวคงที่
- ผู้ป่วยควรลดน้ำหนักได้ประมาณ 2 กิโลกรัมหลังจากได้รับการรักษาด้วยยานี้เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นอาจมีน้ำหนักลดลงหรือคงที่ตลอด 6 สัปดาห์หลังจากเริ่มรักษา ไม่ควรใช้ยาลดความอ้วนหากพบว่าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยานี้หรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นระหว่างรับการรักษา
- ระวังการใช้ยาลดความอ้วนในกลุ่มยา Sympathomimetic drug ในผู้ป่วยที่มีประวัติติดยาเสพ ติด ติดสุรา มีประวัติเป็น โรคซึมเศร้า โรคจิต โรคตับ โรคไต โรคลมชัก โรคเบาหวาน นิ่วในถุงน้ำดี ต้อหินมุมเปิด มีกลุ่มอาการ Neuroleptic Malignant Syndrome (NMS) ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกหรือใช้ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด
- ไม่ควรใช้ยา Phentermine, Phendimetrazine, และ Diethylpropion, ในระยะเวลานานเกิน 12 สัปดาห์เพราะอาจทำให้ติดยาได้ ในขณะที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอนุมัติให้ใช้ ยา Orlisat ในระยะยาวได้
- หากผู้ป่วยใช้ยาลดความอ้วนในกลุ่ม Sympathomimetic drugs ควรติดตามน้ำหนักตัว ความดันโลหิต ชีพจร รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาทุกๆ 2 ถึง 4 สัปดาห์ จากนั้นติดตามผลทุกเดือนเป็นเวลา 3 เดือน และติดตามต่อทุก 3 เดือนจนครบ 1 ปีหลังจากได้รับการรักษา
- ยา Orlistat มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาบางชนิดจึงต้องติดตามการใช้ในผู้ป่วยต่อไปนี้ เช่น
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) เนื่องจาก Orlistat อาจทำให้ร่างกายดูดซึม วิตามินเคได้น้อยลงจึงส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของ Warfarin ทำให้ผู้ป่วยเกิด ภาวะเลือดออกได้ง่ายขึ้น
- ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เนื่องจาก Orlistat ทำให้ร่างกายดูดซึมไขมันได้ลงลงทำให้ผู้ป่วยมีระดับยาที่ละลายได้ดีในไขมันลดลง เช่น ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin)
- ไม่ควรใช้สมุนไพรเพื่อลดน้ำหนัก/ลดความอ้วนและ/หรือใช้ร่วมกับยาลดความอ้วนเพราะยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดถึงปริมาณในการใช้ อาการไม่พึงประสงค์ฯ (ผลข้างเคียง) และอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นอาจค่อนข้างรุนแรง
การใช้ยาลดความอ้วนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
*ห้ามใช้ยาลดความอ้วนทุกชนิดในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
แต่การได้รับยาลดความอ้วนเข้าไปในร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจและได้รับยานี้เพียงเล็กน้อย) ไม่เป็นอันตรายถึงกับทำให้ต้องยุติการตั้งครรภ์
ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ติดยาลดความอ้วนหรือใช้ยาลดความอ้วนเป็นเวลานานระหว่างที่ตั้งครรภ์ ควรต้องพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ เพราะยากลุ่มนี้สามารถก่อให้เกิดความพิการต่อทารกในครรภ์ได้
ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ควรไปพบสูตินรีแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (เบาหวานกับการตั้งครรภ์) (Gestational diabetes mellitus, GDM)
การใช้ยาลดความอ้วนในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
ยาลดความอ้วนที่อาจใช้ในผู้สูงอายุได้ เช่น ยา Orlistat โดยพบว่ายามีประสิทธิภาพในการ ลดน้ำหนักได้ดีในผู้สูงอายุเทียบเท่ากับวัยผู้ใหญ่ แต่ผู้สูงอายุอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากยานี้เช่น มีน้ำมัน/ไขมันปนออกมากับอุจจาระมากกว่าวัยอื่น เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักทำงานได้ไม่เต็มที่ทำให้เกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ และยังเป็นวัยที่คุมอาหารไม่ให้บริโภคไขมันมากเกินไปได้ยากอีกด้วย
นอกจากนี้ผู้สูงอายุต้องกินยาหลายชนิดเพื่อรักษาโรคประจำตัวอื่นๆอยู่แล้ว การได้รับยาลดความอ้วนเพิ่มขึ้นอาจต้องพิจารณาถึงประโยชน์และโทษที่ได้รับ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ให้ ความร่วมมือในการใช้ยาหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาขึ้นได้
ดังนั้นการใช้ยาลดความอ้วนในผู้สูงอายุจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยพิจารณาเป็นกรณีๆไปเท่านั้น
การใช้ยาลดความอ้วนในเด็กควรเป็นอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่แนะนำให้ใช้ยาลดความอ้วนในผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปีเพราะยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาเพียงพอ, แต่มีข้อยกเว้นในบางกรณีที่ผู้ป่วยเด็กอาจใช้ยา Orlistat เพื่อลดความอ้วน คือ ผู้ป่วยมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆร่วมด้วย เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ/โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ, *แต่ผู้ป่วยต้องใช้ยานี้ในความดูแลของแพทย์ ร่วมกับ ควบคู่กับการคุมอาหาร, การออกกำลังกาย, การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต(เช่น ควบคุมปริมาณ และประเภทอาหาร) ร่วมด้วย นอกจากนั้น ผู้ปกครองควรอบรมเลี้ยงดูเด็กตามคำแนะนำที่ได้รับจาก แพทย์ พยาบาล
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาลดความอ้วนมีอะไรบ้าง?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยาลดความอ้วน เช่น
- ยา Phentermine, Phendimetrazine, และ Diethylpropion อาจทำให้นอนไม่หลับ กระวนกระวาย อ่อนเพลีย ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ คลื่นไส้ ท้องผูก ปากคอแห้ง เหงื่อออกมาก มองภาพไม่ชัด/ตาพร่า มองเห็นสีผิดปกติ มีอาการทางจิตประสาท เช่น หูแว่ว หวาดระแวง เห็นภาพหลอน (ประสาทหลอน) และติดยาได้
- ยา Sibutramine ทำให้ความดันโลหิตและอัตราเร็วของชีพจรเพิ่มขึ้น ปากคอแห้ง ท้องผูก ปวดหัว นอนไม่หลับ และเบื่ออาหาร
- ยา Orlistat อาจทำให้ ท้องอืด มวนท้อง ผายลม กลั้นอุจจาระไม่ได้ และมีน้ำมันปนออกมากับอุจจาระ (Steatorrhea) เนื่องจากไขมันไม่ถูกย่อยหรือดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
- ยา Orlistat อาจทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค และเบต้าแคโรทีน (Beta carotene, สารสีเหลือง/สีส้มในพืช ที่จะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกาย) ลดลง ดังนั้นผู้ป่วยควรรับประทานวิตามินรวมเสริมเพื่อป้องกันภาวะขาดวิตามิน
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลดความอ้วน) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ. ยาระบบประสาทส่วนกลาง เล่ม 1 . http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/main_drug_file/20171115141618.pdf [2023,April8]
- แนวทางเวชปฏิบัติการป้องกันและดูแลรักษาโรคอ้วน. http://www.imrta.dms.moph.go.th/imrta/images/pdf_cpg/2553/53-4.pdf [2023,April8]
- ปฐมพงษ์ ภักดี. ยาลดน้ำหนัก. พุทธชินราชเวชสาร 27 (พฤษภาคม - สิงหาคม 2553) : 243-253
- รุจิรา บุญส่อง และดอกรัก ก้อนทอง. วารสารนิติเวชศาสตร์ 6 (มกราคม – มิถุนายน 2557) : 74-81
- Villareal, D.T. et al. Obesity in older adults: technical review and position statement of the American Society for Nutrition and NAASO, The Obesity Society. The American Journal of Clinical Nutrition 82 (August 2005) : 923-934
- Han T.S., Tajar A., and Lean M. E. J. Obesity and weight management in the elder. British Medical Bulletin 97 (January 2011) : 169-196
- Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th ed. Ohio : Lexi-comp, 2011.
- Schaefer C., Peters P., and Miller R. K. Drugs During Pregnancy and Lactation. 2nded. California: Elsevier, 2007.
- Wells B.G., et al. Pharmacotherapy Handbook. 8. The McGraw-Hill, 2012.
- https://www.nhmrc.gov.au/about-us/publications/clinical-practice-guidelines-management-overweight-and-obesity [2023,April8]
- https://www.nhlbi.nih.gov/files/docs/guidelines/prctgd_c.pdf [2023,April8]