นอนกรน (Snoring)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

นอนกรน (Snoring) คือ ภาวะ หรือ อาการเกิดเสียงดังผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการหายใจในขณะนอนหลับ ทั้งนี้ นอนกรนเป็นอาการพบบ่อยอาการหนึ่ง พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบสูงขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น ทั้งนี้ มีการศึกษาพบว่า อาการนี้พบได้ประมาณ 30% ในผู้ใหญ่ ซึ่งในสหรัฐอเมริกา พบประมาณ 14% ในผู้ใหญ่ผู้หญิง และ ประมาณ 25% ในผู้ใหญ่ผู้ชาย โดยในอายุ 60-65 ปี ผู้หญิงพบได้ 40% ขณะที่พบในผู้ชาย 60%

อะไรเป็นสาเหตุให้นอนกรน?

นอนกรน

นอนกรนเกิดได้จากช่องทางเดินหายใจตอนบนตีบแคบลง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • มีกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่างๆของลำคอหย่อนยาน เช่น จากสูงอายุ และจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • มีช่องทางเดินหายใจตอนบนแคบกว่าคนทั่วไป เช่น ผนังกั้นโพรงจมูกคด หรือมีลักษณะผิดปกติของขากรรไกร หรือมีเพดานอ่อน และ/หรือลิ้นไก่ยาวกว่าปกติ
  • มีการอุดกั้นช่องทางเดินหายใจจากก้อนเนื้อ เช่น มีก้อนเนื้องอกในโพรงจมูก หรือมีต่อมทอนซิล และ/หรือต่อมอะดีนอย (ต่อมน้ำเหลืองกลุ่มหนึ่งในช่องคอ ซึ่งอยู่เหนือต่อมทอนซิล มักพบในวัยเด็ก) โตจากการอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง
  • มีคอสั้น หนา เช่น ในโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • การนอนหงาย เพราะเมื่อนอนหงายลิ้นจะตกลงไปในลำคอ จึงก่อการอุดกั้นช่องลำคอ
  • โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะนอนกรน?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนอนกรน คือ

  • อายุ: ยิ่งสูงอายุขึ้น การทำงานของเนื้อเยื่อในทางเดินหายใจจะเสื่อมหย่อนยานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงนอนหลับที่การทำงานของสมองและระบบประสาทลดลง
  • ผู้ชาย: พบอาการนี้ได้สูงในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิง อาจเพราะผู้ชายมักมีลำคอที่หนา สั้น ช่องลำคอจึงตีบแคบกว่าของผู้หญิง
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน เพราะคนกลุ่มนี้มักมีไขมันในลำคอสูงขึ้น ช่องลำคอจึงแคบกว่าในคนทั่วไป
  • คนที่มีช่องลำคอเล็ก หรือมีความผิดปกติของช่องจมูก เช่น จมูกคด หรือมีช่องปาก หรือขากรรไกรผิดรูป จึงส่งผลให้เมื่อนอนหลับช่องทางเดินหายใจแคบลง
  • มีโรคต่างๆที่ก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจตอนบน เช่น มีก้อนเนื้อในโพรงจมูก มีต่อมทอนซิล และ/หรือต่อมอะดีนอยโต จากการอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะก่อนนอน เพราะแอลกอฮอล์มีผลให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะเมื่อนอนหลับ จึงส่งผลให้ช่องลำคอตีบแคบลง

นอนกรนมีอาการอย่างไร?

อาการที่มักเกิดร่วมกับการนอนกรน ได้แก่

  • นอนหลับไม่สนิท ตื่นกลางคืนบ่อย ไอกรรโชก บ่อยครั้งตื่นโดยไม่รู้สึกตัว คนนอนด้วยจะเป็นคนสังเกตเห็นอาการ
  • คอแห้ง เจ็บคอ เมื่อตื่นนอน เนื่องจากร่างกายมักช่วยการหายใจเพิ่มด้วยการอ้าปากหายใจ
  • มักนอนหลับกลางวัน เพราะกลางคืนนอนไม่เต็มที่
  • สมาธิลดลง
  • หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ
  • มีความดันโลหิตสูง (โรคความดันโลหิตสูง)

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุนอนกรนได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุนอนกรนได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการของผู้ป่วยจากการบอกเล่าของผู้ป่วยเองและจากการบอกเล่าจากคนที่นอนด้วย ประวัติดื่มสุรา ประวัติง่วงนอนผิดปกติช่วงกลางวัน
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจในระบบ หู คอ จมูก/การตรวจทางหูคอจมูก และ
  • อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจลักษณะการนอนด้วยเครื่องตรวจจับการนอน เป็นต้น

นอนกรนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โดยทั่วไปการนอนกรนมีการพยากรณ์โรคไม่รุนแรง รักษาได้ แต่ถ้าไม่รักษา และเป็นอาการที่เกิดจากโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ความรุนแรงโรคสูงขึ้นมาก เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจได้

นอกจากนั้น การนอนกรนยังเป็นสาเหตุให้นอนไม่พอ เกิดอาการง่วงซึมได้ในช่วงกลางวัน ซึ่งจะส่งผลถึงประสิทธิภาพการทำงาน และการเรียน และยังเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่สำคัญอีกด้วยเมื่อง่วงแล้วขับ

ผลข้างเคียงที่พบได้จาก การนอนกรน คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ คุณภาพชีวิตลดลง จากการนอนกรนเป็นสาเหตุให้นอนไม่พอ เกิดอาการง่วงซึมในช่วงกลางวัน ส่ง ผลถึงประสิทธิภาพการทำงาน และการเรียน และยังเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่สำคัญ เมื่อง่วงแล้วขับ ดังได้กล่าวแล้ว

นอกจากนั้น คือปัญหากับคนที่นอนด้วย, ปัญหาในการทำงาน, และปัญหาในครอบครัว, เพราะคนนอนกรนมักหงุดหงิดง่าย และขาดสมาธิ

รักษานอนกรนได้อย่างไร?

แนวทางการรักษานอนกรน คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาโรคที่เกิดจากผลข้าง เคียง

ก. การรักษาสาเหตุ เช่น

  • ผ่าตัดต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยเมื่อเกิดจากต่อมทอนซิล/ต่อมอะดีนอยโต
  • การผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นโพรงจมูก หรือกระดูกกรามเมื่อสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะเหล่านั้น
  • การใช้เครื่องช่วยหายใจช่วงนอนกลางคืนเมื่อเกิดจากโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ
  • การเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การลดความอ้วน และ
  • การพยายามนอนตะแคง บางคนแนะนำให้เย็บลูกเทนนิสไว้ที่ด้านหลังเสื้อนอน เพื่อป้องกันไม่ให้นอนหงาย เป็นต้น
  • นอกจากนั้น อาจมีการรักษาโดยใช้เครื่องช่วยหายใจในช่วงกลางคืน และเทคนิคเฉพาะต่างๆซึ่งมีได้หลายวิธีการ ตามสาเหตุและความรุนแรงของอาการ และตามดุลพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา

ข. การรักษาผลข้างเคียง เช่น การรักษาควบคุมโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อนอนกรน ได้แก่ เมื่อรู้ตัวว่านอนกรน หรือคนที่นอนด้วยพบว่าผู้ป่วยนอนกรน โดยเฉพาะเมื่อมีการสะดุ้งตื่นเป็นระยะ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุเสมอ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันโรคและผลข้างเคียงต่างๆที่จะตามมาดังกล่าวแล้ว

ซึ่งหลังจากพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเองขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้การดูแลตนเองโดยทั่วไปนอกเหนือจากการพบแพทย์ ได้แก่

  • พยายามควบคุมน้ำหนัก ลดน้ำหนัก
  • เลิก/งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเมื่อใกล้เวลานอน
  • พยายามนอนตะแคงเสมอ อาจใช้เทคนิคต่างๆ เช่น ติดลูกเทนนิสไว้หลังเสื้อนอนดังกล่าวแล้ว

คนที่นอนด้วยกันควรทำอย่างไร?

ที่สำคัญที่สุดสำหรับคนที่นอนด้วย คือ การบอกเล่าให้ผู้นอนกรนทราบถึงอาการที่เกิดขึ้น แนะนำ โน้มน้าวให้ผู้นอนกรนพบแพทย์ นอกจากนั้น คือพูดคุยถึงวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อให้คนที่นอนด้วยสามารถนอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่

คนที่นอนด้วย อาจใช้การเข้านอนก่อนจนหลับ แล้วจึงให้คนนอนกรนเข้านอน หรือใส่หูฟังเพื่อลดการได้ยินเสียงกรน หรืออาจจำเป็นต้องแยกห้องนอน หรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคเกี่ยวกับการนอนหลับ ซึ่งจะมีเทคนิคเฉพาะต่างๆในการดูแลทั้งผู้ป่วยและคนที่นอนด้วย ซึ่งได้แก่ แพทย์เฉพาะทางด้าน หู คอ จมูก และด้านทางเดินหายใจ (โรคปอด)

ป้องกันนอนกรนอย่างไร?

การป้องกันนอนกรน คือการหาสาเหตุ และให้การรักษาสาเหตุ นอกจากนั้นคือ

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วที่หลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญ คือ
    • การออกกำลังกาย และ
    • จำกัดประเภทอาหารในกลุ่มให้พลังงาน (คาร์โบไฮเดรต/แป้งและน้ำตาล ไขมัน และโปรตีน) โดยเฉพาะอาหารคาร์โบไฮเดรต และไขมัน รวมทั้งการ
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะใกล้ช่วงเข้านอน และ
  • ฝึกนอนหลับในท่านอนตะแคง

บรรณานุกรม

  1. Kirkness, J. et al. (2006). Upper airway obstruction in snoring and upper airway resistance syndrome. Prog Respir Basel, Karger. 35, 79-89.
  2. https://www.sleepfoundation.org/sleep-disorders-problems/other-sleep-disorders/snoring [2019,July27]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Snoring [2019,July27]
  4. https://www.nhs.uk/conditions/snoring/ [2019,July27]