ภาวะเครียดของทารกในครรภ์ (Fetal distress)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะเครียดของทารกในครรภ์คืออะไร?

         ภาวะเครียดของทารกในครรภ์(Fetal  distress) คือ โรค/ภาวะที่บ่งบอกว่า*ทารก  ในครรภ์อยู่ในภาวะที่อันตราย*เกิดเนื่องจากทารกได้รับออกซิเจนจากเลือดของมารดาไม่เพียงพอ  มักแสดงออกโดยทารกจะมี’อาการเต้นของหัวใจผิดปกติ’  ซึ่งหากให้การช่วยเหลือให้ทารกคลอดไม่ทันท่วงที,  สามารถทำให้ทารกในครรภ์ถึงตายได้

         ภาวะเครียดของทารกในครรภ์ เป็นภาวะพบน้อย มีรายงานพบได้ประมาณ 3%ของสตรีทั่วไปที่ได้รับการผ่าท้องคลอดบุตรจากภาวะนี้ ซึ่งพบได้สูงขึ้นเป็นประมาณ 20%เมื่อ  มารดาอยู่ในกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้

ภาวะเครียดของทารกในครรภ์มีอันตรายหรือไม่?

ภาวะเครียดของทารกในครรภ์

ภาวะเครียดของทารกในครรภ์ *เป็นภาวะที่อันตราย*หากช่วยเหลือทารกให้คลอดได้ไม่ทันท่วงที, สามารถทำให้ทารกในครรภ์ มี*ความพิการทางสมอง,หรือถึงตายได้*  จากสมองและร่างกายทารกขาดออกซิเจนที่รุนแรง

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเครียดของทารกในครรภ์?

ทารกในครรภ์ที่เกิดภาวะเครียด เกิดจากทารกได้รับออกซิเจนจากเลือดของมารดาไม่เพียงพอ   ซึ่งออกซิเจนที่จะส่งไปยังทารกในครรภ์จะถูกส่งผ่านไปยังรก,และไปยังเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆของทารก  

  ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ไม่เพียงพอที่พบบ่อย เช่น

  • รกลอกตัวก่อนกำหนด 
  • ภาวะสายสะดือย้อย/ ภาวะสายสะดือโผล่แลบ: จึงทำให้ส่วนนำของทารก เช่น ศีรษะทารกในครรภ์ที่อยู่ใน’ท่าปกติ,’หรือ ก้นทารกในทารกท่าก้น, ไปกดสายสะดือ,   ทารกจึงได้รับเลือด/ออกซิเจนน้อยลง
  • ภาวะน้ำคร่ำน้อย  หรือ ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด:  จึงทำให้สายสะดือ ถูกกดทับได้ง่ายเวลามีการหดรัดตัวของมดลูก
  • มีความผิดปกติของเส้นเลือดของมารดาและ/หรือของรก: เช่น กรณีที่มารดามีความดันโลหิตสูง    เบาหวาน  โรคไต  การตั้งครรภ์เกินกำหนดที่ทำให้รกเสื่อม  หรือมีรกเสื่อมจากเหตุอื่น(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รกเสื่อม)

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเครียดของทารกในครรภ์?

หญิงตั้งครรภ์ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเครียดของทารกในครรภ์ที่พบบ่อย เช่น

  • ผู้มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับเส้นเลือด: ซึ่งทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ไม่เพียงพอ เช่น มีโรคความดันโลหิตสูง   โรคเบาหวาน   โรคไต    
  • ผู้มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด: อ่านเพิ่มเติมเรื่อง รกลอกตัวก่อนกำหนด ได้ในเว็บ com
  • ผู้มีภาวะสายสะดือโผล่แลบ: อ่านเพิ่มเติมเรื่อง สายสะดือโผล่แลบ ได้ในเว็บ com
  • ผู้มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด หรือ มีน้ำคร่ำน้อย:  ซึ่งทำให้สายสะดือถูกกดทับกับส่วนต่างๆของทารก ส่งผลให้เส้นเลือดถูกอุดกั้น   เลือดจึงไปเลี้ยงทารกได้น้อยลง(อ่านเพิ่มเติมทั้ง 2 เรื่องได้ในเว็บ com)
  • ผู้มีการตั้งครรภ์เกินกำหนด: จะส่งผลให้รกมักเสื่อม ประสิทธิภาพในการส่งเลือดไปเลี้ยงทารกฯจึงไม่ดี (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง การตั้งครรภ์เกินกำหนด ได้ในเว็บ com)
  • ผู้มีภาวะรกเสื่อม: (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ภาวะรกเสื่อม ได้ในเว็บ com)
  • ผู้มีภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์: ซึ่งมักเกิดจากรกทำงานไม่ดี/รกเสื่อม  และ/หรือมีภาวะน้ำคร่ำน้อย (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์  ได้ในเว็บ com)
  • ผู้ได้รับยากระตุ้นการบีบตัวของมดลูกมากเกินไป: เช่น ยา Oxytocin จึงทำให้เส้นเลือดมดลูกหดตัว ส่งผลให้ขาดเลือดไปเลี้ยงรกและทารกในครรภ์เป็นเวลานาน

สตรีตั้งครรภ์จะรู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะเครียดของทารกในครรภ์?

สตรีตั้งครรภ์จะรู้ได้ว่ามีภาวะเครียดของทารกในครรภ์โดย

  • ส่วนมากสตรีตั้งครรภ์จะ’ไม่ทราบ’ว่า ทารกในครรภ์มีภาวะเครียด คือไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติของทารกมาก่อน  จนกระทั่งทารกมีภาวะเครียดมากจนทารกเสียเสียชีวิต/ไม่ดิ้นแล้ว(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง การดิ้นของทารกในครรภ์) 
  • รู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้นลดลง หรือไม่ดิ้น(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง การเคลื่อนไหวหรือการดิ้นของทารกในครรภ์) 
  • กรณีที่ทารกในครรภ์มีภาวะเครียดเรื้อรัง: จะเกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์  มารดาอาจสังเกตได้ว่า ขนาดของครรภ์ไม่โตขึ้นตามอายุครรภ์

แพทย์วินิจฉัยภาวะเครียดของทารกในครรภ์ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะเครียดของทารกในครรภ์ได้จาก 

  • ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจทารกที่ผิดปกติไป  ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจทารกที่ปกติจะอยู่ระหว่าง110-160 ครั้งต่อนาที,  หากอัตราการเต้นฯเร็วกว่านี้หรือช้ากว่านี้ถือว่า’ผิดปกติ’
  • การตรวจที่สำคัญ: คือ  ตรวจด้วยเครื่องมือที่บันทึกรูปกราฟลักษณะการเต้นของหัวใจทารกที่เรียกว่า Electronic fetal heart rate monitoring  ที่จะให้ข้อมูลได้มากกว่าการฟังเสียงการเต้นของหัวใจทารกด้วยหูฟังผ่านหน้าท้องมารดาเพียงวิธีการอย่างเดียว  โดยแบ่งผลการตรวจ Electronic fetal heart rate monitoring  ได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
    • กลุ่มที่ 1 (Category I): ลักษณะผลการตรวจการเต้นของหัวใจทารก บ่งบอกว่า ‘ทารกปกติ’ (Reassuring pattern) มีอัตราการเต้นของหัวใจเฉลี่ย 110-160  ครั้งต่อนาที
    • กลุ่มที่ 2 (Category II): ลักษณะผลการตรวจการเต้นของหัวใจทารก เป็นงแบบก้ำกึ่ง’ คือ ‘บอกไม่ได้ชัดเจน’ว่าทารกปกติหรือผิดปกติ
    • กลุ่มที่ 3 (Category III): ลักษณะผลการตรวจการเต้นของหัวใจทารก บ่งบอกว่าการเต้นฯผิดปกติ(ช้าหรือเร็วกว่าปกติอย่างชัดเจน) ซึ่งบอกได้ว่า ‘ทารกผิดปกติ’ (Non-reassuring pattern)

รักษาภาวะเครียดของทารกในครรภ์อย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะเครียดของทารกในครรภ์ เช่น

ก. หากผลการตรวจ Electronic fetal heart rate monitoring บ่งบอกว่าทารกอยู่ใน Category I: แสดงว่าทารกในครรภ์ยังมีสุขภาพดี   สตรีตั้งครรภ์สามารถกลับไปพักที่บ้านได้   โดยแพทย์จะอธิบายให้สตรีตั้งครรภ์สังเกตอาการที่ต้องรีบมาโรงพยาบาลโดยด่วน/ฉุกเฉิน คือ ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง,   ซึ่งโดยทั่วไปผลการตรวจ Category  I /ผลปกติ จะสะท้อนว่า น่าจะไม่มีปัญหากับทารกในครรภ์ภายใน 1  สัปดาห์นับจากการตรวจ  ยกเว้นมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง  เช่น  ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด,   ซึ่งสตรีตั้งครรภ์กลุ่มนี้ แพทย์จะนัดมาติดตามอาการทุก  1  สัปดาห์

ข. หากผลตรวจ Electronic fetal heart rate monitoring อยู่ใน Category II: สุขภาพทารกในครรภ์ต้องมีการเฝ้าระวังจากแพทย์อย่างใกล้ชิดมากขึ้น  แพทย์จะมีการตรวจวิธีอื่นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความมีสุขภาพดีของทารก ได้แก่ การตรวจทารกในครรภ์ด้วยเทคนิคเฉพาะจากอัลตราซาวด์ ที่เรียกว่า  Biophysical profile,  และมักมีการนัดสตรีตั้งครรภ์มาตรวจหรือทำการตรวจ Electronic fetal heart rate monitoring สัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือถี่กว่านั้น,  หากจำเป็นแพทย์อาจให้สตรีตั้งครรภ์นอนสังเกตอาการที่โรงพยาบาล

ค. หากอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ ช้าหรือเร็ว กว่าอัตราปกติ/ ผลตรวจ Electronic fetal heart rate monitoring อยู่ใน Category III: แพทย์จะรีบทำการช่วยชีวิตทารกในครรภ์(Intrauterine resuscitation) เช่น

  • จัดให้มารดาเปลี่ยนท่าจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง เพื่อช่วยลดการที่มดลูกอาจไปกดเส้นเลือดใหญ่ของมารดาแล้วทำให้เลือดไหลเวียนกลับหัวใจมารดาน้อยลง ทำให้ส่งเลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้ลดลง
  • ให้มารดาสูดดมออกซิเจน
  • หากแพทย์กำลังให้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกแก่มารดา,  แพทย์จะหยุดให้ยาดังกล่าว
  • ให้น้ำเกลือ/สารน้ำเข้าเส้นเลือดดำมารดา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเลือดเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังทารกในครรภ์
  • เฝ้าติดตามอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ และทำการบันทึกกราฟ:  หากเกิน 30 นาทีหลังจากที่ให้การช่วยเหลือทารกในครรภ์ด้วยวิธีการดังกล่าวแล้ว, อัตราการเต้นของหัวใจทารกยังผิดปกติเหมือนเดิม,   แพทย์จะรีบนำมารดาไปผ่าท้องคลอดฯ

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะเครียดของทารกในครรภ์?

ภาวะเครียดของทารกในครรภ์เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติกรรม อาการที่มารดาพอสังเกตได้บ้าง คือ การที่ทารกดิ้นลดลง หรือไม่ดิ้น,  ซึ่งต้องรีบไปพบแพทย์/สูติแพทย์/ไปโรงพยาบาลรีบด่วน/ฉุกเฉิน ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การเคลื่อนไหวหรือการดิ้นของทารกในครรภ์) 

สตรีตั้งครรภ์ต้องไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อไปฝากครรภ์  พอมารดารู้สึกว่าทารกเริ่มดิ้น, ซึ่งในการตั้งครรภ์ครั้งแรก  มารดาจะรู้สึกได้เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18-20  สัปดาห์,  หากเป็นการตั้งครรภ์ครั้งต่อๆไป  มารดาจะรู้สึกถึงทารกดิ้นได้เร็วขึ้น คือเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16  สัปดาห์,  หลังจากการดิ้นครั้งแรกนั้นแล้ว มารดาต้องรู้สึกว่าทารกดิ้นทุกๆวัน,  และรู้สึกทารกดิ้นแรงขึ้นเรื่อยๆ  จำนวนการดิ้นต่อวันจะมากกว่า 100 ครั้ง,  แต่มารดาจะไม่รู้สึกทุกครั้งที่ทารกดิ้น 

* โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้มารดาสังเกตว่า หากทารกดิ้นมากกว่า 10 ครั้ง ใน  12 ชั่วโมง  บ่งบอกว่าวันนั้นๆ สุขภาพทารกยังดีอยู่

*ดังนั้นหากมารดารู้สึกว่าทารกดิ้นน้อยกว่า 10  ครั้งใน  12  ชั่วโมง  ต้องรีบด่วนไปพบแพทย์/สูติแพทย์/ไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด  เพื่อแพทย์ประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์

ทารกในครรภ์ที่มีภาวะเครียดเมื่อคลอดมีอันตรายไหม?

ทารกที่มีภาวะเครียดขณะอยู่ในครรภ์เกิดจากการขาดออกซิเจนและในการคลอดทางช่องคลอดต้องใช้เวลานาน ซึ่งเมื่อมดลูกหดรัดตัว จะทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงทารกลดลงอีก แพทย์จึงต้องเตรียมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่, โดยส่วนมากแพทย์มักรีบทำคลอดโดย’การผ่าท้องคลอดบุตร’ 

อันตรายที่จะเกิดกับทารกขึ้นกับว่า ทารกขาดออกซิเจนขณะอยู่ในครรภ์มากน้อยเพียงใด,   หากขาดออกซิเจนไม่นาน  ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที ก็ไม่มีความพิการต่อสมองทารก,  แต่หากขาดออกซิเจนนานจะทำให้สมองทารกพิการได้เมื่อคลอดออกมา  หรือหากรุนแรงมาก ทารกอาจตายได้

ดูแลตนเองอย่างไรหลังคลอดเมื่อมีภาวะเครียดของทารกในครรภ์?

การดูแลตนเองของมารดาหลังคลอดกรณีเมื่อมีภาวะเครียดของทารกในครรภ์จะเหมือนในสตรีหลังคลอดทั่วไป  ทั้งนี้ขึ้นกับวิธีการคลอดด้วยว่า คลอดทางช่องคลอด หรือผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com  3 บทความ คือเรื่อง การคลอดบุตร,    ระยะหลังคลอด,  และเรื่อง การผ่าท้องคลอดบุตร),    *รวมถึงต้องมีการรักษาภาวะต่างๆที่เป็นเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯดังกล่าวใน หัวข้อ สาเหตุฯ และหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป

ทารกที่มีภาวะเครียดขณะอยู่ในครรภ์หลังคลอดมีปัญหาหรือไม่?

ความผิดปกติของทารกหลังคลอด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการขาดออกซิเจน   หากทารกขาดออกซิเจนในครรภ์ไม่นาน, ได้รับการช่วยเหลือให้คลอดทันท่วงที, ก็ไม่มีความพิการต่อสมองทารก ทารกมักมีพัฒนาการทางสมองและร่างกายปกติ   

แต่หากทารกขาดออกซิเจนนาน อาจทำให้สมองพิการจนส่งผลให้พัฒนาการด้านสมองและร่างกายของทารกผิดปกติได้

 

สามารถตั้งครรภ์ครั้งต่อไปได้ไหม และเมื่อไหร่?

การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปของมารดาที่มีภาวะเครียดของทารกในครรภ์ ขึ้นกับความพร้อมของมารดา  และวิธีการคลอดในครั้งที่ผ่านมา คือคลอดทางช่องคลอด หรือผ่าตัดคลอด  โดยทั่วไป สูติแพทย์จะแนะนำให้เว้นการตั้งครรภ์ไปสักระยะ, เพื่อแก้ไขบำบัด รักษาโรคประจำตัวหรือสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้เกิดภาวะเครียดของทารกในการตั้งครรภ์ครั้งที่ผ่านมา,   ดังนั้นระยะเวลาในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป จึงแตกต่างกันเป็นกรณีไปตามดุลพินิจของสูติแพทย์

ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกหรือไม่?

ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป อาจเกิดภาวะเครียดของทารกในครรภ์ซ้ำได้ ถ้ามารดายังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่   อย่างไรก็ตาม แม้มารดาไม่มีปัจจัยเสี่ยง สตรีตั้งครรภ์ทุกคนต้องระวังไว้เสมอว่า สามารถเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ทำให้เกิดภาวะเครียดของทารกในครรภ์ได้ตลอดเวลา  *การตั้งครรภ์ทุกครรภ์มีความเสี่ยง เพียงแต่จะเป็นการตั้งครรภ์ความเสี่ยงต่ำ หรือการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูงเท่านั้น ดังนั้น *ก่อนตั้งครรภ์ครั้งใหม่จึงควรปรึกษาสูติแพทย์ก่อนเสมอ

บรรณานุกรม

  1. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/labor-and-birth/fetal-distress/ [2022,June25]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Fetal_distress [2022,June25]
  3. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/12719676/ [2022,June25]