ภาวะสายสะดือย้อย ภาวะสายสะดือโผล่แลบ (Umbilical cord prolapse)

สารบัญ

ภาวะสายสะดือย้อยคืออะไร?

ภาวะสายสะดือย้อย หรือสายสะดือโผล่แลบ (Umbilical cord prolapse) คือ การที่สายสะดือของทารกในครรภ์ ย้อยต่ำลงไปข้างๆส่วนนำ หรือต่ำกว่าส่วนนำของทารก (ศีรษะ หรือ ก้น) จึงทำให้สายสะดือของทารกถูกกดเบียดเวลาที่มีการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้กดเบียดหลอดเลือดในรก ส่งผลให้เกิดการขาดออกซิเจน (จากเลือด) ที่จะส่งไปยังทารก ซึ่งเป็นอัน ตรายต่อทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก

ภาวะสายสะดือย้อย แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • สายสะดือโผล่แลบแบบชัดเจน (Overt cord prolapse) พบบ่อยที่สุด สายสะดือของทา รกย้อยลงไปต่ำกว่าส่วนนำของทารก แพทย์ผู้ตรวจภายในสตรีตั้งครรภ์ จะคลำพบสายสะดือ มีการเต้นเป็นจังหวะตามการบีบตัวของหัวใจทารก หากมีการแตกของถุงน้ำคร่ำร่วมด้วย บางครั้งสามารถมองเห็นสายสะดือที่โผล่พ้นออกมาทางช่องคลอดได้
  • สายสะดือโผล่แลบแบบไม่ชัดเจน (Occult cord prolapse) มองไม่เห็นสายสะดือของทารกย้อยต่ำลงไปข้างๆส่วนนำ เมื่อมดลูกหดตัว ทำให้สายสะดือถูกกดเบียด ทำให้หัวใจทารกเต้นช้าลงได้ การวินิจฉัยได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากบางครั้งการตรวจภายใน ตรวจหรือคลำไม่พบสายสะดือ

ภาวะสายสะดือย้อยมีความสำคัญหรืออันตรายอย่างไร?

ภาวะสายสะดือย้อย

ภาวะสายสะดือย้อย เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติกรรม พบได้ไม่บ่อย แต่อันตรายต่อทารกมาก อุบัติการณ์การเกิดสายสะดือย้อย พบประมาณ 0.1 -0.6% ของการคลอดทั้งหมด เป็นภา วะที่มีอันตรายต่อทั้งมารดาและทารก

สำหรับทารกมีอันตรายมากจนถึงชีวิตได้ หากสายสะดือถูกกดทับนาน หรือหากไม่ถึงกับเสียชีวิต สมองอาจขาดออกซิเจน ทำให้มีผลต่อการพัฒนาการของทารกในอนาคตได้ และทา รกมีโอกาสติดเชื้อได้สูงกว่าทารกคลอดปกติ

สำหรับมารดา ก็จะเสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอด เสี่ยงต่อการติดเชื้อในโพรงมดลูกจากการทำหัตถการต่างๆ เพื่อช่วยชีวิตทารก และ/หรือมีภาวะตกเลือดหลังคลอดได้สูง

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสายสะดือย้อย?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสายสะดือย้อย ได้แก่

  • ทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือตัวเล็ก ทำให้มีช่องว่างระหว่างส่วนนำกับผนังมดลูกมากจึงอาจทำให้สายสะดือทารกมากองกันอยู่ข้างๆส่วนนำ หรือถ้ามีการแตกของถุงน้ำคร่ำ ก็ทำให้สายสะดือไหลย้อยลงมา
  • ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ เช่น ท่าก้น ท่าขวาง ซึ่งส่วนนำจะไม่แน่นพอดีกับช่องเชิงกราน ทำให้มีช่องว่างที่ทำให้สายสะดือย้อยลงไปได้
  • ภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ (Hydramnios) ทำให้สายสะดือมีโอกาสถูกพัดพาให้ไหลไปมาได้ง่ายขึ้น
  • ถุงน้ำคร่ำแตกหรือการเจาะถุงน้ำคร่ำ แรงดันและการไหลของน้ำคร่ำ สามารถพัดให้สายสะดือไหลลงมาได้ หากมีช่องว่างพอ
  • การตั้งครรภ์แฝด เพราะทารกมักตัวเล็ก ส่วนนำไม่แน่นพอดีกับช่องเชิงกราน

สตรีตั้งครรภ์จะรู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะสายสะดือย้อย?

หากในกรณีที่สายสะดือไหลมาอยู่ข้างๆส่วนนำ สตรีตั้งครรภ์คงไม่สามารถรู้สึกได้ แต่หากมีการแตกของถุงน้ำคร่ำ และเห็นมีอะไรนิ่มๆโผล่ออกมาทางช่องคลอด นั่นแสดงว่าน่าจะมีสายสะดือย้อยไปแล้ว และอาจจะช้าเกินไปที่จะช่วยชีวิตทารกไว้ได้ทัน

สิ่งที่สตรีตั้งครรภ์ต้องสังเกตตนเองคือ หากมีถุงน้ำคร่ำแตก มีน้ำไหลออกมาจากช่องคลอดจำนวนมาก กลั้นไม่ได้ ต้องรีบไปโรงพยาบาลพบแพทย์ เพื่อตรวจภาวะแทรกซ้อน (ผล ข้างเคียง) นี้ และให้สังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์ว่ายังปกติดีอยู่หรือไม่

การวินิจฉัยภาวะสายสะดือย้อยของแพทย์ทำได้อย่างไร?

หากยังไม่มีอาการเจ็บครรภ์ ไม่มีการหดรัดตัวของมดลูก และการเต้นของหัวใจทารกไม่เปลี่ยนแปลง มักจะวินิจฉัยภาวะนี้ไม่ได้ ยกเว้นกรณีที่มีการเต้นของหัวใจทารกผิดปกติ หรือทา รกอยู่ในท่าผิดปกติ (เช่น ท่าขวาง) และได้มีการตรวจครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) จะเห็นสายสะดืออยู่ข้างๆ หรือเลยส่วนนำลงไป

เมื่อมีอาการเจ็บครรภ์ โดยปกติแพทย์จะทำการตรวจภายใน เพื่อประเมินการเปิดขยายของปากมดลูก, สภาพของถุงน้ำคร่ำ, และคลำดูว่ามีสายสะดือย้อยลงมาหรือไม่ โดยเฉพาะหากมีการแตกของถุงน้ำคร่ำ แพทย์จะต้องรีบตรวจทันที ซึ่งแพทย์จะคิดถึงภาวะสายสะดือย้อยมากขึ้น หากหัวใจของทารกเต้นผิดปกติหลังมีการแตกของถุงน้ำคร่ำ

อาการที่ทำให้สงสัยว่าว่ามีภาวะสายสะดือย้อยคือ การเต้นของหัวใจทารกจะผิดปกติ เต้นช้า โดยเฉพาะหลังการแตกของถุงน้ำคร่ำ

รักษาภาวะสายสะดือย้อยอย่างไร?

ภาวะสายสะดือย้อย เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติกรรม การวินิจฉัยที่ทันท่วงที จะทำให้ช่วยชี วิตทารกได้ทัน หากเกิดภาวะนี้ขึ้น สภาพภายในห้องคลอดจะค่อนข้างโกลาหล เพราะทุกคนต้องรีบช่วยชีวิตทารก แข่งกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด สตรีตั้งครรภ์ต้องระงับสติ ความกลัว ความตื่นเต้น ตกใจ และให้ความร่วมมือกับทีมแพทย์ให้มากที่สุด

เมื่อแพทย์ตรวจภายใน และคลำพบสายสะดือที่มีการเต้นเป็นจังหวะๆ แพทย์จะคงเอามือสอดไว้ในช่องคลอด และใช้มือดันส่วนนำไม่ให้มากดทับสายสะดือ จะมีการเอาหมอนมาหนุนให้ยกก้นสตรีตั้งครรภ์สูงขึ้น (Trendelenburg) หรือบางครั้งแพทย์จะให้สตรีตั้งครรภ์นอนคว่ำแล้วยกก้นสูงไว้ (Knee – chest position) ให้สตรีตั้งครรภ์ดมออกซิเจน เปิดเส้นเลือดดำเพื่อให้น้ำเกลือ ติดเครื่องมือติดตามการเต้นของหัวใจทารกที่หน้าท้องมารดา มีการเรียกความช่วยเหลือจากแพทย์หลายฝ่าย เพราะต้องรีบผ่าตัดคลอดด่วน หากปากมดลูกเปิดขยายไม่หมด บางครั้งต้องให้ยาคลายการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก หรือใส่น้ำเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อดันส่วนนำขึ้นไว้ไม่ให้ไปกดสายสะดือ แต่หากปากมดลูกเปิดขยายหมด และส่วนนำ เช่น ศีรษะอยู่ต่ำมากแล้ว อาจพิจารณาช่วยคลอดทางช่องคลอด โดยใช้คีมคีบศีรษะ ซึ่งใช้เวลาสั้นกว่าการผ่าตัดคลอด

อย่างไรก็ตาม หากสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะสายสะดือย้อยมาโรงพยาบาลช้า ทารกในครรภ์เสียชีวิตแล้ว ก็จะรอให้คลอดทางช่องคลอดปกติ ในกรณีที่ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ต้องผ่าท้องคลอด

ภาวะสายสะดือย้อยป้องกันได้หรือไม่?

ภาวะสายสะดือย้อย เป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่เฝ้าระวังได้ หากรู้มาก่อนว่าทา รกอยู่ในท่าผิดปกติ หรือมีการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด ควรมีการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อดูตำแหน่งของสายสะดือ ถ้าพบว่ามีโอกาสที่จะเกิดสายสะดือย้อยตอนถุงน้ำคร่ำแตก ก็จะมีการนัดผ่าตัดคลอดก่อนมีการเจ็บครรภ์ แต่ยังไม่มีคำแนะนำ ให้ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงในสตรีตั้ง ครรภ์ทุกรายที่ไม่มีความเสี่ยง

ส่วนทางด้านแพทย์ การป้องกันภาวะนี้คือ ต้องมีความระมัดระวังในการเจาะถุงน้ำคร่ำ

เมื่อครรภ์ที่แล้วมีภาวะสายสะดือย้อย ครรภ์นี้จะเกิดภาวะสายสะดือย้อยอีกไหม?

ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า เมื่อเคยมีภาวะสายสะดือย้อย ครรภ์ต่อๆไปจะมีโอกาสเกิด ขึ้นอีกหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นกับความเสี่ยงในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง เช่นอายุครรภ์ ท่าของทารกในครรภ์ หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง

หลังคลอดควรดูแลตนเองอย่างไร?

สำหรับการดูแลมารดาหลังคลอด ขึ้นกับว่าคลอดโดยวิธีใด ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การเกิดสายสะดือย้อยเป็นภาวะฉุกเฉิน และส่วนมากมักต้องรีบผ่าท้องคลอดเพื่อช่วยชีวิตทารก จึงมีความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อในโพรงมดลูกมากกว่าปกติ เพราะต้องคามือไว้ในช่องคลอดระ หว่างรอผ่าตัด แพทย์จึงจะต้องให้ยาปฎิชีวะนะก่อนผ่าตัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ผู้ป่วยอาจได้นอนพักรักษาตัว 3-4 วันในโรงพยาบาล หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากการผ่า ตัด

หากในกรณีที่คลอดทางช่องคลอด แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ ป้องกันการติดเชื้อเช่นกันและให้นอนพักรักษาตัว 2-3 วันในโรงพยาบาล

ควรตั้งครรภ์ใหม่เมื่อไร?

การเว้นระยะการตั้งครรภ์ หากได้รับการผ่าท้องคลอด ควรเว้นระยะการตั้งครรภ์ไป 2-3 ปี เพื่อให้ร่างกายพร้อมที่สุด แต่หากเป็นการคลอดทางช่องคลอด การเว้นระยะมีบุตรไม่ได้จำกัดในเรื่องเวลามากนัก หากทารกคนแรกเสียชีวิต ก็สามารถตั้งครรภ์ใหม่ได้เลยหากต้องการ แต่หากทารกแข็งแรงดี การเว้นระยะการมีบุตรคนต่อไป 2-3 ปี ก็จะทำให้พ่อและแม่มีเวลาเลี้ยงดูบุตรคนแรกได้อย่างเต็มที่

การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปควรเตรียมตัวอย่างไร?

ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ต้องแจ้งให้แพทย์ผู้ดูแลทราบว่า เกิดปัญหาอะไรบ้างในครรภ์แรก เพื่อแพทย์จะได้เพิ่มความระมัดระวัง อาจมีการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อค้นหาความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสายสะดือย้อย, ตรวจดูท่าทารก และตรวจตำแหน่งของสายสะดือ

ทารกที่เกิดจากภาวะนี้มีการพยากรณ์โรคเหมือนเด็กคลอดปกติไหม?

การพยากรณ์โรคของทารกที่เกิดจากภาวะปัญหาสายสะดือย้อย ขึ้นอยู่กับระดับความรุน แรงที่ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ถ้าขาดออกซิเจนนาน ทารกเสียชีวิตได้ หากขาดออกซิเจนน้อยลงมา อาจทำให้เกิดภาวะปัญญาอ่อน, ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (โรคดีสโทเนีย/Dystonia), เด็กมีพัฒนาการช้า, และหากสมองไม่ขาดออกซิเจน ทารกก็มีพัฒนาการตามปกติ

บรรณานุกรม

  1. http://www.thewomens.org.au [2013,Nov13]
  2. http://www.uptodate.com/contents/umbilical-cord-prolapse [2013,Nov13].