ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด (Premature rupture of membranes)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอดหมายถึงอะไร?

ถุงน้ำคร่ำ (Amniotic sac) จะมีของเหลวที่เรียกว่า น้ำคร่ำ (Amniotic fluid) อยู่ข้างใน ลักษณะถุงคล้ายลูกโป่งใส่น้ำ และมีทารกอยู่ในถุงลูกโป่ง ถุงน้ำคร่ำทำหน้าที่ห่อหุ้มทารกในครรภ์ไม่ให้ได้รับอันตรายจากการกระทบกระแทก, ป้องกันไม่ให้สายสะดือถูกกดทับ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทารก, เป็นเกราะป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังช่วยให้การคลอดสะดวกขึ้น

ในภาวะปกติถุงน้ำคร่ำนี้จะแตกช่วงที่ใกล้จะคลอด หลังจากมีอาการเจ็บครรภ์คลอดแล้ว ดังนั้นการที่มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนที่มีอาการเจ็บครรภ์จริง (เจ็บครรภ์สม่ำเสมออย่างน้อย 1 ครั้ง ใน 10 นาทีและมีการเปิดขยายของปากมดลูก) และอายุครรภ์ครบกำหนด (มากกว่าหรือเท่ากับ 37 สัปดาห์โดยคำนวนจากประวัติวันแรกของประจำเดือนที่ปกติครั้งสุดท้าย) จึงเรียกว่า “ถุงน้ำ คร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด (Premature rupture of membranes หรือเรียกย่อว่า PROM)” หรือเรียกสั้นๆว่า “มีน้ำเดิน” แต่หากถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์ในอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 37 สัปดาห์ ในภาษาไทยไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ โดยเรียกเช่นเดียวกับเมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ในภาษาอังกฤษเรียกกว่า “Preterm premature rupture of membranes หรือย่อว่า PPROM”

ทั้งนี้ การแตกของถุงน้ำคร่ำเป็นสัญญาณบอกว่า น่าจะมีการคลอดตามมาในระยะเวลาอัน ใกล้นี้

ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอดมีความสำคัญอย่างไร?

ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด

ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์ไม่ใช่ภาวะปกติ แต่เป็นภาวะที่มีปัญหาสำคัญที่สุด ทำให้มีโอ กาสติดเชื้อในครรภ์สูงมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ก่อนกำหนดนัด เนื่องจากอาจมีปัญหาหลายประ การที่จะเกิดตามมาได้ คือ

  • เป็นสัญญาณเตือนว่าน่าจะมีการคลอดในอนาคตอันใกล้นี้
  • เสี่ยงต่อมีภาวะสายสะดือทารกในครรภ์ย้อยต่ำลงมาและถูกกดทับ
  • เสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ หากถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอดเป็นระยะเวลานานเกิน 18-24 ชั่วโมง

ภาวะแทรกซ้อนจากถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอดมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้จากถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์ คือ

  • ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในโพรงมดลูก
  • รกลอกตัวก่อนกำหนด
  • หลอดเลือดสายสะดือฉีกขาด ทำให้มารดาเสียเลือดในการคลอดมากขึ้น รวมทั้งการเสียเลือดมากขึ้นของทารก ซึ่งส่งผลถึงสัญญาณชีพของทารกได้
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • ปอดทารกไม่ขยาย ทารกจึงมีโอกาสมีปัญหาทางการหายใจ และ/หรือปอดติดเชื้อได้ง่ายภายหลังคลอด
  • มารดามีโอกาสถูกผ่าท้องคลอด (การผ่าท้องคลอดบุตร) มากขึ้น

อาการถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอดเป็นอย่างไร?

อาการถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด คือ

  • การที่จู่ๆก็มีน้ำไหลออกมาทางช่องคลอดปริมาณมาก ชุ่มหน้าขา หรือเปียกชุดชั้นใน ไม่สามารถกลั้นให้หยุดไหลได้ โดยยังไม่มีอาการเจ็บครรภ์หรือมีการหดรัดตัวของมดลูก แต่อาจจะสัมพันธ์กับประวัติมารดาได้รับอุบัติเหตุก่อนหน้านี้

แพทย์วินิจฉัยถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอดอย่างไร?

หัวใจในการวางแผนการรักษาสิ่งสำคัญที่สุดคือแพทย์ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีถุงน้ำคร่ำแตกจริงหรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยมีขั้นตอนดังนี้

  • ประวัติอาการ แพทย์จะทำการซักประวัติเกี่ยวกับลักษณะน้ำที่ออกมาทางช่องคลอด หากมีถุงน้ำคร่ำแตก ลักษณะน้ำที่ออกจะมีปริมาณมาก มักได้ประวัติว่ามีน้ำไหลออกมาจนเปียกชุ่มหน้าขา หรือ ชุดชั้นใน ไม่สามารถกลั้นได้ เพราะแพทย์ต้องแยกจากปัสสาวะราด (ซึ่งควรจะกลั้นได้) และน้ำไม่มีกลิ่นของปัสสาวะ
  • ตรวจร่างกาย เพื่อดูว่า
    • มีไข้หรือไม่ มีการกดเจ็บที่ช่องท้องหรือไม่ เพื่อหาหลักฐานการติดเชื้อ
    • และแพทย์จะดูขนาดของครรภ์/ท้อง เพราะบางครั้งขนาดท้องจะเล็กลงหากน้ำเดินมีปริมาณมาก
    • นอกจากนั้น แพทย์จะตรวจบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อดูว่ายังมีน้ำไหลออกมาทางช่องคลอด เปื้อนบริเวณหน้าขาหรือไม่
    • จากนั้นแพทย์จะให้ผู้ป่วยขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่ง(การตรวจภายใน) เพื่อที่จะตรวจว่ามีถุงน้ำแตกจริงหรือไม่ โดยจะใส่เครื่องถ่างขยายช่องคลอด (Speculum) ที่แห้งและฆ่าเชื้อแล้ว สอดเข้าไปในช่องคลอด และลองให้ผู้ป่วยลองไอ (Cough test) แล้วดูว่ามีน้ำไหลออกมาจากปากมดลูกหรือไม่ ถ้าเห็นน้ำไหลออกจากรูปากมดลูกก็แสดงว่า มีถุงน้ำคร่ำแตกจริง
    • ซึ่งในกรณีที่อายุครรภ์ครบกำหนด แพทย์มักจะทำการตรวจภายในต่อไป เพื่อประเมินสภาพปากมดลูก
    • แต่หากอายุครรภ์ไม่ครบกำหนด หรือยังไม่มีแผนที่จะให้คลอด แพทย์จะพยายามไม่ตรวจภายใน ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
  • การตรวจทางห้องปฎิบัติการ การตรวจทางห้องแลบ ต่อจากนั้น แพทย์จะนำน้ำในช่องคลอดไปตรวจดูภาวะความเป็นกรด-ด่าง
    • ซึ่งถ้าเป็นน้ำคร่ำ จะมีฤทธิ์เป็นด่าง
    • ถ้าเป็นสิ่งคัดหลั่งในช่องคลอดจะมีฤทธิ์เป็นกรด
    • ในบางครั้งหากถุงน้ำคร่ำแตกมานานจนน้ำแห้งหรือไหลไปหมดแล้ว อาจตรวจไม่พบได้ เรียกว่าเป็น ผลลบลวง
    • นอกจากนี้แพทย์จะนำของเหลวในช่องคลอดไปป้ายบนกระจกแผ่นบางๆ/สไลด์ (Slide) รอจนแห้งแล้ว จึงนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หากมีถุงน้ำคร่ำแตกจะมองเห็นผลึกของเกลือโซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride) เรียงตัวเป็นรูปใบเฟริน์

ทำอย่างไรหากมีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด?

หากมีการแตกของถุงน้ำคร่ำโดยที่ยังไม่เจ็บครรภ์ *สตรีตั้งครรภ์ต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์

ระหว่างนี้ ให้คอยสังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์เพื่อแจ้งแพทย์ สตรีตั้งครรภ์บางคนจะเข้าใจผิดว่าต้องรอให้มีอาการเจ็บครรภ์ก่อนจึงจะไปพบแพทย์ได้ ซึ่งอาจช้าเกินไป

  • อาจเกิดการติดเชื้อก่อน
  • หรือในกรณีที่ถุงน้ำคร่ำแตก อาจทำให้สายสะดือทารกย้อยลงต่ำ สามารถทำให้ทารกเสียชีวิตได้

*ดังนั้น เมื่อมีถุงน้ำคร่ำแตก ต้องรีบไปโรงพยาบาล ห้ามรอจนกว่าจะมีอาการเจ็บครรภ์ เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจพิสูจน์ว่ามีน้ำเดิน หรือถุงน้ำคร่ำแตกจริง ก็จะให้สตรีตั้งครรภ์นอนพักสังเกตอาการในโรงพยาบาล

แพทย์รักษาภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอดอย่างไร?

การดูแลรักษาในกรณีที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์ ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ และภาวะการติดเชื้อในครรภ์ การดูแลในขณะอายุครรภ์ที่ยังไม่ครบกำหนดจะยุ่งยากซับซ้อนกว่าการแตกของถุงน้ำคร่ำในอายุครรภ์ที่ครบกำหนดมาก

ก. ในกรณีที่อายุครรภ์ครบกำหนด:

เมื่อมีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด และพิสูจน์ได้ว่ามีน้ำเดินจริงตามวิธีที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อ การวินิจฉัย แพทย์จะรีบตรวจภายในเพื่อประเมินว่ามีสายสะดือย้อยหรือไม่, และประเมินสภาพปากมดลูกว่ามีการขยายตัวหรือไม่

โดยทั่วไปหลังการแตกของถุงน้ำคร่ำในอายุครรภ์ที่ครบกำหนดแล้ว สตรีตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะเริ่มรู้สึก

  • เจ็บครรภ์:
    • มดลูกจะเริ่มมีการหดรัดตัว
    • ท้องมีการแข็งตัวเป็นพักๆ
    • และดำเนินการคลอดต่อไป
  • แต่หากไม่มีอาการเจ็บครรภ์ในระยะเวลาอันใกล้ แพทย์มักจะกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์และเกิดการคลอดตามมา ทั้งนี้เนื่องจากอายุครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้ว การปล่อยให้คอยนานเกินไป จะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในครรภ์ที่จะเป็นอันตรายทั้งต่อแม่และทารกในครรภ์ โดยเฉพาะหากน้ำเดินนานเกิน 24 ชั่วโมง ดังนั้นในกรณีที่ถุงน้ำคร่ำแตกมานาน เกิน 18 ชั่วโมงและยังไม่มีอาการเจ็บครรภ์ เเพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ ป้องกันการติดเชื้อร่วมด้วยระหว่างที่ดำเนินการคลอด

ข. ในกรณีที่อายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด มีแนวทางการดูแลดังนี้

  • หากมีการติดเชื้อในครรภ์ ลักษณะอาการ คือ มารดามีไข้ กดเจ็บที่ตัวมดลูก น้ำคร่ำมีกลิ่นเหม็น จะต้องกระตุ้นให้คลอด โดยที่ไม่สนใจถึงอายุครรภ์ เนื่องจากมีอันตรายจากการติดเชื้อทั้งของมารดาและของทารกมากกว่า
  • หากไม่มีการติดเชื้อ และอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ ไม่มีอาการเจ็บครรภ์ จะให้นอนพักสังเกตอาการในโรงพยาบาล มีการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หาแหล่งการติดเชื้อ จะมีการตรวจสัญญาณชีพมารดา อัตราการเต้นของหัวใจทารก และตรวจเลือดเป็นระยะๆ เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อ แพทย์จะฉีดยากระตุ้นความสมบูรณ์ของปอดทารกทุก 12 ชั่ว โมง รวม 4 ครั้ง มีการให้ยาปฎิชีวนะ ป้องกันการติดเชื้อ 1 สัปดาห์ ซึ่งหากเกิดการเจ็บครรภ์ระหว่างนี้ แพทย์จะให้ยายับยั้งการหดรัดตัวของมดลูก หลังจากนั้นเมื่ออายุครรภ์มากกว่าหรือเท่ากับ 34 สัปดาห์ (ทารกในครรภ์เจริญได้ดีพอที่จะมีอัตรารอดสูงเมื่อคลอด) แพทย์จะกระตุ้นให้คลอด แต่ในสถานที่บางแห่งอาจเลื่อนไปกระตุ้นคลอดเมื่ออายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ในกรณีที่ไม่มีกุมารแพทย์ หรือเครื่องมือเพียงพอที่จะดูแลทา รกคลอดก่อนกำหนดได้
  • หากไม่มีการติดเชื้อและอายุครรภ์ ตั้งแต่ 34 สัปดาห์ ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดยากระตุ้นความสมบูรณ์ของปอดทารก สถานพยาบาลส่วนใหญ่จะกระตุ้นให้คลอด และจะให้ยาปฎิชีวนะป้องกันการติดเชื้อระหว่างการคลอดด้วย แต่ในสถานพยาบาลบางแห่งอาจเลื่อนไปกระตุ้นคลอดเมื่ออายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ในกรณีที่ไม่มีกุมารแพทย์ หรือเครื่องมือเพียงพอที่จะดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด และอาจมีการให้ยาปฎิชีวนะ ป้องกันการติดเชื้อ ประมาณ 1 สัปดาห์ และเฝ้าสังเกตอาการต่อจนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด?

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด ได้แก่

  • มารดาได้รับอุบัติเหตุ
  • มดลูกมีการขยายมากเกินไป เช่น การตั้งครรภ์แฝด หรือมีเนื้องอกมดลูก
  • มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด
  • มีการติดเชื้อในช่องคลอด/ช่องคลอดอักเสบ/ ช่องคลอดอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย/ การติดเชื้อจีบีเอสระหว่างตั้งครรภ์
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • สูบบุหรี่
  • ฐานะต่ำ การดูแลสุขภาพช่วงตั้งครรภ์ไม่ดีพอ
  • สตรีตั้งครรภ์ที่มีรูปร่างผอม

ป้องกันถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอดได้อย่างไร?

การป้องกันถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่างๆ เช่น การเดินทางที่ไม่จำเป็น หรือการถูกกระทบกระแทกโดย เฉพาะบริเวณท้อง
  • หลีกเลี่ยงการทำงานที่หนักเกินไป
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
  • รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสมให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • รักษาและควบคุมการติดเชื้อในช่องคลอด
  • หมั่นดูแลรักษาฟันไม่ให้ฟันผุ เพราะมีรายงานว่าการมีฟันผุ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่มีความสัมพันธ์กับการที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด

มารดาควรดูแลตนเองหลังคลอดอย่างไร?

มารดาที่มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด ควรดูแลตนเองหลังคลอดโดย

ก. ในกรณีที่ถุงน้ำคร่ำแตกไม่นาน และสามารถคลอดทารกได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังถุงน้ำคร่ำแตก มักไม่มีการติดเชื้อในมดลูก มารดาหลังคลอดจะมีการดูแลเหมือนสตรีหลังคลอดทั่วไป

ข. แต่หากมีถุงน้ำคร่ำแตกนาน และมีการติดเชื้อในโพรงมดลูก

  • แพทย์จะต้องให้ยาปฎิชีวนะ ที่อาจเป็นแบบฉีดหรือให้รับประทานประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งต้องรับประทานให้ครบ
  • นอกจากนั้น น้ำ คาวปลาอาจจะมีสีแดงนานกว่าปกติ
  • และอาจมีอาการปวดมดลูกมากกว่ามารดาคลอดปกติได้
  • ทั้งนี้ แพทย์จะนัดมาตรวจหลังรับประทานยาครบ หากทุกอย่างปกติก็จะนัดตรวจหลังคลอด 6 สัปดาห์ตามปกติเหมือนมารดาทั่วไป

หากครรภ์แรกเคยถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด ท้องต่อไปจะเกิดอีกไหม?

ภาวะแทรกซ้อนต่างๆทางสูติกรรม ซึ่งรวมถึงภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด หากเกิดในครรภ์แรกแล้ว มักมีโอกาสเกิดซ้ำได้อีกในครรภ์ต่อมา สตรีตั้งครรภ์จึงต้องหมั่นดูแลระมัดระวังตัวเอง และควรแจ้งให้แพทย์ที่ดูแลการตั้งครรภ์ทราบแต่เนิ่นๆ ถึงประวัติการตั้งครรภ์ การคลอดที่ผิดปกติ รวมทั้งอาการผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงครรภ์ปัจจุบัน

ทารกจากมารดาที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอดจะเป็นอย่างไร ?

ทารกจากมารดาที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด จะเป็นดังนี้

  • สำหรับทารกที่อายุครรภ์ครบกำหนด และไม่มีการติดเชื้อในครรภ์ การดูแลและสุขภาพทารกจะเหมือนทารกแรกคลอดทั่วไป
  • สำหรับทารกที่อายุครรภ์ไม่ครบกำหนด ไม่มีการติดเชื้อ และคลอดในภายใน 24 ชั่วโมง การดูแลและสุขภาพทารกจะเหมือนทารกคลอดก่อนกำหนด
  • แต่หากมีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอดนาน แพทย์จะให้ยาปฎิชีวนะกับทารก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • และหากทารกน้ำหนักน้อยก็ต้องอยู่ในตู้อบเช่นเดียวกับทารกคลอดก่อนกำหนดจากสาเหตุต่างๆ
  • ซึ่งทารกที่มีอันตรายมากที่สุดคือ อายุครรภ์ไม่ครบกำหนดและมีการติดเชื้อ ซึ่งต้องได้รับยาปฏิชีวนะ และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะการติดเชื้ออาจเป็นสาเหตุให้ทารกเสีย ชีวิตได้

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/261137-overview#showall [2019,Aug17]
  2. https://www.gfmer.ch/Guidelines/Labor_delivery_postpartum/Premature_rupture_of_membranes.htm [2019,Aug17]