พยาธิตืดหมู (Pork tapeworm) โรคติดเชื้อพยาธิตืดหมู (Cysticercosis)
- โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ พนัส เฉลิมแสนยากร
- 21 มีนาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- พยาธิตืดหมูมีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร?
- คนติดเชื้อพยาธิตืดหมูได้อย่างไร?
- วงจรชีวิตของพยาธิตืดหมูเป็นอย่างไร?
- อาการของโรคพยาธิตืดหมูเป็นอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิตืดหมูได้อย่างไร?
- รักษาโรคพยาธิตืดหมูอย่างไร?
- โรคตืดหมูมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- โรคตืดหมูก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคพยาธิตืดหมู?
- ป้องกันโรคพยาธิตืดหมูอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- พยาธิปากขอ (Hookworm infection)
- พยาธิเส้นด้าย (Threadworm) หรือ พยาธิเข็มหมุด (Pinworm)
- พยาธิไส้เดือน (Ascariasis)
- โรคพยาธิใบไม้ตับ (Liver fluke)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
บทนำ
พยาธิตืดหมู (Pork tapeworm) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Taenia solium เป็นพยาธิตัวแบนที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่เรียกว่า โรคติดเชื้อพยาธิตืดหมู (Pork tapeworm infection) โรคนี้พบได้ทั่วโลก โดยพบได้บ่อยในประเทศด้อยพัฒนาและในประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงทุกๆแหล่งที่มีการสาธารณสุขที่ไม่ดี ทั้งนี้ ทั่วโลกพบการติดเชื้อโรคนี้ได้ประมาณ 50-100 ล้านคน การติดเชื้อนี้พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย
พยาธิตืดหมูมีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร?
รูปร่างลักษณะของพยาธิตืดหมู (Pork tapeworm หรือ Taenia solium) ได้แก่
ก.ตัวแก่: พยาธิตืดหมูเป็นพยาธิตัวแบน (Cestode) ตัวแก่จะมีลักษณะเป็นปล้องแบนๆ (Proglottids) ต่อกันเป็นสายยาวมาก อาจจะยาวได้ตั้งแต่ 2-4 เมตรหรือมากกว่านั้น ลำตัวแบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่
- 1-ส่วนหัว (Scolex) มีรูปร่างกลม ขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร มีอวัยวะที่ใช้ดูด (Sucker) 4 อันที่รูปร่างคล้ายถ้วยเรียงอยู่โดยรอบ ตรงกลางมีอวัยวะคล้ายขอเกี่ยว (Rostellum) เรียงเป็นวง 2 วงซ้อนกันอยู่ เรียกว่า Hooker
- 2-ส่วนคอ (Neck) เป็นส่วนที่ต่อมาจากส่วนหัว ลักษณะเล็กและยาว มีความยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร
- 3-ส่วนปล้อง (Segment) ลักษณะเป็นปล้องแบนๆบางๆ ส่วนต้นจะมีขนาดเล็กกว่าและค่อยๆมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จำนวนของปล้องอาจจะมีมากถึง 3,000 ปล้องยึดต่อกันด้วยกล้าม เนื้อ, ท่อขับถ่าย, และเส้นประสาท ปล้องของพยาธิตืดหมูแบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามขั้นตอนของการเจริญของระบบสืบพันธุ์ได้แก่
- 3.1 ปล้องอ่อน (Immature segment) เป็นปล้องที่อยู่ต่อจากส่วนคอ รูปร่างของปล้องมีความกว้างมากกว่าความยาว ภายในปล้องจะมีระบบสืบพันธุ์ที่ยังไม่เจริญเต็มที่
- 3.2 ปล้องแก่ (Mature segment) เป็นปล้องที่อยู่ส่วนกลางของลำตัว มีความกว้างใกล้ เคียงกับความยาว ระบบสืบพันธุ์มีทั้ง 2 เพศ เจริญเต็มที่อยู่ภายในปล้องเดียวกัน มีรูเปิดร่วมกันของอวัยวะเพศทั้งสองเพศอยู่ทางด้านข้าง ด้านใดด้านหนึ่งของปล้อง ภายในปล้องมีรังไข่แบ่งออกเป็น 3 พู/สิ่งที่มีลักษณะนูนออกมา (พยาธิตืดวัวมีเพียง 2 พู) ปล้องชนิดนี้ใช้แยกชนิดของพยาธิตัวตืดได้ว่า เป็นพยาธิตืดหมูหรือตืดวัว
- 3.3 ปล้องสุกหรือปล้องแก่จัด (Gravid segment) เป็นปล้องที่อยู่ส่วนปลายของลำตัวพยาธิ และจะหลุดออกจากลำตัวครั้งละ 2-4 ปล้อง ภายในมีมดลูกอยู่ตรงกลางปล้อง และแตกแขนงย่อยๆออกเป็นสองข้าง ข้างละประมาณ 5-13 แขนง (พยาธิตืดวัวมีมากกว่า 13 แขนง) จะเกิดการผสมพันธุ์กันเองระหว่างอวัยวะเพศผู้และอวัยวะเพศเมีย จนเกิดไข่อยู่ภายในปล้องจำ นวนมาก แต่ละปล้องอาจจะมีปริมาณไข่มากถึง 30,000 – 50,000 ฟอง ปล้องที่หลุดออกมานี้จะปนออกมากับอุจจาระ เห็นเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมแบนๆสีขาว มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และเคลื่อนไหวได้ บางครั้งปล้องจะแตกก่อน โดยแตกที่บริเวณลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ และจะมีไข่พยาธิปนออกมากับอุจจาระ ซึ่งสามารถตรวจพบได้ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจอุจจาระของผู้ ป่วย ที่ใช้เป็นวิธีการวินิจฉัยโรคนี้ได้
ไข่พยาธิตืดหมูจะมีรูปร่างเป็นทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 31-43 ไมครอน (Micron ) ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เปลือกนอกบางใส เปลือกในสีน้ำตาล หนา และมีรอยขีดเป็นเส้นรัศมีอยู่โดยรอบ ตัวอ่อนที่อยู่ในไข่ เรียกว่า Oncospheres หรือ Hexacanth embryo ที่มีอวัยวะรูปร่างคล้ายตะขอ อยู่ที่บริเวณหัวอยู่ 6 อัน ไข่ของพยาธิตืดหมูและตืดวัวจะมีลักษณะเหมือนกัน ไม่สามารถแยกชนิดได้โดยการดูรูปร่างลักษณะของไข่เพียงอย่างเดียว
ข.ตัวอ่อน (Cysticerci) ที่ฝังในกล้ามเนื้อของหมู กล้ามเนื้อของคน หรืออวัยวะอื่นๆ จะอยู่ในถุงน้ำหรือ Cyst ซึ่งจะมีรูปร่างได้ 3 แบบ คือ
- Cellulose cysticercus (Cysticercus cellulosae) เป็นแบบที่พบมากที่สุด ขนาดประ มาณ 0.5 ถึง 1.5 เซนติเมตร ส่วนหัวหรือ Protoscolex จะยุบตัวหันเข้าภายใน
- Intermediate form จะมีขนาดใกล้เคียงกับชนิดแรก แต่ส่วนหัวจะเปลี่ยนจาก Protos colex เป็น Scolex
- Racemose จะมีขนาดของถุงน้ำหรือ Cyst ใหญ่มาก อาจมีขนาดถึง 20 เซนติเมตร และมีปริมาณน้ำในถุงได้ถึง 60 ซีซี (CC./Cubic centimeter)
คนติดเชื้อพยาธิตืดหมูได้อย่างไร?
พยาธิตืดหมู ทำให้เกิดโรคในคนได้ 2 โรค ซึ่งมีลักษณะการได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกายแตกต่างกันได้แก่
- Taeniasis solium ได้แก่ โรคที่มีพยาธิตัวแก่เข้าไปอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ โดยการรับ ประทานเนื้อหมูดิบหรือเนื้อหมูที่ปรุงไม่สุก ที่มีตัวอ่อน (Cysticerci) ฝังอยู่ในเนื้อหมูหรือที่เรียก ว่า “หมูสาคู (Measly pork)” ต่อมาพยาธิตัวอ่อนในเนื้อหมูดิบที่คนกินเข้าไป จะเจริญกลายเป็นพยาธิตัวแก่ในลำไส้เล็กของมนุษย์ พยาธิตัวแก่นี้จะมีลักษณะเป็นปล้องแบนๆต่อกันเป็นสายยาวมาก อาจจะยาวได้ถึง 2-4 เมตร พยาธิตัวแก่นี้จะไม่มีการไชออกนอกลำไส้ไปอยู่ในอวัยวะอื่นแต่อย่างใด โดยจะคอยแย่งอาหารจากผู้ป่วยที่มีพยาธิชนิดนี้เท่านั้น
- Cysticercosis ได้แก่ โรคที่มีถุงน้ำที่มีตัวอ่อนของพยาธิตืดหมูอยู่ภายใน ไปฝังตัวอยู่ตามอวัยวะต่างๆของมนุษย์ มีวิธีการเกิดโรคนี้ได้ 3 แบบ ได้แก่
- เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนด้วยไข่พยาธิตืดหมู โดยเฉพาะพืชผักสดที่ล้างไม่สะอาด และได้รับการรดน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีไข่พยาธิอยู่ หรือใช้อุจจาระมนุษย์เป็นปุ๋ยรดผัก ไข่พยาธิอาจปนมากับน้ำประปาที่ปนเปื้อนดินที่มีไข่พยาธิอยู่เนื่องจากท่อแตก หรือมาจากมือของผู้ทำอาหารที่มีไข่พยาธิออกมากับอุจจาระ และล้างมือไม่สะอาดหลังจากล้างก้นแล้วมาทำอาหาร จะทำให้ไข่พยาธิปนเข้าไปในอาหารได้ เมื่อไข่เข้าไปถึงกระเพาะอาหาร จะถูกย่อยด้วยน้ำย่อย Pepsin ในกระเพาะอาหาร ผนังไข่จะแตกออก ตัวอ่อน (Oncospheres) จะออกจากไข่ และไชผ่านผนังกระเพาะอาหารและลำไส้ เข้าเส้นเลือดและท่อน้าเหลือง แล้วกระ จายไปฝังตัวตามอวัยวะต่างๆของมนุษย์ เช่น กล้ามเนื้อ สมอง ผิวหนัง ตา ตับ ปอด หัวใจ เป็นต้น ตัวอ่อนเมื่อฝังตัว จะมีผนังหุ้มและมีของเหลวอยู่ในถุง ลักษณะเป็นถุงน้ำ (Cyst) จึงเรียกชื่อโรคนี้ว่า Cysticercosis
- วิธีที่ 2 ที่ทำให้เกิดโรค Cysticercosis ในมนุษย์คือ การขย้อนเอาปล้องแก่จัด(Gravid segment) ที่หลุดออกจากพยาธิตัวแก่ที่อยู่ในลำไส้เล็กของผู้ป่วยที่เป็น Taeniasis solium ย้อนกลับเข้าไปในกระเพาะอาหารของผู้ป่วยคนนั้นเอง ปล้องที่ย้อนกลับเข้าไปในกระ เพาะอาหารนี้ จะถูกน้ำย่อย Pepsin ในกระเพาะอาหารย่อยจนแตกออก ปล่อยไข่ที่มีตัวอ่อน Oncospheres ออกมาในกระเพาะอาหารจำนวนมาก ไข่จะถูกน้ำย่อยย่อยเปลือกไข่ออก ปล่อยตัวอ่อนออกมา ตัวอ่อนเหล่านี้จะไชผนังกระเพาะอาหาร เข้าสู่ท่อน้ำเหลืองและเส้นเลือดขนาดเล็ก กระจายไปฝังตัวตามที่ต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ ใต้ผิวหนัง และในสมอง เกิดโรค Cysticercosis ได้อีกวิธีหนึ่ง
การมีไข่พยาธิในกากอาหารที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ จะไม่ทำให้เกิดโรค Cysticercosis เพราะไม่มีน้ำย่อยที่จะย่อยเปลือกไข่พยาธิให้แตกออก ดังนั้นตัวอ่อนจึงไม่สามารถออกจากไข่มาได้
- วิธีที่ 3 ที่ทำให้เกิดโรค Cysticercosis คือการที่ผู้ป่วยที่มีพยาธิตัวแก่อยู่ในลำไส้ ใช้มือล้างก้นหรือเกาบริเวณทวารหนัก แล้วมีไข่พยาธิที่มาติดอยู่บริเวณนั้น ติดนิ้วมือไป ถ้าผู้ป่วยไม่ล้างมือแล้วใช้มือจับอาหารเข้าปากหรืออมนิ้ว ก็จะได้ไข่พยาธิเข้าปากของตัวเอง โดยไม่ไปผ่านหมู ตัวผู้ป่วยในกรณีนี้จะทำหน้าที่เหมือน Intermediate host แทนหมูนั่นเอง การได้ไข่วิธีนี้เรียกว่า Fecal-oral route หรือ Autoinoculation (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ วงจรชีวิต)
วงจรชีวิตของพยาธิตืดหมูเป็นอย่างไร?
มนุษย์ เป็นโฮสต์เฉพาะ (Definitive host) ของพยาธิตืดหมู โดยมีหมูเป็นโฮสต์กลาง (Intermediate host) เราจะไม่พบพยาธิตัวแก่ในลำไส้ของหมู เพราะหมูไม่ใช่โฮตส์เฉพาะ (Definitive host) ของพยาธิตัวนี้
ตัวแก่ของพยาธินี้ จะอยู่ในลำไส้เล็กส่วนต้นและส่วนกลางของมนุษย์ โดยส่วนหัว (Scolex) ของพยาธิ จะเกาะติดกับผนังลำไส้เล็กด้วยอวัยวะส่วนหัวที่เรียกว่า Sucker และ Hooker มนุษย์ได้รับพยาธิเข้าไปในร่างกาย โดยการกินเนื้อหมูดิบหรือสุกๆดิบๆ ที่มีตัวอ่อน (Cysticercus cellulosae) ฝังตัวอยู่ หรือที่เรียกว่า”หมูสาคู (Measly pork)” เมื่อเข้าไปในลำ ไส้เล็กแล้ว ส่วนหัวของตัวอ่อนที่หดซ่อนอยู่จะยื่นออกมาภายนอก หลังจากสัมผัสน้ำดีและน้ำ ย่อยของลำไส้เล็ก พยาธิจะเอาส่วนหัวเกาะกับผนังลำไส้เล็ก พยาธิตืดหมูสามารถได้รับสารอา หารจากอาหารที่อยู่ในลำไส้เล็กของมนุษย์ โดยการดูดซึมเข้าทางพื้นผิวของพยาธิโดยตรง หลังจากนั้นจะเจริญเป็นตัวแก่ โดยการสร้างปล้องเพิ่มจำนวน และความยาวออกไปเรื่อยๆ ตัวแก่เต็มที่อาจจะมีความยาวได้ถึง 2-4 เมตรหรือยาวกว่านั้น การเปลี่ยนจากตัวอ่อนเป็นตัวแก่เต็ม ที่ใช้เวลาประมาณ 10-12 สัปดาห์ ตัวแก่จะมีอายุอยู่ในลำไส้เล็กของมนุษย์ได้นานมากประมาณ 25 ปี ผู้ป่วยบางรายมีพยาธิตืดหมูมากกว่า 1 ตัวในลำไส้
พยาธิตืดหมูไม่มีการแบ่งเป็นตัวผู้และตัวเมีย เพราะมีอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งสองเพศอยู่ในปล้องเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Hermaphrodite มีการผสมพันธุ์เกิดขึ้นภายในปล้องเรียกว่า Self fertilization โดยอสุจิจากอวัยวะเพศผู้ (Spermatozoan) จะผสมกับไข่ของอวัยวะเพศเมีย (Ovum) ในอวัยวะที่เรียกว่า Fertilization duct หลังจากผสมแล้วจะกลายเป็นไข่ (Zygote) ซึ่งจะเจริญเป็นตัวอ่อน (Embryo) ที่มีขอเกี่ยว (Hooker หรือ Hook) ที่หัวจำนวน 6 อันเรียกว่า Six-hooked embryo หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Oncosphere หรือ Hexacanth larva อยู่ภายในไข่ ภายในปล้องเดียวอาจมีปริมาณไข่ซึ่งมีตัวอ่อนอยู่ภายในจำนวนมากถึง 50,000 ฟอง ปล้องสุกที่มีไข่อยู่ภายใน (Gravid segment หรือ Gravid proglottids) ที่อยู่ส่วนปลายสุดของตัวพยาธิ จะหลุดออกจากลำตัวทีละ 4-5 ปล้อง ออกมาในอุจจาระของมนุษย์ ซึ่งผู้ป่วยอาจสังเกต เห็นด้วยตาเปล่า เป็นแผ่นแบนๆสีขาวเคลื่อนไหวได้ บางครั้ง Gravid segments จะแตกในลำ ไส้ใหญ่ของมนุษย์ ทำให้มีไข่พยาธิจำนวนมากออกมาปนอยู่ในอุจจาระได้ เมื่อมนุษย์ถ่ายอุจจาระลงพื้นดิน ไข่เหล่านี้จะมาปะปนอยู่ในดิน และสามารถมีชีวิตอยู่ในดินและสิ่งแวดล้อมภายนอกได้นานถึง 2 เดือน เพราะไข่พยาธิมีเปลือกหนาหุ้มอยู่ภายนอก
ลักษณะของไข่พยาธิตืดหมู มีรูปร่างกลมหรือรีเล็กน้อย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 31 ถึง 43 ไมครอน (Micron) ผนังด้านนอกเรียบ มีเปลือกหนาสีน้ำตาล มีรอยขีดสั้นๆเป็นรัศมีอยู่โดยรอบ ภายในไข่จะมีตัวอ่อน (Oncosphere) ที่หัวมีอวัยวะคล้ายตะขอ 6 อัน ไข่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจอุจจาระของผู้ป่วยจึงจะมองเห็น
โฮสต์กลางคือหมู (Intermediate host) ไข่พยาธิตืดหมูจะออกมากับอุจจาระของมนุษย์และปะปนอยู่ในดิน เมื่อหมูกินอาหารที่มีไข่พยาธิปะปนอยู่เข้าไป เปลือกไข่และเยื่อหุ้มตัวอ่อนจะถูกย่อยโดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของหมู ที่มีชื่อว่า Pepsin จากนั้นตัวอ่อนที่ออกจากไข่จะไชผนังกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กของหมู เข้าไปในเส้นเลือดและท่อน้ำเหลืองขนาดเล็กแล้วกระจายไปตามระบบไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลืองไปยังอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อของหมู อวัยวะอื่นๆที่จะมีตัวอ่อนไปฝังตัว เช่น สมอง ตับ เป็นต้น เมื่อตัวอ่อนฝังตัว จะมีถุงน้ำผนังบางๆล้อมรอบเรียกว่า Cysticerci หรือ Cysticercus cellulosae ลักษณะมองเห็นด้วยตาเปล่าคล้ายเม็ดสาคูสีขาวฝังอยู่ในเนื้อหมู จึงเรียกว่า “หมูสาคู” หรือ Measly pork
Cysticerci จะเกิดขึ้นภายในเวลาประมาณ 70 วันหลังจากหมูกินไข่พยาธิเข้าไป และสา มารถมีอายุอยู่ได้นานเป็นปี เมื่อคนกินเนื้อหมูดิบ ตัวอ่อนในเนื้อหมูที่ยังมีชีวิตอยู่ จะเข้าสู่คนและไปเจริญเป็นตัวแก่อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของมนุษย์ต่อไป เป็นอันครบวงจรชีวิตของพยาธิตืดหมู
อาการของโรคพยาธิตืดหมูเป็นอย่างไร?
อาการของโรคพยาธิตืดหมู สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 โรค ดังนี้
- โรคTaeniasis solium พยาธิตัวแก่ในลำไส้เล็กของมนุษย์ มักไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงมากนัก บางรายที่มีอาการ (อาการเกิดจาก การแย่งอาหารของพยาธิ และจากตัวพยาธิก่อการระ คายเคือง อักเสบ หรืออุดตันต่อลำไส้) คือ อาจมี น้ำหนักลด ผอมลง ปวดท้องเรื้อรัง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด อุจจาระบ่อย โลหิตจาง หรืออาจเกิดอาการลำไส้อุดตัน จากการที่ตัวพยาธิม้วนตัวเป็นก้อนใหญ่จนอุดตันลำไส้ได้ การที่หัวพยาธิไชทะลุผนังลำไส้นั้นเกิดได้น้อยมาก และบางรายอาจมีอาการโรคภูมิแพ้คันตามผิวหนัง หรือเกิดผื่นลมพิษได้
- โรค Cysticercosis อาการขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่ ขนาดและปริมาณของถุงน้ำ เช่น สมอง (Neurocysticercosis) ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ชัก (อาการชักคล้ายโรคลมบ้าหมู) ความจำเสื่อม ความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น (เกิดจาก Cyst ไปขวางกั้นทางเดินของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง) ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการอัมพาตครึ่งล่าง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ถ้า Cyst เข้าไปฝังตัวในตา อาจทำให้ตามัวหรือตาบอดได้ การฝังตัวใต้ผิวหนังอาจทำให้เกิดตุ่มนูนขนาดเล็กๆ สามารถคลำพบได้ การฝังตัวในกล้ามเนื้ออาจทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังได้
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ควรพบแพทย์เมื่อ
- เมื่อผู้ป่วยมีอาการ อ่อนเพลีย ปวดท้องเรื้อรัง ท้องอืด ผอมลงทั้งๆที่รับประทานอาหารได้ปกติ มีปล้องสุกของพยาธิตัวตืดปนออกมากับอุจจาระ
- ปวดศีรษะเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ ชัก ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง คลำตุ่มได้ใต้ผิวหนัง ตามัว แขนขาอ่อนแรง
แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิตืดหมูได้อย่างไร?
ก. แพทย์วินิจฉัยโรค Taeniasis solium (ตัวแก่พยาธิตืดหมูในลำไส้) โดย
- ประวัติอาการ (เช่น ปวดท้องเรื้อรัง ท้องอืด ภาวะซีด) ประวัติถิ่นที่อยู่อาศัย ประเภทอาหารที่บริโภค อาชีพ การงาน และการตรวจร่างกาย
- การตรวจอุจจาระ พบไข่พยาธิตืดหมู เป็นวิธีที่ทำง่ายและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
- พบปล้องสุก (Gravid segment) ที่หลุดออกมาปนกับอุจจาระ ที่สามารถนำไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพราะจะมีลักษณะอวัยวะภายในพยาธิที่ทำให้สามารถแยกชนิดของพยาธิตัวตืดได้
- ถ้ามีหัวของพยาธิ (Scolex) หลุดออกมาในอุจจาระด้วย จะทำให้ทราบชนิดของพยาธิตัวตืดได้แน่นอน เพราะรูปร่างลักษณะของหัวจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน
- การตรวจทางอิมมูโนวิทยา (Immunology, การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารภูมิต้านทาน และสารก่อภูมิต้านทาน) เช่น ด้วยวิธีที่เรียกว่า ELISA (The enzyme-linked immunosorbent assay) ตรวจเลือดผู้ป่วยพบสารภูมิต้านทานที่จำเพาะต่อพยาธิตืดหมู
- การตรวจทางเทคนิคพันธุศาสตร์ เช่น Polymerase chain reaction
ข. การวินิจฉัยโรค Cysticercosis โดย
- จากประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ประวัติอาการของผู้ป่วย เช่น อาการชัก ปวดศีรษะเรื้อ รังโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น
- ตรวจภาพสมองหรือภาพกล้ามเนื้อด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอ จะพบ Cysticercus ลักษณะเป็นเงาสีขาวเป็นวงแหวนหรือมีแคลเซียมไปเกาะ
- การตัดชิ้นเนื้อจากใต้ผิวหนังหรือสมอง เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคพยาธิตืดหมูอย่างไร?
โรคพยาธิตืดหมูรักษาโดย
- การรักษา Taeniasis solium ใช้ยากิน เช่น Niclosamide, Albendazole, Praziquantel
- การรักษา Cysticercosis ใช้ยากิน Praziquantel และ/หรือ การผ่าตัดเอา Cyst ออกจากกล้ามเนื้อหรือจากสมองหรือจากไขสันหลัง
โรคตืดหมูมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของโรคพยาธิตืดหมู เป็นโรคที่ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่เสียคุณภาพชีวิตจากอาการต่างๆดังได้กล่าวในหัวข้อ อาการ
โรคTaeniasis solium สามารถรักษาให้หายขาดได้หลังจากรับประทานยาครบ และพยาธิส่วนหัว (Scolex) หลุดออกมาครบทั้งตัว ซึ่งเราสามารถทราบได้ว่ารักษาหายขาดแล้วโดยตรวจอุจจาระไม่พบไข่พยาธิอีกต่อไป
โรค Cysticercosis รักษาได้ยากกว่า แต่ก็มีโอกาสหายขาด บางครั้งต้องใช้การผ่าตัดร่วมด้วยในบางตำแหน่งที่เกิดโรค เช่น Cysticercosis ที่สมอง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หลังการรักษาหายแล้ว เมื่อยังได้รับเชื้อโรคซ้ำอีก ก็สามารถติดเชื้อโรคพยาธิตืดหมูนี้ซ้ำได้เสมอ
โรคตืดหมูก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่พบได้จากโรคพยาธิตืดหมู ที่พบได้บ่อย คือ ปวดท้องเรื้อรัง ผอมลง (เจริญเติบโตช้า เมื่อเป็นการติดเชื้อในเด็ก) และซีด จากพยาธิก่อการระคายเคือง และจากการถูกแย่งอาหารจากพยาธิ ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้บ้าง คือ การอักเสบของอวัยวะต่างๆที่พยาธิไชไปถึง เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ และลำไส้อุดตันจากตัวพยาธิเองอุดกั้นช่องทางเดินในลำไส้ นอกจากนั้น คือ อาการทางสมอง หรืออาการผิดปกติต่างๆเมื่อมีการติดเชื้อลักษณะ Cysticercosis ในสมอง และ/หรือในอวัยวะต่างๆ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อา การ
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคพยาธิตืดหมู?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคพยาธิตืดหมู คือ
- รับประทานยากำจัดพยาธิตามที่แพทย์สั่งจนครบ
- รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล (สุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ) เช่น การไม่รับ ประทานเนื้อหมูดิบหรือสุกๆดิบๆ ล้างผักสดให้ดีก่อนรับประทาน ล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร
- พบแพทย์ตามนัด เพื่อการตรวจวินิจฉัยว่า โรคหายแล้ว และไม่มีการติดเชื้อซ้ำ
ป้องกันโรคพยาธิตืดหมูอย่างไร?
โรคพยาธิตืดหมู เป็นโรคป้องกันได้ โดย
- ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเสมอ อย่าถ่ายอุจจาระลงแม่น้ำลำคลอง อย่าถ่ายอุจจาระลงพื้นดิน เพราะเป็นการทำให้ไข่อยู่ในดินและหมูมากินเข้าไปได้ ให้ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะเสมอ
- ไม่กินเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆดิบๆ เช่น ลาบดิบ ลู่ แหนมสด เวลาซื้อเนื้อหมูต้องคอยสัง เกตดูให้ดี ถ้าพบลักษณะมีตุ่มขาวๆในเนื้อหมูที่เรียกว่า หมูสาคู ไม่ควรนำมารับประทาน
- ล้างมือให้สะอาดโดยฟอกสบู่หลังจากถ่ายอุจจาระทุกครั้ง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจติดมือไปแพร่ให้ตนเองและผู้อื่นทางการปนเปื้อนอาหารได้ ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ใช้ช้อนตักอาหารเข้าปาก หลีกเลี่ยงการใช้มือจับอาหารเข้าปาก
- ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานเสมอ เพราะในผักผลไม้สดอาจมีไข่พยาธิตัว ตืดปะปนมาได้ และไม่ใช้อุจจาระเป็นปุ๋ยรดต้นผัก
- สำหรับผู้ทำอาหารหรือเตรียมอาหาร ต้องล้างมือ ฟอกสบู่ ก่อนทำอาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันไข่พยาธิปะปนลงไปในอาหาร
- ถ้าเดินทางไปประเทศที่การสาธารณสุขยังไม่ดี ต้องระมัดระวังเรื่องการดื่มน้ำและอา หารเป็นพิเศษ
- เลี้ยงหมูในคอกที่ถูกสุขลักษณะ อย่าปล่อยให้หมูหาอาหารกินเอง เพราะอาจได้รับไข่พยาธิในดินได้ และอาหารที่เลี้ยงหมูต้องระวังอย่าให้ปนเปื้อนอุจจาระมนุษย์
บรรณานุกรม
- Taenia solium Wikipedia, the free encyclopedia[2014,March1].
- โรคพยาธิ์ตืดหมูและซิสติเซอร์โคสิส lib.kku.ac.th [2014,March1].
- โรคพยาธิ์ตืดวัวและหมู http://www.baanmaha.com [2014,March1].
- พยาธิ์ตัวตืด http://www.cai.md.chula.ac.th [2014,March1].
- File:Life cycle.gif.wikipedia [2014,March1].
- http://www.nlm.nih.gov/medline plus [2014,March1].
- โรคพยาธิ์ตืดหมู http://www.siamhealth.net [2014,March1].
- โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน http://www.tm.mahidol.ac.th [2014,March1].
- Faculty of Medical Technology Mahidol University website [2014,March1].
- http://www.webmd.com Tapeworms in Humans [2014,March1].
- Microbiology and Immunology On-line University of South Carolina School of Medicine http://pathmicro.med.sc.edu/parasitology/cestodes.htm [2014,March1].