โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 12 เมษายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคติดเชื้อมีสาเหตุจากอะไร? ร่างกายติดเชื้อได้อย่างไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อ?
- โรคติดเชื้อมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อได้อย่างไร?
- รักษาโรคติดเชื้ออย่างไร?
- โรคติดเชื้อรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคติดเชื้อ? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- มีการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อไหม?
- ป้องกันโรคติดเชื้อได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- โรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย (Rickettsial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
บทนำ
โรคติดเชื้อ หรือ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease) คือ โรค หรือภาวะเจ็บป่วยที่เกิดจากร่างกายได้รับการรุกราน ติดเชื้อจุลชีพ หรือจุลินทรีย์ ชนิดที่ก่อโรค ที่เรียกว่า ‘จุลชีพก่อโรค หรือ เชื้อโรค (Pathogen)’
โดย จุลชีพจะมี 2 กลุ่มหลัก คือ จุลชีพก่อโรค, และจุลชีพไม่ก่อโรค (Non pathogen)
ทั้งนี้ จุลชีพ คือสิ่งมีชีวิติขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และสัตว์เซลล์เดียว
1. จุลชีพไม่ก่อโรค (Non pathogen): เป็นจุลชีพที่มีอยู่มากมายใน พืช สัตว์ คน สิ่ง แวดล้อมต่างๆ (เช่น ดิน หิน และแหล่งน้ำต่างๆ) ซึ่งจุลชีพไม่ก่อโรคที่เป็นแบคทีเรียบางชนิดที่อยู่ในร่างกายยังช่วยสร้างประโยชน์ให้กับร่างกาย เช่น แบคทีเรียบางชนิดในลำไส้ใหญ่ (เช่น Bacteroides, Bifidobacterium และ Lactobacillus) ที่
- ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคต่อจุลชีพก่อโรคที่เป็นสาเหตุโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร
- ช่วยหมักสลายใยอาหาร และ
- ช่วยสร้าง วิตามิน เค (Vitamin K ที่ช่วยเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด)
ทั้งนี้เรียกแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรคในร่างกายนี้ว่า “แบคทีเรียประจำถิ่น (Normal flora)”
2. จุลชีพก่อโรค (Pathogen): หรือ เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อ มีได้ทั้ง แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และสัตว์เซลล์เดียว
อนึ่ง
- โรคติดเชื้อที่ติดต่อจากคนที่มีเชื้อโรคอยู่ ไปสู่คนปกติอื่นๆ และก่อให้คนๆนั้นติดเชื้อ/ติดเชื้อโรคหรือเกิดโรคได้ ดังนั้น จึงเรียกได้อีกชื่อว่า “โรคติดต่อ (Transmissible disease หรือ Communicable disease)”
- และโรคติดเชื้อที่ติดต่อทางสัมผัสได้ง่าย และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เรียกได้อีกชื่อว่า “Contagious disease” เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
โรคติดเชื้อ เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในจำนวนโรคทั้งหมด และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่อยู่ในอันดับต้นๆโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและยังไม่พัฒนา ทั้งนี้มีรายงานจากองค์การอนามัยโรค ในปี พ.ศ. 2553 พบประชากรทั่วโลกที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อประมาณ 10 ล้านคน คิดเป็น 25.9% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมดจากทุกโรค โดยอัตราเสียชีวิตสูงสุด 11 ลำดับแรกของโรคติดเชื้อ คือ
- อันดับ1 สูงสุด เกิดจากการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ (6.9%)
- และรองลงไปตามลำดับ คือ
- โรคติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ (4.9%)
- โรคท้องร่วง/ท้องเสีย (3.2%)
- วัณโรค (2.7%)
- มาลาเรีย/ไข้จับสั่น (2.2%)
- โรคหัด (1.1%)
- โรคไอกรน (0.5%)
- โรคบาดทะยัก (0.4%)
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (0.3%)
- ซิฟิลิส (0.3%)
- และไวรัสตับอักเสบ บี (0.2%)
โรคติดเชื้อพบได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่ทารกในครรภ์ ไปจนถึงผู้สูงอายุ พบทั้งในเพศชายและเพศหญิง โดยทั้งสองเพศมีโอกาสติดเชื้อได้เท่าๆกัน
โรคติดเชื้อมีสาเหตุจากอะไร? ร่างกายติดเชื้อได้อย่างไร?
โรคติดเชื้อ มีสาเหตุจากเชื้อโรค ทั้ง แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และ/หรือสัตว์เซลล์เดียว โดยร่างกายสามารถติดเชื้อ/ติดเชื้อโรคได้จากการที่ร่างกายสัมผัสกับเชื้อโรคได้หลายช่องทาง ที่พบได้บ่อย คือ
1. สัมผัสเชื้อโรคโดยตรง: เช่น
ก. คนสู่คน โดย
- การคลุกคลี การสัมผัส กับผู้ป่วย หรือ กับผู้ติดเชื้อที่เป็นพาหะโรค เช่น การกอด จูบ การเล่น การดูแลผู้ป่วย (เช่น โรคติดเชื้อจากไวรัสต่างๆ เช่น โรคอีสุกอีใส)
- ทางอากาศ ทางการไอ จาม พูด หัวเราะ เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
- ทางปากหรือที่เรียกว่า “ทางอุจจาระ-ปาก (Fecal-Oral route)” เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร เช่น (โรคอาหารเป็นพิษ, อหิวาตกโรค, โรคบิด, โรคไทฟอยด์)
- ทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น
- เสมหะ (เช่น เชื้อรา และ วัณโรค)
- น้ำลาย (เช่น เชื้อไวรัสบางชนิด)
- หรือ สารคัดหลั่งจากช่องคลอดหรือน้ำอสุจิ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
- การสัมผัสเลือด: เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี ไวรัสตับอักเสบ ซี จากใช้ของใช้ที่ติดเลือดร่วมกัน เช่น กรรไกรตัดเล็บ มีดโกนหนวด หรือ จากการได้รับเลือด (เช่น ในการผ่าตัด)
ข. สัตว์สู่คน (Zoonosis): คือ เชื้อโรคต่างๆที่เกิดในสัตว์แต่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ด้วยการที่คนสัมผัสกับสัตว์ หรือ กับสารคัดหลั่งของสัตว์ที่รวมถึง สารคัดหลั่งต่างๆของสัตว์(เช่น น้ำลาย) อุจจาระ และปัสสาวะของสัตว์ เช่น
- โรคพิษสุนัขบ้า
- ไข้หวัดนก
- ไข้หวัดหมู
- โรคฉี่หนู
- โรคพยาธิต่างๆ เช่น โรคพยาธิไส้เดือน
ค. แม่สู่ลูก: เช่น
- เชื้อโรคผ่านมาทางรก เช่น โรคหัดเยอรมัน
- หรือ ทางการคลอด เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี, เอชไอวี
2. สัมผัสเชื้อโรคทางอ้อม: บ่อยครั้งที่คนได้รับเชื้อโรคจากสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งจัดเป็นการติดเชื้อทางอ้อม ทั้งนี้เพราะมีเชื้อโรคหลายชนิด สามารถมีชีวิตอยู่ได้บนสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ของเล่น โทรศัพท์ ราวบันได พรม และเสื้อผ้า ซึ่งเมื่อเราสัมผัสกับสิ่งของเหล่านั้น แล้วมาสัมผัสกับ จมูก ปาก หรือ ตา เราก็อาจติดเชื้อโรคได้ ดังนั้น ด้วยเหตุนี้ วิธีสำคัญวิธีหนึ่งในการป้อง กันการติดเชื้อ คือ การล้างมือบ่อยๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่
ทั้งนี้ เชื้อโรคจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมภายนอกร่างกายได้เป็นระยะเวลานานเท่าไร ขึ้นกับชนิดของเชื้อโรค และสภาพ ลักษณะ หรือ ชนิดของสิ่งของนั้นๆ เช่น เชื้อเอชไอวี ในเลือดนอกร่างกายที่อุณหภูมิห้อง อาจมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6 วัน แต่ถ้าเป็นในสารคัดหลั่งอื่นๆในอุณหภูมิ ห้องเช่นกัน เชื้อเอชไอวี มีชีวิตอยู่ได้เพียงระยะเวลาเป็นนาทีเท่านั้น
3. การปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม: เป็นอีกช่องทางในการติดเชื้อ โดยเชื้อโรคจะปนเปื้อนในอาหาร และน้ำดื่ม เช่น โรคอาหารเป็นพิษ ไข้ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค และ โรคบิด
4. แมลง หรือ แมงกัด: โดยเชื้อโรคอาศัยอยู่ในแมลง เช่น ยุง เห็บ ไร เป็นต้น เมื่อคนถูกสัตว์เหล่านี้กัด เชื้อโรคในสัตว์จึงถ่ายทอดจากน้ำลายของแมลงสู่คน เช่น
- โรคที่เกิดจากถูกยุงกัด หรือ มียุงเป็นพาหะโรค เช่น โรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่น โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย/ชิคุนกุนยา
- โรคจากถูกไรอ่อนกัด เช่น โรคสครับไทฟัส
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อ?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค ได้แก่
- การอยู่อาศัยในแหล่งที่มีการสาธารณสุขไม่ดี โดยเฉพาะแหล่งน้ำ เช่น ในประเทศกำลังพัฒนา
- การเดินทาง การท่องเที่ยว การไปทำงาน ในแหล่งที่การสาธารณสุขไม่ดี หรือ แหล่งที่กำลังมีการระบาดของโรค
- ไม่รู้จักรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- การบริโภคอาหารปรุงไม่สุก หรือ สุกๆดิบๆ
- การดื่มน้ำไม่สะอาด
- การใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น
- การติดยาเสพติด
- ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ ผู้มีโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์) และ/หรือ จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด (เช่น ยาเคมีบำบัด ยาสเตียรอยด์)
โรคติดเชื้อมีอาการอย่างไร?
อาการที่พบได้บ่อยจากโรคติดเชื้อเกือบทุกโรค คือ
- มีไข้ ซึ่งพบได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- ปวดเมื่อยเนื้อตัว
- ปวดศีรษะ
นอกนั้นจะเป็นอาการเฉพาะว่าเกิดติดเชื้อกับอวัยวะในระบบใด เช่น
- ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก มีปัญหาทางการหายใจ เมื่อเป็น การติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
- ท้องเสีย ปวดท้อง อาจมีอุจจาระเป็นเลือด เมื่อเป็น การติดเชื้อ/ โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
- ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง อาจสับสน ซึม ชัก แขนขา อ่อนแรง โคม่า เมื่อเป็นการติดเชื้อของสมอง (สมองอักเสบ) หรือ การติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
- ปัสสาวะแสบ ขัด บ่อย และอาจมีปัสสาวะเป็นเลือด เมื่อเป็นการติดเชื้อ/ โรคติดเชื้อ ระบบทางเดินปัสสาวะ
- ตกขาว (ในผู้หญิง) หรือ มีแผล หนอง ที่อวัยวะเพศ เมื่อมีการติดเชื้อของอวัยวะเพศ เช่น จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ตาแดง มีขี้ตา เมื่อมีการติดเชื้อของเยื่อบุตา/ เยื่อตาอักเสบ เช่น โรคตาแดงจากไวรัส
- มีหนองจากหู เช่น ภาวะหูติดเชื้อ หรือ มีน้ำมูกข้น เขียว มีกลิ่น
- เจ็บคอเรื้อรังจากการติดเชื้อของไซนัส (โรคไซนัสอักเสบ) เป็นต้น
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อ ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ที่พักอาศัย การมีโรคระบาดในขณะนั้น การเดินทาง การท่องเที่ยว ประวัติการฉีดวัคซีน การเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ที่ทำงาน โรงเรียน ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ประวัติการใช้ยาต่างๆ ประวัติสัมผัสสารเสพติด
- การตรวจร่างกาย การตรวจดูรอยโรค เช่น ลักษณะแผล เป็นต้น
- อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อดูว่า เป็นการติดเชื้อ/เชื้อโรคชนิดใด เช่น
- การตรวจเลือด เช่น ตรวจซีบีซี/CBC, การตรวจหาสารภูมิต้านทาน หรือ สารก่อภูมิต้านทาน เช่น ใน โรคไวรัสตับอักเสบ หรือ เอดส์
- การตรวจดูเชื้อ/การตรวจย้อมเชื้อจากสารคัดหลั่ง เช่น การตรวจปัสสาวะ, การตรวจอุจจาระ , ตรวจเสมหะ , หรือ ตรวจดูเชื้อจากการขูดเอาเซลล์จากรอยโรคส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ เช่น การตรวจเชื้อราในโรค กลาก เกลื้อน, หรือ การเพาะเชื้อ (เช่น จาก ปัสสาวะ เสมหะ เลือด หรือ น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง) เป็นต้น
- อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมอีก ตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- เพื่อดูว่าเป็นการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ หรือ อวัยวะอะไรด้วยการถ่ายภาพอวัยวะที่สงสัยมีการติดเชื้อ เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวด์เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ /หรือเอมอาร์ไอ หรืออาจส่องกล้องตรวจอวัยวะที่สงสัย
- ในบางครั้ง อาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากอวัยวะที่สงสัยมีการติดเชื้อ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคติดเชื้ออย่างไร?
การรักษาโรคติดเชื้อ ประกอบด้วย การรักษาสาเหตุ และ การรักษาประคับประคองตามอาการ
ก. การรักษาตามสาเหตุ คือ การรักษาตามชนิดของเชื้อโรค เช่น
- การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อโรคเกิดจาก แบคทีเรีย ซึ่งยาปฏิชีวนะมีหลากหลายชนิด การเลือกใช้ยาจึงต้องเหมาะสมกับชนิดของแบคทีเรียนั้นๆ และความรุนแรงของอาการ ดังนั้น การใช้ยาปฏิชีวนะจึงจำเป็น ต้องได้รับคำแนะนำจาก แพทย์ เภสัชกร และพยาบาลเสมอ เพราะการซื้อยากินเอง มักทำให้เกิด เชื้อดื้อยา และอาจส่งผลให้โรคไม่หายจากใช้ยาไม่เหมาะกับโรค ทั้งชนิดของยา ปริมาณยา และระยะเวลาที่ต้องได้รับยา
- การให้ยาต้านไวรัสเมื่อโรคเกิดจากไวรัสชนิดที่มียาต้านไวรัสชนิดนั้น ทั้งนี้เพราะโดยทั่วไป ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคขึ้นมากำจัดไวรัสเอง การรักษาการติดเชื้อไวรัสโดยทั่วไป จึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ (ไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะได้ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าไวรัสไม่ได้ และไม่สามารถใช้ยาต้านไวรัสได้กับทุกชนิดของไวรัส) โดย ทั่วไป ถึงแม้จะมียาต้านไวรัส แพทย์จะเลือกใช้เฉพาะในกรณีโรครุนแรง หรือเมื่อเป็นการติดเชื้อของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ หรือที่เรียกว่า กลุ่มเสี่ยง (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ ต่อไป) เช่น การใช้ยา โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ในโรค ไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นต้น
- การให้ยาฆ่าเชื้อรา /ยาต้านเชื้อรา เมื่อโรคเกิดจากติดเชื้อรา ซึ่งยาฆ่าเชื้อรามีหลายชนิดเช่นกัน ขึ้นกับว่าเป็นการติดเชื้อราชนิดใด เช่น การใช้ยา คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ในโรคเชื้อราในช่องคลอด เป็นต้น
- การให้ยาฆ่าสัตว์เซลล์เดียว เมื่อโรคเกิดจากสัตว์เซลล์เดียว ซึ่งยามีหลายชนิด ขึ้นกับว่าเป็นการติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวชนิดใด เช่น ยา Chloroquine ในการรักษาโรคไข้จับ สั่น หรือ ยา Metronidazole ในการรักษาโรคบิดมีตัว เป็นต้น
2. การรักษาประคับประคองตามอาการ คือ ให้การรักษาประคับประคองตามอาการของผู้ป่วย เช่น
- การให้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ และ/หรือลดปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เมื่อมีไข้
- การพักผ่อนให้เพียงพอ
- การดื่มน้ำมากๆเพื่อป้องกันภาวะเสียน้ำ จากมีไข้ หรือ จากอาเจียน หรือ จากท้อง เสีย
- การกินอาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมใน ประเภทอาหารทางการแพทย์) เพื่อให้กระ เพาะอาหารย่อยอาหารได้ง่ายในภาวะร่างกายเจ็บป่วย และ/หรือ
- การให้สารน้ำ/สารอาหารทางหลอดเลือดดำ เมื่อร่างกายขาดน้ำมาก/ภาวะขาดน้ำ หรือ ดื่มน้ำ กินอา หารได้น้อย
โรคติดเชื้อรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรคติดเชื้อ มีได้ทั้งที่ไม่รุนแรง หายได้เองจากเพียงการรักษาประ คับประคองตามอาการ และทั้งที่รุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิต ทั้งนี้ขึ้นกับ
- ชนิดของเชื้อโรค
- ปริมาณของเชื้อฯที่ร่างกายได้รับ
- วิธีรักษา
- การรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ
- อายุของผู้ป่วย (เพราะเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรค โดยเด็กอ่อน และผู้สูงอายุ จะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ)
ผลข้างเคียง:
การเกิดผลข้างเคียงจากการติดเชื้อ อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ขึ้นกับว่า
- เป็นการติดเชื้ออวัยวะใด
- และการติดเชื้อนั้นๆรุนแรงหรือไม่
โดยอวัยวะที่ติดเชื้อแล้วมักเกิดผลข้างเคียงตามมา ได้แก่
- การติดเชื้อของสมอง (สมองอักเสบ)
- และการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ที่จัดเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง
ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงจนอาจถึงเสียชีวิตเมื่อมีการติดเชื้อ/ติดเชื้อโรค มักรู้ จักหรือเรียกกันทั่วไปว่า “กลุ่มเสี่ยง (High risk)” ซึ่งได้แก่ กลุ่มบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันป้องกันโรคต่ำ จึงติดเชื้อได้ง่ายกว่าบุคคลอื่นๆ และเมื่อติดเชื้อแล้วก็มักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงกว่า จึงมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงและเสียชีวิตได้สูงจากการติดเชื้อ
โดยกลุ่มเสี่ยง ดังกล่าว เช่น
- เด็กทารก เด็กอ่อน เด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ
- สตรีตั้งครรภ์
- โรคอ้วน
- ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะ
- โรคเบาหวาน
- โรคหืด
- โรคไตเรื้อรัง
- โรคมะเร็ง
- โรคติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์
- ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคติดเชื้อ? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ คือ การพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอภายหลังที่ดูแลตนเอง 1-2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น
*ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีหรือฉุกเฉินเมื่อ
- อาการเลวลง
- หรือ เมื่อมีไข้สูง โดยเฉพาะเมื่อมีไข้ร่วมกับอาการ
- ชัก
- แขน ขาอ่อนแรง
- คอแข็ง
- อาเจียนรุนแรง
- ท้องเสียรุนแรง
- ปวดท้องรุนแรง
- ปวดศีรษะรุนแรง และ/หรือ
- กิน/ดื่มไม่ได้
- ปัสสาวะน้อยมาก หรือ ไม่มีปัสสาวะ
ในส่วนการดูแลตนเองเมื่อทราบแล้วว่าเป็นโรคติดเชื้อ ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ก่อน
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำมากๆ มากกว่าวันละ 8-10 แก้ว (ถ้าไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจากมีไข้ (เหงื่อออกมาก) จากดื่มน้ำน้อย จากท้องเสีย และ/หรือจากอาเจียน
- กินอาหารอ่อน อาหารเหลว หรือ อาหารน้ำ ขึ้นกับความรุนแรงของโรคเพื่อให้ได้อาหารเพียงพอ เพราะเป็นอาหารที่ย่อยง่าย (อ่านเพิ่มเติมใน ประเภทอาหารทางการแพทย์)
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- แยกของใช้ เครื่องใช้ในการกิน ดื่ม จนกว่าโรคจะหาย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่น
- ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัยเมื่อเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเสมอ เมื่อ
- มีอาการผิดปกติจากเดิม
- หรืออาการต่างๆเลวลง
- หรือมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว วิงเวียนศีรษะตลอดเวลา ท้องเสียมาก ขึ้นผื่น
- หรือเมื่อกังวลในอาการ
- ไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที ในกรณีดังได้กล่าวแล้วในตอนต้นหัวข้อนี้
มีการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อไหม?
ปัจจุบัน ไม่มีการตรวจคัดกรองในเรื่องโรคติดเชื้อ แต่ในขณะมีโรคระบาด และมีผู้สัมผัสโรค อาจมีการแยกผู้สัมผัสโรคให้อยู่ในสถานที่เฉพาะ จนกว่าจะผ่านระยะฟักตัวของโรค ที่เรียก ว่า “การกักกันโรค (Quarantine)” เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรคสู่ชุมชน
ป้องกันโรคติดเชื้อได้อย่างไร?
สามารถป้องกันโรคติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ และทุกครั้งก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
- กิน อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกวันในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วน เพื่อ ให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรง เพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
- กินอาหารสะอาด ปรุงสุกทั่วถึง
- ดื่มแต่น้ำสะอาด ระวังเรื่องน้ำแข็ง
- ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ สม่ำเสมอ ทุกๆวัน
- รู้จักการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย
- รับวัคซีนต่างๆตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ และเมื่อเดินทาง/ท่องเที่ยวไปในสถานที่ที่มีการระบาดของโรค
- ช่วยกันรักษาสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมในถิ่นที่อยู่อาศัยของตนเอง
บรรณานุกรม
- http://www.who.int/topics/infectious_diseases/en/ [2019,March23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Contagious_disease [2019,March23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Infection [2019,March23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Mycosis [2019,March23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Parasitic_disease [2019,March23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Viral_disease [2019,March23]
- https://medlineplus.gov/bacterialinfections.html [2019,March23]