พยาธิปากขอ (Hookworm infection)
- โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ พนัส เฉลิมแสนยากร
- 10 มกราคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- พยาธิปากขอคืออะไร?
- คนติดเชื้อพยาธิปากขอได้อย่างไร?
- วงจรชีวิตของพยาธิปากขอเป็นอย่างไร?
- อาการของโรคพยาธิปากขอเป็นอย่างไร?
- ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิปากขออย่างไร?
- รักษาโรคพยาธิปากขออย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคพยาธิปากขอ?
- โรคพยาธิปากขอมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ป้องกันโรคพยาธิปากขอได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทนำ
โรคติดเชื้อพยาธิปากขอ (Ancylostomiasis หรือ Hookworm disease) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิของลำไส้เล็ก โดยเป็นการติดเชื้อพยาธิตัวกลมที่เรียกว่า พยาธิปากขอ (Hookworm)
ชื่อวิทยาศาสตร์ของพยาธิปากขอ มี 2 ชนิด ที่พบบ่อยที่สุดคือ Necator americanus และ Ancylostoma duodenale ซึ่งในประเทศไทยพบทั้ง 2 ชนิด แต่ส่วนใหญ่จะเป็น Necator americanus โดยชนิดที่ 3 และที่ 4 พบน้อยมากที่ทำให้เกิดโรคในคนซึ่งได้แก่ Ancylostoma ceylanicum และ Ancylostoma caninum ซึ่งทั้ง 2 ชนิดหลังนี้ โดยธรรมชาติเป็นพยาธิที่ทำให้เกิดโรคในสัตว์ แต่ก็เคยมีรายงานว่าทำให้เกิดโรคในคนได้ในบางครั้ง
โรคพยาธิปากขอ เป็นโรคที่มีความสำคัญทางสาธารณสุขมาก รองจากโรคขาดอาหารและโรคมาเลเรีย ประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 900 ล้านคนทั่วโลก พบได้มากแถบร้อนชื้นที่มีฝนตกชุก ในประเทศไทยพบผู้ป่วยทางภาคใต้มากที่สุด และเกือบทั้งหมดเป็นจาก Necator americanus
พยาธิปากขอคืออะไร?
พยาธิปากขอ เป็นปรสิตชนิดหนึ่ง โดยเป็นพยาธิตัวกลม (Nematode) ขนาดเล็ก แต่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ลักษณะสีขาวปนชมพู ตรงหัวจะมีลักษณะงอคล้ายตะขอ โดย
- Necator americanus จะมีขนาดเล็กกว่า Ancylostoma duodenale
- Necator americanus ตัวผู้ ยาวประมาณ 5-9 มิลลิเมตร กว้าง 0.5 มิลลิเมตร ตัวเมีย ยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 0.6 มิลลิเมตร
- ส่วน Ancylostoma duodenale ตัวผู้ ยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ตัวเมียยาว 11 มิลลิเมตร กว้าง 0.6 มิลลิเมตร
พยาธิปากขอ ตัวผู้และตัวเมีย แยกกันได้โดย ตัวผู้จะมีอวัยวะที่ใช้ในการสืบพันธุ์ เห็นได้จากภายนอกเรียกว่า Posterior copulatory bursa
คนติดเชื้อพยาธิปากขอได้อย่างไร?
คนติดเชื้อพยาธิปากขอได้ โดย
- ได้รับตัวอ่อนของพยาธิ (Larva) ซึ่งอยู่ในพื้นดิน โดยตัวอ่อนของพยาธิจะไชเข้าทางผิวหนังบริเวณเท้าหรือขา เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ การติดเชื้อวิธีนี้จะเกิดในคนที่เดินบนพื้นดินโดยไม่ใส่รองเท้า โดยมากจะเป็นผู้ที่ทำอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องเดินย่ำดินโคลนเป็นประจำ หลังจากที่ตัวอ่อนของพยาธิไชเข้าผิวหนังแล้ว ก็จะเข้าสู่เส้นเลือด/หลอดเลือดขนาดเล็กและท่อน้ำเหลือง ซึ่งจะพาตัวอ่อนของพยาธิไปยังปอดของผู้ป่วย จากนั้นตัวอ่อนของพยาธิจะไชออกจากเส้นเลือดเข้าสู่ถุงลมในปอด แล้วออกมาทางหลอดลม (Bronchus และ Trachea) แล้วถูกกลืนลงทางหลอดอาหาร (Esophagus) กระเพาะอาหาร (Stomach) จากนั้นไปเจริญเป็นตัวแก่ในลำไส้เล็ก โดยเฉพาะลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenum)
- การติดเชื้ออีกวิธีหนึ่งคือ ทางปาก โดยการกินพยาธิตัวอ่อนที่อยู่ในดินปนไปกับอาหาร เช่น พืช ผัก ผลไม้ ที่ล้างไม่สะอาด มีการปนเปื้อนของดินที่มีตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปกับอาหาร การติดโรคทางปากนี้ ตัวอ่อนจะผ่านจากปากเข้าหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และไปลอกคราบกลายเป็นตัวโตเต็มวัยที่ลำไส้เล็ก โดยไม่ต้องผ่านปอดแต่อย่างใด เด็กบางคนที่ชอบกินดิน (Pica) ก็สามารถติดเชื้อโดยวิธีนี้ได้
- การติดเชื้อทางน้ำนม โดยเฉพาะ Ancylostoma duodenale โดยที่ตัวอ่อนสามารถไปหลบซ่อนอยู่ในกล้ามเนื้อของมารดาตั้งแต่ยังไม่ตั้งครรภ์ พอเกิดการตั้งครรภ์ ตัวอ่อนจะออกจากกล้ามเนื้อแล้วมาที่ต่อมน้ำนม ออกจากต่อมน้ำนมแล้วปะปนในน้ำนม พอเด็กทารกดูดน้ำนม ก็จะได้ตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปในร่างกาย เคยมีรายงานเด็กทารกที่ติดเชื้อโดยวิธีนี้อย่างรุนแรงได้ เหตุผลที่วงจรชีวิตของพยาธิปากขอผ่านมาทางเต้านมนี้ ยังไม่มีใครอธิบายกระบวนการได้อย่างชัดเจน
วงจรชีวิตของพยาธิปากขอเป็นอย่างไร?
ตัวแก่ของพยาธิปากขอนี้จะอยู่ในลำไส้เล็กส่วนต้นและส่วนกลาง แต่ในรายที่มีจำนวนมาก อาจพบพยาธิตัวแก่ได้ตลอดลำไส้เล็กทุกส่วน จนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้นได้ ตัวแก่ตัวผู้และตัวเมียจะผสมพันธุ์ออกไข่ปนออกมากับอุจจาระ โดยพยาธิตัวเมียจะออกไข่ได้ถึง 10,000 ฟองต่อวัน
ลักษณะของไข่พยาธิปากขอ มีรูปร่างรี (Oval shape) ขนาดประมาณ 60x40 ไมครอน(Micron) หัวมนท้ายมนเรียบ เปลือกบางใส ไม่มีสี มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุล ทรรศน์ในการตรวจ
ไข่ จะออกมากับอุจจาระและปะปนในดิน ไข่จะฟักตัวเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ภายใน 24-48 ชั่วโมงที่อุณหภูมิประมาณ 25-35 องศาเซลเซียส (Celsius) โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีร่มเงาและความชื้น มีแดดส่องถึงเล็กน้อย ออกจากไข่เป็นพยาธิตัวอ่อนระยะ Rhabditiform larvae (ตัวอ่อนระยะ 2) ระยะนี้จะกินเชื้อแบคทีเรียและสารอินทรีย์ในดินเป็นอาหาร ต่อจากนั้นจะลอกคราบในดิน 2 ครั้ง กลายเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 เรียกว่า Filariform larvae ซึ่งเป็นระยะติดต่อสามารถไชเข้าผิวหนังได้
ตัวอ่อนระยะติดต่อไชเข้าผิวหนังของ โฮสต์ (Host) บริเวณเท้า เข้าหลอดเลือดดำขนาดเล็ก กลับไปที่หัวใจและปอด และไชจากหลอดเลือดฝอยที่ผนังถุงลมปอด เข้าไปในถุงลม หลอดลมเล็ก หลอดลมใหญ่ กลับออกมาที่ช่องปาก กลืนลงหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร แล้วลอกคราบ 2 ครั้งไปเป็นตัวแก่เต็มวัย (หรือ คือ ตัวอ่อนระยะ 4) ที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ทั้งหมดนี้กินเวลาประมาณ 4-7 สัปดาห์ หลังจากที่ได้รับพยาธิตัวอ่อนเข้าไป พยาธิตัวแก่จะมีชีวิตในลำ ไส้ประมาณ 2-6 ปี
ต่อจากนั้น ตัวแก่ตัวผู้และตัวเมียจะผสมพันธุ์ออกไข่ปนกับอุจจาระเริ่มวงจรใหม่ต่อไป
อาการของโรคพยาธิปากขอเป็นอย่างไร?
อาการของโรคพยาธิปากขอ สามารถแบ่งออกได้ตามระยะที่พยาธิผ่านไปในส่วนต่างๆของร่างกาย ดังนี้
1. อาการที่เกิดที่ผิวหนัง หลังจากพยาธิตัวอ่อนไชผ่านผิวหนังที่เท้าหรือขา ซึ่งอาการที่ผิวหนังเหล่านี้ได้แก่
- อาการคัน
- ผิวหนังเป็นตุ่มเล็กๆสีแดงร่วมกับตุ่มน้ำใสเรียกว่า Ground itch
- ผิวหนังตำแหน่งรอยที่ถูกพยาธิฯไช เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนเป็นหนอง ในบางราย
- เกิดรอยนูนเป็นทางยาว อักเสบ คัน ตามแนวที่ตัวอ่อนพยาธิไชไปในผิวหนังชั้นหนังกำ พร้า (Epidermis) เรียกว่า Creeping eruption หรือ Cutaneous larva migrans โดยมากจะเกิดจากตัวอ่อน (Larva) ของพยาธิปากขอที่เป็นในสัตว์ติดมายังคนเช่น Ancylostoma caninum ในสุนัข, Ancylostoma ceylanicum ในแมว เป็นต้น
- เหตุผลที่ตัวอ่อนพยาธิสามารถไชทะลุผิวหนังที่เท้าได้ ทั้งๆที่ผิวหนังนั้นมีชั้น เคอราทิน (Keratin) และชั้นหนังกำพร้าหนามาก เพราะตัวอ่อนพยาธิปากขอจะหลั่งสารที่เป็นเอนไซม์พวก Proteolytic enzyme เช่น Protease, Ancylostoma-secreted proteins (ASPs), Cathepsin- D aspartic protease ซึ่งสารเหล่านี้จะย่อยสลายโปรตีนที่เชื่อมต่อระหว่างเซลล์ของหนังกำพร้าให้เกิดช่องโหว่ได้ นอกจากนั้น ตัวอ่อนพยาธิฯ ยังสามารถสร้างเอนไซม์ Hyaluronidase เพื่อทำงานเสริมกับ Protease อื่นๆ ในการย่อยสารพวก Hyaluronic acid ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ทำหน้าที่เชื่อมให้เกิดความแข็งแรงระหว่างหนังกำพร้า (Epidermis), Base ment membrane และหนังแท้ (Dermis) เกิดการแยกตัวเป็นช่องให้พยาธิไชคืบคลานไปได้
2. อาการที่เกิดจากพยาธิตัวอ่อนเดินทางผ่านปอด มักจะเกิด 1-3 สัปดาห์หลังจากตัวอ่อนไชผ่านผิวหนังได้แก่ ไอ แน่นหน้าอก หอบ มีไข้คล้ายปอดอักเสบ คออักเสบ ตรวจเลือดมักพบเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil เพิ่มมากขึ้นในเลือดได้ ซึ่งอาการทางปอดนี้ โดยมากจะหายไปเองในเวลา 7-10 วัน
- สาเหตุของอาการดังกล่าวเหล่านี้ คือ ตัวอ่อนพยาธิปากขอที่ไชผิวหนังที่เท้า จะเข้าสู่เส้น/หลอดเลือดดำขนาดเล็ก (Venule) จากนั้นจะเข้าสู่เส้นเลือดดำขนาดใหญ่ กลับเข้าหัวใจซีกขวา ไปสู่ปอด จากนั้นจะไชผ่านผนังหลอดเลือดฝอยที่ผนังถุงลมของปอดเข้าถุงลม แล้วคืบคลานต่อไปยังหลอดลมขนาดใหญ่, คอหอย , และถูกกลืนเข้าหลอดอาหาร เพื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็กต่อไป ในช่วงที่ผ่านปอดนี้เอง ที่จะทำให้เกิดการอักเสบรอบทางที่ตัวอ่อนพยาธิผ่านไป ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ ไอ หอบ มีไข้ได้
- การที่ตัวอ่อนพยาธิปากขอ สามารถต้านทานการทำลาย โดยระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของ โฮสต์ (Host) ได้นั้น มีหลักฐานว่า ตัวอ่อนสามารถสร้างสารชื่อ Glycoprotein 41 kd ที่ยับยั้งการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil และ Excretory secretory (ES) pro duct ซึ่งมีความสามารถทำให้มีการทำงานของภูมิคุ้มกันต้านทานโรคแบบใช้เซลล์ (Cell mediated immune response) ลดลงได้ในสัตว์ทดลอง ดังนั้นตัวอ่อนพยาธิฯจึงรอดพ้นจากการทำลาย โดยระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของมนุษย์ได้
3.อาการที่เกิดจากพยาธิตัวแก่เต็มวัยในลำไส้เล็กที่มีจำนวนมาก มักจะเกิดประมาณ 1 เดือนหลังจากตัวอ่อนไชเข้าผิวหนัง ได้แก่
- อาการที่เกิดจากการอักเสบและมีเซลล์ตาย (Necrosis) ของผนังลำไส้ ได้แก่ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ ตรวจพบได้โดยการตรวจอุจจาระ (ด้วยเทค นิคตรวจ Occult blood) จะพบเลือดในอุจจาระ (โดยตาเปล่ามองไม่เห็น) อาการนี้เกิดจากพยาธิตัวโตเต็มวัยกัดผนังลำไส้เพื่อดูดเลือด ทำให้เกิดการตายของเซลล์ลำไส้ได้ อาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของตัวพยาธิฯว่ามีมากน้อยเท่าใด
- อาการที่เกิดจากภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) เกิดจากการที่พยาธิปากขอตัวโตเต็มวัยหรือตัวแก่ ดูดเลือดจากผนังลำไส้เป็นอาหาร ทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดครั้งละน้อยๆไปเรื่อยๆตลอดเวลา เป็นเวลานาน จนเกิดภาวะโลหิตจาง/ภาวะซีด การที่พยาธิปากขอสามารถดูดเลือดได้ เนื่องจากพยาธิมีช่องปาก (Buccal capsule) ขนาดใหญ่และภายในช่องปากนี้จะมีฟันที่ใช้กัดผนังลำไส้ 2 ชนิดได้แก่ ฟันเขี้ยว และฟันที่เป็นแผ่นคล้ายพระ จันทร์เสี้ยวเรียกว่าฟันตัด (Cutting plate) ปริมาณของเลือดที่ถูกดูดไปใน 1 วันคือ 0.03 มิลลิ ลิตร (จากพยาธิชนิด Necator americanus) และ 0.26 มิลลิลิตร (จากพยาธิชนิด Ancylostoma duodenale)
- ดังนั้นถ้ามีจำนวนพยาธิในร่างกายน้อยกว่า 25 ตัว มักไม่เกิดอาการผิดปกติดังกล่าว
- แต่ถ้ามีมากเกิน 500 ตัว จะเกิดการทำลายผนังลำไส้อย่างรุนแรง และโลหิตจางรุนแรง
- ถ้ามีมากกว่า 1,000 ตัว อาการ/ภาวะซีดอาจมากจนเกิดหัวใจล้มเหลว จากภาวะเลือดจางและเสียชีวิตได้
ผู้ป่วยที่มีโลหิตจางมากจะตรวจพบ เม็ดเลือดแดงแบบ Hypochromic microcytic anemia, โปรตีนในเลือดจะต่ำ, ร่างกายเกิดการบวม โดยเฉพาะที่เท้า, หัวใจโต, ตรวจเลือด ซีบีซี/CBC จะพบเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil เพิ่มมากในเลือด, และมี เม็ดเลือดแดง/หรือ สาร Hemo globin ในเลือดลดต่ำลง,
การเสียเลือดเรื้อรังจากพยาธิปากขอนี้ พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนั้นยังพบว่าอุบัติการณ์ของโรคพยาธิปากขอยิ่งมีมากขึ้น เมื่อประชากรมีอายุมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากโรคพยาธิตัวกลมอื่นๆ ซึ่งจะมีการเป็นโรคน้อยลง เมื่อประชากรมีอายุมากขึ้น ดังนั้นถ้าพบผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ก็ต้องนึกถึงโรคพยาธิปากขอเรื้อรังไว้ด้วย พยาธิปากขอสามารถดูดเลือดได้ เพราะพยาธิสามารถสร้างเอนไซม์ป้องกันการแข็งตัวของเลือดในกลุ่ม Serine protease inhibitor ยับยั้งการทำงานของสารช่วยการแข็งตัวของเลือด ที่เรียกว่า Coagulation factor 7 และ Hookworm platelet inhibitor ที่ยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดในการทำให้เลือดแข็งตัว
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
ควรไปพบแพทย์ เมื่อ
- มีอาการ อ่อนเพลีย ซีด บวมที่เท้า ขาหรือหน้า โดยเฉพาะเกษตรกรที่เดินไม่ใส่รอง เท้าอยู่เป็นประจำ
- มีอาการ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ผอมลง น้ำหนักลดผิดปกติ
แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิปากขออย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิปากขอ ได้จาก
- การตรวจอุจจาระ พบไข่พยาธิลักษณะเป็นรูปรีมีเปลือกใส สองปลายมนเรียบ ภายในมีตัวอ่อนอยู่ ถ้าตรวจด้วยวิธีธรรมดา 3 ครั้งแล้วไม่พบไข่ อาจต้องตรวจอุจจาระด้วยวิธีเฉพาะที่ซับซ้อนขึ้น ทั้งนี้ถ้าเก็บอุจจาระทิ้งไว้ก่อนตรวจนานกว่า 24 ชั่วโมง ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนระยะ rhabditiform larvae อย่างไรก็ตาม การดูลักษณะของไข่ จะไม่สามารถแยกชนิดพยาธิฯได้ว่าเป็น Necator americanus หรือ Ancylostoma duodenale
- การเพาะเชื้อจากอุจจาระ หาตัวอ่อนของพยาธิปากขอ
- การตรวจทางอิมมูโนวิทยา/ตรวจหาสารที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Immu nology) เช่น Complement fixation test
- การตรวจทางเทคนิคพันธุศาสตร์ เช่น Polymerase chain reaction เพื่อแยกชนิดของพยาธิปากขอว่า เป็น Necator americanus หรือ Ancylostoma duodenale
- วินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย เช่น อาการทางผิวหนัง อ่อนเพลีย โลหิตจาง/ภาวะซีด ขาดอาหาร โปรตีนในเลือดต่ำ เป็นต้น
รักษาโรคพยาธิปากขออย่างไร?
การรักษาโรคพยาธิปากขอ โดยการให้ยาถ่ายพยาธิ และการรักษาประคับประคองตามอา การ
- การให้ยาถ่ายพยาธิฯ เช่น ยา Mebendazole หรือ ยา Albendazole
- การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้เลือดเมื่อมีภาวะซีดมาก ให้ยาขับน้ำเมื่อมีอาการบวม และการรักษาโรคหัวใจเมื่อมีอาการจากหัวใจโต เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคพยาธิปากขอ?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคพยาธิปากขอ ได้แก่
- รับประทานยากำจัดพยาธิตามที่แพทย์สั่งจนครบ
- รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การดื่มน้ำและอาหารที่สะอาด รับประทานยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กตามแพทย์สั่ง เดินสวมรองเท้าบนดิน ไม่เดินเท้าเปล่า
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัด
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อมีอาการต่างๆเลวลง และ/หรือมีอาการผิดปกติใหม่ๆเกิดขึ้น และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ
โรคพยาธิปากขอมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โรคพยาธิปากขอ สามารถรักษาให้หายขาดได้ หลังจากรับประทานยาไม่เกิน 3 สัปดาห์
เราสามารถทราบได้ว่า รักษาหายขาดแล้ว โดยตรวจอุจจาระไม่พบไข่พยาธิอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม จะกลับมาสามารถติดเชื้อใหม่ได้เสมอ เมื่อไม่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และ ไม่รู้ จักการป้องกันโรคนี้
ป้องกันโรคพยาธิปากขอได้อย่างไร?
สามารถป้องกันโรคพยาธิปากขอได้โดย
- ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเสมอ อย่าถ่ายอุจจาระลงแม่น้ำลำคลอง อย่าถ่ายอุจจาระลงพื้นดิน เพราะเป็นการทำให้ตัวอ่อนฟักออกจากไข่ไปอยู่ในดินได้
- ไม่เดินเท้าเปล่าบนดิน ใส่รองเท้าเสมอ
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ โดยฟอกสบู่หลังจากถ่ายอุจจาระทุกครั้ง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจติดมือไปแพร่ให้ผู้อื่นได้
- ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานเสมอ เพราะในผักผลไม้สดอาจมีตัวอ่อนปะปนมาได้ ส่วนผักบางแห่งอาจใช้อุจจาระเป็นปุ๋ยรดต้นผัก
- สำหรับผู้ทำอาหารหรือเตรียมอาหาร ต้องล้างมือฟอกสบู่ก่อนทำอาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันตัวอ่อน/ไข่พยาธิฯปะปนลงไปในอาหาร
- ไม่ใช้ และรณรงค์ไม่ใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย
- ถ้าเดินทางไปประเทศที่การสาธารณสุขยังไม่ดี ต้องระมัดระวังเรื่องการดื่มน้ำ และการกินอาหารเป็นพิเศษ
บรรณานุกรม
- Hookworm http://en.wikipedia.org/wiki/Hookworm#Epidemiology [2013,Dec15].
- Virulence factor of hookworm infection, review article, Piyanan Taweethavonsawat, Nawarat Suriyakhun, and Sudchit ChungpiwatThai Vet. Med. Assoc. Vol.57 No.1 April 2006
- http://www.atlas.or.kr/atlas/alphabet_view.php?my_codeName=Hookworms [2013,Dec15].
- เอกสารงานวิจัยผลของยาอัลเบนดาโซลต่อการติดเชื้อพยาธิตัวกลมในลำไส้ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส มหาวิทยาลัยบูรพา บทที่ 2 หน้า 6-58