พยาธิไส้เดือน (Ascariasis)
- โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ พนัส เฉลิมแสนยากร
- 6 ตุลาคม 2562
- Tweet
- พยาธิไส้เดือนเป็นอย่างไร?
- คนติดเชื้อพยาธิไส้เดือนได้อย่างไร?
- วงจรชีวิตของพยาธิไส้เดือนเป็นอย่างไร?
- อาการของโรคพยาธิไส้เดือนเป็นอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิไส้เดือนได้อย่างไร?
- รักษาโรคพยาธิไส้เดือนอย่างไร?
- ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคพยาธิไส้เดือน?
- โรครักษาหายไหม? ใช้เวลารักษานานเท่าไร?
- ผลข้างเคียงจากโรคพยาธิไส้เดือนมีอะไรบ้าง?
- ป้องกันโรคพยาธิไส้เดือนอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract disease)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- ยาถ่ายพยาธิ (Anthelmintic Drugs)
- การตรวจอุจจาระ (Stool examination)
- ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- ปอดบวมในเด็ก (Childhood pneumonia) / ปอดอักเสบในเด็ก (Childhood pneumonitis)
- ดีซ่าน (Jaundice)
- ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
- ถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis)
- โรคติดเชื้อปรสิต (Parasitic infection)
พยาธิไส้เดือนเป็นอย่างไร ?
พยาธิไส้เดือน มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Ascaris lumbricoides มีลักษณะเป็นพยาธิตัวกลม ขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายไส้เดือนดิน ตัวผู้โตเต็มวัยจะมีขนาดยาวประมาณ 15-30 ซม.(เซนติ เมตร) ตัวเมียโตเต็มวัยจะมีขนาดยาวประมาณ 25-35 ซม. ตัวแก่จะมีอายุประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี
พยาธิไส้เดือน เป็นปรสิต อาศัยอยู่ในทางเดินอาหารของคน โดยคนเป็นตัวให้อาศัย หรือ โฮสต์ (Host) ซึ่งตัวและไข่ของมันจะปะปนออกมากับอุจจาระ และเมื่อคนรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนไข่ของมัน ก็จะเกิดการติดเชื้อพยาธินี้ วนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องต่อไป
คนติดเชื้อพยาธิไส้เดือนได้อย่างไร?
คนติดพยาธิไส้เดือนได้ โดยการรับประทานอาหาร หรือ ดื่มน้ำที่มีไข่พยาธิปะปนอยู่ โดยเฉพาะน้ำที่ไม่ได้ต้มสุก หรือ อาหารที่ไม่สะอาด ไข่ที่ไม่ถูกผสมจะไม่ติดต่อเพราะไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวได้ จะติดต่อเฉพาะไข่ที่ถูกผสมแล้วเท่านั้น
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ของโรคพยาธิไส้เดือนจะอยู่ในประเทศเขตร้อน พบได้ทุกเพศและทุกวัย แต่มักพบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน เพราะเป็นวัยชอบเล่นสิ่งสกปรก ในประเทศไทยจะพบผู้ป่วยทางภาคใต้มากกว่าภาคอื่น เพราะมีอากาศร้อนชื้นมากกว่าภาคอื่นๆ
วงจรชีวิตของพยาธิไส้เดือนเป็นอย่างไร?
ตัวแก่ของพยาธิไส้เดือน จะอยู่ในลำไส้เล็กของมนุษย์ จากนั้นจะผสมพันธุ์ออกไข่ปนออกมากับอุจจาระ โดยตัวเมีย 1 ตัวสามารถออกไข่ได้ถึง 200,000 ฟองต่อวัน ไข่จะออกมากับอุจจาระ ทำให้สามารถตรวจพบได้ในอุจจาระของผู้ป่วย
ไข่ที่ผสมแล้วจะเจริญเป็นตัวอ่อนภาย ในเวลา 10-21 วัน และเป็นระยะติดต่อ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้ถ่ายอุจจาระลงส้วม ไข่จะอยู่ในดินหรือปะปนอยู่ในน้ำ
ถ้ามีคนอื่นดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีไข่พยาธิที่ถูกผสมแล้วเข้าไป เปลือกไข่พยาธิจะไปแตกในลำไส้ หลังจากนั้นตัวอ่อนของพยาธิที่ออกมาจากไข่ จะไชออกจากผนังลำไส้ เข้าสู่กระแสเลือด
เลือดจะพาตัวอ่อนไปผ่านปอด ซึ่งตัวอ่อนจะเจริญเป็นตัวแก่ในปอดโดยใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน จากนั้นตัวพยาธิจะออกมากับเสมหะ ซึ่งจะถูกกลืนเข้าหลอดอาหารลงสู่ลำไส้ เจริญเติบโตกลายเป็นตัวแก่เต็มที่ต่อไป
อาการของโรคพยาธิไส้เดือนเป็นอย่างไร?
อาการของโรคพยาธิไส้เดือนสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1.อาการที่เกิดจากพยาธิตัวอ่อนเดินทางผ่านปอดได้แก่ ไอ แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย มีไข้คล้ายปอดอักเสบ ตรวจเสมหะอาจพบตัวอ่อนปนออกมาได้ (มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์) บางครั้งอาจมีอาการลมพิษเกิดด้วย อาการดังกล่าว จะเกิดหลังได้รับไข่ประมาณ 4-16 วัน บางคนอาจนานถึง 3 สัปดาห์
2.อาการที่เกิดจากพยาธิตัวแก่ในลำไส้เล็กได้แก่ อาการขาดอาหารโดยเฉพาะในเด็ก ผอมผิดปกติ ท้องใหญ่ ปวดท้องบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน ถ้ามีพยาธิจำนวนมาก อาจจะพันกันเป็นก้อนจนเกิดลำไส้อุดตันได้ (ปวดท้องมาก และไม่ผายลม จนเป็นสาเหตุต้องไปโรงพยา บาล) บางครั้งพยาธิจะไชไปอุดท่อน้ำดี เกิดอาการตัวเหลืองตาเหลืองหรือดีซ่านได้ บางครั้งพยาธิจะย้อนกลับมาที่หลอดอาหารและเข้าไปในหลอดลม เกิดหลอดลมอุดตันเฉียบพลันได้ และที่พบได้บ้างไม่บ่อยนัก คือ พยาธิไชทะลุผนังลำไส้ ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกในลำไส้ และ/หรือ ลำไส้ทะลุได้ (ผู้ป่วยมีอาการซีด ปวดท้องมาก และอาจมีไข้สูงจากเยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิไส้เดือนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิไส้เดือนได้จาก
- ตรวจอุจจาระพบไข่พยาธิ
- พบตัวแก่ขนาดโตเต็มที่หลุดออกมากับอุจจาระ หรือ ปนออกมากับอาเจียน
- บางครั้งพบภาพตัวพยาธิจากการเอกซเรย์ช่องท้อง
รักษาโรคพยาธิไส้เดือนอย่างไร?
แพทย์รักษาโรคพยาธิไส้เดือน โดยการให้ยาถ่ายพยาธิ ซึ่งปริมาณยาและจำนวนวันที่รับ ประทานยาขึ้นกับชนิดของยา เช่น ยาบางชนิดรับประทานครั้งเดียว บางชนิดรับประทาน 3 วัน
ตัวอย่างยาถ่ายพยาธิไส้เดือน เช่น
- ยา Mebendazole
- ยา Albendazole
- ยา Piperazine citrate
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
ทุกเพศ ทุกวัย ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อ
- มีอาการปวดท้องบ่อยผิดปกติ โดยเฉพาะในเด็ก
- พบพยาธิตัวแก่หลุดออกมาปนกับอุจจาระ หรือ กับอาเจียน
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคพยาธิไส้เดือน?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นพยาธิไส้เดือน คือ
- รับประทานยาถ่ายพยาธิตามที่แพทย์สั่งจนครบ
- รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การดื่มน้ำ และ อาหารที่สะอาด ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะทุกครั้งก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
โรครักษาหายไหม? ใช้เวลารักษานานเท่าไร?
โรคพยาธิไส้เดือน สามารถรักษาให้หายขาดได้หลังจากรับประทานยาไม่เกิน 3 สัปดาห์ เราสามารถทราบได้ว่ารักษาหายขาดแล้ว โดยตรวจอุจจาระไม่พบไข่พยาธิอีกต่อไป
ผลข้างเคียงจากโรคพยาธิไส้เดือนมีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงจากโรคพยาธิไส้เดือน ที่อาจพบได้ คือ
- ปอดอักเสบ จากการที่ตัวอ่อนเดินทางผ่านปอด โดยผ่านมาทางกระแสเลือด
- ลำไส้เล็กอุดตัน/ลำไส้อุดตัน จากการที่มีพยาธิจำนวนมากจับกันเป็นก้อน อุดตันลำไส้
- ขาดอาหาร (ผอม ไม่เจริญเติบโตตามวัย) โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากพยาธิแย่งอา หารในลำไส้
- ดีซ่าน จากการที่ตัวพยาธิไปอุดท่อน้ำดี
- ตับอ่อนอักเสบเนื่องจากพยาธิไชเข้าไปอุดท่อของตับอ่อน
- ถุงน้ำดีอักเสบเนื่องจากพยาธิอุดท่อน้ำดี
ป้องกันโรคพยาธิไส้เดือนอย่างไร?
ป้องกันโรคพยาธิไส้เดือนได้โดย
- ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเสมอ อย่าถ่ายอุจจาระลงแม่น้ำลำคลอง อย่าถ่ายอุจจาระลงพื้นดิน
- ล้างมือให้สะอาด ฟอกสบู่ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจติด ตามมือและนิ้ว
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง โดยฟอกสบู่หลังจากถ่ายอุจจาระทุกครั้ง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจติดมือไปแพร่ให้ผู้อื่นได้
- ล้างมือเด็กบ่อยๆ เพราะเด็กชอบดูดมือและนิ้ว ถ้ามือเด็กสกปรก อาจมีไข่พยาธิเข้าปากได้
- ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำที่ผ่านการกรองอย่างถูกต้อง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจปนเปื้อนอยู่ในน้ำได้
- ล้างผัก ผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานเสมอ เพราะในผักผลไม้สดอาจมีไข่พยาธิปะ ปนมาได้ เพราะสวนผัก ผลไม้บางแห่งอาจใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย
- สำหรับผู้ทำอาหาร หรือ เตรียมอาหารต้องล้างมือฟอกสบู่ก่อนทำอาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันไข่พยาธิปะปนลงไปในอาหาร
- ถ้าเดินทางไปประเทศที่การสาธารณสุขยังไม่ดี ต้องระมัดระวังเรื่องการดื่มน้ำและอา หารเป็นพิเศษ
- ไม่นำอุจจาระมาเป็นปุ๋ยรดผัก
บรรณานุกรม
- https://www.cdc.gov/parasites/ascariasis/index.html [2019,Sept14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ascaris_lumbricoides [2019,Sept14]