ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ครรภ์เป็นพิษคือโรคอะไร?

 ภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือ ภาวะพิษแห่งครรภ์ (Pregnancy-induced Hypertension หรือ Pre-eclampsia/Preeclamsia ซึ่งศัพท์ดั้งเดิม คือ Toxemia of pregnancy)คือ ภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ140/90 มิลลิเมตร (มม.)ปรอท ร่วมกับมีภาวะโปรตีน หรือไข่ขาวในปัสสาวะในสตรีตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มากกว่า20สัปดาห์ ไปจนกระทั่งหลังคลอด 1 สัปดาห์ และภายหลังคลอด  ภาวะครรภ์เป็นพิษจะค่อยๆหายไปเอง

สาเหตุของครรภ์เป็นพิษคืออะไร?

ครรภ์เป็นพิษ-01

สาเหตุของการเกิดครรภ์เป็นพิษ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายหรือฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อบางตัว หรือจากกรรมพันธุ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างโปรตีนบางตัวที่สร้างขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในสตรีตั้งครรภ์ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างหลอดเลือดไปเลี้ยงรกได้เพียงพอ บางส่วนของรกจึงขาดเลือด เกิดการตายของเนื้อรกบางส่วน ที่มีการปล่อยสารที่ส่งผลให้หลอดเลือดทั่วร่างกายของสตรีตั้งครรภ์หดตัว

สตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษคือใคร?

สตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ คือ

  • สตรีตั้งครรภ์แรกหรือตั้งครรภ์แรกกับคู่สมรสใหม่
  • สตรีตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
  • ระยะห่างของการตั้งครรภ์ ห่างจากครรภ์ก่อนมากกว่า 10 ปี
  • สตรีตั้งครรภ์ที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษในครรภ์ครั้งก่อน
  • สตรีตั้งครรภ์ที่มีญาติพี่น้องสายตรง (มารดา และ/หรือ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน) มีภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • สตรีตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวก่อนตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต   โรคไตเรื้อรัง โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
  • สตรีตั้งครรภ์แฝด

ครรภ์เป็นพิษแบ่งออกเป็นกี่ชนิด? อะไรบ้าง?

ครรภ์เป็นพิษแบ่งตามความรุนแรงเป็น 2 ชนิด คือ

  1. ชนิดรุนแรงน้อย คือ สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษโดยมีความดันโลหิตสูงไม่เกิน 160/110 มม.ปรอท หรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน หรือไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย   และทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
  2. ชนิดรุนแรงมาก คือ ภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 160/110 มม.ปรอท หรือมีโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 2 กรัมต่อวัน หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปวดหัวมาก ตาพร่ามัว มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักขณะตั้งครรภ์โดยที่ไม่เคยมีอาการชักมาก่อนตั้งครรภ์ (Eclampsia) และอาจเกิดภาวะเลือดออกในสมอง/ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะจนอาจเป็นสาเหตุถึงตายได้

อาการของครรภ์เป็นพิษมีอะไรบ้าง?

อาการพบบ่อยของครรภ์เป็นพิษ คือ

  • มีความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มม.ปรอท
  • ตรวจพบโปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะ
  • น้ำหนักเพิ่มมากอย่างรวดเร็ว
  • มีอาการบวมตาม ใบหน้า มือ ข้อเท้า และเท้า
  • ปวดหัวโดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย หน้าผาก โดยรับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น
  • มีตาพร่ามัว อาจตาบอดชั่วขณะได้
  • จุก/แน่นหน้าอก หรือที่บริเวณลิ้นปี่
  • หากอาการรุนแรง อาจมีอาการชักกระตุกทั้งตัว เกิดเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะได้

ภาวะแทรกซ้อนของครรภ์เป็นพิษมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้จากครรภ์เป็นพิษ:  

ก.  ภาวะแทรกซ้อนต่อมารดา: เช่น

  • อาจถึงตายได้: มักเกิดจากมีเลือดออกในสมองจากหลอดเลือดในสมองแตก
  • เกิดอาการชัก
  • ตาบอด อาจเป็นชั่วคราว หรือถาวร
  • มีภาวะน้ำท่วมปอด/ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
  • มีเลือดออกในอวัยวะต่างๆ จากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

ข.  ภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์: เช่น

  • มีภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
  • มีภาวะน้ำคร่ำน้อย ส่งผลให้ทารกถูกกดเบียดทับจากน้ำหนักมารดา ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตผิดปกติได้
  • มีการคลอดก่อนกำหนด
  • มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์
  • หัวใจทารกเต้นช้าจากการขาดออกซิเจน

อาการผิดปกติที่สงสัยภาวะครรภ์เป็นพิษที่ต้องรีบมาพบแพทย์มีอะไรบ้าง?

เมื่อตั้งครรภ์ และมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ หรือรีบพบแพทย์ก่อนวันนัด คือ

  • ปวดหัวรุนแรง
  • ตาพร่ามัว หรือมองเห็นแสงวูบวาบ
  • จุกแน่นใต้ลิ้นปี่
  • คลื่นไส้อาเจียนมาก
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • บวมน้ำตาม ใบหน้า มือ ข้อเท้า และเท้า

ครรภ์เป็นพิษรักษาอย่างไร?

ในภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดไม่รุนแรง อาจไม่มีความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาในโรง พยาบาล แต่ต้องมาติดตามการรักษา อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด นอนพักมากๆ ลดอาหารรสจัด สังเกตนับลูกดิ้นทุกวัน วัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ

 เฝ้าระวังอาการของโรคที่ต้องรีบมาพบแพทย์ เช่น ปวดหัว  ตาพร่ามัว จุกแน่นใต้ลิ้นปี่ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง สามารถรอจนครบกำหนดคลอด แล้วจึงกระตุ้นให้คลอด สามารถคลอดทางช่องคลอดโดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศ หรือคีมคีบช่วยคลอดได้

หากเป็นครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง) มีการวัดความดันโลหิตอย่างใกล้ชิด หากความดันโลหิตสูงมากกว่า หรือเท่ากับ 160/110 มม.ปรอท จำเป็นต้องได้รับยาลดความดัน  เพื่อป้องกันหลอดเลือดในสมองแตก มีการติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์โดยเครื่องอัลตราซาวด์เป็นระยะๆ จำเป็นต้องได้รับยาป้องกันการชักระหว่างรอคลอดจนถึงหลังคลอด 24 ชั่วโมง ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีความจำเป็นต้องรับยุติการตั้งครรภ์ซึ่งอาจให้ยากระตุ้นชักนำการคลอด ทั้งนี้สามารถคลอดทางช่องคลอดโดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศหรือคีมช่วยคลอด แต่จะผ่าตัดคลอดเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น มารดามีภาวะปากมดลูกไม่เปิด เป็นต้น

ควรดูแลผู้ป่วยครรภ์เป็นพิษหลังคลอดอย่างไร?

ในรายที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง มีความจำเป็นต้องได้รับยาป้องกันการชัก/ยากันชักต่อจนครบ 24 ชั่วโมงหลังคลอด หากมีความดันโลหิตสูงเกิน 160/110 มม.ปรอท อาจจำเป็นต้องได้ รับยาลดความดัน และอาจจำเป็นต้องวัดความดันโลหิตเป็นระยะๆทุก 1-2 วัน อย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ ต่อจากนั้นอาจวัดความดันโลหิตทุกสัปดาห์ จนอย่างน้อยประมาณ 6-12 สัปดาห์หลังคลอด หรือจนกว่าจะหยุดยาลดความดันโลหิต หรือตามแพทย์ที่รักษาดูแลแนะนำ

สามารถให้นมทารกได้ปกติ โดยยาป้องกันการชัก ไม่มีผลต่อทารกที่ได้รับนมมารดา แต่ทั้งนี้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา

โดยทั่วไปอาการต่างๆ จะดีขึ้นหลังคลอด โดยหากเกิน 12 สัปดาห์หลังคลอดแล้วยังคงมีความดันโลหิตสูง อาจเป็นโรคความดันโลหิตสูงชนิดเรื้อรัง ควรพบแพทย์อย่างต่อเนื่องตามแพทย์นัด เพื่อทำการรักษาต่อไป

เฝ้าระวังภาวะครรภ์เป็นพิษในครรภ์ต่อไป โดยควรฝากครรภ์แต่เนิ่นๆตั้งแต่รู่ว่าตั้งครรภ์ และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

เมื่อรู้ว่าครรภ์เป็นพิษ มีข้อห้ามอะไรบ้าง? ยังมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?

ข้อห้ามสำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่ครรภ์เป็นพิษ เช่น

  1. งดทำงานหนัก งดเดินชอปปิ้ง ให้พักผ่อนมากๆ
  2. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม
  3. งดมีเพศสัมพันธ์อย่างเด็ดขาด เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์มีผลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น เลือดสูบฉีดจากหัวใจมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

เมื่อมีครรภ์เป็นพิษ เมื่อไหร่ต้องมาโรงพยาบาลฉุกเฉิน?

โดยทั่วไป  เมื่อได้รับวินิจฉัยว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษ ในช่วงแรกแพทย์จะให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการ และเฝ้าระวังผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน เมื่อมั่นใจว่าเป็นชนิดไม่รุนแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ แพทย์จึงอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล โดยให้พักผ่อนอยู่บ้าน ให้วัดความดันโลหิตที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือที่บ้าน (ถ้าสามารถมีเครื่องวัดความดันโลหิตไว้ใช้เอง) ตรวจนับการดิ้นของทารกเองโดยนับเมื่อประมาณ 1 ชั่วโมงหลังอาหาร รวมกันสามครั้ง, ต้องดิ้นมากกว่าวันละ 10 ครั้ง, และแพทย์อาจนัดพบสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค และตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์

 *แต่หากพบอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบมาโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที

  • ความดันโลหิตมากกว่า หรือเท่ากับ 160/110 มม.ปรอท
  • ทารกดิ้นน้อยกว่าวันละ 10 ครั้ง
  • มีอาการน้ำเดิน(มีน้ำ/ของเหลวผิดปกติไหลออกทางช่องคลอด)
  • ปวดหัวรุนแรง ตาพร่ามัว จุกแน่นใต้ลิ้นปี่

มีวิธีป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างไร?

ยังไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้ 100% แต่เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ หรือเมื่อเตรียมตั้งครรภ์ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้โดยมีวิธีการ เช่น

  • ลดอาหารรสเค็ม
  • ดื่มน้ำให้มากกว่า หรือเท่ากับ 8 แก้วต่อวัน เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • เพิ่มโปรตีน (เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม ตับ) ในอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน  อาหารผัดน้ำ มัน และอาหารทอด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล
  • พยายามยกขาสูงเมื่อมีโอกาส เช่น ขณะนั่ง นอน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน(เช่น ชา กาแฟ โคล่า และเครื่องดื่มชูกำลัง)
  • ฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าตั้งครรภ์ หลังจากนั้นปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลด โอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ และ/หรือลดโอกาสเกิดความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษ

บรรณานุกรม

  1. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-complications/gestational-hypertension/  [2022,July2]
  2. https://patient.info/doctor/hypertension-in-pregnancy  [2022,July2]
  3. https://www.medicinenet.com/pregnancy_preeclampsia_and_eclampsia/article.htm  [2022,July2]