การปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมงกะพรุนต่อย (Jellyfish stings)
- โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ
- 25 กุมภาพันธ์ 2566
- Tweet
สารบัญ
- ทั่วไป: พบบ่อยไหม?
- ธรรมชาติของแมงกะพรุนเป็นอย่างไร?
- เมื่อแมงกะพรุนต่อยมีอาการอย่างไร?
- แมงกะพรุนต่อยทำให้ถึงตายได้หรือไม่?
- การปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมงกะพรุนต่อยทำอย่างไร?
- สิ่งที่ไม่ควรทำในบริเวณที่แมงกะพรุนต่อย
- การเอาหนวดแมงกะพรุนออกจากร่างกาย
- การปฐมพยาบาลเมื่อแมงกะพรุนต่อยที่ตา
- การปฐมพยาบาลเมื่อแมงกะพรุนต่อยในปาก
- การดูแลตนเองตามอาการเมื่อมีอาการปวดหรืออาการคัน
- เมื่อถูกแมงกะพรุนต่อยควรไปพบแพทย์เมื่อใด?
- แพทย์มีแนวทางการรักษาอย่างไรเมื่อผู้ป่วยถูกแมงกะพรุนต่อย?
- ดูแลแผลแมงกะพรุนต่อยอย่างไรหลังการปฐมพยาบาล?
- ถ้าไม่ได้พบแพทย์แต่แรกโดยดูแลแผลเอง เมื่อไรควรไปพบแพทย์?
- ป้องกันแมงกะพรุนต่อยอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- สัตว์และคนกัด: การปฐมพยาบาล การดูแลรักษา สุนัขกัด แมวกัด สัตว์ฟันแทะอื่นๆกัด คนกัด (Animal/Human bites)
- การปฐมพยาบาล การดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้า
- ยาใส่แผล การเลือกชนิดยาใส่แผล (Open wound drug administration)
- ยาใส่แผล ยาทำแผล (Antiseptic)
- อะดรีนาลีน (Adrenaline)
- สารละลายน้ำเกลือ (Saline or Sodium chloride solution)
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
ทั่วไป: พบบ่อยไหม?
ผู้ที่ไปเที่ยวชายทะเลจำนวนไม่น้อยมีประสบการณ์ถูกแมงกะพรุนต่อย(Jellyfish stings)ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานมากน้อยแล้วแต่ชนิดของแมงกะพรุนและขนาดพื้นที่บนร่างกายที่ถูกต่อย ท่านทราบไหมว่า แมงกะพรุนต่อยเป็นสาเหตุให้คนบาดเจ็บและถึงตายได้
เคยมีข้อมูลจากประเทศฟิลิปปินส์พบว่า มีผู้เสียชีวิต 20-40 คนต่อปีจากแมงกะพรุนต่อย
การถูกแมงกะพรุนต่อย พบได้บ่อยริมฝั่งทะเล ทั้งสถานที่เป็นทะเลน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น จำนวนแตกต่างกันไป เช่น 60,000 ถึง 200,000 รายต่อปีในแถวชายฝั่งฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีรายงานการตายจากทางภาคเหนือของประเทศออสเตรเลียประมาณ 1 รายในทุก 2-3 ปี
ธรรมชาติของแมงกะพรุนเป็นอย่างไร?
แมงกระพุรนเป็นสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลัง ตัวใสคล้ายวุ้น ด้านบนเป็นวงโค้งคล้ายร่ม ด้านล่างตรงกลางเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่กินและย่อยอาหาร มีหลายชนิด เช่นแมงกะพรุนจาน แมงกะพรุนหนัง ซึ่งกินได้, ส่วนแมงกะพรุนถ้วย แมงกะพรุนไฟ และแมงกะพรุนลายจะมีพิษ
แมงกะพรุนเป็นสัตว์น้ำอยู่ในไฟลัม (การจัดประเภทของสัตว์) / Phylum Coelenterata ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด (Class)
- Scyphozoa jellyfish คือ แมงกะพรุนทั่วๆไป ที่เรามักเห็นเกยตื้นตามชายหาด ตัวใสๆ หรือเห็นประกอบอยู่ในอาหาร
- Hydrozoa (Portuguese man-of-war) คือ แมงกะพรุนไฟ ซึ่งจะมีลักษณะแตก ต่างจากแมงกะพรุนธรรมดาอย่างเห็นได้ชัด โดยมีสีสันค่อนข้างสดใส มีหนวดยาว
อนึ่ง: แมงกะพรุนจะมีเข็มพิษ (Nematocyst) อยู่ทั่วตัว โดยเฉพาะบริเวณหนวดและรอบปากซึ่งใช้ในการล่าเหยื่อ ทั้งนี้พบแมงกะพรุนได้ทั่วโลก มักอยู่บริเวณใกล้ผิวน้ำ บริเวณที่แสงแดดไม่จัด จะล่องลอยไปกับกระแสน้ำ คนมักถูกแมงกะพรุนต่อยโดยบังเอิญเนื่องจากว่ายน้ำไปโดน ทำให้มีอาการตั้งแต่ระคายเคืองเพียงเล็กน้อยจนถึงอาจมีอาการรุนแรงถึงตาย ซึ่งแมงกะพรุนที่มี 'พิษถึงตาย' จะมีอยู่บริเวณทะเลแถบอินโด-แปซิฟิกและออสเตรเลีย
เมื่อแมงกะพรุนต่อยมีอาการอย่างไร?
อาการที่เกิดจากแมงกะพรุนต่อยมีได้แตกต่างกันตาม ชนิดของแมงกะพรุน, ลักษณะของคนที่ถูกต่อย, ระยะเวลาและปริมาณที่แมงกะพรุนสัมผัสหรือต่อย, และการรักษาเมื่อเริ่มต้นถูกต่อย
ผู้ถูกแมงกะพรุนต่อยอาจมองไม่เห็นหนวดของแมงกะพรุน แต่จะรู้สึกปวดทันทีที่ถูกต่อย และจะเห็นมีเส้นแดงหรือเป็นลมพิษภายในไม่กี่นาทีหลังถูกต่อย บางคนอาจจะใช้เวลาหลายชั่วโมงจึงเห็นรอยนั้น ส่วนใหญ่บริเวณที่ถูกต่อยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนมากและอาจคัน, อาการปวดนี้อาจลามไปที่ แขน ขา และลำตัว
เมื่อตรวจร่างกายจะพบเป็นรอยนูนเป็นรูปหนวดของแมงกะพรุนทาบอยู่ที่แขน ขา หรือลำตัว, หรืออาจพบเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำใสๆเป็นแนวผิวที่ถูกหนวดของแมงกะพรุน, หรือเป็นปื้นใหญ่ๆหรือเป็นรอยไหม้แดงเป็นเส้นยาว
แมงกะพรุนบางชนิด เมื่อต่อยแล้วจะก่ออาการรุนแรง ทำให้เนื้อเยื่อผิวหนังอักเสบ โดยเริ่มจากการมีผิวหนังบวมแดงตรงบริเวณที่ถูกต่อย แล้วเป็นมากขึ้น แต่อาการมักจะหายไปภาย ใน 10 วัน แม้ว่าบางคนอาจมีอาการอยู่หลายสัปดาห์
อาการอื่นๆที่รุนแรงเมื่อแมงกะพรุนต่อย: เช่น
- เมื่อแมงกะพรุนต่อยที่ตา: อาการเริ่มต้นจะแสบร้อนที่ตา ตากลัวแสง/ตาไม่สู้แสง เยื่อบุตาอักเสบ บวม และมีอาการอักเสบของบริเวณเนื้อเยื่อตาที่ลึกลงไป อาการจะดีขึ้นในประมาณ 48 ชั่วโมง บางคนอาจเกิดผลตามมาที่ตาหลังจากนั้นนานเป็นปี หรือหลายปี เช่น เห็นภาพไม่ชัด หรือเป็นต้อหิน
- มีบางคนถูกแมงกะพรุนต่อยแล้วมีอาการทางระบบประสาท เรียกว่า กลุ่มอาการ กิแลง แบร์เร่ (Guillain Barre syndrome ย่อว่า GBS)/โรคจีบีเอส ทำให้เป็นอัมพาต
- บางคนมีอาการทางหัวใจคือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หลังจากถูกแมงกะพรุนต่อย
- บางคนอาจมีอาการต่างๆทั่วร่างกาย (Systemic reaction) เช่น มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ต่อมน้ำเหลืองบวม ปวดท้อง ชาและปวดเกร็งกล้ามเนื้อ มีอาการทางหัวใจ และ/หรือมีอาการทางระบบประสาท
แมงกะพรุนต่อยทำให้ถึงตายได้หรือไม่?
ชนิดแมงกะพรุนที่ทำให้เกิด 'อันตรายมากถึงตายได้' เช่น
- แมงกะพรุนที่มีอันตรายมาก คือ แมงกะพรุนที่เรียก คูโบโซน (Cubozoan) หรือ บอกซเจลลี่ฟิช (Box jellyfish) ชื่อของมันมาจากรูปร่างที่มีลักษณะคล้ายกล่อง หรืออีกชื่อ คือ ต่อทะเล (Sea wasp) แมงกะพรุนชนิดนี้มีหนวดยาวจำนวนมาก พบบ่อยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม แต่สามารถพบได้ตลอดปีในแถบทะเลบริเวณทรอปิคอล และแถวประเทศออสเตรเลียพบได้มาก
- เมื่อบอกซ์เจลลี่ฟิช ต่อย จะมีอาการปวดมากทันที, หนวดของมันจะเหนียวและทิ้งร่องรอยเป็นแนวแดง, พิษของมันมีผลต่อระบบ ประสาท หัวใจ และทำลายผิวหนัง, และอาจทำให้เหยื่อถึงตายได้หากรักษาไม่ทันท่วงที
- แมงกะพรุน Curakia barnesi ซึ่งเป็นบอกซ์เจลลี่ฟิช ชนิดหนึ่ง เมื่อต่อย จะก่อให้เกิดกลุ่มอาการอิรุคันด์จิ (Irukandji syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่มีอาการหลายอย่าง คือ ปวดหลัง กล้ามเนื้อหดเกร็ง อาเจียน กระสับกระส่าย หรือตื่นตกใจ หงุดหงิด, ในผู้ป่วยจำนวนน้อยบางรายมีอาการปอดบวมน้ำ ความดันโลหิตสูง และภาวะหัวใจล้มเหลว หากไม่ได้รับการรักษาจะถึงตายได้, หรือบางคนอาจจมน้ำเสียชีวิตโดยไม่ทราบว่าถูกแมงกะพรุนนี้ต่อย
- แมงกะพรุนชนิดนี้มักพบในแถบทะเลแถวออสเตรเลีย ซึ่งชื่อกลุ่มอาการที่เกิดจากแมงกะพรุนชนิดนี้ต่อยเรียกตามชนเผ่า ‘Irukandji Aboriginal’ ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบ Cairns ในนอร์ทควีนส์แลนด์ซึ่งเป็นบริเวณที่พบแมงกะพรุนชนิด Carukia barnesi มาก
- Bluebottle jellyfish และ Pacific man-o-war หรือ Portuguese man-of-war เป็นกลุ่มสัตว์น้ำที่ไม่ใช่แมงกะพรุน จัดเป็นสัตว์น้ำในกลุ่ม Physalia species แต่ต่อยได้เหมือนแมงกะพรุน พบในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกและออสเตรเลีย
- เมื่อสัตว์น้ำกลุ่มนี้ต่อยจะมีอาการปวดรุนแรงทันทีและปวดอยู่นาน มักจะมีอาการปวดไปบริเวณต่อมน้ำเหลืองของแขน ขาในส่วนที่ถูกต่อยด้วย
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมงกะพรุนต่อยทำอย่างไร?
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมงกะพรุนต่อย คือ
ก. ถ้าถูกแมงกะพรุนกลุ่มที่มีพิษร้ายจำพวกบอกซ์เจลลี่ฟิชต่อย: ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที หรือรีบโทรศัพท์ติดต่อรถพยาบาลให้รีบมารับ
ขณะที่รอการรักษาอยู่นั้น: อาจล้างบริเวณที่ถูกต่อยด้วยน้ำส้มสายชู (ไม่เจือจาง) ก่อนที่จะเอาหนวดของแมงกะพรุนออก ให้ราดน้ำส้มสายชูไปบนบริเวณที่ถูกต่อยและราดลงบนหนวดของแมงกะพรุนประมาณ 10 นาที หรือมากกว่า ก่อนที่จะพยายามดึงหนวดของแมงกะพรุนออกไป
ถ้าแมงกะพรุนต่อยที่แขน ขา เอาผ้ารัดไม่ให้พิษกระจายไปเร็ว แต่อย่ารัดแน่นจนเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆไม่เพียงพอ
ข. ถ้าถูกแมงกะพรุนชนิดอื่นๆต่อย: ให้ค่อยๆราดและล้างบริเวณที่ถูกต่อยด้วยน้ำส้มสายชู ใช้เวลาประมาณ 15-30 นาทีเพื่อป้องกันไม่ให้ถุงพิษจากหนวดปล่อยสารพิษออกมา
ถ้าไม่มีน้ำส้มสายชู: ให้ล้างด้วยน้ำทะเล, หรือ 70% ไอโซโปรปิลแอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol), หรือน้ำยาแอมโมเนีย, หรือ ทาโลชันที่หาได้ใกล้ตัว
อนึ่ง:
- มีการแนะนำให้ใช้ผักบุ้งทะเลซึ่งชอบขึ้นอยู่แถวชายหาดที่มีแมงกะพรุน ขยี้กับน้ำส้มสายชูความเข้มข้น 5% ประคบผิวหนังบริเวณที่โดนพิษแล้วห่อด้วยผ้าขาวบางทิ้งไว้ 30-60 นาที อาการระคายจะค่อยๆดีขึ้น ข้อสำคัญผักบุ้งทะเลต้องสะอาด *แต่วิธีนี้ควรมีการศึกษาให้มากขึ้น เพราะตำราและข้อเสนอแนะทั่วไปเน้นการใช้น้ำส้มสายชูซึ่ง 'หากหาไม่ได้ให้ใช้น้ำทะเลราด'
- พยายามกำจัด 'เข็มพิษ' ออกโดยใช้สันบัตรแข็งๆ เช่น บัตรเครดิตขูดบริเวณที่ถูกแมงกะพรุนต่อย
สิ่งที่ 'ไม่ควรทำ' ในผิวหนังบริเวณที่แมงกะพรุนต่อย:
- ล้างแผลที่ถูกต่อยด้วยน้ำเปล่า
- ใช้มือถูบริเวณที่ถูกต่อย
- ประคบแผลฯด้วยความร้อน หรือน้ำแข็ง
*ซึ่งการกระทำดังกล่าวข้างต้น อาจทำให้เข็มพิษของแมงกะพรุนยังคงปล่อยพิษออกมาเรื่อยๆ
การเอาหนวดแมงกะพรุนออกจากร่างกาย:
- ใช้ไม้เขี่ยออกหรือใช้ที่คีบ คีบออก
- หากหาถุงมือใส่ได้ในการจัดการฯจะดีมาก
การปฐมพยาบาลเมื่อแมงกะพรุนต่อยที่ตา:
- ให้ล้างตาด้วยน้ำเกลือสะอาด Normal saline
- ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำส้มสายชูซับที่ผิวหนังรอบๆตาโดยไม่ให้น้ำส้มสายชูสัมผัสและเข้าตา
การปฐมพยาบาลเมื่อแมงกะพรุนต่อยในปาก:
- ใช้น้ำส้มสายชูความเข้มข้นหนึ่งในสี่ โดยผสมน้ำส้มสายชูหนึ่งส่วนสี่ (1/4) แก้ว กับน้ำสามส่วนสี่ (3/4) แก้ว กลั้วปากแล้วบ้วนออก, ห้ามดื่มเข้าไป
การดูแลตนเองตามอาการเมื่อมีอาการปวดหรืออาการคัน:
- กินยาแก้ปวด: ได้แก่ พาราเซตามอล ขนาดเม็ดละ 325 มก. 1-2 เม็ดทุก 4-6 ชั่วโมง ถ้ามีอาการปวด
- ถ้ามีอาการคัน: กินยาแอนติฮิสตามีน/ยาแก้แพ้(Antihistamine) หรือ ใช้ครีมสเตียรอยด์ทาบริเวณที่ถูกต่อย
เมื่อถูกแมงกะพรุนต่อยควรไปพบแพทย์เมื่อใด?
เมื่อถูกแมงกะพรุนต่อย ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีเมื่อมีอาการดังนี้
- หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย กลืนลำบาก เจ็บหน้าอก หรือปวดบริเวณที่ถูกแมงกะพรุนต่อยมาก
- โดนแมงกะพรุนที่ตา
- เมื่อถูกแมงกะพรุนต่อยในปาก หรือหนวดแมงกะพรุนเข้าปาก แล้วเสียงพูดเปลี่ยน, กลืนลำบาก, มีลิ้นและ/หรือริมฝีปากบวม
- ผู้ที่ถูกแมงกะพรุนต่อยอายุน้อย หรือ มีอายุมาก
- แมงกะพรุนต่อยเป็นบริเวณกว้างที่ลำตัว หรือต่อยใบหน้า หรืออวัยวะเพศ
- มีอาการ คัน บวมแดง ปวดผิวหนัง อยู่ตลอดเวลา
แพทย์มีแนวทางการรักษาอย่างไรเมื่อผู้ป่วยถูกแมงกะพรุนต่อย?
แนวทางการรักษาเมื่อถูกแมงกะพรุนต่อย คือ
- แพทย์จะประเมินการทำงานของระบบหายใจ: หากมีอาการรุนแรง แพทย์จะรีบช่วยกู้ชีพตามขั้นตอนทางการแพทย์
- ประเมินเรื่องอาการแพ้: หากมีอาการที่บ่งบอกว่ามีการแพ้ (เช่น ผื่นคันทั่วตัว ใบหน้า ตา ริมฝีปากบวม แผลที่ถูกต่อยบวมมาก ข้อต่างๆบวม และ/หรือ แน่นหน้าอก/ หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย) แพทย์จะรักษาอาการแพ้ และสังเกตอาการจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่เกิดอาการซ้ำ และผู้ป่วยปลอดภัย
- รักษาตามอาการ: เช่น อาการ ปวด คัน โดยให้ยาตามอาการนั้นๆ
ดูแลแผลแมงกะพรุนต่อยอย่างไรหลังการปฐมพยาบาล?
แผลแมงกะพรุนต่อยที่เป็นไม่มาก:
- สามารถดูแลได้เองเช่นเดียวกับแผลอักเสบทั่วไปที่ไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยการทาแผลด้วยครีมสเตียรอยด์ เช่น 0.02% Triamcinolone cream (TA cream) ในบริเวณผิวหนังที่อ่อนบาง เช่น ผิวหน้า, หรือ 0.1% TA cream ในบริเวณผิวที่หนาขึ้น
- หลังดูแลแผลตามวิธีที่กล่าวข้างต้น แผลจะค่อยๆดีขึ้นและหายได้ในเวลาไม่กี่วัน ส่วนใหญ่จะหายภายใน 10 วัน
ส่วนแผลที่พองหรือมีน้ำเหลืองซึม: ให้ประคบด้วยน้ำเกลือล้างแผล/สารละลายน้ำเกลือ Normal saline โดยใช้ผ้าก๊อส หรือสำลีสะอาดแผ่เป็นแผ่นบางชุบน้ำเกลือล้างแผล แล้ววางประคบลงบนแผลที่แฉะสัก 10-15 นาที จึงเอาผ้าหรือสำลีที่ประคบออก วิธีนี้เป็นการล้างแผลที่ไม่เจ็บและได้ผลดี
ถ้าไม่ได้พบแพทย์แต่แรกโดยดูแลแผลเอง เมื่อไรควรไปพบแพทย์?
ถ้าไม่ได้พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลแต่แรกโดยดูแลแผลเอง ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อ
- เมื่อแผลซึ่งควรมีอาการดีขึ้น(อาการปวด บวม แดง ร้อนลดลง)แต่กลับมีอาการมากขึ้น หรือมีไข้ร่วมด้วย แสดงว่าแผลอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วก่อนที่การติดเชื้อจะแพร่กระจายจากการติดเชื้อเฉพาะที่เป็นการติดเชื้อเข้ากระแสเลือดไปทั่วรางกาย (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ /ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด)
- เมื่อมีแผลเป็นนูนที่เรียกว่าคีลอยด์ (Keloid) และการทาครีมสเตียรอยด์ไม่ได้ผล แพทย์อาจต้องประเมินและให้การรักษาต่อ เช่น ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปที่แผลเป็นนูนนั้น
ป้องกันแมงกะพรุนต่อยอย่างไร?
ป้องกันแมงกะพรุนต่อย ทั่วไปโดย
- เมื่อจะลงไปในทะเล สวมใส่ชุดที่ป้องกันไม่ให้แมงกะพรุนต่อย เช่น Wet suit หรือชุดทำจากไลครา (Lycra)
- อย่าเก็บแมงกะพรุนที่ตายแล้วมาเล่น เพราะต่อมพิษยังอาจปล่อยพิษได้อยู่
- ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีแมงกะพรุนชุกชุม, หากจำเป็นต้องเข้าไป ควรรู้ว่าบริเวณนั้นมีแมงกะพรุนชนิดใดมากที่สุด
- ควรมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาล, และมีอุปกรณ์จำเป็นในการรักษาไปด้วย, ในพวกที่มีประวัติแพ้แมลง ควรมียาอิพิเนฟรีนคิต (ปากกาฉีดยาอิพิเนฟรีน/Epinephrine kit/ยาฉีดรักษาอาการแพ้สิ่งต่างๆ) ติดไว้ในยามฉุกเฉินด้วย
- เมื่อลงเล่นน้ำทะเล ควรเล่นอยู่ในบริเวณที่มียามประจำฝั่งดูแลได้ทั่วถึง, ในบางแห่งที่มีแมงกะพรุนชุกชุมและมีอันตราย อาจมีการล้อมบริเวณด้วยตาข่าย ควรเล่นน้ำอยู่ในบริเวณที่จำกัดนั้นๆ
บรรณานุกรม
- สนเทศน่ารู้:แมงกะพรุน.สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. https://www.lib.ru.ac.th/journal/jellyfish.html [2023,Feb25 ]
- Ginsburg CM. Animal bites. In :Kliegman RM, Stanton BF, St. Geme JW, Schor NF, Behrman RE,eds. Nelson Textbook of Pediatrics.19th ed. New York: Elsevier Saunders, 2011 .p.2454-7.
- https://www.uptodate.com/contents/jellyfish-stings [2023,Feb25 ]
- https://www.emedicinehealth.com/jellyfish_stings/article_em.htm [2023,Feb25]
- https://www.nhs.uk/conditions/jellyfish-and-other-sea-creature-stings/ [2023,Feb25]