อะดรีนาลีน (Adrenaline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) หรือเรียกอีกชื่อว่า อิพิเนฟริน (Epinephrine) จัดเป็นฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่ร่างกายสังเคราะห์มาจากสารนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine, ฮอร์โมนและสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติ) ปกติร่างกายจะหลั่งอะดรีนาลีนจากต่อมอะดรีนัล/ต่อมหมวกไต (Adrenal gland)

นักวิทยาศาสตร์ได้สังเคราะห์สารอะดรีนาลีนและนำมาผลิตเป็นยาช่วยชีวิต เช่น ช่วยกู้ชีพในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest), อาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis), โรคหืด (Asthma) ระยะที่มีอาการรุนแรง, รักษาอาการตีบแคบของช่องทางเดินหายใจซึ่งเกิดจากการอักเสบของกล่องเสียงและหลอดลม (Croup), และใช้ผสมกับยาชาเพื่อทำหัตถการต่างๆทางการแพทย์

อะดรีนาลีน/ อิพิเนฟริน เป็นยาอีกหนึ่งตัวที่ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยระบุเป็นยารักษาอาการหัวใจล้มเหลว รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมของยาชาและใช้ในหัตถการด้านทันตกรรม

รูปแบบของยาอะดรีนาลีน /อิพิเนฟริน จะเป็นลักษณะของยาฉีด ยาพ่น และยาหยอดตา สำหรับประเทศไทยเรามักพบเห็นการใช้ยาอะดรีนาลีนในรูปแบบของยาฉีดเสียเป็นส่วนมาก และมีใช้ตามสถาน พยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนโดยทั่วไป

อะดรีนาลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อะดรีนาลีน

อะดรีนาลีน/ อิพิเนฟริน มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาช่วยกู้ชีวิตกรณีหัวใจหยุดทำงานฉุกเฉิน
  • ใช้รักษาโรคหืด (Asthma) ช่วงมีอาการรุนแรง
  • ใช้รักษาอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylactic shock หรือ Anaphylaxis)
  • ใช้รักษาภาวะมีความดันสูงในลูกตา / ความดันตาสูง (Ocular hypertension เช่น ในโรคต้อหิน, สายตาสั้นมากๆ, โรคเบาหวาน, ผู้สูงอายุ)
  • ใช้รักษาอาการต้อหินประเภท Open-angle glaucoma
  • เป็นยาผสมร่วมกับยาชาเช่น ยา Lidocaine

อะดรีนาลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

อะดรีนาลีน/ อิพิเนฟริน จัดเป็นยาในกลุ่มซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetic) มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวรับชื่อ แอดริเนอจิก ทั้งแอลฟาและเบต้า (Alpha and Beta adrenergic receptors; ตัวรับที่ทำ งานเกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติ) ส่งผลให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่หลอดลม, กระตุ้นการทำงานของหัวใจ, รวมถึงทำให้หลอดเลือดบริเวณกล้ามเนื้อลายคลายตัว, จากกลไกดัง กล่าวจึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษา

สำหรับการใช้อะดรีนาลีน/ อิพิเนฟริน ผสมในยาชา จะทำให้ลดการดูดซึมยาชาจากบริเวณอวัยวะที่ใช้ยาชานั้น ทำให้ยาชาออกฤทธิ์ได้นานและมีประสิทธิภาพของการออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น

อะดรีนาลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะดรีนาลีน/อิพิเนฟริน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

ก. ยาฉีด ขนาดความแรง 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ข. ยาฉีด ที่บรรจุตัวยา 0.3 และ 0.15 มิลลิกรัม

ค. ยาฉีดที่ผสมร่วมกับยาชาลิโดเคน (Lidocaine):

  • Lidocaine HCl 10 mg/mL + adrenaline 1:200,000 (5 mcg/mL) และ
  • Lidocaine HCl 20 mg/mL + adrenaline 1:200,000 (5 mcg/mL)

อะดรีนาลีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

อะดรีนาลีน/อิพิเนฟริน มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น

ก. สำหรับภาวะหัวใจหยุดเต้น / ภาวะหัวใจล้มเหลว (Advanced cardiac life support): เช่น

  • ผู้ใหญ่: ให้เจือจางยาขนาด 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตรกับน้ำเกลือ Sodium chloride 0.9% จำนวน 9 มิลลิลิตร จะได้สารละลาย 10 มิลลิลิตร ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ 10 มิลลิลิตร หากจำเป็นอาจต้องให้ยาซ้ำทุกๆ 2 - 3 นาที
  • เด็ก: ขนาดเริ่มต้นโดยให้ยาเข้าหลอดเลือดดำ 10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาจให้ซ้ำทุกๆ 2 - 3 นาที (ต้องเจือจางยาเหมือนของผู้ใหญ่)

ข. สำหรับ การแพ้ขั้นรุนแรง (Anaphylactic shock/Anaphylaxis): เช่น

  • ผู้ใหญ่: ให้เจือจางยาขนาด 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตรกับน้ำเกลือ Sodium chloride 0.9% จำนวน 9 มิลลิลิตร จะได้สารละลาย 10 มิลลิลิตร ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ 5 มิลลิลิตร โดยฉีดในอัตราช้าๆขนาด 100 ไมโครกรัม/นาที และหยุดการให้ยาเมื่ออาการดีขึ้น
  • เด็ก: ขนาดเริ่มต้นโดยให้ยาเข้าหลอดเลือดดำ 10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากเด็กมีน้ำหนักตัวมากกว่า 30 กิโลกรัม ให้ใช้ยาขนาด 300 ไมโครกรัม (ต้องเจือจางยาเหมือนของผู้ใหญ่)

ค.สำหรับโรคหืด (Asthma) ที่อาการรุนแรง: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง 300 - 500 ไมโครกรัม
  • เด็ก: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนังขนาด 10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขนาดสูงสุดในเด็กไม่ควรเกิน 500 ไมโครกรัม

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะดรีนาลีน/ อิพิเนฟริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะดรีนาลีนอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

อะดรีนาลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะดรีนาลีน/อิพิเนฟริน สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ปัสสาวะขัด
  • อาหารไม่ย่อย
  • น้ำตาลในเลือดสูงเพิ่มขึ้น
  • เหงื่อออกมาก
  • น้ำลายออกมาก
  • อ่อนเพลีย
  • มีอาการตัวสั่น
  • เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (อาการอ่อน เพลีย กล้ามเนื้อเป็นตะคริว หัวใจเต้นผิดปกติ)
  • ตาพร่ามัว
  • ตากลัวแสง
  • ตัวบวม

มีข้อควรระวังการใช้อะดรีนาลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ ยาอะดรีนาลีน/ อิพิเนฟริน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะความดันโลหิตสูง
  • ห้ามใช้รักษาต้อหินประเภท Angle-closure glaucoma
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ หัวใจเต้นเร็ว
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาชาและฉีดเข้าบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า หู จมูก และอวัยวะเพศ
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยด้วยไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน) ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
  • ระวังการใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ การให้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะดรีนาลีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อะดรีนาลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะดรีนาลีน/อิพิเนฟริน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอะดรีนาลีนร่วมกับยากลุ่ม TCAs อาจกระตุ้นทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง และ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นรายบุคคลไป
  • การใช้อะดรีนาลีนร่วมกับยา Methyldopa, Guanethidine, อาจเป็นเหตุให้เกิดความดันโลหิตสูง การใช้ยาร่วมกันต้องเฝ้าระวังความดันโลหิตให้เป็นปกติเสมอ หรือแพทย์ปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นกรณีไป
  • การใช้ยาอะดรีนาลีนร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือด (ยาเบาหวาน) เช่นยา Alogliptin และ Metformin อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดน้ำตาลในเลือดด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาอะดรีนาลีนอย่างไร?

ควรเก็บยาอะดรีนาลีน/อิพิเนฟริน เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อะดรีนาลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะดรีนาลีน / อิพิเนฟริน มียาชื่อการค้า และบริษัทผ้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Adrenaline Atlantic (อะดรีนาลีน แอตแลนติก)Atlantic Lab
Adrenaline GPO (อะดรีนาลีน จีพีโอ)GPO
Chalocaine with Adrenaline (ชาโลเคน วิท อะดรีนาลีน) SR Pharma
EpiPen (อีพิเพ็น)Merck
Lidocation (ลิโดเคชั่น)Weimer
Scandonest (สแกนโดเนสท์)Septodont
Septanest 4% SP Injection (เซ็พทาเนสท์ 4% เอสพี อินเจ็กชั่น)Septodont
Xylocaine (ไซโลเคน)AstraZeneca

บรรณานุกรม

1 https://en.wikipedia.org/wiki/Adrenaline[2020,March28]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fepinephrine%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric [2020,March28]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=adrenaline [2020,March28]
4 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fXylocaine%2fxylocaine-xylocaine%2520with%2520adrenaline[2020,March28]
5 https://www.drugs.com/drug-interactions/epinephrine-index.html?filter=2#G[2020,March28]
6 https://www.drugs.com/dosage/epinephrine.html#Usual_Adult_Dose_for_Asthma___Acut [2020,March28]e [2020,March28]
7 https://www.drugs.com/ppa/epinephrine-systemic.html[2020,March28]
8 https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/qa_full.php?id=3495[2020,March28]