ยาใส่แผล การเลือกชนิดยาใส่แผล (Open wound drug administration)

เมื่อเราเป็นแผล ก็ต้องมีการดูแลบาดแผลเพื่อให้หายเป็นปกติโดยเร็ว การดูแลแผลก็ต้องดูลักษณะของแผลว่าเป็นแผลชนิดใด เพื่อที่จะดูแลแผลได้ถูกต้อง หายไว แผลที่จะกล่าวถึงนี้เป็นแผลเปิดคือ แผลที่ผิวหนังบางส่วนฉีกขาดออกจากกัน ได้แก่

  1. แผลถลอก (Abrasion) ลักษณะแผลตื้น มีรอยเปิดเพียงชั้นนอกของผิวหนัง หรือเยื่อบุ มีเลือดซึมเล็กน้อย สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุ ถูกขีด ข่วน หรือลื่นไถลบนพื้นหยาบขรุขระ
  2. แผลฉีกขาด (Laceration wound) ลักษณะบริเวณขอบแผลฉีกขาด กระรุ่งกระริ่ง และมีการทำ ลายของเนื้อเยื่อแผลมาก แผลอาจลึก เสี่ยงต่อการติดเชื้อ สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น รถล้ม หกล้ม เป็นต้น
  3. แผลถูกตัด (Incision wound) ลักษณะขอบแผลจะเรียบ ซึ่งเกิดจากของมีคมผ่านผิวหนังเข้าไป เช่น ถูกมีดบาด แผลถูกแทง ลักษณะแผล ปากแผลจะแคบลึก
  4. แผลทะลุทะลวง (Penetration wound) ลักษณะแผลมีการฉีกขาดและการบดทำลายของเนื้อ เยื่อ ซึ่งเกิดจากวัตถุแทงทะลุผ่านผิวหนังเข้าไปถึงเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกๆหรืออวัยวะภายใน ทำให้มีการตกเลือด

การดูแลบาดแผล

การดูแลแผล เมื่อมีแผลโดยถ้าได้พบแพทย์ พยาบาลแล้ว ให้ดูแลแผล/ทำแผลตามที่แพทย์ พยาบาลแนะนำ

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป ถ้าบาดแผลไม่มาก เป็นแผลที่เกิดได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน การดูแลบาดแผลด้วยตนเองคือ

ก่อนใส่ยาใส่แผล ควรมีการทำความสะอาดแผลก่อน โดยใช้น้ำยาล้างแผลในการทำความสะอาดแผล น้ำยาล้างแผล ได้แก่

  1. น้ำเกลือล้างแผล (0.9% Normal saline) ที่ปราศจากเชื้อ (ซื้อได้ตามร้านขายยาทั่ว ไป) นิยมใช้ล้างแผลมากที่สุด ไม่ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อ ไม่รู้สึกปวดแสบปวดร้อน แต่ถ้าไม่มีน้ำ เกลือล้างแผล ใช้น้ำประปาสะอาดต้มสุก (ทิ้งไว้ให้เย็น) แทนได้
  2. น้ำยาเช็ดรอบแผล ใช้สำหรับทำความสะอาดผิวหนังบริเวณรอบๆแผล เพื่อลดจำ นวนเชื้อโรค แต่ไม่เช็ดไปที่แผลโดยตรง เนื่องจากทำให้แสบ สามารถฆ่าเชื้อที่ผิวหนังได้ประมาณ 90% ภายใน 2 นาที โดยมีฤทธิ์ทำให้โปรตีนตกตะกอนหรือแตกสลาย ในท้องตลาดมี 2 ชนิดคือ เอธิลแอลกอฮอล์ 70% (Ethyl alcohol) และ ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ 70% (Isopropyl alco hol) ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไม่ต่างกัน
  3. ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogenperoxide) ความเข้มข้น 3% ใช้สำหรับล้างแผลสกปรก แผลมีหนองหรือลิ่มเลือด น้ำยาสลายตัวได้ง่ายถ้าถูกความร้อนและแสงสว่าง จึงควรเก็บในขวดสีชา

อนึ่ง ยาใส่แผลมีหลายชนิด ใช้หลังจากที่ทำความสะอาดบาดแผลเสร็จแล้ว โดยทั่วไปควรเลือกให้เหมาะสมกับประเภทของบาดแผล ได้แก่

  1. ทิงเจอร์ไอโอดีนความเข้มข้น 2.5% (Tincture iodine 2.5%w/v) ใส่แผลสด หรือ แผลถลอก นิยมเช็ดรอบๆแผล ฆ่าเชื้อโรคได้หลายชนิด แต่มีข้อเสียคือทำให้ผิวหนังไหม้พองได้ ดังนั้นหลังจากใช้น้ำยา 1 นาที ให้เช็ดตามด้วยแอลกอฮอล์ 70% ไม่นิยมใช้กับแผลบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนๆ

    ยานี้สามารถฆ่าได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังได้ประมาณ 90 % ภายใน 90 วินาที ฆ่าไวรัสได้ภายใน 5 นาทีแต่ไม่มีข้อมูลว่าฆ่าได้ร้อยละเท่าไร

  2. โพวิโดน-ไอโอดีน ความเข้มข้น 10% (Povidone-Iodine 10% w/v) นิยมใช้ค่อนข้างมาก ใช้เช็ดแผลสด แผลไฟไหม้ แผลถลอก มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ดี ไม่ระคายเคืองต่อผิว หนัง แสบน้อยกว่าทิงเจอร์ไอโอดีน
  3. ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล ความเข้มข้น 0.1% (Thimerosal 0.1% w/v) ใช้ใส่แผลสดหรือแผลถลอก ไม่ใช้กับผิวอ่อนและเด็กอ่อนเพราะอาจทำให้ผิวไหม้พองได้
  4. ยาเหลือง (Acriflavin) ใช้กับแผลเรื้อรัง แผลเปื่อย แผลกดทับ ไม่นิยมใช้กับแผลสด
  5. ยาแดง (Mercurochrome) เหมาะกับแผลถลอกเล็กน้อย ไม่ค่อยได้ผลกับแผลที่อยู่ลึก และเนื่องจากยามีส่วนผสมของสารปรอท ใช้บ่อยๆอาจเกิดพิษจากสารปรอทได้ ปัจจุบันจึงไม่นิยมมากนัก

บรรณานุกรม

  1. http://www.healthtoday.net [2013,June26].
  2. http://www.ehow.com/about_6611317_define-tincture-iodine.html [2013,June36].