กลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม (Disulfiram-like Reaction)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 8 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร?
- สาเหตุของกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมคืออะไร?
- กลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมก่ออาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมอย่างไร?
- มีวิธีรักษากลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมอย่างไร?
- กลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
- การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมเป็นอย่างไร?
- ป้องกันกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมได้อย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
- เมโทรนิดาโซล (Metronidazole)
- ซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ยาเบาหวาน หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic agents)
- ไดซัลฟิแรม (Disulfiram)
บทนำ: คือโรคอะไร?
โดยทั่วไป หากร่างกายได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณสูง อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ ร่างกายจึงมีกระบวนการกำจัดแอลกอฮอล์ให้เปลี่ยนรูปไปเป็นสารชนิดอื่นที่มีอันตรายน้อยกว่า ด้วยการผ่านกระบวนการสันดาป(Metabolism/Metabolite; กระบวนการเผาผลาญหรือเปลี่ยนรูปของสารในร่างกาย)แอลกอฮอล์ของตับซึ่งมีเอนไซม์ต่างๆช่วย
อย่างไรก็ดี หากร่างกายได้รับแอลกอฮอล์ปริมาณมากและ/หรืออย่างรวดเร็วกว่ากระบวนการสันดาปจะทำให้เกิดการสะสมแอลกอฮอล์ในร่างกาย และเกิดเป็นอาการมึนเมา หรือเมาค้าง เช่น ใบหน้าแดง ตัวแดง ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน แน่นหน้าอก หากมีอาการหนัก อาจทำให้เกิดอาการหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย หรือหมดสติได้
ในช่วงคริสตทศวรรษที่ 1920 ได้มีการค้นพบยาที่ใช้ในการรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง (Chronic Alcoholism) ชื่อว่ายา ‘ไดซัลฟิแรม(Disulfiram)’ ที่มีฤทธิ์/ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ทำให้ร่างกายมีความไว/ตอบสนองต่อแอลกอฮอล์มากขึ้น ผู้รับประทานยานี้ จึงเกิดอาการมึนเมารวดเร็วมากหลังจากทานแอลกอฮอล์ไปเพียงปริมาณน้อยๆ
โดยยาไดซัลฟิแรมจะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการสันดาปแอลกอฮอล์ในร่างกาย ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนรูปแอลกอฮอล์ไปอยู่ในรูปที่ไม่เป็นอันตรายแก่ร่างกายได้ ผู้ป่วยจึงเกิดอาการมึนเมาได้ง่ายขึ้นกว่าปกติทั้งๆที่ดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อย การใช้ยานี้ จึงช่วยให้ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังค่อยๆลดการดื่มสุราลงได้ในที่สุด
อนึ่ง: ปฏิกิริยาที่เกิดจากยาไดซัลฟิแรมนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายอาการจากพิษสุราดังกล่าวในตอนต้น กล่าวคือ จะมีอาการ ใบหน้าแดง ตัวแดง ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก/เจ็บหน้าอก หากมีอาการหนัก อาจทำให้เกิดอาการหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย หรือหมดสติได้
หลังจากนั้นพบว่า ไม่เพียงแต่ยาไดซัลฟิแรมเท่านั้นที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาดังกล่าว หากแต่ยาบางชนิดก็มีคุณสมบัติในการยับยั้งกระบวนการเปลี่ยนรูปแอลกอฮอล์เช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ป่วยที่ทานยาเหล่านี้ เมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จึงเกิดอาการมึนเมา และมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากแอลกอฮอล์ และ/หรือจากยาเหล่านี้ได้ง่าย ซึ่งรวมเรียกปฏิกิริยาจากยาในกลุ่มเหล่านี้ว่า “Disulfiram-like Reaction หรือ กลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม” ยาในกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทำลายแอลกอฮอล์/เอนไซม์อะเซตาดีไฮด์ดีไฮโดรจีเนส (Acetadehyde Dehydrogenase) ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในหัวข้อ “สาเหตุฯ” และหัวข้อ “การป้องกันกลุ่มอาการนี้”
สาเหตุของกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมคืออะไร?
ร่างกายมีกระบวนการสันดาปหรือกระบวนการกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายได้ โดยผ่านกระบวนการภายในตับ ซึ่งแอลกอฮอล์จะถูกเปลี่ยนรูปเป็นสารอะเซทาดีไฮด์ (Acetadehyde)โดยเอนไซม์ชื่อแอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส (Alcohol dehydrogenase)
และสารอะเซทาดีไฮด์นี่เอง ที่เป็นสาเหตุของอาการมึนเมารวมไปถึงอาการเมาค้าง หลังจากนั้น เอนไซม์อีกชนิดที่ชื่อ อะเซตาดีไฮด์ดีไฮโดรจีเนส (Acetadehyde Dehydrogenase)จะเข้ามากำจัดเปลี่ยนรูปสารอะเซทาดีไฮด์ให้เป็นกรดอะซิทิก(Acetic Acid) ซึ่งเป็นรูปสาร/กรดที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย และกรดอะซิทิกนี้จะถูกกำจัดออกจากร่างกายต่อไปทางปัสสาวะ
ยาไดซัลฟิแรม รวมถึงยาบางชนิดมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานเอนไซม์อะเซตาดีไฮด์ดีไฮโดรจีเนส (Acetadehyde Dehydrogenase) จะทำให้เกิดการสะสมของสารอะเซทาดีไฮด์ในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยที่รับประทานยากลุ่มเหล่านี้ เมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์แล้วนั้น จะเกิดปฏิกิริยาคล้ายคนเมาเหล้า/เมาสุราได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายหรือเกิดพิษแก่ผู้ป่วยได้ หากได้รับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอย่างรวดเร็ว ที่เรียกปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนี้ว่า “กลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม(Disulfiram-like Reaction)”
กลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมก่ออาการอย่างไร?
ผู้ป่วยที่เกิดกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม จะมีอาการเหมือนคนเมาเหล้า ได้แก่ ใบหน้าแดง ตัวแดง รู้สึกร้อนผิดปกติ ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก กระหายน้ำ หัวใจเต้นเร็ว สายตาพร่ามัว หายใจเร็วกว่าปกติจนอาจถึงขั้นเป็นลม(โรคหอบจากอารมณ์/Hyperventilation) หากอาการรุนแรง อาจเกิดอาการ สับสน ซึมเศร้า หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หมดสติ หรือถึงตายได้
ควรพบแพทย์เมื่อใด?
โดยทั่วไป ก่อนการใช้ยาที่ส่งผลข้างเคียงให้เกิดกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นใน’หัวข้อ อาการฯ’ ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำจาก แพทย์ พยาบาล และ/หรือเภสัชกร ให้งดดื่มเครื่องดื่ม/รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในช่วงระหว่างการใช้ยาและหลังใช้ยาเหล่านี้ไปแล้วระยะหนึ่ง แต่หากผู้ป่วยเกิดอาการใดอาการหนึ่งดังที่กล่าวไปในข้างต้น หลังจากได้รับแอลกอฮอล์ในระหว่างการใช้ยาที่อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)นี้ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมอย่างไร?
แพทย์สามารถวินิจฉัยกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม ได้จาก อาการของผู้ป่วยเมื่อมาถึงโรงพยาบาล เช่น
- ศีรษะ ใบหน้า คอ หน้าอก แดง และ
- มีอาการร้อนวูบวาบ ปวดหัว มึนงง อาเจียน เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย สับสัน สายตาพร่ามัว
- อาจเกิดผื่นคันตามผิวหนังบริเวณต่างๆในร่างกาย
- และร่วมกับมีประวัติการใช้ยาต่างๆ และ
- ประวัติการบริโภคแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วย ตรวจวัดสัญญาณชีพ, รวมถึงการตรวจเลือด, การตรวจปัสสาวะ, การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ (เช่น ตรวจเลือดดูการทำงานของไต, ของตับ, ระดับอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)/เกลือแร่ในเลือด, ระดับสารอะเซทาดีไฮด์ในเลือด, ระดับแอลกอฮอล์/เอธานอล(Ethanol)ในเลือด, ระดับน้ำตาลในเลือด
หากผู้ป่วยมีระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนไป (Altered Mental Status) แพทย์อาจพิจารณาใช้การตรวจสมองทางรังสีวิทยา เช่น ซีทีสแกน(CT scan) หรือ เอมอาร์ไอร่วมด้วย
และในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำ หรือ หัวใจเต้นเร็ว แพทย์อาจพิจารณาการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี ร่วมด้วยก็ได้
มีวิธีรักษากลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมอย่างไร?
การรักษากลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมเป็นการรักษาตามอาการ/การรักษาประคับประคองตามอาการ ไม่มียาแก้พิษเฉพาะยาใดๆที่ใช้รักษาสำหรับอาการจากปฏิกิริยานี้
โดยทั่วไป จะมีการให้ออกซิเจน หรือการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำหากผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หรืออาเจียนรุนแรง
และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากและไม่สามารถควบคุมสติหรืออารมณ์ได้ อาจมีการสอดท่อช่วยหายใจด้วย
การใช้ยาต่างๆในการรักษากลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม: จะเป็นการใช้ยาบรรเทาที่เป็นไปตามอาการ เช่น
- ใช้ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนส์ (Benzodiazepines) เมื่อผู้ป่วยมีอาการกระวนกระวาย หรือมีอาการชัก
- ใช้ยาต้านอาเจียน/ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน(Antiemetics) เช่นยา เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) หรือยาออนแดนซิทรอน (Ondansetron) ในผู้ป่วยที่เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
- รวมถึงใช้ยาแอกทิเวเท็ดชาร์โคล/ยาถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal)ที่เป็นยาจำพวกถ่านในการดูดซับสารพิษในลำไส้
กลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
โดยทั่วไป กลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมเป็นกลุ่มอาการที่พบได้น้อยมาก และไม่ได้มีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยที่ใช้ยาที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยานี้ร่วมกับการได้รับแอลกอฮอล์ จะมีอาการข้างเคียง(อาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง) คือ ใบหน้าแดง ตัวแดง มึนงง สับสน เร็วกว่าปกติ แม้ดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ตาม
อย่างไรก็ดี หากมีอาการที่มีความรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงในการเกิด อาการทางหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ , การทำงานของหัวใจล้มเหลวเกิดภาวะหัวใจวาย/ภาวะหัวใจล้มเหลว, โรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ, รวมไปถึงเกิดการกดการหายใจ(หายใจเบา ตื้น)ทำให้หายใจได้ไม่สะดวก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมเป็นอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่พบรายงานการพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมเนื่องจากเป็นปฏิกิริยาที่พบได้น้อย แต่จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยที่เกิดปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟูแรมกับแอลกอฮอล์ (Disulfuram-ethanol reaction; DER)ว่า สามารถเกิดปฏิกิริยานี้ขึ้นได้ตั้งแต่ 3 ชั่วโมงหลังรับประทานยานี้ และอาจมีอาการอยู่ได้นานถึงประมาณ 2 สัปดาห์
พิษในระบบประสาทจะเกิดขึ้นได้มากหากได้รับยานี้ในปริมาณสูง, ส่วนอาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) ส่วนใหญ่เกิดขึ้นนานประมาณ 2 สัปดาห์
และยังไม่พบรายงานการเสียชีวิตจากปฏิกิริยานี้ หากผู้ป่วยพบแพทย์ได้อย่างรวดเร็วหลังเกิดอาการ
ป้องกันกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรมได้อย่างไร?
ที่สำคัญ ในการป้องกันกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม คือผู้ป่วยเมื่อได้รับยาต่างๆ ควรตั้งใจฟังคำแนะนำจากเภสัชกร และควรสอบถามแพทย์ พยาบาล และ/หรือเภสัชกร หากมีข้อสงสัยใดๆ ก่อนเริ่มรับประทานยานั้นๆ
เภสัชกร จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ในยาที่สามารถก่อให้เกิดกลุ่มอาการนี้ได้ เช่น
- ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole), และ ยาในกลุ่มยา Cephalosporin เช่น ยาเซโฟพีราโซน/Cefoperazone , ยาเซฟาแมนโดล /Cefamandole , และ ยาเซโฟทีทัน/Cefotetan
- ยาฆ่าเชื้อรา/ยาต้านเชื้อรา เช่น ยากรีซีโอฟูลวิน (Griseofulvin)
- ยาในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylureas) ที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน เช่น ยาโทลบูทาไมด์ (Tolbutamide) และยาคลอโพรพาไมด์ (Chlorpropamide) เป็นต้น
อนึ่ง ผู้ป่วยควรสอบถามระยะเวลาที่จำเป็นต้องงดเว้นการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หลังจากหยุดรับประทานยาต่างๆจากเภสัชกรด้วยทุกครั้ง เนื่องจากยาแต่ละชนิด มีระยะเวลาที่ต้องงดเว้นแอลกอฮอล์แตกต่างกันออกไป
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- Crowley P. Long-term drug treatment of patients with alcohol dependence. Aust Prescr. 2015 Apr. 38 (2):41-43.
- Karamanakos PN, et al. Pharmaceutical agents known to produce disulfiram-like reaction: effects on hepatic ethanol metabolism and brain monoamines. Int J Toxicol. 2007 Sep-Oct;26(5):423-32.
- https://emedicine.medscape.com/article/814525-overview#showall [2022,May7]
- https://emedicine.medscape.com/article/814525-overview#showall [2022,May7]
- https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?setid=f0ca0e1f-9641-48d5-9367-e5d1069e8680 [2022,May7]