ซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 กันยายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ซัลโฟนิลยูเรียมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ซัลโฟนิลยูเรียมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซัลโฟนิลยูเรียมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซัลโฟนิลยูเรียมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ซัลโฟนิลยูเรียมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซัลโฟนิลยูเรียอย่างไร?
- ซัลโฟนิลยูเรียมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซัลโฟนิลยูเรียอย่างไร?
- ซัลโฟนิลยูเรียมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- เบาหวานกับการตั้งครรภ์ (Diabetes mellitus and pregnancy)
- เบาหวานขึ้นตา เบาหวานกินตา (Diabetic retinopathy)
- เบาจืด (Diabetes insipidus)
- ยาเบาหวาน หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic agents)
- ยาอินซูลิน (Insulin)
บทนำ
ยาซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เป็นกลุ่มยาที่นำมาใช้รักษาโรคเบาหวานประเภท 2 (Diabetes mellitus type 2) ถูกค้นพบโดยคณะนักเคมีนำโดย Marcel Janbon ชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งกำลังศึกษาฤทธิ์ของยาซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) ที่ใช้ในการต่อต้านแบคทีเรีย และค้น พบว่าซัลโฟนิลยูเรียซึ่งมีโครงสร้างแกนกลางของโมเลกุลที่ใกล้เคียงกับยาซัลโฟนาไมด์ สามารถออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้ จึงได้พัฒนาให้มาเป็นยารักษาเบา หวาน/ยาเบาหวานในคน
เราอาจแบ่งกลุ่มยาซัลโฟนิลยูเรียที่ใช้รักษาโรคเบาหวานออกเป็นรุ่นๆเรียงตามลำดับการผลิตออกจำหน่ายก่อน - หลัง จากมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการควบคุมโรคให้กว้างขวางขึ้นและลดผลข้างเคียงลง โดยเริ่มจากการผลิตในรุนแรก/รุ่นที่ 1 ดังนี้
- ยารุ่นที่ 1 (First generation): เช่นยา Carbutamide, Acetohexamide, Chlorpropamide, Tolbutamide
- ยารุ่นที่ 2 (Second generation): เช่นยา Glipizide, Gliclazide, Glibenclamide (Glybu ride), Glibornuride, Gliquidone, Glisoxepide, Glyclopyramide
- ยารุ่นที่ 3 (Third generation): เช่นยา Glimepiride
ทั้งนี้ กลุ่มยาซัลโฟนิลยูเรียจะออกฤทธิ์ได้ดีก็ต่อเมื่อร่างกายผู้ป่วยยังมีเบต้าเซลล์ (Beta cell, เซลล์สร้างฮอร์โมนอินซูลิน)ของตับอ่อนเพียงพอที่จะผลิตอินซูลินเท่านั้น ด้วยเหตุผลและข้อจำกัดนี้ จึงไม่สามารถนำยาในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรียไปรักษาผู้ป่วยเบาหวานประเภท 1 (Diabetes mellitus type 1 เบาหวานที่เกิดจากการขาด Beta cell) หรือผู้ป่วยหลังเข้ารับการผ่าตัดตับอ่อนได้
จากการศึกษาทางคลินิกพบว่า การใช้ยาซัลโฟนิลยูเรียรูปแบบยาเดี่ยวไม่สามารถควบคุมน้ำ ตาลในเลือดกับผู้ป่วยเบาหวานบางกลุ่มได้ จึงต้องใช้ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) หรือ ยาอินซูลินร่วมในการรักษาด้วยกัน ทั้งนี้รูปแบบของยาซัลโฟนิลยูเรียที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดจะเป็นลักษณะของยารับประทานเสียเป็นส่วนมาก
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาบางตัวในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรียลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่นยา Chlorpropamide, Glipizide และ Glibenclamide เป็นต้น การคัดเลือกยาในกลุ่มเหล่านี้มาทำการรักษาผู้ป่วยย่อมต้องขึ้นกับแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ผู้ป่วยไม่สมควรไปซื้อหายามารับประทานเอง
ซัลโฟนิลยูเรียมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ซัลโฟนิลยูเรียมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคเบาหวานประเภท 2 (Diabetes mellitus type 2)
- ยาบางตัวจะถูกนำไปรักษาโรคเบาจืดด้วย เช่นยา Chlorpropamide
ซัลโฟนิลยูเรียมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาซัลโฟนิลยูเรียคือ ตัวยาจะเข้าไปกระตุ้นกลไกการทำงานของ เบต้าเซลล์ในตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมา ทำให้ร่างกายสามารถใช้น้ำตาลในเลือดได้อย่างมีสมดุลมากขึ้น และยังพบว่ายากลุ่มนี้ช่วยลดการสร้างน้ำตาลกลูโคส (Glucose) ในตับ จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์รักษาเบาหวานตามสรรพคุณ
ซัลโฟนิลยูเรียมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซัลโฟนิลยูเรียมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2.5 และ 5 มิลลิกรัม/เม็ด เช่น Glibencamide, Glipizide
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด เช่น Chlorpropamide,
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 1, 2, 3 และ 4 มิลลิกรัม/เม็ด เช่นยา Glimepiride
ซัลโฟนิลยูเรียมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดการใช้ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียจะขึ้นกับอาการและความรุนแรงโรคของผู้ป่วย จึงส่งผลให้ขนาดรับประทานมีความแตกต่างกันและเป็นเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์เท่านั้นที่สามารถสั่งจ่ายขนาดยาได้ถูกต้องปลอดภัยเหมาะสมกับคนไข้ ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ควรรับประทานยาพร้อมน้ำดื่มสะอาด ห้ามเคี้ยวหรือบดยาก่อนรับประทาน
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซัลโฟนิลยูเรีย ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซัลโฟนิลยูเรียอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทาน ยาซัลโฟนิลยูเรีย สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ซัลโฟนิลยูเรียมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซัลโฟนิลยูเรียสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
- ปวดหัว
- มีลักษณะคล้ายอาการแพ้ยา (เช่น ขึ้นผื่น มีไข้ หายใจลำบาก)
- โลหิตจาง/ โรคซีด
- คลื่นไส้-อาเจียน
- อ่อนเพลีย
- เกล็ดเลือดต่ำ
- วิตกกังวล
- การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
- หงุดหงิด
- สับสน
- หัวใจเต้นช้า
- ง่วงนอน
มีข้อควรระวังการใช้ซัลโฟนิลยูเรียอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ซัลโฟนิลยูเรีย เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคไต โรคตับ
- ห้ามรับประทานยาซัลโฟนิลยูเรียพร้อมยาเบาหวานตัวอื่น (ด้วยตนเอง) โดยมิได้รับคำสั่งจากแพทย์
- รับประทานยานี้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ควรศึกษาการปฐมพยาบาลตนเองเบื้องต้นเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ควรรับประทานยานี้ร่วมกับการควบคุมอาหารที่รับประทานประจำวันที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นสูง
- ควรออกกำลังกายตามความเหมาะสมหรือตามคำแนะนำของแพทย์ร่วมด้วย
- ตรวจระดับสอบน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอว่าอยู่ในภาวะปกติหรือไม่
- หากพบอาการแพ้ยา (เช่น มีไข้ ขึ้นผื่น หายใจลำบาก) ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซัลโฟนิลยูเรียด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ซัลโฟนิลยูเรียมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซัลโฟนิลยูเรียมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียร่วมกับยาบางตัวจะส่งผลให้การออกฤทธิ์ของยาซัลโฟนิลยูเรียในร่างกายนานขึ้น จึงอาจเกิดความเสี่ยงของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำติดตามมา ยากลุ่มดังกล่าวเช่น อนุพันธุ์ของ Acetylsalicylic acid/Aspirin, Allopurinol, Sulfonamides, และยาในกลุ่ม Fibrate (กลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคไขมันในเลือดสูง) หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ซัลโฟนิลยูเรียร่วมกับยาบางกลุ่มเช่น กลุ่มสเตียรอยด์ (เช่น Corticosteroids), Isoniazid, การคุมกำเนิดด้วยยาที่มีส่วนประกอบของเอสโตรเจน (Estrogen), ยาไทรอยด์ฮอร์โมน/ ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์(เช่นยา Levothyroxine) และยากลุ่ม Sympathomimetics สามารถทำให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดมีค่าสูงเกินมาตรฐานมาก หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ควรเก็บรักษาซัลโฟนิลยูเรียอย่างไร?
สามารถเก็บยาซัลโฟนิลยูเรีย เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่ควรเก็บยาไว้ในห้องน้ำ และ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ซัลโฟนิลยูเรียมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซัลโฟนิลยูเรียที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Diabinese (ไดเอบินิส) | Pfizer |
Dibecon (ไดเบคอน) | Central Poly Trading |
Dibemide (ไดเบไมด์) | Suphong Bhaesaj |
Propamide (โพรพาไมด์) | Atlantic Lab |
Daonil (ดาวนิล) | sanofi-aventis |
Daono (ดาวโน) | Milano |
Debtan (เด็บแทน) | Yung Shin |
Diabenol (ไดเอเบนอล) | Greater Pharma |
Dibesin (ไดเบสซิน) | SSP Laboratories |
Glamide (กลาไมด์) | Community Pharm PCL |
Glibenclamide Asian Pharm (ไกลเบนคลาไมด์ เอเซียน ฟาร์ม) | Asian Pharm |
Glibenclamide GPO (ไกเบนคลาไมด์ จีพีโอ) | GPO |
Glibetic (ไกลเบติค) | The Forty-Two |
Glibic (ไกลบิค) | Medicine Products |
Gliclamin (ไกลคลามิน) | Inpac Pharma |
Glicon (ไกลคอน) | Suphong Bhaesaj |
Glimide (ไกลไมด์) | Pharmahof |
Gluconil (กลูโคนิล) | Utopian |
Gluzo (กลูโซ) | Pharmasant Lab |
Locose (โลคอส) | T. Man Pharma |
Manoglucon (แมโนกลูคอน) | March Pharma |
Semi Diabenol (เซมิ ไดเอเบนอล) | Greater Pharma |
Sugril (ซูกริล) | Siam Bheasach |
T.O. Nil (ที.โอ. นิล) | T. O. Chemicals |
Xeltic (เซลติค) | Unison |
Amarax 2 (แอมาแร็กซ์ 2) | Charoon Bhesaj |
Amaryl (อะมาริล) | sanofi-aventis |
Amaryl M SR (อะแมริล เอ็ม เอสอาร์) | sanofi-aventis |
Diaglip (ไดอะกลิบ) | Siam Bheasach |
Dibiglim (ดิบิกลีม) | Sandoz |
Glazer (เกลเซอร์) | Pharmadica |
Glimepiride GPO (ไกลเมพิไรด์ จีพีโอ) | GPO |
Gliparil 2 (กลีพาริล 2) | Polipharm |
Losu-3 (โลซู-3) | Unison |
Dipazide (ดิแพไซด์) | Siam Bheasach |
Glizide (กลิไซด์) | Pharmahof |
Glucodiab (กลูโคไดแอบ) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Glucotrol XL (กลูโคโทรล เอ็กซ์แอล) | Pfizer |
Glycediab (กลัยซีเดียบ) | Community Pharm PCL |
Glygen (กลีเกน) | General Drugs House |
GP-Zide (จีพี-ไซด์) | Millimed |
Minidiab (มินิเดียบ) | Pfizer |
Namedia (นามีเดีย) | Central Poly Trading |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Sulfonylurea[2020,Sept12]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fDipazide%2f%3ftype%3dbrief [2020,Sept12]
3 http://greatplainsregional.adam.com/content.aspx?productId=47&pid=47&gid=601895 [2020,Sept12]
4 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=CHLORPROPAMIDE[2020,Sept12]
5 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=GLIBENCLAMIDE [2020,Sept12]
6 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=GLIPIZIDE [2020,Sept12]