ภาวะช่องคลอดแห้ง (Vaginal dryness) / ภาวะร้อนวูบวาบในวัยหมดประจำเดือน (Hot flashes in postmenopause)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 14 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ภาวะช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบในวัยหมดประจำเดือนคืออะไร?
- ภาวะช่องคลอดแห้ง และภาวะร้อนวูบวาบมีความสำคัญอย่างไร?
- สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบมีอะไรบ้าง?
- ดูแลรักษาตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบ?
- ควรพบแพทย์เมื่อใด?มีวิธีรักษาอย่างไร?
- มีวิธีการป้องกันภาวะช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบอย่างไร?
- เมื่อช่องคลอดแห้งยังมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม? ควรดูแลอย่างไรในการมีเพศสัมพันธ์?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ประจำเดือน (Menstruation)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- เอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake inhibitors: SSRIs)
- วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause)
บทนำ
โดยเฉลี่ย สตรีไทยจะหมดประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 50 ปี รังไข่จะหยุดทำงาน จึงทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่เป็นฮอร์โมนเพศสำคัญแห่งการเป็นผู้หญิงลดลง นอกจากจะทำให้เลือดประจำเดือนที่เคยเป็นทุกเดือนขาดหายไปแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดอาการหลายอย่างในสตรี ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ (Hot flashes หรือ Hot flushes) เหงื่อออกกลางคืน ใจสั่น หงุดหงิด ความต้องการทางเพศลดลง ช่องคลอดแห้ง อารมณ์อ่อนไหวเดี๋ยวอารมณ์ดี เดี๋ยวอารมณ์ร้าย มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ผมร่วง ความจำเสื่อม ปวดตามข้อ ปวดโน่นปวดนี่ กล้ามเนื้อไม่มีแรง/กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเกิดอาการซึมเศร้า แต่อาการที่พบบ่อยที่สุด คือภาวะช่องคลอดแห้ง (Vaginal dryness) และ อาการร้อนวูบวาบตามร่างกาย (Hot flashes) ซึ่งเป็นอาการ/ภาวะที่จะกล่าวถึงในบทความนี้
ภาวะช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบในวัยหมดประจำเดือนคืออะไร?
- ช่องคลอดแห้ง: เป็นอาการ/ภาวะที่ช่องคลอดสตรีไม่มีเมือกมาหล่อลื่นตามปกติ หากตรวจภายในช่องคลอดจะพบว่า
- ไม่มี หรือมีเมือกน้อยกว่าปกติ
- รอยย่นของช่องคลอดจะลดลง
- เยื่อบุช่องคลอดจะเป็นสีแดงมากกว่าเยื่อบุช่องคลอดปกติที่เป็นสีชมพู
- เมื่อสัมผัสผิวเยื่อบุช่องคลอดในภาวะที่ช่องคลอดแห้ง เลือดจะออกได้ได้ง่าย
ทั้งนี้ ภาวะนี้พบบ่อยในสตรีวัยหมดประจำเดือน เพราะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักที่ทำให้เกิดความชุ่มชื่น และความยืดหยุ่นของช่องคลอดในขณะที่ยังอยู่ในวัยที่ยังมีประจำเดือน
- ร้อนวูบวาบ: เป็นอาการ/ภาวะ
- ความรู้สึกว่ามีอาการร้อนตามหน้า ตามร่างกาย เเขน ขา, ขณะเกิดอาการฯอาจมองเห็นร่างกายโดยเฉพาะส่วนบนเป็นสีแดงด้วย
- อาการออกร้อนตามตัวจะคงอยู่ประมาณ 30 วินาที ถึง 2-3 นาที อาจพบว่ามีผิวหนังแดงขึ้น
- อาการจะเกิดเป็นระยะๆ
- นอกจากนั้น ยังพบว่ามีเหงื่อออกมากเวลาที่มีอาการเหล่านี้ โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่คนอื่นจะรู้สึกเย็น แต่สตรีเหล่านี้กลับจะรู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก
*อนึ่ง: อาการเหล่านี้จะพบได้บ่อยในสตรีวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือ วัยหมดประจำเดือนในช่วงแรกๆ
ภาวะช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบมีความสำคัญอย่างไร?
ช่องคลอดแห้ง เกิดได้ในสตรีวัยหมดประจำเดือนทุกคน แต่อาการจะมากหรือน้อยแตกต่างกันไป พบว่าประมาณ 10-40% มีอาการค่อนข้างมาก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อทั้งตนเองและชีวิตครอบครัว
ช่องคลอดแห้ง จะทำให้เกิดอาการแสบที่ช่องคลอด โดยเฉพาะหากมีเพศสัมพันธ์มีการเสียดสี จะทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนมากจนทำให้ไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ หรือพยายามหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุนำมาซึ่งปัญหาครอบครัว หรือปัญหาความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา
นอกจากนั้นช่องคลอดแห้งก็ทำให้เกิดอาการคัน และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นด้วยทั้ง แบคทีเรีย และโรคเชื้อรา
ส่วนภาวะร้อนวูบวาบ ที่ทำให้เกิดอาการร้อนวูบๆวาบๆจะส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัว, ทำให้พักผ่อนไม่ได้, ส่งผลให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด, อารมณ์เสียบ่อยๆอาละวาดสมาชิกในบ้าน, ทำให้มีผลกระทบต่อทั้งตนเองและชีวิตครอบครัวด้วยเช่นกัน อาการร้อนวูบวาบ นี้พบได้บ่อยถึงประมาณ 75-80% แต่ความรุนแรงแตกต่างกันไป
สาเหตุที่ทำให้เกิดช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบมีอะไรบ้าง?
ภาวะช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบเกิดจาก
- การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เคยสร้างจากรังไข่ ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักในการสร้างความชุ่มชื่นในช่องคลอด
- นอกจากนั้น การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจะมีผลต่อการปรับจุดสมดุลของอุณหภูมิของร่างกาย(Thermoregulation)ทำให้รู้สึกอออกร้อนวูบวาบตามตัว
อย่างไรก็ตาม อาการนี้จะเป็นสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากร่างกายปรับสภาพได้ อาการ’ร้อนวูบวาบ’เหล่านี้จะดีขึ้น, *แต่อาการ’ช่องคลอดแห้ง’มักยังคงอยู่ตลอดไป
ดูแลรักษาตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบ?
ปัญหาช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบเป็นเรื่องปกติที่สตรีทุกคนต้องประสบเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน แต่อาการมากบ้างน้อยบ้างไม่เท่ากัน
โดยทั่วไปช่องคลอดจะยืดหยุ่นได้มาก แต่เมื่อน้ำเมือกหล่อลื่นลดลงจะทำให้เกิดการแห้งและแสบได้
หรือการมีภาวะร้อนวูบวาบ ออกร้อนตามตัว หงุดหงิดเป็นประจำก็จะพบได้บ่อยขึ้นจากภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำลง
การดูแลรักษาตนเองในภาวะอาการเหล่านี้ ที่จะช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น คือ
- การดูแลสุขภาพร่างกายตนเองเบื้องต้นให้แข็งแรง
- การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน
- เพิ่มอาหารที่มีสารคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีในพืชผัก (Phytoestrogen มีมากใน ถั่วเหลือง)
- ลดการดื่มเหล้า/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่สูบบุหรี่/ลดสูบบุหรี่
- การพูดคุยกับสามีในเรื่องความต้องการทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์อย่างเข้าอกเข้าใจกัน
- และการทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส จะทำอาการเหล่านี้ดีขึ้น
ควรพบแพทย์เมื่อใด? มีวิธีรักษาอย่างไร?
การพบแพทย์และการรักษา:
ก. ช่องคลอดแห้ง: หากมีอาการช่องคลอดแห้ง และเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนช่องคลอดจนรบกวนชีวิตประจำวัน, มีปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์, ไม่ควรคิดว่าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือปล่อยชีวิตให้ได้รับความทุกข์ทรมาน หรือจนเกิดปัญหาครอบครัว ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ที่สามารถจะให้คำปรึกษาหรือให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง
ยาที่ใชัรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง ได้แก่
- ยาใช้เฉพาะที่ ที่ไม่ใช่ฮอร์โมน: ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรก เพราะผลข้างเคียงน้อยกว่า เช่น
- ครีมพวก Moisturizer ที่ให้ความชุ่มชื้น
- หรือ ครีมหล่อลื่น K-Y gel โดยเฉพาะเวลามีเพศสัมพันธ์
- หากใช้ไม่ได้ผล ค่อยเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มฮอร์โมน
- ยาที่มีส่วนประกอบฮอร์โมนเอสโตรเจน แบ่งเป็น
- ยาฮอร์โมนเฉพาะที่: คือใช้เฉพาะที่ช่องคลอด
- ข้อดีของยาแบบนี้คือ ออกฤทธิ์ที่ช่องคลอดโดยตรง มีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดน้อย
- ยาที่ใช้ เช่น ครีมทาช่องคลอด หรือยาเม็ดชนิดเหน็บช่องคลอด เช่น Premarin cream® (Conjugated equine estrogens vaginal cream), Ovestin cream® (Estriol vaginal cream), Vagifem® (Estradiol vaginal tablet)
- ควรใช้เป็นครีมทาช่องคลอด หรือยาเม็ดเหน็บช่องคลอดทุกวันในระยะแรก 2 สัปดาห์ ต่อไปใช้เหลือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จนกว่าจะไม่มีอาการแสบช่องคลอดอีก
- อาการข้างเคียงจากการใช้ยาเหล่านี้ ทำให้มีหน้าอกคัดตึง หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดได้ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณเอสโตรเจนที่ใช้มีปริมาณน้อย จึงไม่จำเป็นต้องให้ยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนโปรเจสติน(Progestin)
- อย่างไรก็ตามไม่ควรซื้อยาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- ยาฮอร์โมนเฉพาะที่: คือใช้เฉพาะที่ช่องคลอด
- ยาฮอร์โมนให้ผลทั่วร่างกาย: เป็นยาที่มีส่วนประกอบฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน ได้แก่ ยาชนิดเม็ดรับประทาน หรืออาจเป็นฮอร์โมนแผ่นแปะผิวหนัง ครีมฮอร์โมนทาผิวหนัง, ยาเหล่านี้ออกฤทธิ์ไม่เฉพาะที่ช่องคลอดแต่จะช่วยรักษาอาการอื่นๆของอาการขาดประจำเดือนด้วย เช่น ภาวะร้อนวูบวาบ, อารมณ์หงุดหงิด, นอนไม่หลับ
ข. ร้อนวูบวาบ: ส่วนอาการร้อนวูบวาบ หากมีอาการมากจนทำงานไม่ได้ พักผ่อนไม่ได้ หงุดหงิดมาก ก็สมควรไปพบแพทย์เพื่อรับประทานยาบรรเทาอาการ
ยาที่ใชัรักษาภาวะร้อนวูบวาบ ได้แก่
- ยาที่มีส่วนประกอบฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน: มีทั้งชนิด
- ยาเม็ดรับประทาน: เช่น Cycloprogynova® (Estradiol valerate+ Norgestrel), Angelic® (Estradiol + Drospirenone),
- ยาครีมทาตัว: เช่น Divigel® (Estradiol gel),
- ยาแผ่นปิดผิวหนัง: เช่น Climara 50® (Estradiol hemihydrate patch)
ทั้งนี้ ในสตรีที่ยังมีมดลูกเมื่อได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว ต้องได้รับฮอร์โมนโปรเจสตินร่วมด้วย เพื่อป้องกันการกระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกมากเกินไปจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูกได้ เช่น เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
วิธีใช้ยารักษาอาการร้อนวูบวาบ:
ก. ยาชนิดรับประทาน:
- แบบรับประทานติดต่อกันไปทุกวัน มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสตินรวมกันในยาทุกเม็ด
- แบบรับประทานเป็นรอบๆ โดยในช่วงแรกของการรับประทานยาจะมีเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน และในช่วงหลังจะมีการเสริมฮอร์โมนโปรเจสตินเลียนแบบธรรมชาติ และจะมีการเว้นช่วงที่ไม่รับประทานยาเพื่อให้มีเลือดประจำเดือนออกมา
ข. ส่วนยาชนิดที่เป็นครีมเอสโตรเจน หรือแผ่นแปะเอสโตรเจน: สามารถใช้ต่อกันทุกวันหรือจะใช้เป็นช่วงคล้ายแบบรับประทานได้ แต่ที่สำคัญคือ ต้องมียากลุ่มโปรเจสตินร่วมด้วยเช่นกัน, รูปแบบของยาฮอร์โมนโปรเจสตินมีเป็นแบบชนิดรับประทาน และแบบห่วงอนามัยที่มีการเคลือบฮอร์โมนโปรเจสจิน
ค. นอกจากนั้นยังมียาที่เป็นสารสังเคราะห์ให้ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจร โปรเจสเตอโรนและแอนโดรเจน คือ Livial ® (Tibolone) ที่ใช้รักษาอาการเหล่านี้ได้
*****หมายเหตุ: ยาฮอร์โมนเหล่านี้เป็นยาอันตราย
- ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์
- ต้องควบคุมระยะเวลาในการรับประทานยา
- รับประทานยาในขนาดต่ำที่สุดที่ควบคุมอาการได้
- และควรรับประทานในระยะเวลาสั้นที่สุด
- ควรหยุดยาเมื่อไม่มีอาการผิดปกติแล้ว
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาฮอร์โมน
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาฮอร์โมน เช่น
- มีเลือดออกทางช่องคลอดแบบกะปริบกะปรอย โดยเฉพาะในการใช้ช่วง 6 เดือนแรก
- เต้านมคัดตึง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
***** ทั้งนี้ ในกรณีที่ต้องใช้ยาฮอร์โมนเหล่านี้เป็นเวลานาน ต้องมีการตรวจสุขภาพติดตามการเปลี่ยนแปลงหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา คือ ตรวจระดับไขมันในเลือด และตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม/การตรวจภาพรังสีเต้านม (Mammogram) ทุกปี
สตรีที่ห้ามใช้ยาฮอร์โมน
สตรีที่ห้ามใช้ยาฮอร์โมน เช่น
- มีโรคตับ
- ประวัติเป็นโรคมะเร็งที่เกี่ยวกับฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
- มีประวัติหลอดเลือดอุดตัน (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ)
- มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ยังหาสาเหตุไม่ได้
การใช้ยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมนรักษาภาวะร้อนวูบวาบ
ยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมนที่ใช้รักษาภาวะร้อนวูบวาบ เช่น
- ยากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) เช่น ยา Paroxetine, Venlafaxine, Fluoxetine, and Citalopram 23 ตามปกติใช้รักษาภาวะวิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า พบว่าสามารถช่วยรักษาภาวะร้อนวูบวาบ ได้
- ยา Clonidine ตามปกติใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง พบว่าสามารถช่วยรักษาภาวะร้อนวูบวาบได้
- ยา Gabapentin ตามปกติใช้รักษาโรคลมชัก พบว่าสามารถช่วยรักษาภาวะร้อนวูบวาบได้
สรุป: หากสตรีวัยหมดประจำเดือนมีอาการทั้งช่องคลอดแห้ง และ ภาวะร้อนวูบวาบ
- การเลือกใช้ยาฮอร์โมนชนิดรับประทานก็จะช่วยแก้ปัญหาทั้งหมด
- แต่หากมีเพียงอาการช่องคลอดแห้ง การเลือกใช้ยาเฉพาะที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด
- แต่ทั้งนี้การใช้ยาทุกชนิด ควรต้องได้รับการแนะนำ/รักษาจากแพทย์สูตินรีแพทย์
มีวิธีการป้องกันภาวะช่องคลอดแห้งและภาวะร้อนวูบวาบอย่างไร?
การดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ชีวิตสตรีเปลี่ยนผ่านจากช่วงมีประจำเดือนไปสู่ วัยหมดประจำเดือนอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ
โดยการดูแลสุขภาพ ต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนหมดประจำเดือน ไม่ใช่รอจนหมดประจำเดือน หรือเมื่อมีอาการแล้วค่อยมาสนใจสุขภาพ
สิ่งที่ควรปฏิบัติในทุกช่วงชีวิต คือ
- รับประทานอาหารให้ถูกต้อง ควรลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล อาหารที่มีไขมันสูง เน้นอาหารจำพวกผัก ผลไม้ให้มากขึ้น
- ดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนมเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณแคลเซียม 1-2 กล่องต่อวัน
- ดื่มนมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับถั่วเหลืองเพื่อเพิ่ม Phytoestrogen (ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากพืช) 1-2 กล่องต่อวัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ใส่สบาย นุ่ม ระบายอากาศได้ดี
- งดดื่มเหล้า/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ
เมื่อช่องคลอดแห้งยังมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม ? ควรดูแลอย่างไรในการมีเพศสัมพันธ์?
ในสตรีวัยหมดประจำเดือน ความต้องการทางเพศมักจะลดลงเนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงลดลงตามธรรมชาติอยู่แล้ว และหากมีอาการช่องคลอดแห้งจะทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อนเวลามีเพศสัมพันธ์กับสามี จึงส่งผลทำให้สตรีในวัยนี้ไม่ค่อยอยากมีเพศสัมพันธ์ หรือหาทางหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์มากที่สุด, ซึ่งจะตรงข้ามกับฝ่ายชายที่ยังมีความต้องการทางเพศอยู่เสมอ จึงทำให้อาจเกิดปัญหาในชีวิตคู่ได้ จริงๆ แล้วการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติ สตรีในวัยหมดประจำเดือนยังมีเพศสัมพันธ์กับสามีได้ตามปกติ แต่การที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุข และสตรีไม่มีอาการเจ็บแสบช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์(เจ็บเมื่อร่วมเพศ) คือ
- ใช้สารหล่อลื่น เช่น ยาหล่อลื่น K-Y gel ทาที่ปากช่องคลอดก่อนมีเพศสัมพันธ์ จะทำให้ช่องคลอดลื่น ไม่แสบ ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกเพราะไม่ค่อยมีผลข้างเคียงจากยา เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย
- ครีมที่เป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน หากใช้เจลหล่อลื่น K-Y gel แล้วยังมีอาการแสบช่องคลอดอยู่ ให้ปรึกษาสูติ-นรีแพทย์ ซึ่งแพทย์จะสั่งครีมที่เป็นฮอร์โมนมาทาในช่องคลอด ครีมจะช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ในช่องคลอดให้หนาขึ้น มีความยึดหยุ่นมากขึ้น มีเมือกมากขึ้น ทำให้ไม่แสบช่องคลอดเวลามีเพศสัมพันธ์ แต่การใช้ยาตัวนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
- สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การดูแลด้านจิตใจ ฝ่ายชายควรแสดงความรัก ความเข้าอกเข้าใจภรรยา จะทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขกับการมีเพศสัมพันธ์ และจะได้ไม่เกิดปัญหาในชีวิตคู่ตามมา
บรรณานุกรม
- Grady D. Clinical practice. Management of menopausal symptoms. N Engl J Med. 2006 ; 355:2338-47.
- Johnston SL, Farrell SA . The detection and management of vaginal atrophy.J Obstet Gynaecol Can 2004; 26:503–8.
- MacLennan A, Lester S, Moore V. Oral estrogen replacement therapy versus placebo for hot flushes: a systematic review. In: The Cochrane Library, Issue 2, 2002: Oxford: Update Software.
- Nelson HD. Commonly used types of postmenopausal estrogen for treatment of hot flashes: scientific review. JAMA 2004 ; 291:1610–20.
- Newton KM, Reed SD, LaCroix AZ, Grothaus LC, Ehrlich K, Guiltinan J. Treatment of vasomotor symptoms of menopause with black cohosh, multibotanicals, soy, hormone therapy, or placebo: a randomized trial. Ann Intern Med. 2006 ; 145:869–79.