โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ปัจจุบันนี้สภาพสังคมที่วุ่นวาย ทำให้เราสามารถพบปัญหาทางอารมณ์มากขึ้น และแสดงออกมาเป็นปัญหาพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว ฆ่าตัวตาย ติดยาเสพติด โดยทั่วไปเรามักแก้ปัญหาเหล่านี้ที่ปลายเหตุ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับอารมณ์มากเท่าไรนัก ปัญหาอารมณ์ผิดปกติจะมองว่าเป็นการปรับตัวอย่างหนึ่ง หรือจะมองว่าเป็นโรคทางจิตเวช ก็ขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน อย่างไรก็ตามปัญหานี้ใกล้ตัวทุกคนอย่างคาดไม่ถึง เราจึงจำเป็นต้องรู้จักและพยายามจัดการอารมณ์ให้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านอื่นๆต่อไป

อารมณ์คืออะไร?

โรคซึมเศร้า

คำถามนี้ถ้าอธิบายตามหลักวิชาการคงเข้าใจยาก ดังนั้นคำจำกัดความ อารมณ์ ที่ง่ายที่สุดคือถามตัวเองว่า “รู้สึกอย่างไร ?” จะเป็นการบอกอารมณ์ที่ง่ายที่สุด โดยทั่วไปเราแบ่งอารมณ์ออกเป็นสองประเภทอย่างคร่าวๆ ได้แก่

  • อารมณ์ด้านบวก เช่น ดีใจ สบายใจ อิ่มเอมใจ ร่าเริง
  • อารมณ์ด้านลบ เช่น เสียใจ หงุดหงิด รำคาญใจ กลัว ระแวง

เราจะเห็นว่าอารมณ์สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ แต่ก็ไม่ทั้งหมดทีเดียว ในบางครั้งเราเองก็ไม่รู้จะบรรยายอารมณ์ออกมาในรูปไหน ในเด็กเล็ก เราจะให้เด็กวาดหน้าตาคนแสดงแทนอารมณ์ได้ เช่น หน้าคนยิ้ม หน้าคนหัวเราะ หน้าคนร้องไห้ ก็เป็นการบรรยายอารมณ์แบบหนึ่ง

อารมณ์ที่ผิดปกติคืออะไร?

ความแตกต่างระหว่างอารมณ์ที่เราพอแสดงออกได้ กับอารมณ์ที่มากไปจนเข้าขั้นความ ผิดปกติทางจิตเวช สามารถประเมินได้จาก

  • ผู้ป่วยสามารถประคองการทำงาน การเรียน และการใช้ชีวิตตนเองให้อยู่ในระดับปกติได้หรือไม่ ถ้ามีอารมณ์แต่ยังไม่เสียการเสียงาน ก็ถือว่าเป็นสภาวะการปรับตัวอย่างหนึ่ง
  • แต่ถ้าเรียนไม่ได้ ทำงานไม่ได้ติดต่อกันหลายวัน ควรต้องไปพบจิตแพทย์ เพราะอาจเป็นโรคทางอารมณ์ที่ต้องรักษาด้วยจิตบำบัดและยา

โรคซึมเศร้ามีอุบัติการณ์เป็นอย่างไร?

โรคทางอารมณ์ซึ่งรวมถึงโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder : MDD) ด้วย สามารถพบได้บ่อยถึง 10-20% ของประชากรทั่วโลก หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นโรคหัวใจ โรคเครียด โรคคิดมาก ครอบครัวหรือสังคมอาจมองว่าผู้ป่วยหนีปัญหาด้วยการร้องไห้เสียใจ องค์ การอนามัยโลก (WHO) มีการประมาณการณ์ว่าในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นโรคที่ก่อให้เกิดการสุญเสียมากที่สุดในทางเศรษฐกิจสังคม เพราะโรคนี้มักเป็นตั้งแต่วัยทำงานและเป็นเรื้อรัง ส่งผลทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอื่นๆตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาสภาวะพึ่งพิงคนอื่นๆในครอบครัว

โรคซึมเศร้า สามารถพบได้ในบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ทุกเศรษฐสถานะ พบในผู้หญิงมาก กว่าผู้ชาย (ญ:ช = 2:1) โรคนี้ไม่ได้ทำอันตรายต่อร่างกายจนทำให้เสียชีวิต แต่ความคิดที่ผิด ปกติจากโรคซึมเศร้า สามารถทำให้ผู้ป่วยมีมุมมองต่อตัวเองและคนอื่นผิดไป จนทำร้ายตนเองได้ ดังนั้นจึงเป็นความสูญเสียที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะว่าโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้

อาการของโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จะมีอารมณ์ซึมเศร้า หดหู่ หมดความสนุก หรือหมดอาลัยตายอยาก (Anhedonia) คงอยู่นานตั้งแต่สองสัปดาห์ขึ้นไป โดยมีอาการด้านต่างๆ ดังนี้

  • อาการทางกาย (Neurovegetative or Somatic Symptoms) เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ น้ำหนักลด ปวดหัว/ปวดศีรษะ ปวดท้อง อ่อนเพลีย
  • อาการทางบุคลิกภาพ เช่น มีอาการพูดช้า พูดเสียงเบา คิดช้า เคลื่อนไหวช้า แยกตัว บางรายมีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย นั่งไม่ติด ต้องเดินไปมา
  • อาการทางความคิด ผู้ป่วยซึมเศร้ามักมีความคิดมองโลกแง่ร้าย วิตกกังวล ขาดสมาธิและความมั่นใจ ในรายที่มีอาการมากๆ อาจหลงผิดมากจนเข้าขั้นโรคจิต (Psychosis) เช่น คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้ายตนเอง และคิดฆ่าตัวตายได้

อนึ่ง: ในเด็กและวัยรุ่น อาการแสดงจะแตกต่างจากผู้ใหญ่

  • โดยเด็กเล็กมักแสดงออกด้วยอาการไม่ยอมไปโรงเรียน กังวลการแยกจากพ่อแม่ (Separation Anxiety)
  • แต่ในเด็กโตจะมีอาการปวดตามตัว รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง และตามมาด้วยปัญหาการเรียน
  • สำหรับวัยรุ่นอาจแสดงออกเป็นอารมณ์ฉุนเฉียว แยกตัว หนีเรียน และรุนแรงจนถึงการใช้ยาเสพติด

โรคซึมเศร้ามีสาเหตุจากอะไร?

ปัจจุบัน สาเหตุโรคซึมเศร้า ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน เชื่อว่ามาจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ทั้งทางด้าน ชีวภาพ จิตใจ และสังคม (Biopsychosocial model) โดยไม่ทราบว่าปัจจัยใดเกิดก่อนหลัง แต่ทั้งนี้พบว่า

  • สาเหตุทางกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยสำคัญ โดยพบว่า ถ้ามีญาติพี่น้องเป็นโรคซึมเศร้า จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น 2-3 เท่า
  • ปัจจัยอีกอันหนึ่งคือ ปัจจัยด้านสังคมที่ยุ่งเหยิง มีความเครียด
  • วิธีเลี้ยงดูในวัยเด็ก เช่น ครอบครัวที่เลี้ยงดูอย่างเข้มงวด มีประวัติถูกทารุณกรรมในวัยเด็ก หรือ การพลัดพรากจากบิดามารดา ทำให้มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูง ก็ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ง่าย

อนึ่ง: โดยทั่วไปอาการซึมเศร้าอาจเป็นอาการแสดงของโรคทางกายอย่างอื่นๆ ดังนั้น แพทย์จึงจำเป็นที่จะต้องประเมินอาการของโรคทางกายก่อนวินิจฉัยโรคซึมเศร้าทุกครั้ง เช่น

  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • หรือ โรคพาร์กินสัน

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคซึมเศร้า?

ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ปัจจัยทางกรรมพันธุ์เป็นพื้นฐานว่าจะเสี่ยงมากหรือน้อย เมื่อร่วมกับปัจจัยทางจิตสังคม เช่น ความเครียด หรือสภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย รวมกัน ทำให้เกิดอาการโรคซึมเศร้าได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวก เช่น สภาพครอบครัวอบอุ่น ที่คอยป้องกันไม่ให้เกิดโรคซึมเศร้า

อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดซึมเศร้าหรือทำให้อาการรุนแรง?

โดยทั่วไป โรคซึมเศร้าจะมีปัจจัยกระตุ้นทางจิตสังคม เช่น

  • ปัญหาครอบครัว
  • หรือปัญหาการทำงาน
  • ปัจจัยกระตุ้นเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้
  • หรือในบางครั้งโรคซึมเศร้าอาจไม่มีตัวกระตุ้นที่ชัดเจนเลย
  • นอกจากนี้ปัจจัยทางร่างกาย เช่น ประจำเดือนผิดปกติ หรือการใช้ยาเสพติด ก็สามารถทำให้เกิดอาการได้

มีอาการอย่างไรจึงควรพบจิตแพทย์ และควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

ปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการของโรคซึมเศร้าอย่างชัดเจน แล้วค่อยไปพบจิต แพทย์ เพราะการรักษาตั้งแต่เบื้องต้นได้ผลดีโดยไม่ต้องใช้ยา

แนะนำให้สังเกตสภาพอารมณ์ตนเองอย่างสม่ำเสมอ ถ้ารู้สึกว่าอารมณ์ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงง่าย ควรพบจิตแพทย์เพื่อรับคำ ปรึกษาเสมอ

พบแพทย์ทั่วไปได้ไหม?

แพทย์ทั่วไปสามารถให้คำปรึกษาในการจัดการความเครียดเบื้องต้นได้ รวมถึงให้ ยานอนหลับ และ/หรือ ยาคลายกังวล

อย่างไรก็ตาม ในกรณีต้องการรับการรักษาแบบจิตบำบัด จำเป็นต้องพบจิตแพทย์

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคซึมเศร้าได้อย่างไร?

การไปพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการโรคซึมเศร้า อาจเป็นเรื่องน่าตกใจ ทั้งนี้เพราะว่าสังคมไทยยังมองคนที่พบจิตแพทย์ว่า ไม่สมประกอบ แต่ทั้งนี้ในมุมมองทางการแพทย์เห็นว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบระยะยาวตามมา

การปรึกษาจิตแพทย์ในครั้งแรก อาจใช้ระยะเวลาประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง แพทย์จะประเมินอาการ ตรวจร่างกาย และตรวจสุขภาพจิตเบื้องต้น (การตรวจทางจิตเวช เป็นการพูดคุย และ/หรือ ดูภาพต่างๆ) เพื่อวินิจฉัยโรคซึมเศร้า ตามเกณฑ์การวินิจฉัย (ด้านล่าง) และให้คำ ปรึกษาในการปรับตัว ซึ่งในบางครั้งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาแต่อย่างใด

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า

  • มีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 5 ข้อ โดยอย่างน้อยต้องมีข้อ 1) หรือ ข้อ 2) หนึ่งข้อ ทั้งนี้ต้องมีอาการต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
    • ซึมเศร้า
    • ความสนใจหรือความเพลินใจในสิ่งต่างๆลดลงอย่างมาก
    • เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลดลงมากกว่า 5% ใน 1 เดือน
    • นอนไม่หลับ หรือ นอนมากกว่าปกติ
    • Psychomotor agitation หรือ retardation (อาการทางจิตประสาท เช่น หวาดระ แวง เห็นภาพหลอน หรือ หูแว่ว)
    • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
    • รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือ รู้สึกผิด
    • สมาธิลดลง ลังเลใจ
    • คิดเรื่องการตาย หรือการฆ่าตัวตาย
  • อาการเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน หรือทำให้การประกอบอาชีพ การเข้าสังคม หรือหน้าที่ด้านอื่นที่สำคัญ บกพร่องลงอย่างชัดเจน

จากเกณฑ์การวินิจฉัย จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยสามารถประเมินตนเองเบื้องต้นว่า ตัวเองมีอา การเข้าได้กับโรคซึมเศร้าก่อนไปพบแพทย์ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับอาการของตนเองกับแพทย์ ช่วยให้กระบวนการรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องมากขึ้น

การรักษาโรคซึมเศร้าทำได้อย่างไร?

การรักษาโรคซึมเศร้าประกอบด้วย การใช้ยาต้านเศร้าและจิตบำบัด จิตแพทย์จะประเมินผู้ป่วย และวางแผนการรักษาร่วมกับผู้ป่วยอย่างละเอียด

โดยส่วนใหญ่ โรคซึมเศร้าสามารถรักษาเป็นผู้ป่วยนอกได้ ยกเว้นกรณีอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น ติดยาเสพติด หรือคิด หรือพยายามฆ่าตัวตาย จึงจำเป็นต้องรักษาแบบผู้ป่วยใน

กระบวนการรักษา ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน จึงสามารถบอกได้ว่าตอบสนองต่อการรัก ษาหรือไม่ และจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1-2 ปี

ยาต้านเศร้าคืออะไร?

ยาต้านเศร้า (Antidepressant drug) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ปรับสมดุลสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ที่ควบคุมสภาวะอารมณ์ สารสื่อประสาทที่สำคัญได้แก่ Serotonin และ Norepinephrine ยาใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ในการออกฤทธิ์ โดยอาจมีผลข้างเคียง เช่น เบื่ออา หาร ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน ได้เล็กน้อย แต่อาการเหล่านี้จะค่อยๆดีขึ้น เมื่อร่างกายปรับตัวต่อยาได้

ยาต้านเศร้าที่ใช้บ่อย อยู่ใน

  • กลุ่ม SSRI (Selective Serotonin Reuptake Inhibitor) เช่น Fluoxetine, Sertraline และ Escitalopam
  • กลุ่ม SNRI (Serotonin Norepinephrine Reuptake Inhibitor) เช่น Venlafaxine, Duloxetine และ Desvenlafaxine

นอกจากยาต้านเศร้าแล้ว ยังมียาคลายกังวล (Anxiolytic drug) และยานอนหลับ (Sedative drug) ซึ่งจิตแพทย์มักให้ร่วมกับยาต้านเศร้า โดยยาที่นิยมใช้ได้แก่ Lorazepam, Alprazolam และ Clonazepam

ทั้งนี้ ขนาดยา (Dose) ต่างๆ จะขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์

จิตบำบัดคืออะไร?

หลายคนเข้าใจว่า จิตบำบัดจะเหมือนการสะกดจิต ล้วงลึกเข้าไปถึงความกลัวในวัยเด็กๆให้คนไข้ร้องไห้ แต่จริงๆแล้วไม่ได้ทำแบบนั้นทุกๆราย แพทย์จะให้คำปรึกษากับผู้ป่วยในการแก้ปัญหาในการจัดการชีวิตประจำวันให้เป็นระบบมากขึ้น โดยจิตบำบัดที่เหมาะในการรักษาคน ไข้ซึมเศร้ามากที่สุดคือ จิตบำบัดแบบ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถประเมินและปรับสภาวะอารมณ์ พฤติกรรม ความคิด และสามารถจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ จิตแพทย์ยังจะทำหน้าที่เหมือนพี่เลี้ยงคอยช่วยแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ (Problem Solving Skill Training) ของผู้ป่วยร่วมกับผู้ป่วยด้วย

ครอบครัวควรดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าอย่างไร?

การดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า ต้องอาศัยความเข้าใจและอดทนเป็นอย่างสูง สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจคือ เป็นผลจากโรคไม่ได้เกิดจากแกล้งทำ หรือหวังผลประโยชน์ใดๆ

ในระยะเสี่ยง คือระยะที่มีอาการมาก จำเป็นต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย เช่น อุปกรณ์เสี่ยงต่อการทำให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตาย

เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น ควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยกลับสู่สภาวะเดิมโดยเร็ว เช่น กลับไปทำงาน กลับไปเรียน เพราะจะเป็นการให้ผู้ป่วยสามารถยืนยันได้ว่าตัวเองปกติดีในสังคม

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่ตัวเองเป็นก่อน รวมทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดอัน ตรายต่อตนเอง เพื่อให้ทราบถึงความจำเป็นในการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ การปรับแนว คิดของตนเองว่า ตอนนี้ตัวเองเจ็บป่วยไม่สบายจาก “โรค” และสามารถหายได้ จะช่วยป้องกันไม่ให้ตำหนิตัวเองว่า เป็นคนไร้ความสามารถ

ในช่วงระหว่างรักษา ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเสมอ เมื่อ

  • ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองมีอาการซึมเศร้ามากขึ้น
  • ไม่สามารถกลับไปทำงาน หรือควบคุมตนเองไม่ได้
  • หรือมีความกังวลในอาการ

ป้องกันโรคซึมเศร้าได้อย่างไร?

การป้องกันโรคซึมเศร้า สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น

  • การออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ
  • กิจกรรมนันทนาการ
  • หรือสวดมนต์ นั่งสมาธิ
  • แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การปรับทัศนคติของตนเอง เช่น
    • มองโลกในแง่บวก
    • หรือมีความสุขกับสิ่งง่ายๆรอบตัวเอง

ดังนั้นการปรับตัวต่อโลกภายนอก โดยเข้าใจว่าทุกอย่างในชีวิตไม่สมบูรณ์แบบ มีทั้งดี และไม่ดีปะปนกันไป จะช่วยเป็นภูมิคุ้มกันสภาวะอารมณ์เบื่อหน่าย ที่จะทำให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้

บรรณานุกรม

  1. เอกสารประกอบการสอน โรคอารมณ์ผิดปกติ ศ.พญ.ดวงใจ กสานติกุล (2553)
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Depression_(mood) [2019,Sept28]