ฝีดาษ ไข้ทรพิษ (Smallpox)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

โรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ หรือ ไข้หัว  ภาษาอังกฤษเรียกว่า Small pox หรือ Variola โดย Variola มาจากภาษาละติน แปลว่า จุด หรือ ตุ่ม โรคนี้เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัส โดยอาการหลักของผู้ป่วย คือ มีผื่นที่เป็นตุ่มหนองขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งดูเป็นที่น่ารังเกียจ และผื่นเหล่านี้เองก็สามารถแพร่เชื้อได้ด้วย โรคนี้ติดต่อกันได้ค่อนข้างง่าย มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง ยังไม่มียารักษา มีวัคซีนสำหรับป้องกันได้ แต่ในปัจจุบันโรคนี้ได้ถูกกำจัดให้สูญสิ้นไปแล้ว จึงไม่มีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนในประชากรทั่วไปอีกต่อไป

สันนิษฐานว่าโรคฝีดาษน่าจะปรากฏในมนุษย์มาตั้งแต่ 10,000 ปีก่อนคริสตกาล แต่หลักฐานที่ชัดเจนได้มาจากการตรวจศพมัมมี่ของฟาโรห์นามว่า Rammesses ที่ 5 ซึ่งตรวจพบรอยโรคที่คล้ายตุ่มหนองขึ้นตามลำตัว คาดว่าน่าจะเป็นโรคฝีดาษ โดยฟาโรห์ท่านนี้เสียชีวิตเมื่อ 1,157 ปีก่อนคริสตกาล จากนั้นโรคฝีดาษจากประเทศอียิปต์ก็ได้แพร่เข้าสู่ประเทศอินเดีย ไปยังประเทศจีน แล้วเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 6 และโรคนี้ก็ได้แพร่เข้าไปในทวีปยุโรปในช่วงประมาณศตวรรษที่ 11-12 เมื่อผู้คนเริ่มรู้จักโรคนี้มากขึ้น คำว่า Smallpox จึงได้ถูกนำมาเรียกชื่อกับโรคนี้ในช่วงศตวรรษที่ 15 เพื่อแยกกับโรคซิฟิลิส (ซึ่งคนในสมัยก่อนเรียกว่า Greatpox ) ในช่วง พ.ศ. 2297-2300 ได้เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษ (French and Indian War) ที่ทวีปอเมริกาเหนือ และนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำเชื้อฝีดาษมาใช้เป็นอาวุธเชื้อโรค ทำให้โรคฝีดาษแพร่สู่ชาวอเมริกัน-อินเดียน ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของทวีปอเมริกา หลังจากนั้นก็ได้แพร่ไปสู่ทุกทวีปทั่วโลก โดยประเทศออสเตรเลีย เป็นประเทศสุดท้ายที่โรคได้แพร่เข้าไปในช่วงศตวรรษที่18

ในช่วงศตวรรษที่ 10 ประเทศจีนและอินเดียได้พยายามคิดค้นหาวิธีต่างๆในการป้องกันโรคฝีดาษ เช่น การให้สูดหายใจเอาสะเก็ดแผลของผู้ป่วยเข้าไป หรือการสะกิดเอาหนองของผู้ที่เป็นโรคนี้ไปฉีดให้กับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคมาก่อน ซึ่งพบว่า เมื่อติดเชื้อฝีดาษในภายหลังจะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับการป้องกันโรคฝีดาษด้วยวิธีต่างๆเหล่านี้ ก็ยังมีโอกาสเสียชีวิตได้อยู่ อีกทั้งวิธีการเก็บเชื้อที่ไม่ปลอดภัยเหล่านี้ สามารถเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ จึงไม่มีการนำมาใช้อีกต่อไป

ในปี พ.ศ. 2341 Edward Jenner นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้เก็บข้อมูลและพบว่าคนที่เป็น’โรคฝีดาษวัว’ซึ่งติดมาจากวัวนั้น แทบไม่มีใครเป็น’โรคฝีดาษคน’เลย (โรคฝีดาษวัวจะมีผื่นที่คล้ายกับโรคฝีดาษในคน แต่อาการจะเป็นเฉพาะที่ ไม่รุน แรง และไม่ทำให้เสียชีวิต) จึงได้ทำการทดลอง โดยการสะกิดเอาหนองจากตุ่มที่มือของคนรีดนมวัวที่เป็นโรคฝีดาษวัวอยู่ มาฉีดเข้าที่แขนให้กับเด็กอายุ 8 ขวบ ก็พบว่าสามารถป้องกันโรคนี้ได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com) ที่ต่อมาได้แพร่หลายนำไปใช้ทั่วโลก และสามารถช่วยชีวิตคนได้มากมาย

เนื่องจากโรคนี้ทำให้ประชากรทั่วโลกต้องเสียชีวิตลงอย่างมาก โดยในช่วงศตวรรษที่ 20 มีผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษไปประมาณ 300 ล้านคน องค์การอนามัยโลกจึงได้พยายามกำจัดโรคนี้ให้สูญสิ้นไปโดยการใช้วัคซีน และในปี พ.ศ. 2520 นับเป็นปีสุดท้ายที่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษที่เกิดจากการระบาดตามธรรมชาติ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2522 องค์การอนามัยโลกจึงให้ยกเลิกการฉีดวัคซีนในประชาชนทั่วไป

*‘และในปี พ.ศ. 2523(ค.ศ.1980) องค์การอนามัยโลกก็ได้มีประกาศการสูญสิ้นของโรคฝีดาษ’ ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา ทุกประเทศก็ได้ยกเลิกการฉีดวัคซีนชนิดนี้

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคฝีดาษ?

โรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษเกิดจาก’ไวรัสฝีดาษ/ไวรัสไข้ทรพิษ(Variola virus ย่อว่า VARV)’ในสกุล(Genus) Orthopoxvirus  ซึ่งเป็นสกุลเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษใน วัว ควาย แพะ แกะ และลิง รวมทั้งอยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิด โรคหูดข้าวสุก และโรคฝีดาษลิง/ไข้ทรพิษลิง ในคน

โรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษในสัตว์สามารถติดต่อมาสู่คนได้ แต่อาการจะเป็นเฉพาะที่ และไม่รุนแรง สำหรับโรคฝีดาษในคน จะติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง ไม่มีสัตว์ หรือแมลงที่เป็นรังโรค หรือเป็นพาหะโรคนำมาสู่คน (ดังนั้น เราจึงสามารถกวาดล้างโรคได้หมด)

การติดเชื้อเกิดจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย (Face-to-face contact) และหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายอยู่ในละออง เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยเข้าไป (Air droplets transmission) บางครั้งอาจรับเชื้อมาจากเสื้อผ้า หรือที่นอนของผู้ป่วยซึ่งมีเชื้อจากหนอง หรือสะเก็ดแผลอยู่ การติดเชื้อเกิดได้ค่อนข้างง่าย โดยพบว่าเป็นรองต่อโรคหัด และโรคไข้หวัดใหญ่เท่านั้น

โรคฝีดาษเกิดได้อย่างไร?

การก่อโรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษ คือ เมื่อเราหายใจรับเชื้อฝีดาษเข้าไป เชื้อก็จะทะลุผ่านเยื่อเมือกบุคอหอย และเยื่อเมือกบุทางเดินหายใจ เดินทางไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง และเจริญเติบโตแบ่งตัวจนเซลล์ของต่อมน้ำเหลืองแตกออก เชื้อก็จะเข้าสู่กระแสเลือด (โลหิต) เดินทางไปยัง ม้าม ไขสันหลัง และต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย แล้วแบ่งตัวเจริญเติบโต และกลับเข้าสู่กระแสเลือดอีกครั้ง ซึ่งในครั้งหลังนี้เองที่เชื้อโรคเดินทางไปยังผิวหนัง และทำให้เกิดผื่นขึ้นมา

โรคฝีดาษมีอาการอย่างไร?

ระยะฟักตัวของโรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษ คือตั้งแต่รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการจะประมาณ 7-17 วัน โดยสามารถแบ่งอาการของโรคฝีดาษออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่เรียกว่า “Variola major“ ซึ่งมีอาการรุนแรง, และกลุ่ม “Variola minor” ซึ่งมีอาการรุนแรงน้อยกว่า

ก. กลุ่มมีอาการรุนแรง Variola major แบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด คือ

  • โรคฝีดาษชนิดที่เรียกว่า โรคฝีดาษทั่วไป หรือ Ordinary smallpox: เป็นชนิดพบได้ประมาณ90%หรือสูงกว่าในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษมาก่อน โดยจะมีอาการที่แบ่งออกได้เป็น 2 ระยะคือ
    • ระยะก่อนผื่นขึ้น: ผู้ป่วยจะมีไข้สูง 3 ถึง 40 องศาเซลเซียส ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณหลัง รู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรง และอาจมีอาการอาเจียนได้ อาการในระยะนี้จะเป็นอยู่ 2-4 วัน
    • ระยะผื่นขึ้น: เริ่มแรกจะพบจุดสีแดงขึ้นตามลิ้น เยื่อบุช่องปากและเยื่อบุโพรงจมูก จุดเหล่านี้เมื่อแตกออกจะมีเชื้อออกมามากมายอยู่ในช่องปากและลำคอ เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ง่ายที่สุด โดยแพร่ผ่านทางเสมหะ น้ำมูก น้ำ ลายนั่นเอง ต่อมาจะเริ่มปรากฏผื่นตามผิวหนัง โดยเริ่มที่บริเวณใบหน้าก่อน และกระจายไปตาม แขน ขา มือ เท้า และลำตัวจนทั่วภายใน 24 ชั่วโมง โดยที่ผื่นตามใบ หน้า มือ เท้า ปลายแขน และขาจะหนาแน่นมากกว่าตามลำตัว เมื่อผื่นขึ้นแล้ว ไข้ก็จะลดลง

อนึ่ง: ลักษณะของผื่น เริ่มต้นจะเป็นผื่นแบบแบนราบ ต่อมาจะนูนขึ้นเป็นตุ่มกลมๆ ซึ่งมีรอยบุ๋มตรงกลาง หลังจากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนองซึ่งค่อนข้างแข็ง เวลาสัมผัสจะรู้สึกเหมือนมีเม็ดพลาสติกฝังอยู่ในผิวหนัง ผื่นเหล่านี้จะมีเชื้อไวรัสอยู่และสามารถแพร่เชื้อได้ หลังจากผื่นขึ้นได้ 2 สัปดาห์ ผื่นจะตกสะเก็ด และค่อยๆลอกร่อนออกไปจนหมดกลายเป็นแผลเป็นแบบบุ๋ม และมีสีจางกว่าผิวหนังปกติ เมื่อมาถึงระยะนี้ ผู้ป่วยจะไม่แพร่เชื้ออีกต่อไป

  • โรคฝีดาษชนิดมีเลือดออก: เรียกว่า Hemorrhagic smallpox หรือ Black pox พบได้ประมาณ 2% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคฝีดาษ เป็นชนิดที่มีอาการรุนแรงมาก โดยเมื่อผิวหนังปรากฏผื่นแบบแนบราบขึ้นมาแล้ว ผู้ป่วยจะมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ใต้เยื่อบุตา ใต้เยื่อบุลำไส้ และเกิดจุดเลือดออกใน ไต ม้าม กล้ามเนื้อลาย (กล้ามเนื้อที่ใช้ออกแรง เช่น แขน ขา ไหล่), ผู้ป่วย 95-100% จะเสียชีวิตภายใน 5-7 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ
  • โรคฝีดาษชนิดที่ผื่นไม่นูน เรียกว่า โรคฝีดาษรุนแรง หรือ Malignant smallpox หรือโรคฝีดาษแบบแบนราบ หรือ Flat smallpox: เป็นชนิดที่อาการรุนแรง เช่นกัน พบได้ประมาณ 6% ของผู้ป่วยโรคฝีดาษ และมักจะเป็นในเด็ก ในช่วงอาการระยะก่อนผื่นขึ้น ไข้จะสูงมาก อาการจะดูแย่มาก แต่ในช่วงระยะผื่นขึ้น ผื่นจะขึ้นค่อนข้างช้ากว่าโรคฝีดาษชนิดอื่นๆ และที่สำคัญ จะไม่นูนกลมแบบโรคฝีดาษทั่วไป(Ordinary smallpox) แต่จะค่อนข้างแบนเรียบ มีน้ำ หรือหนองอยู่เพียงเล็กน้อย ผื่นค่อน ข้างนุ่มไม่แข็งเหมือนผื่นในโรคฝีดาษทั่วไป,ผู้ป่วยเกือบ 100% จะเสียชีวิต
  • โรคฝีดาษชนิดที่เกิดในคนที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เรียกว่า โรคฝีดาษชนิดดัดแปลง หรือ Modified smallpox: อาการในระยะก่อนผื่นขึ้นจะมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเมื่อเข้าสู่ระยะผื่น ผื่นจะปรากฏรวดเร็วกว่าในโรคฝีดาษทั่วไป แต่จะมีปริมาณผื่นน้อยกว่ามาก เป็นชนิดพบน้อยมาก ไม่รุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตน้อยมาก ลักษณะอาการจะคล้ายโรคอีสุกอีใส

ข. โรคฝีดาษชนิดอาการไม่รุนแรง ที่เรียกว่า Variola minor หรือมีอีกหลายๆ ชื่อเช่น Alastrim, Cottonpox, Milkpox, Whitepox ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคฝีดาษทั่วไป( Ordinary smallpox) แต่รุนแรงน้อยกว่ามาก

แพทย์วินิจฉัยโรคฝีดาษได้อย่างไร?

เนื่องจากในปัจจุบันโรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษนี้ได้หายจากโลกไปนานแล้ว แพทย์ในปัจจุบันจะไม่ได้นึกถึงโรคนี้ในการวินิจฉัยแยกโรคต่างๆอีกต่อไป แต่ในกรณีพิเศษ คือ เมื่อเกิดภาวะสงคราม หรือการก่อการร้ายข้ามชาติ อย่างเช่นที่เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เกิดเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายปล้นเครื่องบินโดยสารแล้วขับชนตึก เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 จะต้องตระหนักว่าอาจมีการใช้อาวุธเชื้อโรค จึงอาจมีการปรากฏของโรคนี้อีกครั้ง

การวินิจฉัยโรคนี้ ถ้าเป็นในสมัยก่อนจะวินิจฉัยได้ไม่ยาก โดยอาศัยจากอาการดังกล่าวข้างต้น แต่หากเป็นการติดเชื้อที่เกิดจากอาวุธเชื้อโรค อาการแสดงของโรคอาจไม่ตรงไปตรงมา เนื่องจากเชื้อฯอาจถูกดัดแปลงพันธุกรรม  

การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ จะนำมาช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ได้ โดยการป้ายเอาสารคัดหลั่งจากลำคอ หรือใช้เครื่องมือขูดเอาหนองจากผื่นที่สงสัยว่าอาจเป็นฝีดาษ มาตรวจโดยวิธีต่างๆ เช่น

  • การใช้เทคนิคเรืองแสงที่เรียกว่า Direct fluorescent antibody assay
  • การตรวจหาสารพันธุกรรมโดยเทคนิคที่เรียกว่า พีซีอาร์ PCR (Polymerase chain reaction)
  • การเพาะเชื้อ

โรคฝีดาษมีผลข้างเคียงจากโรคและมีความรุนแรงอย่างไร?

ผลข้างเคียงและความรุนแรงของโรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษ คือ

  • ผู้ป่วยโรคฝีดาษทั่วไป(Ordinary smallpox): มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 30% ส่วนผู้ป่วยฝีดาษชนิดรุนแรงน้อย Variola minor มีอัตราการเสียชีวิตเพียงประมาณ 1%
  • หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเสียชีวิตได้ ’มากกว่า’
    • โดยหากเป็นโรคฝีดาษทั่วไป จะมีโอกาสเสียชีวิตถึงประมาณ 60%
    • นอกจากนี้ยังมีโอกาสเป็นโรคฝีดาษชนิดที่รุนแรงคือ ชนิดที่มีเลือดออกได้มากกว่า
  • ผู้ป่วยโรคฝีดาษชนิดมีเลือดออก(Hemorrhagic smallpox) และชนิดรุนแรง(Malignant smallpox) มีโอกาสเสียชีวิตเกือบ 100%

ภาวะแทรกซ้อน:

ในส่วนภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากโรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษที่มักทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต คือ

  • โรคปอดบวม ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อไวรัสเอง หรือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้ำซ้อน
  • การเกิดภาวะ/โรคสมองอักเสบ
  • และการสูญเสียน้ำ(ภาวะขาดน้ำ)จากร่างกายออกทางผิวหนังจนเกิดภาวะช็อก

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่รอดชีวิต:

  • จะมีแผลเป็นแบบเป็นหลุมที่เกิดจากผื่น เรียกว่า Pock mark โดยเห็นชัดเจนบริเวณใบหน้า
  • บางครั้งผื่นตุ่มหนองของโรคนี้อาจเกิดที่ เยื่อบุตา และ กระจกตา (ตาดำ) เมื่อผื่นหายจะทำให้เกิดแผลเป็น และทำให้ตาบอดได้ โดยในศตวรรษที่ 18 พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่ตาบอด เกิดมาจากโรคฝีดาษ
  • นอกจากนี้เชื้อไวรัสอาจเข้าไปทำลายกระดูก และข้อ โดยเฉพาะข้อศอก และข้อเข่า ทำให้เกิดข้อผิดรูป พิการได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ก. การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษที่สำคัญ คือ

  • เมื่อมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แน่นอน และเพื่อการแยกตัวไม่ให้สัมผัสกับผู้อื่น อย่างน้อย 3-4 สัปดาห์
  • การแยกตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ซึ่งในโรงพยาบาล ขณะแยกตัว การดูแล คือ
    • การพักผ่อน
    • การดูแลเรื่องสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
    • การดูแลเรื่องอาหารให้ได้อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
    • และการดูแลรักษาประคับประคองตามอาการ/การรักษาตามอาการ

ข. ส่วนผู้ที่สัมผัสโรคฯ:

  • ควรรีบพบแพทย์เช่นกันภายใน 1-2 วันเพื่อการรับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ
  • และแพทย์มักแนะนำการแยกตัวสังเกตอาการอยู่ที่บ้าน อย่างน้อยๆ 2 สัปดาห์ หรือตามแพทย์แนะนำ
  • ซึ่งระหว่างแยกตัว ควรวัดไข้ เมื่อมีไข้ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

รักษาโรคฝีดาษอย่างไร?

ที่ผ่านมา ไม่มียาสำหรับรักษาโรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษ การรักษาหลัก คือ การรักษาประคับ ประคองตามอาการเท่านั้น ได้แก่

  • การให้ยาลดไข้
  • ยาแก้ปวด
  • การให้สารน้ำทดแทน

ปัจจุบันมีการศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการ และพบว่ายาไซโดโฟเวียร์(Cidofovir) สามารถทำให้เชื้อฝีดาษตายได้ แต่องค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา หรือเอฟดีเอ (FDA, Food and Drug Administration) ยังไม่แนะนำเป็นทางการ  และยังมียาตัวอื่นๆอีกหลายตัวที่กำลังอยู่ในขั้นศึกษาและทดลอง

ป้องกันโรคฝีดาษอย่างไร?

ในสมัยก่อน การป้องกันโรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษ ทำได้โดยการฉีดวัคซีน หรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี วัคซีนทำมาจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในสายพันธุ์เดียวกันกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษ การฉีดวัคซีนอาจไม่ได้ช่วยป้องกันโรคได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเกิดการติดเชื้อขึ้นมา โรคจะไม่รุนแรง อัตราการเสียชีวิตจะน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน ทั้งนี้โอกาสที่จะเป็นโรคมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นกับว่าได้รับวัคซีนครั้งสุดท้ายมานานเท่าไหร่แล้ว เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนจะค่อยๆลดลงตามกาลเวลา ในสมัยก่อนก็จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกๆ 10 ปี

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ(แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้จากเว็บ haamor.com):

  • ทำโดยนำเข็มแบบที่มี 2 ง่าม ไม่มีรู แตะน้ำยาวัคซีน และแทงเข้าไปที่ชั้นผิวหนังบริเวณต้นแขน ต่อมาผิวหนังบริเวณนี้จะกลายเป็นตุ่มหนองและตกสะเก็ดคล้ายกับคนเป็นโรคฝีดาษ และกลายเป็นแผลเป็นชนิดบุ๋มไปในที่สุด ซึ่งเราจะสังเกตเห็นแผลเป็นบริเวณต้นแขนได้จากคนในสมัยก่อนที่เคยฉีดวัคซีนนั่นเอง
  • การฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น
    • การลุกลามของตุ่มหนองไปยังบริเวณใกล้เคียง เช่น ใบหน้า จมูก เปลือกตา ซึ่งถ้าโดนเยื่อบุตา ก็อาจทำให้ตาบอดได้
    • หรือในกรณีที่รุนแรง ตุ่มหนองอาจลุกลามทั่วตัว
    • นอกจากนี้อาจทำให้เกิดภาวะ/โรคสมองอักเสบ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่รุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตโดยเฉลี่ย คือ ผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 ล้านคน มีโอกาสเสียชีวิตได้ 1 คน

 ดังนั้น เมื่อกวาดล้างโรคฝีดาษให้หมดไปได้แล้ว องค์การอนามัยโลกจึงได้ประกาศให้หยุดการฉีดวัคซีน เนื่องจากไม่คุ้มกับผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น แต่การฉีดวัคซีนยังคงดำเนินอยู่กับนักวิทยาศาสตร์ และบุคคลต่างๆที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับเชื้อชนิดนี้ โดยวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันเป็นชนิดที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่วัคซีนแบบที่เคยใช้ในสมัยก่อน โดยจะมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่า

ปัจจุบัน เชื้อฝีดาษในคน ยังคงถูกเก็บไว้ที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Center for Diseases Control and Prevention หรือ CDC) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การอนามัยโลกที่เมืองแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา และในประเทศรัสเซีย การที่ยังไม่ได้กำจัดเชื้อฝีดาษสองชุดสุดท้ายนี้ให้หมดไปจากโลก เพราะนักวิทยาศาสตร์มีความเห็นแตกแยกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่ต้องการกำจัดฝีดาษให้หมดโลก ซึ่งให้เหตุผลว่าเพื่อไม่ให้โรคร้ายนี้ระบาดอีกต่อไป ส่วนฝ่ายที่ต้องการเก็บรักษาเชื้อก็ให้เหตุผลว่า การฆ่าเชื้อฝีดาษตัวสุดท้ายจะเป็นการฆ่าสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างจงใจให้สูญพันธุ์ ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์ และโดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 องค์การอนามัยโลกจึงได้ลงมติให้ทั้งอเมริกาและรัสเซียเก็บเชื้อฝีดาษให้นักวิทยาศาสตร์วิจัยต่อ เพราะเกรงว่าถ้าผู้ก่อการร้ายใช้เชื้อฝีดาษ (ที่สังเคราะห์ได้) เป็นอาวุธชีวภาพ มนุษยชาติจะเป็นอันตราย ดังนั้นการมีเชื้อฝีดาษไว้เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกัน จึงเป็นเรื่องจำเป็น และในขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีวัคซีนเก็บไว้เพียงพอที่จะฉีดให้กับประชาชนชาวอเมริกันทุกคนในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้นมา

บรรณานุกรม

  1. Fred Wang, Smallpox, vaccinia, and other poxviruses, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  2. https://www.who.int/teams/health-product-and-policy-standards/standards-and-specifications/vaccine-standardization/smallpox [2021,Dec4]
  3. https://www.bbc.co.uk/history/british/empire_seapower/smallpox_01.shtml [2021,Dec4]
  4. https://www.cdc.gov/smallpox/index.html [2021,Dec4]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Smallpox [2021,Dec4]