ไซโดโฟเวียร์ (Cidofovir)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไซโดโฟเวียร์(Cidofovir) เป็นยาต้านไวรัสที่นำมารักษาอาการของผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ติดเชื้อไวรัสประเภทไซโตเมกาโลไวรัส/ซีเอ็มวี(Cytomegalovirus /CMV)/โรคติดเชื้อซีเอมวีที่บริเวณตา ยานี้มีกลไกหยุดยั้งมิให้ไวรัสกระจายพันธุ์

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไซโดโฟเวียร์เป็นยาฉีดแบบหยดเข้าหลอดเลือดดำ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2.6 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ระหว่างการใช้ยาไซโดโฟเวียร์กับผู้ป่วย แพทย์จะคอยตรวจและเฝ้าระวังการทำงานของไตเป็นระยะๆ ด้วยยาไซโดโฟเวียร์สามารถสร้างความเสียหาย(พิษ/ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อไตและเป็นเหตุผลให้แพทย์มักจะจ่ายยา Probenecid ร่วมกับยาไซโดโฟเวียร์เพื่อช่วยป้องกันและรักษาสภาพการทำงานของไตผู้ป่วยให้เป็นไปอย่างปกติ นอกจากนี้ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำมิให้ใช้ยาอื่นใดนอกเหนือจากคำสั่งแพทย์ ด้วยมียาหลายรายการที่สนับสนุนการทำลายหรือก่อพิษให้กับไตผู้ป่วยได้อย่างมากมาย ผู้ที่ได้รับไซโดโฟเวียร์แล้วพบว่ามีอาการ ปัสสาวะขัด/ ปัสสาวะลำบาก ตัวบวม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ เหล่านี้เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีเท่าใดนักว่าน่าจะมีปัญหาของไต และผู้ป่วยต้องรีบแจ้งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

ตัวยาไซโดโฟเวียร์ยังส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ที่ทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวลดลง ลดปริมาณของตัวอสุจิ และอาจกระตุ้นให้เกิดมะเร็งต่างๆตามมาได้

ด้วยเหตุผลต่างๆเหล่านี้ ทำให้ยาไซโดโฟเวียร์เหมาะที่จะใช้รักษาแต่โรคติดเชื้อซีเอ็มวี(CMV)ที่เกิดกับลูกตาผู้ป่วยโรคเอดส์เท่านั้น

อาจสรุปกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรได้รับยาไซโดโฟเวียร์ ได้เป็นลำดับ ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้ยาไซโดโฟเวียร์กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้ รวมถึงมีประวัติแพ้ยา Probenecid หรือยาในกลุ่ม Sulfonamide
  • ผู้ป่วย โรคไต โรคเลือด โรคเบาหวาน ไม่เหมาะที่จะใช้ยาไซโดโฟเวียร์ ด้วยอาจได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้
  • หลีกเลี่ยงและห้ามใช้ยานี้กับสตรีในภาวะให้นมบุตร รวมถึงสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์
  • ห้ามใช้ยาไซโดโฟเวียร์ร่วมกับผู้ใช้ยาที่ส่งผลให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงที่รุนแรง)กับไต เช่นยา Gentamicin , Amphotericin B , Cyclosporine , NSAIDs , Pentamidine, Tacrolimus, Vancomycin, กลุ่มยาเหล่านี้หากใช้ร่วมกับยาไซโดโฟเวียร์ จะสร้างความเสียหายต่อไตผู้ป่วยได้อย่างรุนแรง

ยาไซโดโฟเวียร์ถูกนำมาใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสซีเอ็มวีที่ลูกตาก็จริง แต่มีข้อห้ามฉีดยานี้เข้าบริเวณลูกตาของผู้ป่วยโดยตรง ให้หยดเข้าหลอดเลือดดำ และต้องใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องจนครบเทอมของการรักษา ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมารับการฉีดยาที่สถานพยาบาล กรณีที่พลาดหรือลืมมารับการฉีดยา ผู้ป่วยจะต้องรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล หรือบุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนัดหมายการฉีดยานี้โดยเร็ว การเว้นหรือหยุดการรับยานี้ไปเฉยๆ นอกจากจะไม่ทำให้อาการโรคทุเลาลงแล้ว ยังอาจทวีความรุนแรงของโรคได้มากขึ้น

ระหว่างที่รับการรักษาด้วยยาไซโดโฟเวียร์ ผู้ป่วยจะต้องรับการตรวจเลือดตามคำสั่งแพทย์ เพื่อดูความผิดปกติของปริมาณเม็ดเลือด (CBC) ดูระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงดูการทำงานของไตว่ายังปกติดีหรือไม่

สำหรับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยาไซโดโฟเวียร์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ เช่น เบื่ออาหาร ท้องเสีย ผมร่วง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และอ่อนแรง หากอาการข้างเคียงมีความรุนแรงมาก ให้ผู้ป่วยรีบมาขอคำแนะนำจากแพทย์/มาโรงพยาบาลได้ทันที เพื่อแพทย์พิจารณาทำการบำบัดและเยียวยา

เพื่อให้อาการเจ็บป่วยของโรคซีเอ็มวีทุเลาลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมารับการฉีดยาไซโดโฟเวียร์ อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด

หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยเรื่องการใช้ยาไซโดโฟเวียร์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษา หรือจากเภสัชกรที่ประจำในสถานพยาบาลได้

ไซโดโฟเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไซโดโฟเวียร์

ยาไซโดโฟเวียร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาการ/โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส/ซีเอมวีที่ลูกตาของผู้ป่วยโรคเอดส์ (Cytomegaloviral retinitis in AIDs patients)

ไซโดโฟเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไซโดโฟเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกดการจำลองตัวเองของเชื้อ ไซโตเมกาโลไวรัส โดยยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรมที่เรียกกันว่า DNA ส่งผลให้ไวรัสนี้ หยุดการกระจายพันธุ์และมีปริมาณลดน้อยลงตามลำดับ และด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

ไซโดโฟเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไซโดโฟเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยา Cidofovir ขนาด 75 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ไซโดโฟเวียร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไซโดโฟเวียร์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับโรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส/โรคติดเชื้อซีเอมวีที่ลูกตา (CMV Retinitis)

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นหยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้ยาซ้ำทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อลดความเสียหายของไตจากไซโดโฟเวียร์ แพทย์จะให้ ยา Probenecid ขนาด 2 กรัม แบบรับประทานก่อนให้ยาไซโดโฟเวียร์เป็นเวลาล่วงหน้า ประมาณ 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยา Probenecid ขนาด 1 กรัม โดยเว้นระยะเวลาห่างจากการให้ยา Probenecid ครั้งแรก 2 และ 8 ชั่วโมง (รวมการได้รับยา Probenecid 4 กรัม)
  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • การเตรียมยาฉีดไซโดโฟเวียร์ ให้เจือจางๆตัวยาด้วยสารละลาย Normol saline 0.9% จำนวน 100 มิลลิลิตร
  • เพื่อเป็นการป้องกันภาวะขาดน้ำของร่างกาย แพทย์อาจสั่งให้น้ำเกลือ Sodium chloride 0.9% เป็นปริมาณ 1 ลิตร โดยให้ทางหลอดเลือดดำก่อนการให้ยาไซโดโฟเวียร์ 1–2 ชั่วโมง และอาจต้องให้ Sodium chloride 0.9% ซ้ำอีกครั้งหลังจากให้ยาไซโดโฟเวียร์
  • ระวังความผิดปกติของ เม็ดเลือด น้ำตาลในเลือด และการทำงานของไต ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการรักษาด้วยยานี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไซโดโฟเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคของระบบเลือด/โรคเลือด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไซโดโฟเวียร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหวางยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการให้ยาควรทำอย่างไร?

การหยุดใช้ยาไซโดโฟเวียร์กลางครัน อาจทำให้อาการของโรคลุกลามมากขึ้น ดังนั้น หากลืมมารับการให้ยา ควรรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล หรือบุคคลากรทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อนัดหมายการให้ยาครั้งใหม่

ไซโดโฟเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไซโดโฟเวียร์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อไต: เช่น เป็นพิษกับไตจนอาจเกิดไตวาย มีโปรตีนในปัสสาวะ
  • ผลต่อตา: เช่น เกิดความดันตาสูง เกิดต้อกระจก มองภาพไม่ชัดเจน เยื่อตาอักเสบ เกิดแผลที่กระจกตา
  • ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับสารไบคาร์บอเนต(Bicarbonate)ในเลือดต่ำจนอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรด เกิดภาวะร่างกายสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ มีอาการบวม แคลเซียมในเลือดสูง และโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดอาจสูงหรืออาจต่ำก็ได้ ระดับเกลือแมกนีเซียมในเลือดลดลง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด มีน้ำตาลในปัสสาวะ ท่อปัสสาวะอักเสบ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เกิดภาวะต่อมน้ำเหลืองโตได้ทั่วตัว จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ลำไส้ใหญ่อักเสบ อาหารไม่ย่อย ท้องอืด กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผลในช่องปาก เลือดออกในทางเดินอาหาร ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ มีภาวะช็อก หัวใจเต้นเร็ว ตัวบวม
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ผมร่วง มีแผลที่ผิวหนัง
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง/ตับทำงานผิดปกติ ตับอักเสบ/ตับเสียหาย ตับโต ดีซ่าน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้ออักเสบ ปวดกระดูก ขาเป็นตะคริว ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ตัวสั่น รู้สึกสับสน มีอาการชัก ความจำเสื่อม ซึมเศร้า วิงเวียน ใบหน้าเป็นอัมพาต ประสาทหลอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ง่วงนอน พูดไม่ชัด
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หอบหืด หลอดลม สะอึก ปอดบวม เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ไอ

มีข้อควรระวังการใช้ไซโดโฟเวียร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไซโดโฟเวียร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ รวมถึงผู้ที่แพ้ยาที่มีส่วนประกอบของกำมะถัน อย่างเช่นยา Sulfonamide
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
  • หลังการใช้ยานี้แล้วมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันเต็มตัว ตัวบวม ให้รีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมาย เพื่อรับการฉีดยานี้ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด อย่างต่อเนื่อง
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ไม่เก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไซโดโฟเวียร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไซโดโฟเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไซโดโฟเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นๆ เช่น

  • ห้ามใช้ยาไซโดโฟเวียร์ร่วมกับยากลุ่ม NSAID, Amikacin , Acyclovir Bacitracin , Cisplatin , Oxaprozin(ยาแก้อักเสบ) , Ketorolac, ด้วยจะทำให้เกิดพิษกับไตของผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไซโดโฟเวียร์ร่วมกับยา Zidovudine ด้วยจะทำให้ผู้ป่วย ได้รับอาการข้างเคียงมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยา ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาไซโดโฟเวียร์ร่วมกับยา Trospium จะทำให้ระดับยาทั้ง 2 ตัวในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนอาจเกิดผลเสีย/ผลข้างเคียงรุนแรงตามมา กรณีต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาไซโดโฟเวียร์ร่วมกับยา Flucytosine(ยาต้านเชื้อรา) จะทำให้ระดับยา Flucytosineในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรงตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาไซโดโฟเวียร์อย่างไร?

ควรเก็บยาไซโดโฟเวียร์ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไซโดโฟเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไซโดโฟเวียร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
VISTIDE (วิสไทด์)Ben Venue Laboratories

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/cidofovir.html[2017,April29]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/cidofovir/?type=brief&mtype=generic[2017,April29]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Cidofovir[2017,April29]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/1999/020638s003lbl.pdf[2017,April29]
  5. https://www.drugs.com/pro/cidofovir-injection.html [2017,April29]
  6. li>http://www.globalrph.com/cidofovir_dilution.html [2017,April29]