ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)

บทความที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

 

ยาต้านไวรัส

ยาต้านไวรัสคือยาอะไร?มีคุณสมบัติอย่างไร?

ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)  คือ ยาที่ใช้รักษาอาการต่างๆที่เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัส โดยยาต้านไวรัสแต่ละชนิดจะใช้กับเชื้อไวรัสชนิดที่แตกต่างกัน

ยาต้านไวรัสแบ่งเป็นกี่ประเภท?

ยาต้านไวรัส แบ่งตามการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้เป็นหลายชนิด/ประเภท/กลุ่ม ดังนี้

  1. ยารักษาอาการติดเชื้อ
  • เฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ไวรัส (Herpes simplex virus) เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม  
  • วาริเซลลาซอสเตอร์ไวรัส (Varicella-zoster virus) เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด  

ซึ่งยาในกลุ่มนี้ เช่น ยา  อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir), วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir), แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir), เพนไซโคลเวียร์ (Penciclovir), ไวดาราบีน (Vidarabine), ไตรฟลูริดีน (Trifluridine)

  1. ยารักษาอาการโรคติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัสหรือซีเอ็มวี(Cytomegalovirus or CMV):  เช่น ยา แกนไซโคลเวียร์ (Ganciclovir), วาลแกนไซโคลเวียร์ (Valganciclovir), ไซโดโฟเวียร์ (Cidofovir), ฟอสคาร์เนท (Foscarnet), โฟมิเวียร์เซน (Fomivirsen)
  2. ยารักษาอาการติดเชื้ออินฟลูเอนซาไวรัส(Influenza virus ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่): เช่น ยา อะแมนทาดีน (Amantadine), ไรแมนทาดีน (Rimantadine), โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir), ซานามิเวียร์ (Zanamivir)
  3. ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis): เช่น ยา อินเตอร์เฟอรอน (Interferon/ IFN), ไรบาไวริน (Ribavirin), อะดีโฟเวียร์ (Adefovir), เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine), เอ็นทีคาเวียร์ (Entecavir), ลามิวูดีน (Lamivudine), เทลบิวูดีน (Telbivudine), ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir)
  4. ยารักษาโรคเอชไอวี /ยาต้านเอชไอวี (Human immunodeficiency virus, HIV): เช่น ยาในกลุ่มยาต้านรีโทรไวรัสซึ่งยาในกลุ่มนี้จะไม่กล่าวรายละเอียดในบทความนี้ เพราะมีตัวยาได้หลากหลายมาก รวมถึงมีข้อบ่งชี้และข้อห้ามการใช้ที่เป็นลักษณะจำเพาะ อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ com บทความเรื่อง การติดเชื้อเอชไอวี, เรื่อง โรคเอดส์, และเรื่อง ยาต้านรีโทรไวรัส)

ยาต้านไวรัสอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?

ยาต้านไวรัสมีจำหน่ายในหลายรูปแบบ เช่น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาป้ายตา (Eye ointment)
  • ยาเจลปราศจากเชื้อสำหรับหยอดตา (Ophthalmic gel)
  • ยาฉีดเข้าลูกตา (Intravitreal injection)
  • ยาพ่น (Aerosol)
  • ยาเตรียมปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
  • ยาน้ำเชื่อมที่อยู่ในรูปผงแห้ง (Dry syrup)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาครีม (Cream)

มีข้อบ่งใช้ยาต้านไวรัสอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาต้านไวรัส เช่น

  1. ยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ไวรัส (Herpes simplex virus) และเชื้อวาริเซลลาซอสเตอร์ไวรัส (Varicella-zoster visrus): เช่น
  • รักษาโรคเริมที่เกิดจากการติดเชื้อเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ไวรัส (Herpes simplex virus) ที่ผิวหนัง และที่เยื่อเมือกรวมทั้งเริมที่อวัยวะเพศ (Herpes genitallis)
  • ป้องกันโรคเริมที่กลับมาเป็นซ้ำในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่ปกติ และป้องกันโรคเริมในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
  • รักษาโรคอีสุกอีใส (Chickenpox)
  • รักษาโรคงูสวัด (Herpes zoster infections/Shingles)
  1. ยารักษาอาการโรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัสหรือซีเอ็มวี/Cytomegalovirus or CMV:
  • รักษาโรคจอตาอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสซีเอ็มวี (CMV retinitis)
  • รักษาการติดเชื้อไวรัสซีเอ็มวีในระบบอื่นๆของร่างกายในผู้ป่วยที่มีภูมคุ้มกันฯบกพร่อง
  • ป้องกันการติดเชื้อไวรัสซีเอ็มวีในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
  1. ยารักษาอาการติดเชื้ออินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza virus):
  • ใช้ป้องกันและรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Influenza A และ Influenza B
  • ใช้รักษาภาวะปอดบวมและหลอดลมอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ Respiratory syncytial virus (โรคอาร์เอสวี)
  • โอเซลทามิเวียร์ เป็นยาที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดย่อย H3N2, ไข้หวัดนกชนิด H5N1, และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1)
  • อะแมนทาดีนและไรแมนทาดีน: สามารถใช้เป็นยารักษาโรคพาร์กินสันได้ ทั้งนี้ HN (Hemagglutinin-neuraminidase) คือชนิดของโปรตีนที่แตกต่างกันในแต่ละไวรัสฯสายพันธุ์ย่อย
  1. ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis):
  • รักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง (Chronic hepatitis B)
  • รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรัง (Chronic hepatitis C)
  • ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีชนิดเฉียบพลัน (Acute hepatitis C)
  • รักษาหูดหงอนไก่ (Condyloma acuminatam/Genital warts)
  • รักษาโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งคาโปซิ (Kaposi’s sarcoma) ในผู้ป่วยเอดส์

มีข้อห้ามการใช้ยาต้านไวรัสอย่างไร?

มีข้อห้ามการใช้ยาต้านไวรัส เช่น

  1. ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยานั้นๆ แพ้ส่วนประกอบของยานั้นๆ หรือแพ้ยาที่มีโครงสร้างคล้ายกันกับยานั้นๆ เช่น ผู้ป่วยที่เคยแพ้ยาอะไซโคลเวียร์อาจแพ้ยาวาลาไซโคลเวียร์ได้เช่นกัน
  2. ห้ามใช้ยาแกนไซโคลเวียร์ในผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 500 เซลล์ต่อไมโครลิตร หรือมีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 25,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  3. ห้ามใช้ยาไซโดโฟเวียร์ในผู้ป่วยที่แพ้ยาโพรเบเนซิด(Probenecid) หรือยาอื่นๆที่มีส่วน ประกอบของยาซัลฟา(Sulfa drug)
  4. ห้ามใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบที่เกิดจากโรคออโตอิมูน (Autoim mune hepatitis) และผู้ป่วยโรคตับระยะสุดท้าย (Decompensated liver disease)

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัส เช่น

  1. ยาแฟมไซโคลเวียร์: เป็นยาที่มีประกอบของแลคโตส (Lactose) อยู่ในเม็ดยา จึงควรระวังในผู้ ป่วยที่มีภาวะขาดเอนไซม์แลคเตส (Lactase deficiency) และภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลกลูโคสหรือน้ำตาลกาแล็กโตสเข้าสู้ร่างกายได้ (Glucose-galactose malabsorption syndromes)
  2. ระวังการใช้ยาอะแมนทาดีนและไรแมนทาดีนในผู้ป่วย โรคจิต โรคไต โรคตับ โรคลมชัก รวม ทั้งผู้ป่วยที่ใช้ยาแก้แพ้ (Antihistamine) และยาต้านโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic drug) เพราะอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้มากขึ้น
  3. ระวังการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนในผู้ป่วยที่ได้รับยาขนาดสูงและได้รับยาติดต่อกันเป็นเวลานาน ผู้ป่วยที่ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำและระดับเกล็ดเลือดต่ำ ผู้ป่วย โรคตับ ผู้ป่วยโรคหัวใจ นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การทำงานกับเครื่องจักร และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอ ฮอล์เมื่อใช้ยานี้เพราะยานี้อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯ เช่น ปวดหัว  มึนงง และง่วงซึมได้

การใช้ยาต้านไวรัสในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านไวรัสในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

  1. ยาอะไซโคลเวียร์:
  • ในรูปแบบยาครีม: ค่อนข้างปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย  
  • ยานี้ในรูปแบบรับประทาน: ควรใช้เมื่อมารดาเป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศ นอกจากนี้การผ่าท้องทำคลอดก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถป้องกันไม่ให้เชื้อเริมผ่านไปสู่ทารกได้
  • ส่วนยานี้รูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ: ควรใช้เมื่อมารดาอาจมีอันตรายถึงชีวิตเท่านั้นเช่น ภาวะปอดอักเสบ/ปอดบวมจากติดเชื้อไวรัส (Varicella pneumonia)  
  • ส่วนยาอื่นๆ เช่นยา วาลาไซโคลเวียร์, แฟมไซโคลเวียร, และเพนไซโคลเวียร์, ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ

*อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์ การใช้ยานี้ในทุกรูปแบบของยาควร ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้เสมอ

  1. ไม่ควรใช้ยาแกนไซโคลเวียร์และยาวาลแกนไซโคลเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์เพราะยาทั้งสองชนิดเป็นพิษต่อทารกในครรภ์ (Teratogenicity)
  2. ไม่แนะนำให้ใช้ยาอะแมนทาดีน, โอเซลทามิเวียร์ และซานามิเวียร์,ในระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะพิจารณาการใช้เมื่อมารดาอาจมีอันตรายถึงชีวิตเท่านั้น ดังนั้นการใช้ยาทั้ง 3 ชนิดจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
  3. หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดรุนแรง เช่น โรคไวรัสตับอักเสบซี แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาไรบาไวรินโดยจะพิจารณาเมื่อมารดาอาจมีอันตรายถึงชีวิตเท่านั้นเพราะยานี้สามารถทำให้ทารกที่คลอดออกมาผิดปกติหรือเสียชีวิตขณะยังอยู่ในครรภ์มารดาได้

การใช้ยาต้านไวรัสในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านไวรัสในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  1. ระวังการใช้ยาต้านไวรัสที่มีผลต่อการทำงานของตับและของไตในผู้สูงอายุที่มีการทำงานของ ตับและ/หรือของไตผิดปกติ อาจต้องมีการปรับขนาดยาตามดุลพินิจของแพทย์และแพทย์จะเฝ้าดูอาการของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ
  2. ระวังการใช้ยาอะแมนทาดีนและยาไรแมนทาดีนในผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายต้องใช้เวลาในการกำจัดยาเหล่านี้ออกจากร่างกายนานกว่าวัยอื่นๆซึ่งอาจทำให้พบอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาเหล่านี้ได้มากขึ้น

การใช้ยาต้านไวรัสในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านไวรัสในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ควรเป็นดังนี้ เช่น

  1. ยาอะไซโคลเวียร์: เป็นยาที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ไวรัส และเชื้อวาริเซลลาซอสเตอร์ไวรัสในผู้ป่วยเด็กได้, ในขณะที่ยาอื่นๆ เช่นยา วาลาไซโคลเวียร์ และแฟมไซโคลเวียร ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยาในเด็ก
  2. ยาอะแมนทาดีน: เป็นยาที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Influenza A , ในขณะที่ทั้งยาอะแมนทาดีนและยาไรแมนทาดีนสามารถใช้เป็นยาป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Influenza A ในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
  3. ยาไรบาไวรินและยาอินเตอร์เฟอรอน: เป็นยาที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบซี,  และใช้เป็นยารักษาอาการติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัสที่เรียกว่า Respiratory syncytial virus (RSV: โรคอาร์เอสวี) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีหรือทารกคลอดก่อนกำหนดได้

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาต้านไวรัสมีอะไรบ้าง?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาต้านไวรัส เช่น

  1. ยาอะไซโคลเวียร์และยาวาลาไซโคลเวียร์: เป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง พบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้น้อย เช่น
  • การทำงานของไตบกพร่อง
  • พิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น มึนศีรษะ ปวดหัว คลื่นไส้
  1. ยาแกนไซโคลเวียร์และยาวาลแกนไซโคลเวียร์:
  • มีผลกดไขกระดูก (ไขกระดูกทำงานลดลง) ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Neutropenia)
  • มีพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ ชัก   
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้-อาเจียน
  1. ยาอะแมนทาดีนและยาไรแมนทาดีน:
  • มีพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ซึมเศร้า กังวล มึนงง เห็นภาพหลอน/ประสาทหลอน นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร ท้องผูกหรือท้องเสีย และคลื่นไส้
  1. ยาไรบาไวริน: อาจทำให้เกิด
  • ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia)
  • กดไขกระดูก
  • เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • มีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ (กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่: Flu-like symptoms) เช่น หนาวสั่น มีไข้
  • ส่วนยานี้ในรูปแบบยาพ่น อาจทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ และเยื่อตาอักเสบ
  1. ยาอินเตอร์เฟอรอน: อาจ
  • กดไขกระดูก
  • เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Flu-like symptoms)
  • มีพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ซึมเศร้า สับสน  โรคจิต  ชัก  

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาต้านไวรัสด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Lacy C. F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th Ohio : Lexi-comp, 2011.
  2. Schaefer C., Peters P., and Miller R. K. Drugs During Pregnancy and Lactation. 2nd California: Elsevier, 2007.
  3. Margo K. L., and Shaughnessy A. F. Antiviral Drugs in Healthy Children. Am Fam Physician. 1 (March 1998) : 1073-1077.
  4. https://www.physio-pedia.com/Antiviral_Drugs [2022,Jan22]