10 ประเด็นคำถามโรคสะเก็ดเงิน (Ten frequent asked questions about Psoriasis)
- โดย รศ.พญ.เปรมจิต จันทองจีน
- 20 พฤศจิกายน 2558
- Tweet
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
- มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)
- ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact Dermatitis)
- ผื่นระคายสัมผัส (Irritant contact dermatitis)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
โรคสะเก็ดเงินคืออะไร?
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) หรือเดิมเรียกว่า ‘โรคเรื้อนกวาง’ คือโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งพบได้ประมาณ 1 - 3 % ของประชากรทั้งหญิงและชาย มีลักษณะเป็นผื่นปื้นแดง มีสะเก็ดเป็นขุยหนา มักเป็นสีเงินวาว จึงเป็นที่มาทำให้เรียกว่า “สะเก็ดเงิน” โดยผื่นมักอยู่บริเวณ ข้อศอก ข้อเข่า ผิวหนังส่วนแผ่นหลัง หรือกระจายบริเวณตามลำตัวของร่างกาย แขน ขา นอกจากนี้ยังพบผื่นขุยหนาบริเวณหนังศีรษะ และอาจพบความผิดปกติของเล็บร่วมด้วยได้
โรคสะเก็ดเงินเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนในการเกิดโรคสะเก็ดเงิน แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม หรือการติดเชื้อบางอย่างกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วกว่าปกติทำให้มีผื่นผิวหนังหนาลอกเป็นสะเก็ดและมีขุยได้
โรคสะเก็ดเงินมีผลต่อระบบอื่นของร่างกายหรือไม่?
โดยทั่วไปผู้ป่วยสะเก็ดเงินจะมีผื่นตามส่วนต่างๆของร่างกายเพียงอย่างเดียว มีเพียง 10 - 30% ของผู้ป่วยมีอาการทางข้อที่เรียกว่า ‘โรคปวดข้อสะเก็ดเงิน’ ร่วมด้วยได้กล่าวคือ มีการปวดตามข้อนิ้วมือ ปวดตามแนวกระดูกสันหลัง หรือปวดข้อสะโพกได้ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยสะเก็ดเงินมักมีโรคอ้วนลงพุง หรือ กลุ่มอาการเมตาโบลิก (Metabolic syndrome: โรค/กลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของร่างกาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง) ร่วมด้วย
ทั้งนี้ โรคสะเก็ดเงินสามารถวินิจฉัยจากการพบความผิดปกติมากกว่า 3 ใน 5 ข้อดังต่อไปนี้
- มีเส้นรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตรในผู้ชายและมากกว่า 80 เซนติเมตรในผู้หญิง
- มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท หรือได้รับยารักษาความดันโลหิตสูง
- มีระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือเป็นผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงและได้รับยาลดไขมันในเลือด
- มีระดับไขมันชนิดดี (HDL) น้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชายและน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง หรือเป็นผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงและได้รับยาลดไขมันในเลือด
- มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือเป็นผู้ที่ได้รับการวินิจ ฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
โรคสะเก็ดเงินทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่?
โดยทั่วไปผื่น/โรคสะเก็ดเงินไม่ทำให้ถึงตาย ยกเว้นในกรณีที่เป็นรุนแรงมีผื่นกระจายมากกว่า 90% ของพื้นที่ผิวของร่างกาย ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้จากผิวหนังติดเชื้อแบค ทีเรียรุนแรง
โรคสะเก็ดเงินติดต่อได้หรือไม่?
โรคสะเก็ดเงิน “ไม่ใช่โรคติดต่อ” ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ แต่ในกรณี ที่มีผื่นมากอาจมีขุยร่วงตามเก้าอี้ ที่นอน และรบกวนการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยได้
โรคสะเก็ดเงินสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปถึงลูกหรือไม่?
จากการศึกษาพบว่ามียีนส์/จีน (Gene) หลายตัวที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคสะเก็ดเงิน สามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้ และการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคสะเก็ดเงิน ลูกมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ประมาณ 14% แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคสะเก็ดเงิน ลูกมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ถึง 40%
โรคสะเก็ดเงินสามารถรักษาหายขาดได้หรือไม่?
เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะช่วยควบคุมโรคและช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
อาหารใดบ้างที่ควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยสะเก็ดเงิน?
โดยทั่วไป “เหล้า ไวน์ และอาหารหมักดอง จะสามารถกระตุ้นให้ผื่นผิวหนัง/โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้” ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจึงควรหลีกเลี่ยง
นอกจากนี้ยาบางชนิด เช่น ยาลิเทียม (Lithium), ยารักษาโรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่น, ยาลดความดัน กลุ่มเบต้าบล๊อกเกอร์ (Beta blocker) และยาลด/ต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์(เอ็นเสด:NSAID) ก็สามารถกระตุ้นให้โรคนี้กำเริบได้ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน
มีวิธีรักษาโรคสะเก็ดเงินอย่างไร?
การรักษาโรคสะเก็ดเงินขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเป็นหลัก
- ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง: การใช้ยาทาเฉพาะที่ที่ผื่นก็เพียงพอสำหรับการควบคุมโรคได้
- แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคปานกลางถึงรุนแรง: อาจมีความจำเป็นต้องใช้การรักษาอื่นร่วมด้วย เช่น
- การรับประทานยา เช่น ยา Methotrexate
- การฉายแสงอัลตร้าไวโอเลตเทียม (Phototherapy)
- การฉีดยากลุ่มชีวภาพ (Biologic drug) เป็นต้น
ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเหมาะสมในการรักษาแต่ละประเภทสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน
ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินควรดูแลตัวเองอย่างไร?
เนื่องจากความเครียด, การอดนอน, การติดเชื้อโรค, การเจ็บป่วย, การเกา, จะกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ และมีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และเมื่อมีการเจ็บป่วยติดเชื้อควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
นอกจากนี้ควรดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอด้วยการหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น, ควรเลือก ใช้สบู่ที่มีค่าความเป็นกรดด่าง(pH) 5 – 7, หลีกเลี่ยงสบู่ที่มีน้ำหอม, และทาครีมโลชั่นหรือน้ำมันให้ความชุ่มชื่นแก่ผิวหลังอาบน้ำทันทีซึ่งโดยทั่วไปแนะนำให้ทาครีมหลังอาบน้ำภายใน 3 นาที
สรุป
“โรคสะเก็ดเงิน” เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่ง ไม่ใช่โรคติดต่อ การมีความรู้ความเข้าใจ รวมถึงการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องของผู้ป่วยจะสามารถควบคุมโรคนี้ได้และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น