ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact Dermatitis)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 1 กันยายน 2564
- Tweet
- บทนำ
- โรคผื่นแพ้สัมผัสคืออะไร? เกิดได้อย่างไร?
- โรคผื่นแพ้สัมผัสติดต่ออย่างไร?
- โรคผื่นแพ้สัมผัสมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคผื่นแพ้สัมผัสได้อย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- รักษาโรคผื่นแพ้สัมผัสอย่างไร?
- โรคผื่นแพ้สัมผัสมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคผื่นแพ้สัมผัสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันโรคผื่นแพ้สัมผัสอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- ผื่นแพ้สัมผัสในเด็ก (Childhood contact dermatitis)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
- ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
บทนำ
โรคผื่นแพ้สัมผัส หรือชื่อทางการแพทย์ว่า Allergic Contact Dermatitis เป็นโรคผิวหนังที่พบ ได้บ่อย ในปี 1966 - 2007 (พ.ศ. 2509 - 2550) มีการศึกษาอัตราการเกิดในกลุ่มประเทศอเมริกา เหนือและยุโรปตะวันตก พบว่าประชากร 21.2% เคยมีอาการผื่นแพ้สัมผัส
โรคผื่นแพ้สัมผัสคืออะไร? เกิดได้อย่างไร?
โรคผื่นแพ้สัมผัสคือ โรคผื่นผิวหนังที่ก่อการอักเสบและอาการคัน โดยเป็นปฏิกิริยาทางภูมิ คุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่อสารที่ก่ออาการแพ้/สารก่อภูมิแพ้ต่อผิวหนัง โดยการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ครั้งแรกนั้นจะยังไม่เกิดอาการผื่นแพ้สัมผัส แต่จะเป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันฯของร่าง กายให้เกิดการรู้จักและจดจำสารนั้นๆไว้ ครั้งต่อๆไปเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้นๆก็จะเกิดปฏิกิริยาผื่นแพ้สัมผัสขึ้นกับผิวหนังส่วนที่แพ้สารก่อภูมิแพ้นั้นๆ
โดยผิวของคนเราสามารถแพ้สารก่อภูมิแพ้ได้หลายชนิด ปัจจุบันได้มีการรายงานรายชื่อสารที่ทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัสไว้ถึงประมาณ 3,700 รายการ
โรคผื่นแพ้สัมผัสติดต่ออย่างไร?
โรคผื่นแพ้สัมผัสนี้มิใช่โรคติดต่อ จึงไม่ติดต่อบุคคลอื่นทุกวิถีทางเช่น การสัมผัสผื่น สัมผัสตัวผู้เป็นโรคหรือทางการหายใจ ไอ จาม การใช้ของใช้ร่วมกัน การกินอาหารร่วมกัน เพศสัมพันธ์ หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
โรคผื่นแพ้สัมผัสมีอาการอย่างไร?
ผื่นแพ้สัมผัสมักพบบริเวณใบหน้า มือ เท้า เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีการสัมผัสกับสารก่อภูมิ แพ้ได้บ่อย แต่ก็สามารถเกิดได้กับผิวหนังทุกบริเวณ ตัวอย่างเช่น ผื่นแพ้สัมผัสบริเวณรอบตาที่เกิดจากการแพ้เครื่องสำอางทาตา ผื่นแพ้สัมผัสที่ริมฝีปากจากการแพ้ลิปสติก เป็นต้น
อาการของผื่นแพ้สัมผัสนั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยโรคระยะเริ่มแรก ผิวหนังที่สัมผัสสารก่อภูมิแพ้จะมีผื่น แดง คัน ผิวหนังบวมคัน ต่อมาเกิดเป็นตุ่มน้ำใส ต่อมาอาการบวมลดลง ตุ่มน้ำแตก ออก แห้ง กลายเป็นผื่นที่ตกสะเก็ด สุดท้ายหากกลายเป็นผื่นแพ้สัมผัสเรื้อรัง ผิวหนังส่วนเป็นผื่นจะหนาขึ้น แห้ง คัน และเป็นสะเก็ด
แพทย์วินิจฉัยโรคผื่นแพ้สัมผัสได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคผื่นแพ้สัมผัสได้จาก
- อาการ การสอบถามประวัติการสัมผัสสารเคมี/สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจรอยโรค และยืนยันการเป็นโรคผื่นแพ้สัมผัสได้โดยการตรวจ วิธีเฉพาะที่เรียกว่าการทำ “Patch Test” คือการตรวจโดยให้ผิวหนังสัมผัสสารที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของอาการแพ้/เป็นสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ จากนั้นดูปฏิกิริยาของผิวหนังว่าเกิดอาการแพ้ คือขึ้นผื่นแพ้สัมผัสหรือไม่
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
หากมีผื่นผิวหนังที่มีสีแดง คัน ที่เกิดบ่อยๆ และ/หรือที่สงสัยว่าเกิดจากผื่นแพ้สัมผัส สามารถ พบแพทย์/แพทย์ผิวหนัง/ไปโรงพยาบาลเพื่อการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาได้เสมอ
รักษาโรคผื่นแพ้สัมผัสอย่างไร?
การรักษาหลักในโรคผื่นแพ้สัมผัสที่สำคัญคือ การเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดการแพ้/สารก่อภูมิ แพ้ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่แพ้โลหะนิกเกิล (Nickel, โลหะสีเงินที่ใช้เคลือบเครื่องประดับ) ก็ควรเลี่ยงการสัมผัสโลหะนิกเกิลที่อยู่ในเครื่องประดับนั้นๆเช่น ตุ้มหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล หัวเข็มขัด กระดุม
นอกจากนั้น ผื่นแพ้สัมผัสที่เกิดขึ้นจะมีอาการคัน การรักษาอาการคันคือ รักษาตามอาการ ด้วยการให้ทายาสเตียรอยด์ที่บริเวณรอยผื่น และให้รับประทานยาแก้แพ้ในกลุ่ม Antihistamine
โรคผื่นแพ้สัมผัสมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผื่นแพ้สัมผัสที่เกิดขึ้นมักมีอาการคัน หากมีการเกาอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ซ้อนขึ้นมาได้เช่น เกิดหนอง เป็นต้น
โรคผื่นแพ้สัมผัสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โรคผื่นแพ้สัมผัสมีการพยากรณ์โรคที่ดี ไม่ทำให้ตาย และหากสามารถหลีกเลี่ยงสารที่แพ้/สารก่อภูมิแพ้ได้ ก็จะไม่มีอาการของผื่นแพ้สัมผัสเกิดขึ้น โรคจะหายได้ แต่ถ้ายังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้อยู่ก็สามารถเกิดโรคผื่นแพ้สัมผัสกลับคืนมาได้ตลอดเวลา
นอกจากนั้น เมื่อปล่อยให้สัมผัสสารก่อภูมิแพ้เรื้อรังโดยไม่หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้นั้น โรคมักรุนแรงขึ้นและรักษาได้ยากขึ้น
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคผื่นแพ้สัมผัสที่สำคัญคือ
ในผู้ที่ทราบอยู่แล้วว่าตนเองแพ้สารใดควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารนั้น เช่น ผู้ที่แพ้โลหะนิกเกิลควรสวมใส่เครื่องประดับที่ทำจากโลหะอื่นแทนเช่น เงิน เป็นต้น
นอกจากนั้น ผู้เป็นโรคนี้ทุกคน ทั้งที่รู้ว่าแพ้สารอะไรหรือไม่รู้ว่าแพ้สารอะไร ต้องสังเกตตน เอง เมื่อมีการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ใหม่หรือมีกิจกรรมที่สัมผัสสารเคมีเช่น การล้างห้องน้ำ การทำ งานอดิเรกต่างๆ (เช่น ปลูกต้นไม้) ว่ามีอาการผื่นแพ้สัมผัสเกิดขึ้นหรือไม่ เพื่อให้รู้ว่าแพ้สารอะไร หรือแพ้สารอะไรเพิ่มเติม จะได้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเหล่านั้นได้
อนึ่ง ขณะเกิดผื่นแพ้สัมผัส การดูแลตนเองคือ
- ต้องพยายามไม่เกาผื่น เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผื่น (แผลเกิดหนอง) ซึ่งการดูแลตนเองได้แก่ การรักษาความสะอาดเล็บและตัดเล็บให้สั้น
- ถ้าคันมาก ใช้การประคบเย็นที่รอยโรคจะช่วยลดอาการคันลงได้
- ลดการระคายเคืองต่อรอยโรคโดยการใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำและผลิตภัณฑ์ซักเสื้อผ้าเครื่อง ใช้ชนิดที่อ่อนโยนเช่น ชนิดที่ใช้กับเด็กอ่อน
- รักษาความชุ่มชื้นของรอยโรคด้วยการใช้โลชั่นสำหรับผิวที่แพ้ง่าย
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่ก่อการระคายผิวหนังหรือที่ไม่ทำให้เหงื่อออกมากเช่น เสื้อผ้าที่หลวม ไม่รัดตัวเกินไป และเป็นผ้าฝ้าย
- รู้จักใช้ถุงมือยาง รองเท้ายาง เมื่อต้องทำงานสัมผัสสารเคมี
- พบแพทย์ตามนัด/ไปโรงพยาบาลเสมอกรณีแพทย์นัด
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
หลังรับการรักษาและเลี่ยงสารที่เป็นสาเหตุ/สารก่อภูมิแพ้แล้ว หากอาการผื่นยังลุกลามมากขึ้นหรือรอยโรคเกิดหนอง ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาเพิ่มเติม
ป้องกันโรคผื่นแพ้สัมผัสอย่างไร?
การป้องกันผื่นแพ้สัมผัสทำได้โดย
- กรณีรู้ว่าอะไรคือสารก่อภูมิแพ้สำหรับตน ก็ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ
- กรณีไม่รู้ว่า อะไรคือสารก่อภูมิแพ้หรือเป็นสารก่อภูมิแพ้ตัวใหม่ ก็ต้องคอยสังเกตเสมอว่า ตนจะแพ้อะไรเช่น กรณีเปลี่ยนยี่ห้อเครื่องสำอาง สบู่ แป้ง สารทำความสะอาดบ้าน น้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ฯลฯ เพื่อการหลีกเลี่ยง
- กรณีมือ เท้า ต้องสัมผัสสารเคมีต่างๆ ควรป้องกันด้วยการใช้ถุงมือยาง รองเท้ายาง
- เมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือสารเคมี ควรต้องรีบล้างออกให้เร็วที่สุด
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ ซักผ้า ที่อ่อนโยนต่อผิวเช่น สำหรับเด็กอ่อนหรือที่ไม่ใส่สารกันบูด
- บำรุงรักษาผิวหนังให้มีสุขภาพที่ดีด้วยการทำความสะอาดด้วยสบู่ที่อ่อนโยนและใช้ครีมบำรุงผิวที่อ่อนโยนเช่นกัน เช่น สำหรับที่ใช้กับเด็กอ่อน
บรรณานุกรม
- ปรียากุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:ชื่อบท.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555 อภิชาติ ศิวยาธร . โรคผิวหนังต้องรู้สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป . พิมพ์ครั้งที่ 5 .สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
- Lowell A. Goldsmith,Stephen I. Katz,Barbara A. Gilchrest,Amy S. Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick’s dermatology in general medicine :chapter.eight edition.McGraw-Hill.2012
- https://www.healthline.com/health/allergies/contact-dermatitis [2021,Sept4]