ไดซัลฟิแรม (Disulfiram)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 เมษายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ไดซัลฟิแรมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ไดซัลฟิแรมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไดซัลฟิแรมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไดซัลฟิแรมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไดซัลฟิแรมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไดซัลฟิแรมอย่างไร?
- ไดซัลฟิแรมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไดซัลฟิแรมอย่างไร?
- ไดซัลฟิแรมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ฟอสแอมพรีนาเวียร์ (Fosamprenavir)
- ยาแก้ไอ (Tips cough)
- เซทิไรซีน (Cetirizine)
- เมโทรนิดาโซล (Metronidazole)
- โรคพิษสุรา (Alcoholism หรือ Alcohol use disorder)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
บทนำ: คือยาอะไร?
ไดซัลฟิแรม (Disulfiram) คือ ยาที่นำมาบำบัดการติดสุราเรื้อรัง ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) จากนั้นเป็นเวลาอีก28 ปีจึงค้นพบฤทธิ์ที่เป็นสรรพคุณของการรักษา โดยมีกลไกที่ไม่ค่อยซับซ้อนเท่าไรนักกล่าวคือ ยาไดซัลฟิแรมจะออกฤทธิ์มิให้ร่างกายทำลายแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดได้ทำให้พิษของแอลกอฮอล์อยู่ในร่างกายได้นานขึ้น ผลที่ตามมาจะทำให้ผู้ที่รับประทานยานี้ได้รับผลข้างเคียงของแอลกอฮอล์ได้เป็นเวลาที่ยาวนานและรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจึงเบื่อหน่ายในฤทธิ์ของสุราและค่อยๆปรับตัวจนเลิกรับประทานไปเอง
รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาไดซัลฟิแรมที่ใช้กันแพร่หลายจะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยามีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารอย่างช้าๆ ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาในกระ แสเลือดไปเป็นสารออกฤทธิ์ที่มีชื่อว่า Diethyldithiocarbamate ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 60 - 120 ชั่วโมงในการกำจัดยาไดซัลฟิแรมจำนวน 50% ออกจากกระแสเลือด
การใช้ยาไดซัลฟิแรมกับผู้ป่วยไปนานๆจะไม่ก่อให้เกิดอาการดื้อยาแต่อย่างใด แพทย์จะไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งดื่มสุราภายใน 12 ชั่วโมงที่ผ่านมา และก่อนการใช้ยาต้องชี้แจงกับผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการรักษาด้วยความตั้งใจ
ทั้งนี้มีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถใช้ยาไดซัลฟิแรมกับผู้ป่วยได้ เช่น
- ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้หรือแพ้ยาที่กระตุ้นการแพ้เหมือนยาไดซัลฟิแรม เช่น ยากลุ่ม Cephalosporins อย่างเช่นยา Cefoperazone, Cefamandole และ Cefotetan
- ผู้ป่วยอยู่ในภาวะเมาสุราและไม่มีสติสัมปชัญญะในการรับรู้
- เป็นผู้ป่วยมีโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรง, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดบริเวณหัวใจทำงานผิดปกติ หรือผู้ที่มีอาการทางจิตประสาท
- ผู้ป่วยมีการรับประทานยาบางชนิดในขณะนั้น เช่นยา Metronidazole, ยาน้ำเชื่อมแก้ไอบางประเภท อาทิยา Coldene Cough Syrup 15%, ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างเช่นยา Warfarin, ยากลุ่ม Benzodiazepines เช่นยา Alprazolam
- เป็นกลุ่มผู้ป่วย เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) วัยรุ่น สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
อนึ่งเมื่อมีการสั่งจ่ายยาไดซัลฟิแรมให้กับผู้ป่วย แพทย์จะให้คำแนะนำเพิ่มเติมพร้อมกับข้อควรระวังในระหว่างการใช้ยานี้โดยจะคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับสูงสุด เช่น
- หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆด้วยตัวยาอาจก่อให้เกิดอาการง่วงนอนซึ่งจะส่งผลต่อการขับขี่จนอาจเกิดอันตรายได้
- หลังใช้ยานี้แล้วพบอาการ ตัวเหลือง- ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีคล้ำ เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งเป็นอาการที่ผิดปกติอันเนื่องมาจากตับ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
- กรณีที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือเข้าคลินิกทันตกรรมจะต้องแจ้งให้แพทย์/ทันตแพทย์ทราบด้วยว่าตนเองใช้ยาไดซัลฟิแรมอยู่
- ระหว่างการใช้ยานี้ ต้องหลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยเด็ดขาด
สำหรับประเทศไทยเราโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ยาไดซัลฟิแรมเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยอยู่ในหมวดของยาอันตราย การใช้ยาจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วย/ผู้บริโภคไปซื้อหายามารับประทานเองโดยเด็ดขาด
หมายเหตุ: ในต่างประเทศยาชื่อการค้าของยานี้คือ Antabuse, Antabus
ไดซัลฟิแรมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไดซัลฟิแรมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการติดสุราเรื้อรัง
ไดซัลฟิแรมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดซัลฟิแรมคือ ตัวยาจะเข้าปิดกั้นและออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Aldehyde dehydrogenase ทำให้กลไกในการทำลายแอลกอฮอล์ในเลือดลดน้อยลงไป ส่งผลให้ร่างกายตอบสนองต่อฤทธิ์ของแอลกอฮอล์รุนแรงขึ้น แม้แต่การรับประทานแอลกอฮอล์เพิ่มเข้าไปเล็กน้อยก็จะกระตุ้นให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับพิษจากแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น จากกลไกเหล่านี้ ทำให้ผู้ที่ติดสุราเกิดความกลัวที่จะดื่มสุราจึงลดปริมาณการดื่มลง จนเป็นที่มาของสรรพคุณ
ไดซัลฟิแรมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไดซัลฟิแรมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 และ 500 มิลลิ กรัม/เม็ด
ไดซัลฟิแรมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไดซัลฟิแรมมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทาน 500 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 1 - 2 สัปดาห์จนผู้ป่วยงดดื่มแอล กอฮอล์ ขนาดยาที่ใช้คงระดับการรักษารับประทาน 250 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 6 เดือน - 1 ปีโดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ และขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงผลข้างเคียงและความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ ในเด็กจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*อนึ่ง:
- การรับประทานยาไดซัลฟิแรมจะเริ่มได้เมื่อมีการหยุดดื่มสุราอย่างน้อย 12 ชั่วโมงไปแล้ว
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไดซัลฟิแรม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจ/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดซัลฟิแรมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือทางรก และเข้าสู่ทารกจนเกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไดซัลฟิแรม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไดซัลฟิแรมให้ตรงเวลาเสมอ
ไดซัลฟิแรมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไดซัลฟิแรมก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ประสาทตาอักเสบ
- ปลายประสาทอักเสบ/โรคเส้นประสาท
- ตับอักเสบ
- ตับหยุดหลั่งน้ำดี
- อาจเกิดอาการแพ้ทางผิวหนัง/ผด-ผื่นตามผิวหนัง
- ง่วงนอน
- อ่อนเพลีย
- ปวดหัว
- เกิดสิว
- การรับรสชาติเปลี่ยนไป
- อาจเกิดภาวะทางจิตผิดปกติขึ้นได้
มีข้อควรระวังการใช้ไดซัลฟิแรมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไดซัลฟิแรม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาไดซัลฟิแรมในขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาต่อไปนี้ เช่นยา Metronidazole, Paraldehyde หรือเพิ่งดื่มแอลกอฮอล์ หรือได้รับยาที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบแม้เพียงเล็กน้อยก็ตามอย่างเช่น ยาแก้ไอชนิดน้ำ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรงรวมถึงโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดแดงในบริเวณหัวใจทุกกรณี
- ญาติควรให้กำลังใจและสนับสนุนชักจูงโน้มน้าวให้ผู้ป่วยลด-ละ-เลิกการดื่มสุราพร้อมทั้งจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดจากสุรา
*อนึ่ง กรณีที่รับประทานยาไดซัลฟิแรมไปแล้วและมีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มหรือรับประทานยาที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ จะทำให้ร่างกายได้รับพิษจากแอลกอฮอล์มากขึ้น โดยอาจมีอาการ เช่น ใบหน้าแดง ปวดตุบๆในศีรษะ-คอ อึดอัด/หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออกมาก กระหายน้ำ เจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็วอาจหยุดหายใจ ความดันโลหิตต่ำ ตาพร่า รู้สึกสับสน ซึ่งหากมีอาการรุนแรงมากอาจทำให้หลอดเลือดบริเวณหัวใจทำงานล้มเหลวและเต้นผิดจังหวะ หมดสติ มีอาการชัก เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว จนถึงขั้นตายได้ในที่สุด ดังนั้นผู้ป่วยและครอบครัวต้องตระหนักอย่างที่สุดถึงผลข้อนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไป
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- หากพบอาการแพ้ยานี้ควรส่งตัวผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อประเมินสภาพและอาการของผู้ป่วยว่าดีขึ้นเป็นลำดับหรือไม่ เพื่อการรักษาที่เหมาะสม
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไดซัลฟิแรมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไดซัลฟิแรมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไดซัลฟิแรมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาไดซัลฟิแรม ร่วมกับยาต้านไวรัส Amprenavir/ Fosamprenavir ชนิดน้ำด้วยในสูตรตำรับ Amprenavir มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาไดซัลฟิแรมมากยิ่งขึ้น
- การใช้ยาไดซัลฟิแรม ร่วมกับยา Cetirizine อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงได้มากขึ้น เช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไดซัลฟิแรม ร่วมกับยา Theophylline อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยา Theophylline มากยิ่งขึ้นเช่น คลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ ไม่ก็เกิดอาการลมชัก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาไดซัลฟิแรม ร่วมกับยา Lovastatin จะเพิ่มความเสี่ยงเกิดการทำลายของเส้นประสาท กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาไดซัลฟิแรมอย่างไร?
ควรเก็บยาไดซัลฟิแรม:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไดซัลฟิแรมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไดซัลฟิแรม มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Alcobuse (อัลโคบิวส์) | T.O. Chemicals |
Anta-al (แอลตา-ออล) | T. Man Pharma |
Antinol (แอนทินอล) | Charoen Bhaesaj Lab |
Chronol (โครนอล) | Charoon Bhesaj |
Difiram (ไดฟิแรม) | Central Poly Trading |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/mtm/disulfiram.html [2022,April2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Disulfiram [2022,April2]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=disulfiram [2022,April2]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/disulfiram-index.html?filter=3&generic_only= [2022,April2]