ฟอสแอมพรีนาเวียร์ (Fosamprenavir)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 30 มกราคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือยาอะไร?
- ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยายาฟอสเแอมพรีนาเวียร์อย่างไร?
- ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาฟอสเแอมพรีนาเวียร์อย่างไร?
- ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ฟอสแอมพรีนาเวียร์ (Fosamprenavir)
- เอดส์ (AIDS)
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส โรคติดเชื้อซีเอมวี (Cytomegalovirus infection: CMV infection)
- ยาต้านไวรัสพีไอ (PIs: Protease inhibitors)
- ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Agent)
- ยาต้านเอชไอวี ยาสูตรฮาร์ท (HAART: Highly Active Antiretroviral Therapy)
บทนำ:คือยาอะไร?
ฟอสเแอมพรีนาเวียร์ (Fosamprenavir) คือ ยาต้านเอชไอวี (HIV) ยาฟอสแอม พรีนาเวียร์อยู่ในรูปโปรดรัก (Prodrug) หมายถึง โมเลกุลของยาที่ถูกดัดแปลงให้อยู่ในรูปยาที่ยังไม่ออกฤทธิ์ แต่เมื่อโมเลกุลยาถูกทำปฏิกิริยาภายในร่างกาย ยาจะสามารถมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา/ออกฤทธิ์และมีผลในการรักษาต่อไปได้ ดังนั้นเมื่อยาฟอสแอมพรีนาเวียร์เข้าสู่ร่างกายและถูกร่าง กายเปลี่ยนแปลงสภาพให้อยู่ในรูปยาแอมพรีนาเวียร์ (Amprenavir) ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส (Protease enzyme) ของเชื้อเอชไอวี ซึ่งเอนไซม์โปรติเอสเป็นตัวตั้งต้นของโปรตีนของเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดหนึ่ง (มีชื่อว่า Gag-pol polyprotein) ที่ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสเอชไอวี ยานี้จะส่งผลทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวีไม่สามารถเพิ่มจำนวน (Viral load) ในร่างกายได้ เนื่องจาก เชื้อไวรัสเอชไอวีมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ (Immature virion) จึงอยู่ในสภาวะที่ไม่พร้อมต่อการเพิ่มจำนวน ดังนั้นเมื่อยานี้เข้าสู่ร่างกายจะมีผลทำให้เชื้อเอชไอวีไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้
ข้อควรระวังในการใช้ยาต้านเอชไอวีกลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์/ ยาต้านไวรัสพีไอ (Protease Inhibitors; PIs) คือ การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction หมายถึง เมื่อใช้ยาในกลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์นี้ต้องระมัดระวังการใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วย เนื่องจากยาที่นำมาใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสกลุ่มนี้ อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อกันกับยาต้านไวรัสเอชไอวีที่กำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ระดับยาต้านไวรัสที่ใช้อยู่ก่อนหรือยาอื่นที่นำมาใช้ร่วม มีระดับยาในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นหรือลดลงได้ ดังนั้นจึงควรตรวจสอบรายการยาที่ผู้ป่วยได้รับเสมอว่ามีปัญหาดังกล่าวนี้หรือไม่ เพราะหากยาที่ได้รับร่วม ส่งผลทำให้ระดับยาต้านไวรัสเอชไอวีลดลงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีได้ หรือหากยาที่ได้รับร่วมส่งผลทำให้ระดับยาต้านไวรัสเอชไอวีเพิ่มสูง ขึ้นก็อาจจะส่งผลทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากยาต้านไวรัสเอชไอวีสูงขึ้นได้เช่นกัน
ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาฟอสแอมพรีนาเวียร์:
- ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีในผู้ใหญ่และในเด็กอายุ6เดือนขึ้นไปโดยใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดอื่นๆอีก 2 ชนิด เช่นยา เอฟฟาไวเลนซ์ (Efavirenz) และ ริโทรนาเวียร์ (Ritronavir)
ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาฟอสแอมพรีนาเวียร์จัดเป็นยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral agent) ที่อยู่ในรูปโปรดรัก ซึ่งจะถูกเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปตัวยาแอมพรีนาเวียร์ที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้ง/ต้านการทำงานของเอนไซม์โปรติเอส (Protease Inhibitor) ได้ ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวเป็นตัวตั้งต้นของโปรตีนชนิดหนึ่ง (มีชื่อว่า Gag-pol polyprotein) ซึ่งเป็นโปรตีนใช้ในการสร้างเชื้อเอชไอวี ดังนั้นหากยาฟอสแอมพรีนาเวียร์เข้าสู่ร่างกาย ยานี้จะส่งผลยับยั้งเอนไซม์โปรติเอสของเชื้อไวรัสทำให้การสร้างส่วนประกอบโปรตีนของไวรัสเอชไอวีไม่สมบูรณ์ (Immature virion) ส่งผลทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวีไม่สามารถสร้างเชื้อไวรัสฯเพิ่มได้เพราะมีโครงสร้างหรือส่วนประกอบที่ยังเจริญไม่เต็มที่
ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาฟอสแอมพรีนาเวียร์:
- ยาน้ำแขวนตะกอน ความแรง 50 มิลลิ กรัมต่อ 1 มิลลิลิตร
- ยาเม็ด 700 มิลลิกรัมต่อเม็ด
ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาเช่น
ก. วิธีการรับประทานยา:
- วิธีการรับประทานยาเม็ดฟอสแอมพรีนาเวียร์สามารถรับประทานได้ทั้งขณะท้องว่าง/ก่อนอาหารและหลังอาหาร
- วิธีการรับประทานยาน้ำแขวนตะกอนฟอสแอมพรีนาเวียร์กรณีผู้ป่วยเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) แนะนำให้รับประ ทานยาน้ำแขวนตะกอนดังกล่าวพร้อมอาหารหรือหลังอาหาร โดยควรเขย่ายาให้เป็นเนื้อเดียวกันก่อนรับประทานยา
- วิธีการรับประทานยาน้ำแขวนตะกอนฟอสแอมพรีนาเวียร์กรณีผู้ป่วยผู้ใหญ่ แนะนำให้รับ ประทานยาน้ำแขวนตะกอนดังกล่าวขณะท้องว่างหรือก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที โดยควรเขย่ายาให้เป็นเนื้อเดียวกันก่อนรับประทานยา
- กรณีเกิดการอาเจียนภายใน 30 นาทีหลังการรับประทานยา แนะนำให้รับประทานยามื้อนั้นใหม่อีกครั้งในขนาดยาเท่าเดิม
ข. ขนาดยาและการปรับขนาดยา:
- เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน: ยาไม่ได้รับการรับรองให้ใช้เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลขนาดยาที่เหมาะสมและไม่มีข้อมูลความปลอดภัย
- เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปและผู้ใหญ่: ขนาดยาที่พิจารณาให้จะขึ้นกับน้ำหนักตัวเด็ก, ประวัติการได้รับยากลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์ในอดีต (Protease inhibitor-naïve or experienced patient) และยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดอื่นๆที่ใช้ร่วมในสูตร โดยขนาดยาสูงสุดคือ 2,800 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนดขนาดยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
ค. ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง:
ไม่ต้องปรับขนาดยานี้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง สามารถใช้ขนาดยาปกติที่ผู้ ป่วยได้รับเนื่องจากยานี้ถูกขจัดทางตับเป็นหลัก
ง. ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง:
การปรับขนาดยานี้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องระดับน้อย - รุนแรง ขนาดยาที่แนะนำขึ้นกับระดับการทำงานบกพร่องของตับ ยาอื่นที่ใช้ร่วม และประวัติการได้รับยากลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์ในอดีต ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนดขนาดยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึก ษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- ควรแจ้งประวัติโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟอสแอมพรีนาเวียร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย หากเจ็บป่วยเล็กน้อยและต้องการซื้อยาเพื่อบรรเทาอาการด้วยตัวเอง ควรแจ้งเภสัชกรก่อนทุกครั้งว่า ท่านกำลังรับประทานยาฟอสแอมพรีนาเวียร์อยู่รวมถึงยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดอื่นๆในสูตรยาที่บริโภคอยู่ เนื่องจากยาฟอสแอมพรีนาเวียร์และยาต้านไว รัสชนิดอื่นๆสามารถเกิดปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นๆได้หลายชนิด
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดสำหรับความปลอดภัยในการใช้ยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์และการผ่านของยานี้ทางน้ำนม จึงพิจารณาใช้ยาแอมพรีนาเวียร์ในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตรเฉพาะกรณีแพทย์ผู้รักษาเห็นประโยชน์มีมากกว่าความเสี่ยง (ผลข้างเคียง) เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามเพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ยังไม่แนะนำให้หญิงที่กำลังได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีอยู่ให้นมบุตร
- แจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากช่วงที่ผ่านมาลืมกินยานี้/ไม่ได้รับยานี้หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถรับประทานยานี้ได้อย่างสม่ำเสมอทุกวันได้ เนื่องจากยาฟอสแอมพรีนาเวียร์เป็นยาจำเป็นที่ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาอย่างเคร่งครัดทุกวัน
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
การรับประทานยาฟอสแอมพรีนาเวียร์มีรูปแบบการรับประทานทั้งแบบวันละ 1 ครั้งและวันละ 2 ครั้ง (ห่างกันทุก 12 ชั่วโมง) ขึ้นกับคำสั่งของแพทย์ สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกวันเพื่อให้ระดับยาในร่างกายคง ที่และมีประสิทธิภาพลดโอกาสการเกิดเชื้อดื้อยา
- กรณีวิธีการรับประทานยาเพียงวันละ 1 ครั้ง: ควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน กรณีลืมรับประทานยาให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประ ทานยามื้อถัดไป (วันถัดไป) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า เช่น ปกติรับประทานยาเวลา 8.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 15.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 22.00 น.ของวันนั้น ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติช่วงเวลาเดิมได้เลย โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม
- กรณีลืมรับประทานยาและมีวิธีการรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อ) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาเวลา 00 น. และ 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. โดยนึกขึ้นได้ตอนเวลา 12.00 น. (เกินกว่าเวลาปกติที่รับประทานยา 4 ชั่วโมง) ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันที ณ เวลาที่นึกขึ้นได้ จากนั้นเมื่อถึงเวลา 20.00 น. ให้รับประทานยามื้อ 20.0 น.ในขนาดปกติ แต่ถ้าหากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ในช่วงเวลาที่นานเกินกว่า 6 ชั่วโมงของเวลาปกติแล้ว ให้รอรับประทานยามื้อต่อไปโดยข้ามยามื้อที่ลืมไป และรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดปกติ (ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือนำยามื้อที่ลืมไปมารับประทานด้วย)
อนึ่ง การรับประทานยาต้านไวรัสทุกชนิดรวมถึงยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ที่ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ระดับยาในเลือดอยู่ในระดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยามีขนาดต่ำเสมือนเป็นการกระตุ้นให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์เป็นสาเหตุของการดื้อยาในเวลาต่อมา
ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ของยาฟอสแอมพรีนาเวียร์พบได้บ่อยเช่น ภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) โดยมีค่าไตรกลีเซอไรด์, คอเลสเตอรอลเพิ่มสูงขึ้น อาการของทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นคัน และอาการปวดหัว
การใช้ยากลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์/ยาต้านไวรัสพีไอ (Protease inhibitor) มักสัมพันธ์กับการเกิดเลือดออกเพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลีย (Hemophilia) และภาวะ Immune Reconstitution Syndrome ซึ่งคือในผู้ป่วยเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีหลายชนิดร่วมกันในช่วงต้นของการรักษา เพราะยาสามารถลดปริมาณเชื้อไวรัสลง ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายสามารถตอบ สนองได้ดีขึ้น ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดตอบสนองแบบเกิดการอักเสบต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสที่แฝงอยู่ในร่างกายเช่น การติดเชื้อ Mycobacterium avium (การติดเชื้อฉวยโอกาสชนิดหนึ่งที่มักเกิดติดเชื้อที่ปอดและที่ลำไส้), การติดเชื้อ Cytomagalovirus (โรคติดเชื้อซีเอมวี)
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ระวังการใช้ยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มซัลฟา (Sulfonamide group, Sulfa drug) และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากรณีเคยเกิดอาการแพ้ยากลุ่มซัลฟารุนแรง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาการใช้ยาเป็นกรณีไป
- ระวังการใช้ยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานเนื่องจากยานี้สามารถทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycmia) ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาปรับขนาดยาเช่น ยาเบาหวาน เป็นกรณีไป
- ห้ามใช้ยาฟอสแอมพรีนาเวียร์คู่กับยาดังต่อไปนี้ เนื่องจากอาจเกิดอันตรกิริยารุนแรงถึงแก่ชีวิต (ตาย) ได้ได้แก่ อาฟูโซซิน (Alfuzosin: ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต), อะมิโอดาโลน (Amiodarone: ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ), อะพิกซาแบน (Apixaban: ยาต้านการแข็งตัวของเลือด), ควินิดีน (Quinidine: ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ), ฟูซิดิกเอซิด (fusidic acid: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย), โวลิโคนาโซล (Voriconazole: ยาต้านเชื้อรา), แอสทิมีโซล (Astemizole: ยาแก้แพ้), เทอร์ฟีนีดีน(Terfenadine: ยาแก้แพ้), โบรนาซีลีน (Blonaserin: ยารักษาทางจิตเวช), Ergot derivetives (ยาที่มีส่วนผสมของ Ergot ประกอบด้วย Ergatamine/เออกาตามีน: ยารักษาไมเกรน, Ergono vine/เออร์โกโนวีน: ยาบีบมดลูก, Methylergonovine/เมททิวเออร์โกโนวีน: ยาบีบมดลูก), ซิสซาพาย (Cisapide: ยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้), สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ธ ( John's wort: สมุนไพรคลายเครียด), โลวาสสะตาติน (Lovastatin: ยาลดไขมันในเลือด), ซิมวาสสะตาติน (Simvastatin: ยาลดไขมันในเลือด), เซาเมทารอล (Salmeterol: ยาขยายหลอดลม), พิโมซายด์ (Pimozide: ยาต้านโรคจิต/ยารักษาทางจิตเวช ), ซิเดนาฟิว (Sidena fil: ยารักษาภาวะ Pulmonary Hypertension และภาวะนกเขาไม่ขัน), ไมด้าโซแลม (Midazolam: ยาสงบระงับประสาท/ยาคลายเครียด/ยานอนหลับ), ไตรอะโซแลม (Triazolam: ยาสงบระงับประ สาท/ยานอนหลับ)
- การใช้ยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนอาจส่งผลเกิดพิษต่อตับ(ตับอักเสบ) และยาต้านไวรัสเอชไอวีรวมยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ด้วย สามารถส่งผลลดประสิทธิ ภาพในการคุมกำเนิดของยาเม็ดคุมกำเนิด ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อร่วมหาวิธีการคุมกำ เนิดที่เหมาะสมในช่วงที่ได้รับยาฟอสแอมพรีนาเวียร์
- ทุกครั้งที่มีการใช้ยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ คู่กับยาชนิดอื่นๆควรตรวจสอบอันตรกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆเพี่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งหากจำเป็นต้องใช้ยาที่มีอันตรกิริยาซึ่งกันและกัน แพทย์จะพิจารณายาทางเลือกอื่นที่มีโอกาสในการเกิดอันตรกิริยาลดลง
- ปฏิกิริยาการแพ้ยา: มีรายงานการเกิดลมพิษ การเกิดผื่นที่ผิวหนังในระดับไม่รุนแรง หลอด ลมหดเกร็ง/หายใจลำบาก และ แองจิโออีดีมา (Angioedema: ผื่นภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง) มีรายงานการเกิดปฏิกิริยาภูมิ แพ้รุนแรง แอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) และสตีเวน จอห์นสัน ซินโดรม (Stevens-Johnson Syndrome) น้อยมาก แต่หากเกิดผื่นรุนแรงหรือมีผื่นระดับปานกลางร่วมกับอาการทางคลินิกอื่นๆ แนะนำให้หยุดใช้ยานี้แล้วรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ปฏิกิริยาต่อตับ: ยานี้จะถูกเมเทบอไลซ์ (Metabolite, การเปลี่ยนแปลงทางเคมี) และกำจัดผ่านตับเป็นหลัก จึงควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องปานกลางถึงรุนแรง พบว่าการใช้ยาฟอสแอมพรีนาเวียร์อาจทำให้เกิดภาวะ Transaminitis (ภาวะมีค่าเอน ไซม์ Transaminase ที่บอกการทำงานของตับ AST/Aspartate aminotransferase และ ALT/ Alanine transaminase เพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 5 เท่าของระดับสูงสุดที่มีได้ตามปกติจากการตรวจเลือด) ที่ก่อให้เกิดอาการของภาวะตับอักเสบ
- ยานี้สามารถทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis: ระดับเอนไซม์อะไมเลส/Amy lase และไลเปส/Lipase เพิ่มสูงขึ้นจากการตรวจเลือด) ร่วมกับมีอาการทางคลินิกเช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง หากเกิดภาวะนี้แล้วควรรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินซึ่งแพทย์อาจจำเป็นที่ต้องประเมินเพื่อหยุดการใช้ยานี้
- นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติในการกระจายตัวของมวลไขมันโดยอาจมีภาวะไขมันฝ่อตัว (Lipoatrophy) มักพบไขมันฝ่อตัวบริเวณใบหน้า, แขน, ขา หรือก้น และอาจพบไขมันพอกตัวผิด ปกติโดยพบก้อนไขมันพอกที่คอด้านหลัง (Buffalo hump) เส้นรอบวงของคอขยายขึ้น 5 - 10 ซม., เต้านมขยายใหญ่ขึ้น, ไขมันสะสมตามอวัยวะภายในช่องท้องมากขึ้นทำให้มีพุง ในผู้ป่วยบางรายสามารถเกิดทั้งภาวะไขมันฝ่อตัวและไขมันพอกตัวผิดปกติพร้อมกันโดยมักเกิดร่วมกับภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia), ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) ดังนั้นหากพบว่าเกิดภาวะไขมันกระจายตัวผิดปกติในระหว่างใช้ยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ให้แจ้งแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้มีการเปลี่ยนแปลงสูตรยารักษาเอชไอวี (รวมยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์ด้วย) ให้แก่ผู้ป่วย เพื่อลดปัญหาทางภาพลักษณ์ที่จะช่วยเพิ่มความร่วมมือของผู้ป่วยในการรักษาเอชไอวี
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยายาฟอสเแอมพรีนาเวียร์) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ คู่กับยาดังต่อไปนี้เนื่องจากอาจเกิดอันตรกิริยารุนแรงถึงแก่ชีวิต (ตาย)ได้ เช่นยา อาฟูโซซิน (Alfuzosin: ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต), อะมิโอดาโลน (Amioda rone: ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ), อะพิกซาแบน (Apixaban: ยาต้านการแข็งตัวของเลือด), ควินิดีน (Quinidine: ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ), ฟูซิดิกเอซิด (Fusidic acid: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย),โวลิโคนาโซล (Voriconazole: ยาต้านเชื้อรา), แอสทิมีโซล (Astemizole: ยาแก้แพ้), เทอร์ฟีนีดีน(Terfenadine: ยาแก้แพ้), โบรนาซีลีน (Blonaserin: ยารักษาทางจิตเวช), Ergot derivetives (ยาที่มีส่วนผสมของ Ergot ประกอบด้วย Ergatamine/เออกาตามีน: ยารักษาไมเกรน, Ergono vine/เออร์โกโนวีน: ยาบีบมดลูก, Methylergonovine/ เมททิวเออร์โกโนวีน: ยาบีบมดลูก), ซิสซาพาย (Cisapide: ยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้), สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ธ (St. John's wort: สมุนไพรคลายเครียด), โลวาสสะตาติน (Lovastatin: ยาลดไขมัน), ซิมวาสสะตาติน (Simvastatin: ยาลดไขมัน), เซาเมทารอล (Salmeterol: ยาขยายหลอดลม), พิโมซายด์ (Pimozide: ยาต้านโรคจิต/ยารักษาทางจิตเวช), ซิเดนาฟิว (Sidenafil: ยารักษาภาวะPulmonary Hypertension และภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศของชาย/นกเขาไม่ขัน/Erectile dysfunction), ไมด้าโซแลม (Midazolam: ยาสงบระงับประสาท/ยาคลายเครียด/ยานอนหลับ), ไตรอะโซแลม (Triazolam: ยาสงบระงับประสาท/ยาคลายเครียด/ยานอนหลับ)
- เมื่อใช้ยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ คู่กับยาดังต่อไปนี้ซึ่งสามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ทำ ลายยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ที่มีชื่อว่า CYP3A4 ได้เช่น ฟีโนบาร์บีทาล (Phenobarbita: ยากันชักยาต้านชัก), คาร์บามาซีปิน (Carbamazepine: ยากันชัก), ฟีนีทอย (Phenytoin: ยากันชักฯ), ไรแฟมปินซิน (Rifampicin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาต้านวัณโรค), ไรฟาบูติน (Rifambutin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาต้านวัณโรค) ดังนั้นหากใช้ยาเหล่านี้ที่กล่าวมาคู่กับยาฟอสแอมพรีนาเวียร์อาจทำให้ระดับยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ในเลือดลดลง ประสิทธิภาพในการต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีก็จะลดลงตามเช่นกัน
- เมื่อมีการใช้ยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ ร่วมกับยากลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร (Protease inhibi tors, PIs,ยาต้านไวรัสพีไอ) อื่นๆ เช่นยา ริโทรนาเวียร์ (Ritonavir), อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir), ดารุนาเวียร์ (Daru navir), ฟอสแอมพรีนาเวียร์ (Fosamprenavir), อินดินาเวียร์ (Indinavir), ซาควินาเวียร์ (Saqui navir), ทิพล่านาเวียร์ (Tipranavir) แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดยาแต่ละตัวเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับขนาดยาที่ถูกต้องเหมาะสมเพียงพอต่อการรักษา
- นอกจากนี้ยังมียาอีกหลายชนิดที่อาจจะทำให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาที่รุนแรงได้รวม ถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร และน้ำผลไม้จำพวกส้มเปลือกแข็งเช่น น้ำทับทิม, น้ำส้มโอ, น้ำส้มเช้ง หรือน้ำเกร็ปฟรุท (Grape fruit juice) เมื่อใช้คู่กับยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคร่วมกัน และต้องแจ้งให้แพทย์เภสัชกรทราบถึงการใช้ยาต่างๆ วิตามิน อาหารเสริมต่างๆ เมื่อมีการใช้ยารักษาเอชไอวีทุกชนิดรวมถึงยาฟอสแอมพรีนาเวียร์
ควรเก็บรักษายาฟอสเแอมพรีนาเวียร์อย่างไร?
แนะนำเก็บยาฟอสแอมพรีนาเวียร์ทั้งรูปแบบยาเม็ดและยาน้ำแขวนตะกอน:
- เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
- หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดด หรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน)
- ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำหรือห้องครัว
- ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟอสเแอมพรีนาเวียร์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Lexiva (oral suspension 50 mg/mL) | GlaxoSmithKline. |
Lexiva (tablet 700 mg) | GlaxoSmithKline. |
บรรณานุกรม
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
- Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
- Product Information: Lexiva, Fosamprenavir, GlaxoSmithKline.