โอล์มีซาร์แทน (Olmesartan)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- โอล์มีซาร์แทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โอล์มีซาร์แทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โอล์มีซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โอล์มีซาร์แทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โอล์มีซาร์แทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โอล์มีซาร์แทนอย่างไร?
- โอล์มีซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโอล์มีซาร์แทนอย่างไร?
- โอล์มีซาร์แทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- โรคไต (Kidney disease)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ: คือยาอะไร?
โอล์มีซาร์แทน (Olmesartan) คือ ยาลดความดันเลือด โดยเป็นยาในกลุ่ม Angiotensin II receptor antagonist หรือ Angiotensin II receptor blocker (กลุ่มยาต้านการทำงานของ Angiotensin ที่เป็นฮอร์โมนจากตับที่ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหดตัว แบ่งย่อยได้เป็น 4 ตัวคือ Angiotensin I, Angiotensin II, Angiotensin III, Angiotensin IV)
ทางคลินิกนำยานี้ มาใช้เป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยานี้ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ.1955 (พ.ศ.2498) และมีการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าในต่างประเทศคือ Benicar และ Olmecip โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor) ที่มีชื่อว่า “AT1 receptors (Angiotensin II receptor type1)” ซึ่งอยู่ในผนังหลอดเลือดแดงทำให้ฮอร์โมน Angiotensin II ไม่สามารถกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวได้ แต่เกิดผลของการคลายตัวตามมา อาการข้างเคียงที่โดดเด่นของยานี้ได้แก่ มีอาการวิงเวียนและก่อการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาสามารถถูกดูดซึมและกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 26 % ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายคนเราต้องใช้เวลาประมาณ 13 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดปริมาณยานี้ครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและทางน้ำดี
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาโอล์มีซาร์แทนอยู่ในหมวดของยาอันตราย ดังนั้นการเลือกใช้ยานี้ต้องมีข้อมูลบางประการนำมาประกอบก่อนการตัดสินใจใช้ยาของแพทย์ เช่น
- เคยแพ้ยานี้หรือไม่
- มีโรคประจำตัวอื่นใดอีกบ้าง เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว การไหลเวียนเลือดผิดปกติ โรคเบาหวาน โรคไต และ/หรือร่างกายมีภาวะขาดน้ำหรือไม่
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่
- เคยมีประวัติร่างกายมีผื่น-บวมจากการใช้ยากลุ่ม ACE inhibitor หรือไม่
- อยู่ในภาวะจำกัดอาหารเค็มหรือไม่
ระหว่างที่มีการใช้ยานี้แพทย์จะกำกับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยทั้งนี้เพื่อความเข้าใจและสามารถปรับตัวได้ดียิ่งขึ้นของผู้ป่วย เช่น
- ยาโอล์มีซาร์แทนอาจทำให้วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม จึงควรเคลื่อนตัวลุกเดินในจังหวะช้าๆ
- หากพบอาการผื่น-บวมขึ้นตามร่างกายหลังบริโภคยานี้ต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ผู้ที่ใช้ยานี้ควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอในระหว่างวันเพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำและช่วยการทำงานของไต
- ขณะบำบัดอาการความดันโลหิตสูงด้วยยานี้ไม่ควรใช้ยาแก้โรคหวัดร่วมด้วย เพราะกลุ่มยาบรรเทาอาการหวัดสามารถกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน
- แพทย์จะให้มีการตรวจเลือดเป็นระยะๆเพื่อตรวจสอบการทำงานของไตของระดับเกลือแร่ในร่างกาย
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยานี้ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำและรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด และต้องไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาของแพทย์ด้วยตนเอง
โอล์มีซาร์แทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโอล์มีซาร์แทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- เพื่อบำบัดรักษาอาการโรคความดันโลหิตสูง/ยาลดความดัน
โอล์มีซาร์แทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโอล์มีซาร์แทน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์กับตัวรับ(Receptor)ที่อยู่ในผนังหลอดเลือดแดงซึ่งถูกเรียกว่า AT1 receptor (Angiotensin II receptor, type1) จึงมีผลทำให้สาร Angiotensin II ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ที่ทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวได้ นอกจากนี้ยังส่งผลลดการหลั่งฮอร์โมน Aldosterone (ฮอร์โมนต่อมหมวกไต) ที่มีฤทธิ์ควบคุมความดันโลหิตได้อีกด้วย กลไกทั้งหมดนี้ จึงส่งผลให้ความดันโลหิตสามารถลดลงได้
โอล์มีซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทยยาโอล์มีซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ด ขนาด 5, 20 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับยาอื่น: เช่น
- Olmesartan medoxomil 20 มิลลิกรัม + Hydrochlorothiazide 12.5 มิลลิกรัม/เม็ด
- Olmesartan medoxomil 40 มิลลิกรัม + Hydrochlorothiazide 12.5 มิลลิกรัม/เม็ด
โอล์มีซาร์แทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโอล์มีซาร์แทนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานเริ่มต้นที่ 20 มิลลิกรัมวันละครั้ง แต่แพทย์สามารถปรับขนาดรับประทานเป็น 40 มิลลิกรัมวันละครั้งตามการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยานี้ ทั้งนี้สามารถรับประทานยานี้ก่อน หรือพร้อมอาหารก็ได้
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้กับเด็กยังมิได้มีการระบุอย่างแน่ชัด จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโอล์มีซาร์แทน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโอล์มีซาร์แทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโอล์มีซาร์แทนให้ตรงเวลา หากลืมรับ ประทานยาโอล์มีซาร์แทน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
โอล์มีซาร์แทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโอล์มีซาร์แทนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) เช่น
- มีอาการไอ
- วิงเวียน
- ปวดท้อง
- อาหารไม่ย่อย
- คลื่นไส้
- หัวใจเต้นเร็ว
- ใบหน้าบวม
- ไขมันในเลือดสูง
- กรดยูริคในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น
- ผื่นคันตามผิงหนัง
*อนึ่ง: อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะพบภาวะความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หรือไม่ก็หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้โอล์มีซาร์แทนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโอล์มีซาร์แทน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
- ห้ามใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาโอล์มีซาร์แทนร่วมกับยา Aliskiren (ยาลดความดัน) ในผู้ป่วยด้วยโรค เบาหวาน
- หากพบอาการท้องเสียเรื้อรังหรือน้ำหนักตัวลดควรกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- การใช้ยาทุกตัวมีระยะเวลาของการรักษา หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยา ควรกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โอล์มีซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโอล์มีซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาโอล์มีซาร์แทน ร่วมกับยา Aliskiren กับผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยจะส่งผลให้มี ความดันโลหิตต่ำ ระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงมากขึ้น ไตทำงานหนักจนถึงขั้น ไตวายเฉียบพลัน
- การใช้ยาโอล์มีซาร์แทน ร่วมกับยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) อาจส่งผลให้ได้รับผลกระทบกับไตของผู้ป่วย และอาจก่อให้เกิดภาวะไตวายได้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาโอล์มีซาร์แทน ร่วมกับยา Sodium biphosphate สามารถทำให้เกิดภาวะไตวายได้ ระหว่างใช้ยาโอล์มีซาร์แทนผู้ป่วยต้องคอยควบคุมมิให้เกิดภาวะขาดน้ำ และหากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาโอล์มีซาร์แทนร่วมกับยาที่มีเกลือโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบ (เช่น Potassium citrate) สามารถทำให้เกิดระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง ผู้ป่วยจึงต้องคอยควบคุมมิให้เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งหากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาโอล์มีซาร์แทนอย่างไร?
ควรเก็บยาโอล์มีซาร์แทน: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โอล์มีซาร์แทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโอล์มีซาร์แทน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Normetec (นอร์มีเทค) | Pfizer |
Olmetec (โอล์มีเทค) | Pfizer |
Olmetec Plus (โอล์มีเทค พลัส) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Olmesartan [2022,July23]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Olmetec/?type=full#Indications [2022,July23]
- https://www.drugs.com/mtm/olmesartan.html [2022,July23]
- https://www.mims.com/Singapore/drug/info/Olmetec/?type=full [2022,July23]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/olmesartan-index.html?filter=3&generic_only [2022,July23]
- https://www.mims.com/Thailand/Drug/search/?q=olmesartan [2022,July23]