โรคเท้าช้าง (Lymphatic filariasis)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 14 มกราคม 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคเท้าช้างมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- โรคเท้าช้างมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคเท้าช้างได้อย่างไร?
- รักษาโรคเท้าช้างอย่างไร?
- โรคเท้าช้างรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเท้าช้าง?
- ป้องกันโรคเท้าช้างได้อย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคติดเชื้อปรสิต (Parasitic infection)
- ไดเอทิลคาร์บามาซีน (Diethylcarbamazine)
- ยาลดไข้ ยาแก้ไข้ (Antipyretics) และยาแก้ปวด (Analgesic or Pain Killer)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ระบบน้ำเหลือง (Lymph system)
- ต่อมน้ำเหลืองบวม (Swollen lymph node)
- ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคเท้าช้าง (Lymphatic filariasis หรือ Elephantiasis) คือ โรคจากการบวมน้ำเหลืองเรื้อรังร่วมกับอาการปวดและการผิดรูปของอวัยวะต่างๆ ที่พบบ่อยคือที่ เท้า(พบบ่อยที่สุดจึงเป็นที่มาของชื่อโรคนี้), อวัยวะเพศ, แขน, และเต้านม, โรคนี้เกิดจากหนอนพยาธิตัวกลม (Roundworm)ที่ติดต่อสู่คนจากได้รับเลือดที่มีพยาธินี้อยู่จากถูกยุงกัด โดยมียุงหลายชนิดเป็นพาหะโรค โดยหนอนพยาธินี้จะทำให้เกิดการอักเสบของระบบน้ำเหลือง
หนอนพยาธิตัวกลมที่ทำให้เกิดโรคเท้าช้างนั้นอยู่ในกลุ่มหนอนพยาธิตัวกลมที่เรียกว่า ‘Filarial parasites’
ทั้งนี้ โรคที่เกิดจากหนอนพยาธิในกลุ่มนี้จะเรียกว่าโรค ‘ฟิลาริเอสิส (Filariasis)’ ซึ่งมีอยู่หลายโรคย่อย, แต่หากเป็นโรคเท้าช้างก็จะเรียกว่า ‘Lymphatic filariasis’ ซึ่งหนอนพยาธิโรคเท้าช้างจะอาศัยอยู่ในท่อน้ำเหลืองและในต่อมน้ำเหลือง หากติดเชื้อเป็นเวลานานก็จะทำให้แขน-ขาบวมโต, ผิวหนังหยาบหนา, มองดูคล้ายเท้าช้างนั่นเอง
ประเทศไทย สมัยก่อนพบผู้ป่วยติดเชื้อหนอนพยาธิเท้าช้างทั่วประเทศประมาณ 300 กว่าคนต่อปี แต่เมื่อมีการจัดทำโครงการกำจัดโรคเท้าช้างขึ้นในปี พ.ศ. 2543 จำนวนผู้ป่วยก็ลดลงเรื่อยๆ, ในปีพ.ศ. 2558 รายงานจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยโรคเท้าช้าง 0.36 รายต่อประชากรไทย 1 แสนคน, ในปีพ.ศ. 2561 รายงานพบ 0.17 รายต่อประชากร 1แสนคน, พบได้ในทุกอายุ, พบสูงขึ้นกระจายในช่วงอายุต่างๆหลายช่วงอายุ คือ 15 - 24 ปี, 35 - 44 ปี, และตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป, เพศชายพบสูงกว่าเพศหญิงประมาณ 1.6 เท่า, และพบในจังหวัดภาคใต้สูงมากกว่าภาคอื่นๆ
ทั่วโลก พบโรคนี้น้อย มีรายงานจากองค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2563 พบโรคเท้าช้างลดลงในแต่ละปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และ ในปี พ.ศ. 2563 ทั่วโลกพบโรคเท้าช้างประมาณ 51 ล้านคน, โรคนี้ส่วนมากพบในประเทศเขตร้อน เช่น ทวีปเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา อเมริกาใต้ หมู่เกาะแปซิฟิก และหมู่เกาะแถบทะเลแคริบเบียน
โรคเท้าช้างมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
โรคเท้าช้างมีสาเหตุจากหนอนพยาธิตัวกลม โดยชนิดของหนอนพยาธิตัวกลมที่เป็นสาเหตุ คือ หนอนพยาธิ Wuchereria bancrofti, Brugia malayi, และ Brugia timori ซึ่งเชื้อเหล่านี้อาศัยร่างกายคนเป็นแหล่งที่อยู่, และอาศัย 'ยุงเป็นพาหะโรค' โดยเชื้อ Wuchereria bancrofti อาศัยยุงลาย (Aedes) และยุงรำคาญ (Culex) เป็นพาหะ, เชื้อ Brugia malayi อาศัยยุงลายเสือ (Mansonia) เป็นพาหะ, ส่วนเชื้อ Brugia timori อาศัยยุงก้นปล่อง (Anopheles) เป็นพาหะ
วงจรชีวิตของหนอนพยาธิตัวกลมเหล่านี้ เริ่มจากยุงตัวเมียที่มีเชื้อพยาธิเท้าช้างที่เป็นตัวอ่อนในระยะที่ก่อการติดเชื้อได้ซึ่งคือตัวอ่อนขั้นที่ 3 (Third-stage filarial larva, ตัวอ่อนของหนอนพยาธิมีได้หลายขั้น)กัดดูดเลือดคน, เชื้อพยาธิจะเคลื่อนออกจากปากยุงและไชเข้าสู่ผิวหนังตรงจุดที่ยุงกัดแล้วเดินทางต่อไปยังท่อน้ำเหลืองบริเวณใกล้ๆกับที่ไชเข้ามา, หลังจากนั้นเชื้อตัวอ่อนจะพัฒนาเปลี่ยนรูปร่าง 2 ครั้งภายในระยะเวลาประมาณ 9 เดือนจนกลายเป็นตัวเต็มวัยซึ่งจะมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย, ตัวเมียเต็มวัยมีความยาวประมาณ 80 - 100 มิลลิเมตร (มม.) กว้างประมาณ 0.24 - 0.30 มม., ส่วนตัวผู้เต็มวัยมีความยาวประมาณ 40 มม. กว้างประมาณ 0.1 มม., ตัวเต็มวัยเหล่านี้อาศัยอยู่ในท่อน้ำเหลืองรวมทั้งในต่อมน้ำ เหลือง, และเมื่อผสมพันธุ์กันจะได้ตัวอ่อนซึ่งเรียกว่า ‘Microfilaria’
ตัวอ่อนเหล่านี้จะเคลื่อนที่จากท่อน้ำเหลืองเข้ามาอยู่ในหลอดเลือด และเมื่อยุงมากัดดูดเลือดคนที่มีพยาธิตัวอ่อน Microfilaria นี้, ยุงก็จะรับเชื้อเข้าไป, เชื้อฯจะเข้าสู่ทางเดินอาหารของยุง, และเดินทางต่อไปยังกล้ามเนื้อที่อกของยุงและพัฒนาเปลี่ยนรูปร่าง 2 ครั้งจนกลายเป็นตัวอ่อนขั้นที่ 3 ซึ่งจะเคลื่อนตัวมาอยู่บริเวณปากยุง, และพร้อมที่จะแพร่สู่คนได้ต่อไป
ระยะเวลาตั้งแต่ยุงได้รับเชื้อจากคนจนสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นต่อไปได้นั้นกินเวลาประ มาณ 1 - 2 สัปดาห์, ส่วนระยะเวลาตั้งแต่คนได้รับเชื้อจนกระทั่งสามารถแพร่เชื้อให้ยุง กินเวลาประมาณ 1 ปี, และพยาธิตัวโตเต็มวัยจะมีชีวิตอยู่ในร่างกายคนได้ประมาณ 5 ปี
‘ในประเทศไทย’ พบเชื้อโรคเท้าช้างเฉพาะ Wuchereria bancrofti และ Brugia malayi เท่านั้น โดยแบ่งเชื้อทั้ง 2 นี้ออกได้เป็น 4 ชนิดย่อยตามการปรากฏตัวของพยาธิตัวอ่อน Microfilaria ในกระแสเลือด คือ
- Wuchereria bancrofti, Nocturnally periodic type: เชื้อชนิดนี้ตัวเต็มวัยจะผลิตตัวอ่อน Microfilaria ออกมาในกระแสเลือดในช่วงเวลากลางคืน, โรคเท้าช้างที่เกิดจากเชื้อชนิดนี้พบมากที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี, มียุงลายเป็นพาหะ, นอกจากนี้ยังพบในคนพม่าที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และอำเภอเมือง จังหวัดระนอง โดยมียุงรำคาญเป็นพาหะ
- Wuchereria bancrofti, Nocturnally subperiodic type: ตัวอ่อน Microfilaria จะออกมาในกระแสเลือดทุกช่วงเวลา แต่ออกมาในช่วงกลางคืนมากกว่าในช่วงกลางวัน, พบโรคเท้าช้างที่เกิดจากเชื้อชนิดนี้มากที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก, มียุงลายป่าเป็นพาหะ
- Brugia malayi, Nocturnally subperiodic type: ตัวอ่อน Microfilaria จะออกมาในกระแสเลือดทุกช่วงเวลา แต่ออกมาในช่วงกลางคืนมากกว่าช่วงกลางวัน, มียุงลายเสือ 6 ชนิดย่อยเป็นพาหะซึ่งเป็นยุงที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบพรุ (Swamp forest, ป่าที่ลุ่มชื้นแฉะ) จึงพบโรคเท้าช้างที่เกิดจากเชื้อชนิดนี้มากที่จังหวัดนราธิวาสและนครศรีธรรมราช
- Brugia malayi, Diurnally subperiodic type: ตัวอ่อน Microfilaria จะออกมาในกระแสเลือดทุกช่วงเวลา แต่ออกมาในช่วงกลางวันมากกว่าช่วงกลางคืน, มียุงที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับยุงลายเสือชื่อ Coquilletidia crassipes เป็นพาหะ, พบมากที่อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานี
- หนอนพยาธิชนิด ‘Brugia malayi’ ที่พบในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย: นอกจากจะมีวงจรชีวิตอยู่ในคนและในยุงแล้ว หนอนพยาธิจากยุงยังสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น แมวบ้าน สุนัข ลิง ค่าง แมวป่า ชะมด นางอายได้ โดยที่สัตว์เหล่านี้ไม่มีอาการเกิดขึ้นจึงกลายเป็นแหล่งรังโรคที่ทำให้การกำจัดหนอนพยาธินี้ทำได้ยากยิ่งขึ้น
- สำหรับในประเทศไทย: แมวบ้านเป็นรังโรคที่สำคัญ โดยการตรวจเลือดแมวบ้านที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อปี พ.ศ. 2544 พบแมวมีเชื้อ Brugia malayi สูงถึง ประมาณ 8-9%, ดังนั้นการควบคุมโรคเท้าช้างจึงต้องทำควบคู่ทั้งในแมวและในคนโดยให้แมวกินยารักษาด้วยเช่นกัน
โรคเท้าช้างมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคเท้าช้าง เกิดจากพยาธิตัวเต็มวัยที่อาศัยในท่อน้ำเหลืองและในต่อมน้ำเหลือง ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อครั้งแรกจากยุงจะมีพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ในร่างกายเพียงไม่กี่ตัว ระยะแรกนี้จึงยังไม่ทำให้เกิดอาการ, อีกทั้งพยาธิก็ยังไม่สามารถเพิ่มจำนวนมากในร่างกายคนได้ ต่อเมื่อถูกยุงที่มีเชื้อกัดซ้ำๆจนมี 'พยาธิปริมาณมากและอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน' จึงจะทำให้เกิดอาการขึ้นมา
ดังนั้น อาการของผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่มีการระบาดของโรคหรือมีความชุกของโรคสูงจึงแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
ก. กลุ่มที่ไม่แสดงอาการ: เป็นกลุ่มที่มีมากที่สุด แต่ถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ แต่หากได้รับ การตรวจทางห้องปฏิบัติการก็จะพบสิ่งผิดปกติต่างๆ เช่น ตรวจพบเม็ดเลือดแดงและ/หรือโปรตีนในปัสสาวะ, การถ่ายภาพดูท่อน้ำเหลืองด้วยสารกัมมันตรังสี (Lymphoscintigraphy) ก็จะเห็นท่อน้ำเหลืองขยายตัวและคดเคี้ยวกว่าปกติ, หรือหากทำอัลตราซาวด์อัณฑะ จะเห็นท่อน้ำเหลืองขยายตัวในหนังหุ้มอัณฑะ, เป็นต้น
ข. กลุ่มที่มีอาการของท่อน้ำเหลือง/ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเฉียบพลัน เรียกว่า ‘Acute adenolymphangitis (เรียกย่อว่า เอดีแอล/ADL’): ผู้ป่วยในกลุ่มที่ไม่แสดงอาการนั้น เมื่อผ่านไปหลายๆปีจะมีผู้ป่วยเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จะมีอาการ เช่น
- มีไข้สูง
- มีการอักเสบของท่อน้ำเหลืองซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย โดยหากเป็นท่อน้ำเหลืองที่ไม่ลึกจากผิวหนังก็จะเห็นเป็น
- ลำเส้นสีแดง คลำได้แข็งๆ และปวดหรือกดเจ็บ
- ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้ท่อน้ำเหลืองที่อักเสบอาจเกิดการบวมขึ้นชั่วคราว
- นอกจากนี้จะมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองซึ่งจะปรากฏเห็นเป็นต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้น, ปวดหรือกดเจ็บ, มักเกิดที่ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบและต่อมน้ำเหลืองรักแร้
- หากเป็นการติดเชื้อ:
- Brugia malayi ท่อน้ำเหลืองที่อักเสบอาจมีบางตำแหน่ง กลายเป็นฝีหนองและแตกออกมาที่ผิวหนังได้
- ส่วนการติดเชื้อWuchereria bancrofti จะทำให้ท่อน้ำเหลืองบริเวณอัณฑะอักเสบด้วย ผู้ป่วยจะมีปวดอัณฑะและกดเจ็บซึ่งอาการนี้จะไม่พบในผู้ที่ติดเชื้อ Brugia malayi
- อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ โดยมักจะเป็นทุกๆ 6 - 10 วัน, ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการของท่อน้ำเหลือง/ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเฉียบพลันเป็นประจำนี้จะกลายเป็นกลุ่มที่มีอาการเรื้อรังต่อไป
- สำหรับผู้ที่เดินทางมาอาศัยยังพื้นที่ที่มีการระบาดหรือมีความชุกของโรคนี้สูง: เมื่อได้รับเชื้อจากยุงที่กัดซ้ำๆนานเป็นระยะเวลาหนึ่งโดยเฉลี่ยประมาณ 3 - 6 เดือน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะปรากฏอาการโดยจะมีท่อน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลืองอักเสบคล้ายกับผู้ป่วยที่เกิดและอาศัยในพื้นที่ที่มีการระบาด แต่มีความแตกต่างกันคือ 'มักจะไม่มีไข้ปรากฏ'
ค. กลุ่มที่มีอาการเรื้อรัง: เมื่อผ่านไปหลายๆปี ท่อน้ำเหลืองที่มีการอักเสบเป็นๆหายๆจะเกิดเป็นพังผืดจนเกิดเป็นการอุดตัน ส่งผลให้น้ำเหลืองที่อยู่ในท่อน้ำเหลืองเล็กๆเหล่านี้ซึ่งจะต้องไหลเข้าท่อน้ำเหลืองที่ใหญ่กว่า (เพื่อที่จะเทกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำ) ไม่สามารถไหลได้ตามปกติ น้ำเหลืองก็จะซึมออกจากท่อน้ำเหลืองและคั่งอยู่ในเนื้อเยื่อรอบๆท่อน้ำเหลืองรวมทั้งเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและในผิวหนัง ทำให้เกิดการบวมโตของเนื้อเยื่อต่างๆดังกล่าว, ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นลักษณะเมื่อถูกกดจะยุบตัวบุ๋มได้และยุบบวมได้บ้างหลังจากนอนพักตอนกลางคืน, แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะบวมจนไม่สามารถกดให้บุ๋มได้
อวัยวะที่จะบวมให้เห็นบ่อย ได้แก่ แขน ขา และเต้านม โดยแขนและขาจะค่อยๆ บวมขึ้นจนกระทั่งเสียรูปทรง, มองไม่เห็นข้อต่างๆ, ผิวหนังมีการหนาตัวขึ้น, สูญเสียความยืดหยุ่น, และจะขรุขระคล้ายดอกกะหล่ำ, และแขน-ขาจะขยายมีขนาดใหญ่โตขึ้นมากมาย ที่เรียกว่า ‘Elephantiasis หรือ โรคเท้าช้าง’ คือมีลักษณะเหมือนขาหรือเท้าของช้างนั่นเอง
ถ้าท่อทางเดินน้ำเหลืองที่อยู่ด้านหลังเยื่อบุช่องท้องถูกทำลาย น้ำเหลืองที่ไหลมาจากไต ก็จะไม่สามารถถ่ายเทเข้าหลอดเลือดดำได้ ท่อน้ำเหลืองเล็กๆที่อยู่ในไตก็จะแตกออกและไหลลงสู่ท่อปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยมีปัสสาวะสีออกขาวขุ่นคล้ายน้ำนมเรียกว่า ‘Chyluria’ โดยมักจะเห็นในตอนเช้า
หากเป็นการติดเชื้อหนอนพยาธิชนิด Wuchereria bancrofti จะมีน้ำเหลืองคั่งอยู่ในช่องว่างของถุงอัณฑะและของผิวหนังของถุงหุ้มอัณฑะซึ่งจะบวมและขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนถุงอัณฑะมีขนาดใหญ่มากเรียกว่า ‘Scrotal elephantiasis’
อนึ่ง: นอกจากจะมีอาการแสดงใน 3 กลุ่ม(ก,ข,และค)ดังที่กล่าวแล้วนี้ ผู้ป่วยบางคนจะเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า ‘Tropical pulmonary eosinophilia (เรียกย่อว่า ทีพีอี/TPE)’ ร่วมด้วย โดยมักจะเกิดในคนเอเชีย พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 4 เท่า โดยอาการ เช่น มีไข้ต่ำๆ, ไอเป็นชุดๆ, หายใจหอบมีเสียงดังวี๊ดๆ(หายใจเสียงหวีด), น้ำหนักตัวลด, หากเจาะเลือดตรวจ จะพบเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (Eosinophil)ขึ้นสูง, โดยอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่มีต่อหนอนพยาธิ
แพทย์วินิจฉัยโรคเท้าช้างได้อย่างไร?
ดังได้กล่าวแล้วว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ดังนั้นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้หรือมีความชุกของโรคนี้สูง การวินิจฉัยโรคจึงต้องอาศัยการตรวจคัดกรองผู้ที่ไม่มีอาการโดยการเจาะเลือดตรวจซึ่งอาจเป็นการตรวจหาตัวหนอนพยาธิโดยตรง หรือ ตรวจหาแอนติเจน (Antigen/สารก่อภูมิต้านทาน) ของพยาธิก็ได้
อนึ่ง:
- การตรวจหาตัวหนอนพยาธิ: ทำโดยการนำเลือดที่เจาะไปตรวจหาตัวอ่อน Microfilaria ด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะพบตัวอ่อนที่มีขนาดยาวประมาณ 2 - 0.25 มม., การเลือกช่วงเวลาที่เจาะเลือดไปตรวจมีความสำคัญในการที่จะหาเจอตัวพยาธิฯโดยขึ้นกับว่าผู้ป่วยอาศัยอยู่ในพื้นที่ไหน เพราะแต่ละพื้นที่ สาเหตุจะมาจากเชื้อต่างชนิดกัน ซึ่งตัวอ่อนจะออกมาในกระแสเลือดในช่วงเวลาที่ต่างกันดังได้กล่าวแล้วใน 'หัวข้อ สาเหตุฯ'
- การตรวจหาแอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทานของเชื้อหนอนพยาธิ: เป็นการตรวจจากเลือดซึ่งบางเทคนิควิธี มีความไวในการตรวจพบหนอนพยาธิเกือบ100%
- สำหรับการตรวจหาหนอนพยาธิตัวเต็มวัยที่อาศัยอยู่ในท่อน้ำเหลืองหรือในต่อมน้ำเหลืองนั้นทำได้ยาก วิธีที่ใช้กัน เช่น ใช้เครื่องอัลตราซาวน์ที่สามารถตรวจดูการไหลเวียนของเลือดได้ มาตรวจดูถุงอัณฑะในผู้ชายหรือตรวจเต้านมในผู้หญิง อาจจะพอมองเห็นพยาธิตัวเต็มวัยเคลื่อนไหวไปมาในท่อน้ำเหลืองที่ขยายตัวได้เรียกการตรวจพบนี้ว่า ‘Filarial dance sign’
- ส่วนผู้ที่มีอาการอักเสบของท่อน้ำเหลืองและของต่อมน้ำเหลืองแบบเฉียบพลัน และผู้ที่มีอาการ แขน ขา หรืออัณฑะ บวมโต หากอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้หรือมีความชุกของโรคนี้สูง แพทย์ผู้ตรวจก็จะนึกถึงโรคนี้เป็นอันดับต้นๆและจะเจาะเลือดเพื่อ ส่งตรวจหาตัวหนอนพยาธิด้วยเช่นกัน
รักษาโรคเท้าช้างอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคเท้าช้างจะแบ่งการรักษาหลักออกเป็นการให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อหนอนพยาธิ, การรักษาอาการที่เกิดจากท่อน้ำเหลือง/ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเฉียบพลัน, และการรักษาผู้ที่มีแขน ขา หรือ อัณฑะ บวมโต
ก. การให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ: โดยจะให้ในผู้ที่ 'ไม่มี' อาการแต่ตรวจพบเชื้อหนอนพยาธิจากการตรวจคัดกรอง, และในผู้ที่มีการอักเสบของท่อน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลืองแบบเฉียบพลัน, ซึ่งยาจะฆ่าหนอน’ พยาธิตัวอ่อน Microfilaria’ ให้หมดไปได้ แต่จะฆ่าหนอนพยาธิตัวโตเต็มวัยได้มีประสิทธิภาพ’ไม่ดีนัก’ *ผู้ป่วยจึงต้องกินยาซ้ำทุกๆปีเพื่อตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น,รวมทั้งลดการแพร่เชื้อตัวใหม่มาสู่ตนเองด้วย
ดังนั้น หากผู้ป่วยในกลุ่มเหล่านี้ไม่ติดเชื้อหนอนพยาธิเพิ่มเข้ามาในร่างกายอีก หนอนพยาธิตัวเต็มวัยที่อยู่ในร่างกายก็จะตายไปเมื่อมีอายุได้ประมาณ 5 - 7 ปี และทำให้ผู้ป่วยไม่กลายเป็นโรคเรื้อรังที่มีแขนขาหรืออัณฑะบวมโตได้
ส่วนผู้ที่มีอาการแขนขาหรืออัณฑะบวมโตแบบถาวรแล้วนั้น การให้ยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้ทำให้แขนขาหรืออัณฑะกลับมามีขนาดปกติได้ อย่างไรก็ตามอาจจะพิจารณาให้ยาในกรณียังตรวจพบตัวอ่อนในเลือดเพื่อเป็นการกำจัดโอกาสที่อาจแพร่เชื้อหนอนพยาธิสู่ผู้อื่น, โดยยาปฏิชีวนะที่ใช้กันมานานแล้วและยังคงเป็นยารักษาหลักในปัจจุบันคือ ‘ไดเอทิลคาร์บามาซีน / Diethylcarbamazine หรือเรียกย่อว่า ดีอีซี/DEC)’
ข. การรักษาอาการท่อน้ำเหลือง/ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเฉียบพลัน: เช่น การให้ยาลดไข้ และยาแก้ปวด
ค. การรักษาอาการบวมโตของอวัยวะต่างๆ:
- ไม่มีวิธีลดขนาดของแขนขาให้กลับมาปกติได้ การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การดูแลไม่ให้มีติดเชื้อแบคทีเรียและ/หรือติดเชื้อราแทรกซ้อน,หรือเกิดบาดแผลขึ้นมา
- ส่วนอัณฑะที่บวมโตอาจรักษาด้วยการผ่าตัดออก
โรคเท้าช้างรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
โรคเท้าช้าง ไม่เป็นสาเหตุให้ถึงตาย และเมื่อเริ่มเกิดโรคโดยยังไม่มีอาการหรือยังมีอาการเพียงเล็กน้อย การใช้ยาปฏิชีวนะดังกล่าวสามารถรักษาโรคให้หายได้ แต่ก็ต้องกินยาเป็นระยะๆตามแพทย์แนะนำเพื่อรักษาการติดโรคซ้ำ
แต่เมื่อเกิดโรคเรื้อรังเป็นเวลานานจนเกิดอาการบวมเรื้อรังในเนื้อเยื่อต่างๆดังได้กล่าวแล้ว มักไม่สามารถรักษาให้หายได้ การรักษาเพียงแต่เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียและ/หรือเชื้อราซ้ำซ้อนจากมีการคั่งของน้ำเหลือง ดังนั้นโรคเท้าช้างจึงจัดเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างยิ่งทั้งในการใช้ชีวิตประจำวัน, ในการงาน, และในสังคม
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากโรคเท้าช้าง เช่น
- ผู้ที่แขนขาหรืออัณฑะบวมโตผิวหนังจะเกิดรอยพับขึ้นซึ่งจะเป็นที่อับชื้น ทำให้เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราเข้าไปเจริญเติบโตได้ดี ประกอบกับผิวหนังและชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังที่บวมจากน้ำเหลืองคั่งนี้ ทำให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงเซลล์ไม่สะดวก ผิวหนังก็จะติดเชื้อโรคได้ง่าย และหากติดเชื้อจนกลายเป็นแผลซึ่งก็จะหายได้ยากเช่นกัน
- หากแขนหรือขาบวมโตมาก ก็จะทำให้ใช้งานได้ไม่ปกติ ผู้ที่มีขนาดขาบวมโตใหญ่มากก็อาจขยับ เคลื่อนไหว และ/หรือเดินไม่ได้
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเท้าช้าง?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเท้าช้าง เช่น
- ผู้ที่มีอาการท่อน้ำเหลือง/ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเฉียบพลัน: ให้ใช้การประคบเย็นบริเวณที่ปวด, ห้ามใช้น้ำร้อนประคบ, และควรพักการใช้งานในส่วนนั้น, ห้ามบริหารแขนขาที่มีท่อนำเหลือง/ต่อมน้ำเหลืองอักเสบโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน, และห้ามใช้ผ้าพันหรือรัดบริเวณที่ปวดบวม
- ผู้ที่มีแขนขา หรืออัณฑะบวมโต: สิ่งสำคัญคือต้องรักษาความสะอาดของผิวหนังให้ดี ซึ่ง
- ควรทำวันละ 2 ครั้ง โดยขณะอาบน้ำ ควรใช้สบู่อ่อนๆ(สบู่เด็กอ่อน)ฟอกถูไปมาให้สะอาดทั้งตามรอยพับของผิวหนังซอกผิวหนัง และง่ามนิ้วต่างๆ โดยอาจใช้ผ้าผืนเล็กๆหรือผ้าก๊อซช่วยฟอกและถู, ห้ามใช้หินหรือแปรงขัดตัวเพราะจะทำลายผิวหนังและทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย
- เมื่อล้างสบู่ออกหมดแล้ว ต้องซับให้แห้ง ใช้ผ้าผืนเล็กๆหรือผ้าก๊อซซับตามซอกและง่ามนิ้วให้แห้ง
- ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณที่บวมโตเพราะจะเกิดแผลได้ง่าย
- ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอเพื่อป้องกันรอยเกาที่ผิวหนังเพราะจะติดเชื้อได้ง่าย
- หากมีบาดแผลตามผิวหนัง ควรรีบพบแพทย์/พยาบาลเพื่อรับยาและคำแนะนำในการดูแลแผลที่เหมาะสม
- นอกจากนี้:
- บริหารแขนขา ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้การไหลเวียนของ น้ำเหลืองและเลือดให้ดีขึ้น รวมถึงการนวดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ควรรับคำปรึกษาจากแพทย์ พยาบาล หรือนักกายภาพบำบัดถึงท่าทางการบริหารและการนวดที่ถูกต้อง
- สุดท้ายคือการยกแขนขาสูง, และพัก ในช่วงที่ไม่ได้ใช้งานซึ่งจะช่วยลดการคั่งของของเหลว/น้ำเหลืองและลดการบวมลงได้บ้าง ท่าพักที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะแขนขาที่ใหญ่และหนัก จึงควรปรึกษา แพทย์ พยาบาล และ/หรือนักกายภาพบำบัดด้วยเช่นกัน
ป้องกันโรคเท้าช้างได้อย่างไร?
การป้องกันโรคเท้าช้างที่สำคัญ คือ
- ป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เช่น นอนในมุ้ง ทายากันยุง การใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เป็นต้น
- ควบคุมและกำจัดยุงพาหะ เช่น กำจัดลูกน้ำตามแหล่งต่างๆ, กำจัดวัชพืชและพืชน้ำที่เป็นแหล่งเกาะอาศัยของลูกน้ำยุงลายเสือ, เป็นต้น แต่วิธีเหล่านี้พบว่ามีประสิทธิภาพไม่เพียงพอในการกำจัดโรคนี้
- ในเขตที่มีการระบาดหรือมีความชุกของโรคสูง วิธีที่ช่วยลดการแพร่กระจายของโรคได้ดีกว่า คือ การให้ประชาชนที่อยู่ในแหล่งระบาดของโรคเท้าช้างกินยาฆ่าเชื้อหนอนพยาธิปีละ1ครั้ง, กินเป็นเวลาติดต่อกันหลายๆปีเพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อให้หมดไป
- สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค:
- หากเป็นการย้ายไปอยู่อาศัยถาวร ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดหาพยาธิ, หรือ กินยาฆ่าหนอนพยาธิเป็นประจำเหมือนกับคนในพื้นที่
- แต่หากอยู่เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆไม่ยาวนานหลายเดือน ก็เพียงแค่ป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เพราะจะไม่ได้ประโยชน์จากการกินยาฆ่าหนอนพยาธิ
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ดังกล่าวแล้วว่า เมื่อเริ่มติดโรคผู้ป่วยจะยัง 'ไม่อาการ' แต่เมื่อรอจนเกิดอาการประสิทธิภาพในการรักษาก็จะลดลง
ดังนั้นผู้อยู่อาศัยในถิ่นของโรคเท้าช้างทุกคนรวมทั้งเด็กด้วยๆ ***ไม่ต้องรอให้มีอาการ แต่ควรต้องพบแพทย์ พยาบาล หรือ ไปสถานีอนามัย หรือ พบอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อขอรับการตรวจ หรือ คำปรึกษาเพื่อการรับยารักษาโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการ, หลังจากนั้นควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคลากรเหล่านั้นสม่ำเสมอที่รวมถึงการได้รับยาควบคุมโรคเท้าช้างด้วย
บรรณานุกรม
- Thomas B. Nutman, Peter F. Weller, filariasis and related infections, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
- https://www.cdc.gov/parasites/lymphaticfilariasis/gen_info/index.html [2023,Jan14]
- http://odpc5.ddc.moph.go.th/groups/vbdc53/index.php/welcome/14-sample-data-articles/153-2018-02-21-09-08-13 [2023,Jan14]
- https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor/6f4922f45568161a8cdf4ad2299f6d23/files/Report/Annual%20Report/2561.pdf [2023,Jan14]
- https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/lymphatic-filariasis [2023,Jan14]
- https://www.who.int/health-topics/lymphatic-filariasis#tab=tab_1 [2023,Jan14]