ต่อมน้ำเหลืองบวม (Swollen lymph node)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ต่อมน้ำเหลืองบวม(Swollen lymph node) อีกชื่อคือ ต่อมน้ำเหลืองโต (Lymphadenopathy) คือความผิดปกติซึ่งเกิดกับต่อมน้ำเหลืองที่ในภาวะปกติจะมีขนาดเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าและคลำไม่พบ เมื่อเกิดภาวะผิดปกติกับต่อมน้ำเหลือง จะส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองบวม/โตจนคลำพบและอาจมองเห็นด้วยตาเปล่า

โดยภาวะผิดปกติพบบ่อยที่เป็นสาเหตุให้ต่อมน้ำเหลืองบวม/ต่อมน้ำเหลืองโต คือ มีการอักเสบของอวัยวะต่างๆที่รวมถึงของตัวต่อมน้ำเหลืองเอง/ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

ทั้งนี้ สาเหตุพบบ่อยที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คือ

  • จากโรคติดเชื้อทั้งจาก แบคทีเรีย และ/หรือ โรคติดเชื้อไวรัส
  • สาเหตุพบบ่อยรองลงมาคือ การอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ เช่น เมื่อร่างกายมีความผิดปกติในระบบภูมคุ้มกันต้านทานโรค เช่นในโรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน (เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี)

ต่อมน้ำเหลืองบวม/ต่อมน้ำเหลืองโตจนคลำได้ เป็นโรค/ภาวะพบบ่อย(โรค-อาการ-ภาวะ) แต่ไม่มีรายงานชัดเจนถึงสถิติเกิดในภาพรวมทั้งหมดจากทุกสาเหตุ เพราะมักรายงานแยกอยู่ในแต่ละสถิติของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุให้ต่อมน้ำเหลืองบวม/ต่อมน้ำเหลืองโต โดยพบต่อมน้ำเหลืองบวมทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิด(นิยามคำว่าเด็ก) ไปจนถึงผู้สูงอายุ พบในเด็กบ่อยกว่าในผู้ใหญ่ และพบใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย

อนึ่ง: บทความนี้ ‘ต่อมน้ำเหลืองบวม’ หมายถึง เฉพาะโรคของเซลล์/เนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองเฉพาะของตัว‘ต่อมน้ำเหลืองเอง’เท่านั้น ไม่รวมโรคของเนื้อเยื่อระบบน้ำเหลืองที่มีอยู่ภายในอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย

โรคต่อมน้ำเหลือง หรือ โรคของต่อมน้ำเหลือง ศัพท์แพทย์ (พจนานุกรมศัพท์แพทย์ศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2547) เรียกว่า “โรคปุ่มน้ำเหลือง (Lymphadenopathy)” ซึ่งอาการสำคัญคือ ‘ต่อมน้ำเหลืองบวม หรือต่อมน้ำเหลืองโต หรือต่อมน้ำเหลืองบวมโต’ ดังนั้น คำว่า ต่อมน้ำเหลืองบวม หรือ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือ ‘โรคต่อมน้ำเหลือง หรือ โรคของต่อมน้ำเหลือง’ จึงมีความหมายเดียวกัน และมักใช้สลับกันไปมา

ซึ่งเมื่อมี โรคของต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองจะบวม/โต โดยเมื่อเป็นต่อมฯที่อยู่ตื้นๆใต้ผิวหนังก็มักจะคลำพบและอาจมองเห็น แต่เมื่ออยู่ลึกอาจคลำไม่พบ อาจเพียงรู้สึกเจ็บปวดในบริเวณนั้นๆหรือบริเวณนั้นบวมโดยไม่มีก้อนชัดเจน

แพทย์วินิจฉัยต่อมน้ำเหลืองบวมได้จากการตรวจด้วย การดู, การคลำ, และถ้าไม่แน่ใจ อาจมีการตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอก้อนเนื้อที่แพทย์คลำพบ

เนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองคืออะไร?

ต่อมน้ำเหลืองบวม

ต่อมน้ำเหลือง (Lymph node หรือ Lymph gland) คือ เนื้อเยื่อในระบบน้ำเหลือง มีลักษณะเป็นต่อม/ก้อนเนื้อที่หุ้มล้อมรอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย รวมทั้งมีเซลล์ที่จับกินเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้าสู่ร่างกาย

เซลล์ต่อมน้ำเหลืองมีอยู่ทั่วร่างกาย ทั้งที่จะกระจายปะปนอยู่ในเนื้อเยื่อเมือกของอวัยวะต่างๆโดยไม่มีลักษณะเป็นต่อม เรียกว่า’เนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง’ และ/หรือเป็น เซลล์ฯ/เนื้อเยื่ออยู่รวมกันเป็นก้อน/ต่อมเล็กๆกระจายทั่วตัว เรียกว่า ’ต่อมน้ำเหลือง’ ทั้งนี้ในภาวะปกติ ต่อมน้ำเหลืองจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าและคลำไม่พบ

ต่อมน้ำเหลืองที่บวมและคลำพบ จะเป็นต่อมน้ำเหลืองส่วนรอบนอกของร่างกายที่อยู่ตื้นๆใต้ผิวหนัง เรียกว่า ‘Peripheral lymph bode’ โดย

  • ตำแหน่งพบบ่อยที่สุด คือ ที่ลำคอโดยเฉพาะบริเวณใต้ขากรรไกรล่างทั้งสองข้าง และใต้คาง
  • ที่พบบ่อยรองลงมา คือที่
    • ขาหนีบ
    • รักแร้
    • หลังใบหู
    • ด้านหลังของศีรษะ
  • ที่พบน้อย คือที่
    • ข้อพับแขน
    • ข้อพบเข่า

ต่อมน้ำเหลืองซึ่งทั่วไปกระจายอยู่นอกอวัยวะทั่วร่างกาย จะเป็นก้อนเนื้อมีรูปร่างเป็น รูปไข่, มีขนาดเล็ก มักมีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 1 เซนติเมตร (ซม.), โดยทั่วไปมักมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า, และมักคลำไม่พบ, ซึ่งเมื่อคลำพบ จะมีลักษณะ นิ่ม ไม่แข็งมาก ไม่เจ็บ เคลื่อนที่ได้เล็กน้อย ไม่ยึดติดกับผิวหนัง

ทั้งนี้ ร่างกายมีต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดประมาณ 600 ต่อม กระจายอยู่ทั้งใน

  • ส่วนใต้ต่อผิวหนัง/อยู่ตื้น ซึ่งเมื่อบวมโต จะคลำได้, และ
  • ที่กระจายอยู่ภายในร่างกาย/อยู่ลึก ซึ่งจะคลำไม่พบถึงแม้ต่อมน้ำเหลืองบวมโตก็ตาม(ยกเว้นบวมโตตั้งแต่ประมาณ 10 ซม.ขึ้นไป)

ต่อมน้ำเหลืองต่างๆดังกล่าว จะรับน้ำเหลืองจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ หลังจากนั้นจึงนำส่งน้ำเหลืองที่กรองเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมออกแล้วกลับเข้าสู่ ระบบน้ำเหลือง, หลอดเลือดดำ, เข้าสู่หัวใจ และระบบการไหลเวียนเลือดในที่สุด

ต่อมน้ำเหลืองบวมมีกี่แบบ?

ต่อมน้ำเหลืองบวม/ต่อมน้ำเหลืองโต ทั่วไปแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

ก. ต่อมน้ำเหลืองบวมเฉพาะที่หรือเฉพาะบริเวณเดียว (Localized lymphadenopathy): โดยอาจมีต่อมน้ำเหลืองโตเพียงต่อมเดียวหรือหลายต่อมก็ได้ เช่น มีเฉพาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวมคลำได้เพียงบริเวณเดียว ซึ่งพบต่อมน้ำเหลืองบวม ลักษณะนี้ได้ประมาณ 3 ใน 4 ของต่อมน้ำเหลืองบวม/ต่อมน้ำเหลืองโตทั้งหมด

ข. ต่อมน้ำเหลืองบวมทั่วร่างกาย (Generalized lymphadenopathy): ซึ่งหมายถึงมีต่อมน้ำเหลืองบวมคลำได้ตั้งแต่ 2 บริเวณขึ้นไป โดยทั้ง2บริเวณนั้น ไม่ได้อยู่ติดต่อกัน เช่น คลำได้ที่ลำคอและที่ขาหนีบ หรือที่ลำคอและรักแร้ เป็นต้น ซึ่งพบต่อมน้ำเหลืองบวมลักษณะนี้ได้ประมาณ 1 ใน 4 ของต่อมน้ำเหลืองบวมทั้งหมด

ต่อมน้ำเหลืองบวมมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของต่อมน้ำเหลืองบวม/ต่อมน้ำเหลืองโต ได้แก่

ก.ต่อมน้ำเหลืองบวมคลำได้บริเวณเดียว/บวมเฉพาะที่: พบได้ประมาณ 75%ของต่อมน้ำเหลืองบวมทั้งหมด โดยสาเหตุพบบ่อย เกิดจาก

1. ต่อมน้ำเหลืองลำคอบวม: พบประมาณ 55-60% ของต่อมน้ำเหลืองบวมทั้งหมด โดย

  • ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกร ใต้คาง บวม: มักเกิดจากการอักเสบในช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบ, ฟันผุ, ลิ้นอักเสบ , ไซนัสอักเสบ
  • ต่อมน้ำเหลืองด้านหน้าลำคอบวม: มักเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อ/อวัยวะในลำคอรวมทั้ง ต่อมทอนซิล คอหอย กล่องเสียง หู และรวมทั้งวัณโรคต่อมน้ำเหลือง
  • ต่อมน้ำเหลืองด้านหลังลำคอบวม: มักเกิดจากโรคติดเชื้อไวรัส/ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (เช่น เยื่อจมูกอักเสบ, เจ็บคอ-คออักเสบ, ไอ, โรคหวัด, ไข้หวัดใหญ่ ) หรือ การอักเสบของหู/ หูติดเชื้อ

2. ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้าบวม: พบประมาณ 1% โดย

  • ด้านซ้าย: มักเกิดจากการแพร่กระจายของโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม ด้านซ้าย, มะเร็งปอดด้านซ้าย, มะเร็งหลอดอาหาร, และโรคมะเร็งต่างๆในช่องท้อง เช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร, โรคมะเร็งตับอ่อน
  • ด้านขวา: มักเกิดจากการแพร่กระจายของ มะเร็งปอดด้านขวา, มะเร็งเต้านมด้านขวา, มะเร็งหลอดอาหาร
  • อาจพบได้จากต่อมน้ำเหลืองอักเสบชนิดที่แพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุ

3. ต่อมน้ำเหลืองรักแร้บวม: พบประมาณ 5% มักเกิดได้ทั้งจากการอักเสบของ แขน มือ, ที่รวมถึงผิวหนังและเล็บมือ, เนื้อเยื่อรักแร้เอง, มะเร็งเต้านม, หรือ มะเร็งผิวหนังของ แขน มือ

4. ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบบวม: พบประมาณ 15% มักเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อในส่วน ขา เท้า ที่รวมถึงผิวหนังและเล็บเท้า, ของอวัยวะเพศ, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, มะเร็งอวัยวะเพศหญิง หรือ มะเร็งอวัยวะเพศชาย

5. ต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้อศอกบวม: พบน้อยมาก ประปราย มักเกิดจากมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

6. ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาพับบวม: พบประปราย น้อยมาก มักเกิดจาก มะเร็งของขา และเท้า รวมทั้งมะเร็งผิวหนังของขาและเท้า

7. อื่นๆ: ต่อมน้ำเหลืองบวมเฉพาะที่กรณีจากโรคมะเร็งฯ ต่อมน้ำเหลืองมักมีขนาดบวมเกิน 1 ซม. ค่อนข้างแข็ง และที่สำคัญคือ จะบวม/โตขึ้นเรื่อยๆจนกว่าจะได้รับการรักษา เช่นจาก

  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • โรคมะเร็งจากอวัยวะอื่นลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งในระบบ-ศีรษะ-ลำคอ

ข. ต่อมน้ำเหลืองบวม/ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย: พบประมาณ 25% ของต่อมน้ำเหลืองบวมทั้งหมด ซึ่งสาเหตุพบบ่อยเกิดจาก

  • การติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคไทฟอยด์ , วัณโรคต่อมน้ำเหลือง
  • การแพ้ยาบางชนิด เช่น ยาบางชนิดในการรักษา โรคเกาต์, โรคความดันโลหิตสูง, มาลาเรีย /ไข้จับสั่น, ยาต้านชักบางชนิด, หรือยาปฏิชีวนะบางชนิด
  • โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี (โรคพุ่มพวง)
  • โรคจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์
  • จากถูกแมลงบางชนิด กัด ต่อย
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • มะเร็งเม็ดขาว
  • การลุกลามแพร่กระจายของโรคมะเร็งชนิดต่างๆเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง
  • โรคติดเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เช่น โรคเอดส์, โรคไวรัสตับอักเสบบี

ต่อมน้ำเหลืองบวมเป็นมะเร็งได้ไหม?

ต่อมน้ำเหลืองบวม/ต่อมน้ำเหลืองโตเพียงอาการเดียว มีโอกาสเกิดจากโรคมะเร็งน้อยมาก (ทั้งจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือจากโรคมะเร็งชนิดต่างๆที่ลุกลามแพร่กระจายมายังต่อมน้ำเหลือง) ทั่วไปมีรายงาน รวมทั้งหมดเพียงประมาณ 1% เท่านั้นของต่อมน้ำเหลืองบวมที่มีสาเหตุจากโรคมะเร็ง

ทั้งนี้ แพทย์จะพิจารณาว่า ต่อมน้ำเหลืองบวมนั้น อาจเกิดจากมะเร็งได้ โดยตรวจดูจากปัจจัยต่างๆ คือ อาการ่วมต่างๆ, อายุ, ขนาดของต่อมน้ำเหลือง, ความแข็ง หรือนุ่ม, ตำแหน่งของต่อมน้ำเหลือง, อัตราเจริญเติบโตของต่อมน้ำเหลือง บวมโตเร็ว โตช้า คงที่/ไม่โตขึ้น, และจากมีก้อนเนื้อ และ/หรือแผลเรื้อรังในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆร่วมด้วย

ก. อายุ: โดยยิ่งอายุสูงขึ้น โอกาสพบต่อมน้ำเหลืองบวม/ต่อมน้ำเหลืองโตจากโรคมะเร็งจะสูงกว่าช่วงอายุอื่นๆ โดยมีการศึกษาพบว่า

  • เมื่อคลำพบต่อมน้ำเหลืองบวม/ต่อมน้ำเหลืองโตในช่วงอายุต่ำกว่า 30 ปี ประมาณ 80%เกิดจากการอักเสบติดเชื้อ หรือการอักเสบที่ไม่ใช่จากการติดเชื้อ(เช่น จากโรค๓มิต้านตนเอง)
  • ช่วงอายุ 31-50 ปี ประมาณ 60% เกิดจากการอักเสบ ทั้งการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ
  • ช่วงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ประมาณ40% เกิดจากการอักเสบอาจติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อ และ
  • จากอีกการศึกษาพบว่า
    • อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป พบต่อมน้ำเหลืองบวม/ต่อมน้ำเหลืองโตที่เกิดจากโรคมะเร็งคิดเป็นประมาณ 5% แต่
    • ถ้าอายุต่ำกว่า 40 ปี พบโรคมะเร็งเป็นสาเหตุเพียงประมาณ 0.5% ของต่อมน้ำเหลืองที่บวม/โตทั้งหมด

ข. ขนาดของต่อมน้ำเหลือง:

  • ต่อมน้ำเหลืองที่มีขนาดบวมโตขึ้นต่อเนื่อง: โอกาสเกิดจากโรคมะเร็งจะสูงขึ้น ยกเว้นต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้อศอก และบริเวณขาพับซึ่งเมื่อ บว/โตคลำได้ มักมีสาเหตุจากโรคมะเร็งได้สูงกว่าต่อมน้ำเหลืองตำแหน่งอื่นบวมโต
  • กรณีต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโต: มีการศึกษาพบว่า
    • มักเกิดจากการอักเสบ มีโอกาสจากโรคมะเร็งได้เมื่อมีขนาดโตมากกว่า 2ซม. ขึ้นไป
    • แทบไม่พบมีสาเหตุจากโรคมะเร็งเลยเมื่อต่อมฯมีขนาดเล็กกว่า 1 ซม.
    • โอกาสเกิดจากโรคมะเร็งเพิ่มเป็นประมาณ 8% เมื่อต่อมฯมีขนาด 1-2 ซม. และ
    • โอกาสเพิ่มเป็นประมาณ 38% เมื่อต่อมฯมีขนาดบวม/โตมากกว่า 2 ซม.

ค. ความแข็ง หรือนุ่มของต่อมน้ำเหลือง:

  • ต่อมน้ำเหลืองที่เกิดจากการอักเสบ มักนุ่มและเจ็บ
  • แต่ต่อมน้ำเหลืองเกิดจากโรคมะเร็ง จะแข็ง หรือแข็งประมาณยางลบ และมักไม่เจ็บ

ง. ตำแหน่งของต่อมน้ำเหลือง: ต่อมน้ำเหลืองในทุกตำแหน่งสามารถเกิดจากโรคมะเร็งได้ทั้งนั้น เพียงแต่โอกาสที่เกิดมากน้อยต่างกัน โดย

  • เมื่อคลำพบต่อมฯบวม/โตในบริเวณ ข้อศอก ขาหนีบ หรือเหนือกระดูกไหปลาร้า แพทย์มักนึกถึงสาเหตุจากโรคมะเร็งร่วมอยู่ในการวินิจฉัยแยกโรค
  • แต่ถ้าเป็นต่อมฯตำแหน่งอื่น ส่วนใหญ่เกิดจากต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

จ. การอัตราเติบโตของต่อมน้ำเหลือง: เมื่อต่อมฯมีขนาดบวม/โตไม่เกิน 1 ซม., และมีขนาดคงที่, ไม่บวมโตขึ้นนานอย่างน้อย 1-2 เดือน มักมีสาเหตุจากต่อมน้ำเหลืองอักเสบเรื้อรัง มักไม่ใช่จากโรคมะเร็ง ยกเว้นในผู้ป่วยบางราย (พบได้น้อยมากๆๆ)ในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ฉ. การมีก้อนเนื้อ และ/หรือแผลในอวัยวะต่างๆร่วมด้วย: เมื่อคลำพบต่อมน้ำเหลืองโต ร่วมกับมีก้อนเนื้อหรือมีแผลเรื้อรังในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ แพทย์มักนึกถึงมีสาเหตุจากโรคมะเร็งร่วมอยู่ในการวินิจฉัยแยกโรค

ช. อาการทั่วไปอื่นๆ(Systemic symptom)ที่เกิดร่วมด้วย: ที่ทำให้แพทย์ต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคมะเร็ง เช่น

  • มีไข้เป็นๆหายๆ ซึ่งเป็นได้ทั้งไข้ต่ำๆหรือไข้สูง โดยอาจเกิดจากโรคติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ หรือ มะเร็ง
  • อ่อนเพลียเกินเหตุ
  • ผอมลง/ น้ำหนักลดผิดปกติ โดยลดลงมากกว่า5%ภายในระยะเวลา 6 เดือนหรือน้อยกว่า
  • เหงื่อออกกลางคืนต่อเนื่องหรือเป็นๆหายๆโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อาจมีภาวะ/โรคซีด ร่วมด้วย

ต่อมน้ำเหลืองบวมมีอาการร่วมอะไรบ้าง?

อาการต่างๆที่อาจพบร่วมกับการมีต่อมน้ำเหลืองบวม/ต่อมน้ำเหลืองโต ได้แก่

ก. ไม่มีอาการอื่นเลยยกเว้นต่อมน้ำเหลืองบวม ซึ่งพบได้ทั้งจากต่อมน้ำเหลืองบวมอักเสบติดเชื้อ หรือจากโรคมะเร็ง

ข. อาการจากสาเหตุ: ซึ่งจะแตกต่างกันตามแต่ละสาเหตุ เช่น โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง, โรคติดเชื้อ-ภาวะติดเชื้อ, โรคมะเร็ง, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งเต้านม

(แนะนำอ่านรายละเอียดที่รวมถึงอาการของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุได้จากเว็บ haamor.com)

ค. อื่นๆ: อาการทั่วไปอื่นๆที่เกิดร่วมด้วย เช่น

  • มีไข้ เป็นๆหายๆโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เจ็บที่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อ แต่ในผู้ป่วยบางรายก็เกิดจากโรคมะเร็งได้เช่นกัน เช่น ในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมแดง ร้อน เจ็บ มักเกิดจากต่อมน้ำเหลืองอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย อาจมีหนองร่วมด้วย
  • ผอมลง น้ำหนักตัวลด( น้ำหนักลดผิดปกติ)
  • เหงื่อออกกลางคืน
  • ปวดเมื่อยเนื้อตัว
  • ปวดข้อต่างๆ โดยเฉพาะข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า
  • อ่อนเพลีย
  • โรคซีด

ง. การตรวจร่างกาย อาจพบก้อนเนื้อ หรือการมีแผลเรื้อรัง ซึ่งแพทย์ต้องวินิจฉัยแยกโรคระหว่างแผลติดเชื้อเรื้อรัง และแผลมะเร็ง

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อพบต่อมน้ำเหลืองบวม/โต คลำได้ โดยเฉพาะร่วมกับการเกิดก้อนเนื้อ/แผล, ต่อมน้ำเหลืองบวมโตต่อเนื่อง, และมีอาการต่างๆดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการร่วม’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุต่อมน้ำเหลืองบวมได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของต่อมน้ำเหลืองบวม ได้จาก

  • ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆทั้งในอดีต ปัจจุบัน และของครอบครัว พฤติกรรมการใช้ชีวิต ประวัติการใช้ยา สถานที่พักอาศัยและการท่องเที่ยว
  • การตรวจร่างกาย ซึ่งเมื่อสงสัยเป็นการติดเชื้อ หรือการอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ แพทย์มักให้การรักษาโรคนั้นๆ และสังเกตอาการโดยติดตามผู้ป่วยอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์
  • ซึ่งถ้าต่อมน้ำเหลืองยังคงบวม/โต ไม่ยุบลง แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัด/ตัดชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลืองที่บวม เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือเจาะ/ดูดเซลล์จากต่อมน้ำเหลืองฯเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา เพื่อหาสาเหตุที่แน่นอน
  • แต่ถ้าแพทย์สงสัยโรคมะเร็งตั้งแต่แรก
    • แพทย์มักตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อหรือจากแผลเรื้อรัง หรืออาจจากต่อมน้ำเหลืองที่บวม/โต เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาตั้งแต่แรก
    • หรืออาจเจาะ/ดูดเซลล์จากก้อนเนื้อ/แผล/ต่อมน้ำเหลืองเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา

รักษาต่อมน้ำเหลืองบวมอย่างไร?

แนวทางการรักษาต่อมน้ำเหลืองบวม คือ การรักษาสาเหตุร่วมกับการรักษาตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: เช่น

  • ให้ยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย
  • รักษามะเร็งเมื่อมีสาเหตุจากโรคมะเร็ง เป็นต้น

(แนะนำอ่านรายละเอียดเรื่องโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุและรวมถึงการรักษาได้จากเว็บ haamor.com)

ข. การรักษาตามอาการ: เช่น

  • ยาลดไข้กรณีมีไข้
  • ยาแก้ปวด/เจ็บ กรณีมีอาการเจ็บปวด
  • การผ่าตัดระบายหนองกรณีต่อมน้ำเหลืองบวมอักเสบเป็นหนอง

ต่อมน้ำเหลืองบวมรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคกรณีต่อมน้ำเหลืองบวม/ต่อมน้ำเหลืองโต โดยทั่วไป ไม่รุนแรง มักรักษาได้หายเสมอ ยกเว้นเมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง

ส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากการมีต่อมน้ำเหลืองบวม/ต่อมน้ำเหลืองโต คือ ความกังวลว่าจะเป็นโรคมะเร็ง และเมื่อเกิดในบริเวณลำคอ อาจส่งผลถึงรูปลักษณ์สำหรับบางคนเมื่อต่อมฯบวมจนมองเห็นชัดเจน

ดูแลตนเองอย่างไรหลังพบแพทย์แล้ว? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อมีต่อมน้ำเหลืองบวมหลังพบแพทย์/มาโรงพยาบาลแล้ว คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พบแพทย์/มาโรคพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • ต่อมน้ำเหลืองบวมมากขึ้น เจ็บปวดมากขึ้น หรืออาการร่วมต่างๆแย่ลง
    • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ท้องเสียต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

ป้องกันต่อมน้ำเหลืองบวมได้อย่างไร?

การป้องกันต่อมน้ำเหลืองบวม คือ การป้องกันสาเหตุที่ป้องกันได้ ซึ่งที่พบเป็นสาเหตุบ่อยที่สุด คือ การติดเชื้อ และโรคของช่องปากและฟัน ดังนั้น การป้องกัน คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ไม่สำส่อนทางเพศ
  • ใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ไม่ใช้ยาเสพติด
  • รักษาความสะอาดของช่องปากและฟัน ที่สำคัญ เช่น
    • แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เมื่อตื่นนอนเช้า และก่อนเข้านอน
    • ร่วมกับใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1ครั้งก่อนแปรงฟันเข้านอน
    • และพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน- 1ปี หรือตามทันตแพทย์แนะนำ

บรรณานุกรม

  1. https://www.healthline.com/health/swollen-lymph-nodes [2021,Feb13]
  2. https://www.aafp.org/afp/1998/1015/p1313.html [2021,Feb13]
  3. https://www.emedicinehealth.com/swollen_lymph_glands/article_em.htm [2021,Feb13]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Lymphadenopathy [2021,Feb13]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/956340-overview#showall [2021,Feb13]