โรคลมแดด โรคจากความร้อน (Heatstroke/Heat illness)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคลมแดด หรือ โรคจากความร้อน (Heatstroke หรือ Sun stroke หรือ Heat illness หรือ Heat-related illness) คือ โรค/ภาวะที่เกิดจากมีความร้อนในสิ่งแวดล้อมสูง เช่น ในฤดูร้อนที่ร้อนจัด ฯลฯ, จนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนที่เกิดจากการใช้พลังงานของร่างกายตามปกติได้ จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น ซึ่งเรียกว่า ‘โรคที่สัมพันธ์กับความร้อน (Heat illness หรือ Heat-related illness หรือ Heat stress)’ โดยเมื่อมีอาการรุนแรงที่สุด จะเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เรียกว่า ‘โรค/ภาวะลมแดด (Heatstroke)’

โรคลมแดด พบทั่วโลก พบบ่อยในประเทศเขตร้อนโดยเฉพาะในฤดูร้อนและในนักกีฬากลางแจ้ง, ในคนอาชีพต้องทำงานกลางแดดจัดเป็นเวลานาน, ในการฝึกทหารกลางแจ้ง, หรือ ในผู้แสวงบุญ, พบทุกอายุแต่พบบ่อยในเด็กเล็กและในผู้สูงอายุ, เพศชายและเพศหญิงมีโอกาสเกิดได้ไม่ต่างกันขึ้นกับสิ่งแวดล้อม

โรคลมแดดเกิดได้อย่างไร?

 

โรคลมแดดเกิดจาก มีการเพิ่มอุณหภูมิในสิ่งแวดล้อมจนส่งผลให้ร่างกายกำจัดความร้อนจากการเผาผลาญพลังงานออกไม่ได้ตามปกติ ส่งผลให้ในร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ จึงก่อให้เกิดอาการต่างๆขึ้น ทั้งนี้อุณหภูมิปกติของร่างกาย คือ 37 องศาเซลเซียส (°C, Celsus)

ทั่วไป  ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งนี้ตัวควบคุมระดับอุณหภูมิในร่างกาย คือ สมองส่วนไฮโปธามัส/Hypothalamus (สมองใหญ่ส่วนอยู่ลึก) ส่วนอวัยวะอื่นๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อช่วยพาความร้อนออกจากร่างกาย คือ  ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุม การเต้นของหัวใจ, การหดและขยายตัวของหลอดเลือดซึ่งเป็นตัวนำพา (Convection) ความร้อนให้กระจายไปทั่วตัว, และผ่านความร้อนที่กระจายออกทางผิวหนังด้วยการระเหยผ่านทางเหงื่อ, นอกจากนั้น ความร้อนบางส่วนจะออกไปกับลมหายใจ

นอกจาก การระบายความร้อนออกจากร่างกายด้วย 'วิธีการพา(Heat  convection)' ดังกล่าวแล้ว ตัวเราเองยังช่วยระบายความร้อนจากร่างกายออกได้โดย

  • การนำ (Conduction): เช่น การอาบน้ำ การวางกระเป๋าน้ำแข็ง
  • การพา (Convection): เช่น การพัด การใช้พัดลม
  • การแพร่กระจาย (Radiation): เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าสีขาว หรือสีอ่อน เพื่อช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป
  • และการระเหย (Evaporation): เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ และใช้เนื้อผ้าที่ความร้อนระเหยได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย 100%

เมื่ออุณหภูมิในสิ่งแวดล้อม (อากาศ) สูงขึ้น จะส่งผลให้ร่างกายเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน (Metabolic rate) ให้สูงขึ้นตามไปด้วย โดยมีการศึกษาพบว่า ร่างกายจะเพิ่มการเผาผลาญพลังงานเพิ่มสูงขึ้น 10% เมื่ออุณหภูมิของอากาศเพิ่มขึ้นทุกๆ 0.6 องศาเซลเซียส ดังนั้นร่างกายจึงต้องมีการปรับตัว และเราเองต้องช่วยระบายความร้อนด้วยวิธีการดังกล่าวแล้ว ซึ่งถ้ากระบวนการระบายความร้อนทั้งหมดดังกล่าวแล้วทำได้ไม่ดี จะส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนถึงขั้นก่อให้เกิดอาการ หรือ ‘โรคจากความร้อน’ที่อาจรุนแรงจนถึงขั้นเกิด ‘โรคลมแดด’ ตามมาในที่สุด

ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดด?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดด เช่น

  • ผู้สูงอายุ: เนื่องจากมีโรคประจำตัวหลายโรค กินยาบางชนิด (เช่น ยาลดความดันโลหิต) ที่อาจก่อให้การระบายความร้อนของร่างกายลดลง, รวมทั้งอวัยวะต่างๆ ที่ทำหน้าที่ระบายความร้อน เช่น หลอดเลือด  หัวใจ และปอดยังทำงานเสื่อมลง, นอกจากนั้น ผู้สูงอายุมักดื่มน้ำน้อย, ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย, และต้องพึ่งพาผู้อื่นในการใช้ชีวิตประจำวัน การระบายความร้อนออกจากร่างกายด้วยตนเองจึงลดประสิทธิภาพ
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): โดยเฉพาะเด็กอ่อนและเด็กเล็ก เพราะร่างกายเด็กมีการเผาผลาญพลังงานสูงกว่าผู้ใหญ่, อวัยวะต่างๆที่ใช้ช่วยระบายความร้อนยังเจริญไม่เต็มที่,  และเด็กยังต้องได้รับการดูแลจากผู้อื่นจึงเป็นข้อจำกัดในการรระบายความร้อนออกด้วยตนเอง
  • คนโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน: เพราะผิวหนังมีไขมันมาก ซึ่งไขมันเป็นเนื้อเยื่อที่สะสมความร้อนและระบายความร้อนออกได้ไม่ดี, นอกจากนั้น มักมีโรคประจำตัว หรือ อวัยวะต่างๆรวมทั้งอวัยวะที่ช่วยระบายความร้อนมีการทำงานได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนปกติ
  • คนมีโรคประจำตัว: ที่ต้องกินยาหลายชนิดซึ่งมีผลข้างเคียงที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการระบายความร้อนของร่างกาย เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดความอ้วน ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ ยาแก้ท้องผูก (ยาถ่าย) ยากันชัก และยาจิตเวช   
  • นักกีฬา, คนทำงานกลางแดด เช่น ทหาร เกษตรกร กรรมกร และผู้ที่ออกกำลังมากเกินควรโดยเฉพาะกลางแจ้ง
  • ติดสุรา หรือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงอากาศร้อน: เพราะเพิ่มการขับน้ำออกจากร่างกาย
  • พันธุกรรม: บางคน (พบได้น้อย)มีพันธุกรรมที่ทนต่อความร้อนได้น้อยกว่าคนทั่วไป

โรคลมแดดมีความรุนแรง และมีอาการอย่างไร?

โรคจากอากาศร้อนแบ่งตามความรุนแรงจากน้อยไปหามาก ได้เป็น 5 ระดับ คือ การขึ้นผื่นแดด, การเกิดตะคริวแดด, การหมดสติชั่วคราวจากแดด/อากาศร้อน, การหมดแรงเพราะแดด/อากาศร้อน, และโรคลมแดด 

  • ผื่นแดด (Heat rash): ผิวหนังชื้นแฉะจากเหงื่อ จึงเกิดผื่นคันเม็ดเล็กๆ สีออกชมพู (ผด) ซึ่งเกิดได้กับผิวหนังทุกส่วนโดยเฉพาะ ลำคอ ในร่มผ้า และตามข้อพับต่างๆ
  • ตะคริวแดด (Heat cramp): กล้ามเนื้อจะหดเกร็งจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากทางเหงื่อ ส่งผลให้เกิดอาการปวด/เจ็บกล้ามเนื้อพบบ่อยบริเวณหน้าท้อง แขน และขา
  • การหมดสติชั่วคราวจากแดด/ร้อน (Heat syncope): คืออาการ อ่อนเพลีย วิง เวียน และหมดสติชั่วคราว ที่เกิดจากอากาศร้อน หรือ แดดจัด
  • การหมดแรงเพราะแดดร้อน (Heat exhaustion): อาการคือเหงื่อออกมาก  อ่อนเพลีย  หมดแรง กล้ามเนื้อเป็นตะคริว มีไข้ต่ำๆ ดูซีด หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ตื้น เหนื่อย  วิงเวียน  สับสน
  • โรคลมแดด (Heatstroke): อาการคือ เหงื่อออกมาก ผิวหนังร้อน ตัวสั่น  เป็นตะคริว ปวดหัว  พูดช้า สับสน เห็นภาพหลอน หายใจเร็ว ตื้น เหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว มีไข้สูง หมดสติ ช็อก โคม่า และเมื่อให้การรักษาไม่ทัน อาจถึงตายได้

บางตำรา ยังแบ่งโรคจากอากาศร้อนเพิ่มเติมจากดังได้กล่าวแล้ว ได้แก่ การบวมน้ำจากแดด/ความร้อน, และการชักเกร็งจากแดด/ความร้อน

  • การบวมน้ำจากแดด/ความร้อน (Heat edema): คือ เกิดอาการบวมน้ำโดยเฉพาะที่ เท้า ขา  มือ แขน จากความร้อนทำให้หลอดเลือดขยาย น้ำ/ของเหลวในหลอดเลือดจึงซึมออกจากหลอดเลือดเข้ามาในเนื้อเยื่อต่างๆรอบหลอดเลือดโดยเฉพาะตามแรงโน้มถ่วง/แรงดึงดูดของโลก คือ เท้า ขา มือ แขน
  • การชักเกร็งจากแดด/ความร้อน (Heat tetany): การที่มีอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น จะส่งผลให้อัตราการหายใจเร็วขึ้น (Hyperventilation) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความเป็นกรด-ด่างของเลือด  จึงเกิดการชักเกร็งของกล้ามเนื้อได้

แพทย์วินิจฉัยโรคลมแดดได้อย่างไร?

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคลมแดดได้จาก

  • ซักถามประวัติอาการประวัติเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน  ประวัติกินยา ประวัติการอยู่กลางแดด หรืออากาศร้อน การทำงาน เล่น/กีฬา ออกกำลังกาย 
  • การตรวจวัดสัญญาณชีพ
  • การตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือดดู เช่น ค่าความเข้มข้นของเลือด/ซีบีซี/CBC, ค่าเกลือแร่ต่างๆ, ความเป็นกรดด่าง
  • และอาจมีการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี เป็นต้น

รักษาโรคลมแดดอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคลมแดด คือ การช่วยให้ร่างกายระบายความร้อนออกได้โดยเร็วที่สุด เช่น ประคบเย็นทั้งตัว ร่วมกับให้น้ำและเกลือแร่ชดเชยจากที่เสียไปกับเหงื่อ อาจโดยการดื่ม หรือ ให้ทางหลอดเลือดดำขึ้นกับความรุนแรงของอาการ, นอกจากนั้น คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดศีรษะ เป็นต้น

โรคลมแดดมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรคลมแดด คือ ภาวะหมดสติ และภาวะช็อก ซึ่งเป็นสาเหตุให้ถึงตายได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการต่างๆจากอากาศร้อน แดดร้อน หรือ โรคลมแดด ที่สำคัญ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แดดจัดเป็นเวลานาน พยายามอยู่ในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีลมพัด/มีพัดลม ใช้พัดช่วย หรือใช้เครื่องปรับอากาศ
  • เมื่อออกแดด ใช้ร่ม หรือ สวมหมวกปีกกว้าง
  • สวมใส่เสื้อผ้าหลวม ผ้าที่ระบายอากาศได้ดี (ผ้าฝ้าย 100%) สีขาวหรือสีอ่อน
  • ดื่มน้ำสะอาดเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว แต่เมื่อเหงื่อออกมากและเริ่มเพลีย อาจต้องดื่มน้ำเพิ่ม รวมถึงอาจต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและให้มีสมดุลของน้ำและเกลือแร่
  • หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬา หรือการออกกำลังกายที่เสียเหงื่อมากในช่วงอากาศร้อน
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, จำกัดหรืองดดื่ม เครื่องดื่มคาเฟอีนเพราะเครื่องดื่มเหล่านี้เพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะร่างกายจึงเสียน้ำและเกลือแร่มากขึ้น
  • การดูแลตนเองเมื่อเกิดผื่นแดด: นอกเหนือจากการดูแลโดยทั่วไปดังกล่าวแล้ว, การดูแลตนเองเมื่อเกิดผื่นแดด คือ การอาบน้ำบ่อยขึ้น, การทาแป้งเย็นหลังอาบน้ำ, และทายาบรรเทาอาการคัน เช่น น้ำยาคาลามาย/ คาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion), ระวังอย่าเกาเพราะแผลเกาอาจติดเชื้อได้ ดังนั้นจึงควรตัดเล็บให้สั้น
  • การดูแลตนเองเมื่อเกิดตะคริวแดด: คือ เมื่อเกิดอาการผิดปกติ ควรรีบกลับเข้าพักในที่ร่ม อากาศเย็น อากาศถ่ายเทได้ดี, ดื่มน้ำ  น้ำผลไม้ และ/หรือ น้ำเกลือแร่,  พักการทำงานอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพราะถ้ารีบกลับไปทำงาน มักทำให้อาการรุนแรงขึ้น, แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตั้งแต่แรก, รวมทั้งเมื่ออาการตะคริวแย่ลง, หรือไม่ดีขึ้นในประมาณ 1 ชั่วโมงหลังดูแลตนเอง
  • การดูแลตนเองเมื่อวิงเวียนจะเป็นลมจากอากาศร้อน: เมื่อเริ่มมีอาการดังกล่าว ควรรีบเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้ดี, นั่งลง หรือนอนเอนตัว, ปลดเสื้อผ้าให้หลวมสบาย, จิบน้ำหรือ เครื่องดื่มเกลือแร่ช้าๆ, และถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือ แย่ลง ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที
  • การดูแลตนเองเมื่อหมดแรงจากแดด: คือ การเข้าพักในที่ร่ม อากาศเย็น ถ่ายเทได้ดี, ดื่มน้ำมากๆโดยเฉพาะน้ำเย็น, งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, และถ้าอาการไม่ดีขึ้น, หรืออาการแย่ลง, ควรรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที
  • การดูแลตนเองเมื่อมีอาการลมแดด: คือ การไปรีบโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที
  • การดูแลตนเองเมื่อมีการบวมน้ำจากแดด/ความร้อน: ควรเข้าพักในที่ร่ม, นั่ง นอนยกเท้า/แขนสูง, แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1-2 วัน หรืออาการแย่ลง หรือ เกิดร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ, ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • การดูแลตนเองเมื่อมีการชักเกร็งจากแดด/ความร้อน: คือ การรีบเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน (โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง 1669, สพฉ: สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ), ระหว่างคอยรถพยาบาลฉุกเฉิน ให้ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ของ สพฉ. แนะนำ

ป้องกันโรคลมแดดอย่างไร?

การป้องกันโรคลมแดด ที่สำคัญ คือ

  • การดูแลตนเองในเรื่องทั่วไปดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ การดูแลตนเองและการพบแพทย์ฯ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อนั้น)’ ซึ่งที่สำคัญ คือ
    • อย่าอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน, ควรอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้ดี, สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี, มีเครื่องป้องกันเมื่อต้องออกแดด เช่น กางร่ม
    • และต้องดื่มน้ำสะอาดให้ได้เพียงพอกับน้ำที่สูญเสียทางเหงื่อ คือ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม

บรรณานุกรม

  1. Becker, J., and Stewart, L. (2011). Heat-related illness. Am Fam Physician. 83, 1325-1330.
  2. Wexler, R. (2002). Evaluation and treatment of heat-related illness. Am Fam Physician. 65, 2307-2315.
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Heat_illness [2023,Feb4]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/166320-overview#showall [2023,Feb4]