หลอดเลือดดำจอตาอุดตัน โรคซีอาร์วีโอ (Central retinal vein occlusion หรือ CRVO)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

หลอดเลือดดำจอตาอุดตันคือโรคอะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?

โรคหรือภาวะหลอดเลือดดำจอตาอุดตัน ย่อว่า ‘โรคซีอาร์วีโอ’(Central retinal vein occlusion: CRVO) คือ โรค/ภาวะที่หลอดเลือดดำใหญ่ของจอตาอุดตันจากมีลิ่มเลือดเกิดในหลอดเลือด   

ทั้งนี้  บริเวณด้านหลังต่อขั้ว/จานประสาทตา (อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com  บทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา) ที่หลอดเลือดต่างๆ และที่ประสาทตาจะแทงผ่านเปลือกลูกตา (Sclera) เข้าสู่ภายในลูกตา (บริเวณที่เรียกว่า Lamina cribrosa) เป็นบริเวณที่ทุกเนื้อเยื่ออัดกันแน่น  หลอดเลือดดำใหญ่ของจอตาจึงถูกเบียด จึงเกิดการอุดตันได้ง่าย จึงส่งผลให้แขนงของหลอดเลือดดำไม่สามารถนำเลือดเข้าหลอดเลือดดำใหญ่ที่อุดตันได้ ทำให้เซลล์จอตาค่อยๆขาดเลือดไปเลี้ยงและตายในที่สุด

การอุดตันจากลิ่มเลือดฯเกิดจากสาเหตุหลักใหญ่ 3 ประการ ได้แก่

  1. เลือดข้นมาก หนืดมากเกินไป เช่น ที่พบใน โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, ในภาวะเม็ดเลือดแดงมาก/โรคเลือดหนืด  และ ในภาวะมีปริมาณโปรตีนบางชนิดในเลือดสูงผิดปกติ (Dysproteinemia)
  2. โรคของผนังหลอดเลือด เช่น จากโรคเบาหวาน หรือ จากมีหลอดเลือดดำจอตาอักเสบ (Retinal periphlebitis) เช่น โรคเบเซ็ท (Behcet’s disease)
  3. มีแรงดันจากภายนอกหลอดเลือดกดหลอดเลือด เช่น โรคต้อหิน โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคความดันโลหิตสูง ความดันที่เพิ่มขึ้น จึงกดหลอดเลือดดำให้อุดตัน

หลอดเลือดดำจอตาอุดตันมีอาการอย่างไร?

โรคซีอาร์วีโอ

 

โรคของหลอดเลือดทุกชนิดจะมีอาการฉับพลัน หลอดเลือดดำจอตาอุดตัน/โรคซีอาร์วีโอก็เช่นกัน จะมีอาการตามัวอย่างฉับพลัน ซึ่งมักเกิดกับตาเพียงข้างเดียว โอกาสเกิดในตาซ้ายและตาขวาเท่า กัน แต่ก็พบได้ที่จะเกิดพร้อมกันทั้ง 2 ตา

ทั้งนี้ ตาจะมัวมากในรายที่มีการอุดตันอย่างสมบูรณ์ของหลอดเลือด กล่าวคือ เลือดไม่สามารถไหลเวียนในตาได้เลย แต่ตาจะมัวไม่มากในกรณีของการอุดตันเกิดเพียงบางส่วนของหลอดเลือด ซึ่งหมายความว่ายังมีบางส่วนของเลือดไหลเวียนได้ในตา

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำจอตาอุดตัน?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรค/ภาวะหลอดเลือดดำจอตาอุดตัน/โรคซีอาร์วีโอ เช่น

  • มีความดันโลหิตสูง
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นโรคต้อหินชนิดมุมปิด คือ ชนิดมีความดันตาสูง
  • มีโรคที่มีปัญหาของการแข็งตัวของเลือด คือ เลือดแข็งตัวได้ง่าย เช่น โรคเลือดหนืด, ภาวะมีเลือดข้นกว่าปกติ,  มีโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งของผนังหลอดเลือด(เช่น โรคซาร์คอยโดซิส,  โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี , โรคเบเซ็ท,  หรือภาวะมีปริมาณโปรตีนบางชนิดในเลือดสูงผิดปกติ  
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น
    • ฮอร์โมนคุมกำเนิด เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด
    • ยาขับปัสสาวะ

โรคหลอดเลือดดำจอตาอุดตันรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ความรุนแรงของโรค/ภาวะหลอดเลือดดำจอตาอุดตัน/โรคซีอาร์วีโอ แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ

ก. การอุดตันบางส่วนหรือชนิดไม่รุนแรง ไม่ทำให้เกิดภาวะขาดเลือดจนเนื้อเยื่อจอตาตาย เรียกกันว่า “Nonischemic CRVO บางคนเรียกว่า Partial CRVO หรือ Perfused CRVO” (ยังมีเลือดผ่านไปเลี้ยงจอตาได้)  มักพบในคนอายุน้อยกว่า 65 ปี มีสายตามัวไม่มาก   

อนึ่ง:

  • เมื่อตรวจจอตา: อาจพบรอยเลือดออกที่จอตาเต็มไปหมด แต่ไม่พบรอยสีขาวคล้ายปุยฝ้าย (Cotton wool) หรือพบน้อยมาก ซึ่งเป็นรอยบ่งถึงมีการตายของเซลล์จอตาในบริเวณเนื้อเยื่อ Macula(จุดภาพชัด) และบริเวณจานประสาทตา มักจะไม่บวม
  • กลุ่มนี้มีการพยากรณ์โรค/ธรรมชาติของโรคที่ดี อาจหายจนสายตาเกือบใกล้เคียงกับปกติได้

ข. การอุดตันแบบสมบูรณ์ เรียกกันว่า “Ischemic CRVO”: เป็นการอุดตันที่รุนแรง ก่อให้เกิดการขาดเลือดของจอตา ทำให้นอกจากพบเลือดออกกระจายทั่วจอตาแล้ว ยังจะพบรอยสีขาวที่เรียก ‘Cotton wool’ ซึ่งบ่งถึงการตายของเซลล์จอตาเป็นหย่อมๆจำนวนมาก มีโอกาสพบการบวมของบริเวณจุดภาพชัดและจานประสาทได้มาก

อนึ่ง:

  • หากตรวจโดยการฉีดสีเข้าหลอดเลือด (FFA,Fundus Flourescein Angiography) จะพบบริเวณจอตาที่ขาดเลือดมาเลี้ยงเป็นบริเวณกว้าง
  • การอุดตันแบบนี้มักจะมีผลต่อเนื่อง และทำให้ตามัวลงได้มาก เป็นภาวะที่ต้องให้การติดตามและรักษาอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปมากกว่า 90%จะมีการมัวลงของสายตาตลอดไปไม่มากก็น้อย
  • *อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางราย ระยะแรกอาจเป็นแบบ ก. คือเป็นแบบจอตาไม่มีการขาดเลือดมากนัก แต่เมื่อติดตามไปอาจกลายเป็นแบบรุนแรงหรือแบบ ข.ได้ ทั้งนี้แพทย์ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดได้กับผู้ป่วยคนใด

ผลข้างเคียง:

ผลข้างเคียง ที่อาจพบได้จากโรคหลอดเลือดดำจอตาอุดตัน/โรคซีอาร์วีโอ   เช่น

  • เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหิน และ
  • อาจมีการฝ่อของจานประสาทตา และ/หรือ การเสื่อมของเนื้อเยื่อ Macula ซึ่งจะส่งผลให้สายตามัวลงถาวร

มีวิธีรักษาโรคหลอดเลือดดำจอตาอุดตันอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดดำจอตาอุดตัน/โรคซีอาร์วีโอ  เช่น

  • ควบคุม และ รักษาโรคที่คิดว่าเป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, โรคไขมันในเลือดสูง, เป็นต้น และหากมีความดันลูกตาสูง ก็ต้องรักษาควบคู่ไปด้วย
  • ตรวจจอตาอย่างละเอียดร่วมกับการฉีดสี (FFA) เพื่อแยกให้ได้ว่าโรค เป็นแบบหลอดเลือดอุดตันบางส่วน, หรือ แบบอุดตันสมบูรณ์, เพื่อการรักษาที่เหมาะสม
  • *ในกรณีที่โรคเป็นแบบหลอดเลือดอุดตันบางส่วน การให้ยาลดการแข็งตัวของเลือดประเภทยา Aspirin พบว่าไม่ค่อยได้ผล แม้แต่การรักษาด้วยเลเซอร์ ผลการรักษาก็ไม่สู้ได้ผลดีนัก ส่วนมากการรักษาโรคแบบหลอดเลือดอุดตันบางส่วนจึงมักเป็นการเฝ้าติดตาม คือ การตรวจจอตาเป็นระยะๆ หากกลายเป็นหลอดเลือดอุดตันแบบสมบูรณ์ จึงค่อยรักษาและดูแลใกล้ชิดต่อไป
  • *หากเป็นการอุดตันของหลอดเลือดแบบสมบูรณ์ ต้องติดตามดูว่า พบความผิดปกติที่ม่านตาโดยมีการเกิดหลอดเลือดใหม่ที่ม่านตาหรือไม่ (Iris neovascularization) ซึ่งเป็นตัวบอกว่า การขาดเลือดที่จอตาเป็นรุนแรงจนลามมาถึงส่วนหน้าของลูกตา คือ ม่านตา ซึ่งต้องรีบให้การรักษาด้วยเลเซอร์ที่จอตา (Panretinal laser photocoagulation) ซึ่งจะส่งผลให้หลอดเลือดที่เกิดใหม่บริเวณม่านตาฝ่อลง
    • ในบางราย โรคระยะนี้อาจรุนแรงจนหลอดเลือดเกิดใหม่ไปอุดทางเดินของ สารน้ำในลูกตา ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคต้อหินเฉียบพลันอย่างรุนแรงที่เรียกว่า Neovascular glaucoma ซึ่งการเกิดแบบเฉียบพลันนี้ คล้ายต้อหินมุมปิดทั่วไป แต่ภาวะนี้มุมที่ปิด เกิดเพราะหลอดเลือดเกิดใหม่ที่ม่านตาไปปิด  มักจะเกิดต้อหินชนิดนี้ภายหลังเกิดโรคซีอาร์วีโอนี้แล้วประมาณ 100 วัน จึงเรียกกันว่า “โรคต้อหิน 100 วัน (Hundred day glaucoma)”
    • ในปัจจุบันนิยมรักษา โดยฉีดยาต้านการเกิดใหม่ของหลอดเลือดที่เรียกว่า ยา Anti VEGF (Vascular endothelial growth factor) เข้าไปในน้ำวุ้นตา (Vitreous) ก่อน แล้วจึงตามด้วยการทำเลเซอร์ โดยเฉพาะในรายที่เป็นรุนแรงที่มีเลือดออกในน้ำวุ้นตาร่วมด้วย

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีสายตาผิดปกติ ควรต้องรีบพบจักษุแพทย์เสมอเพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะหลายโรคเป็นโรคที่รักษาได้หาย และหลายโรคเมื่อรักษาจะสามารถป้องกันไม่ให้สายตาเลวลงกว่าเดิมได้

ส่วนเมื่อทราบว่าเป็นโรคหลอดเลือดดำจอตาอุดตัน/โรคซีอาร์วีโอ การดูแลตนเองและการพบจักษุแพทย์ คือ

  • ปฏิบัติตามจักษุแพทย์ และพยาบาลจักษุ แนะนำให้ถูกต้องครบถ้วน
  • ใช้ยาต่างๆตามที่จักษุแพทย์แนะนำให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • รักษา ควบคุมโรคต่างๆดังกล่าวแล้ว ที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น ที่ได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ’
  • ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่เมื่อสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ จะส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งซึ่งรวมถึงหลอดเลือดของจอตาด้วย
  • พบจักษุแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • รีบพบจักษุแพทย์ก่อนนัด เมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ
    • มีอาการต่างๆแย่ลง โดยเฉพาะในเรื่องของการมองเห็น หรือ
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคหลอดเลือดดำจอตาอุดตันอย่างไร?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงฯดังกล่าวข้างต้น ควรรักษาและควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ  ร่วมกับการตรวจตาเป็นระยะๆจากจักษุแพทย์ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้

บรรณานุกรม

  1. https://www.nei.nih.gov/learn-about-eye-health/eye-conditions-and-diseases/central-retinal-vein-occlusion-crvo   [2023,Feb11]