โรคจอตาหลุดลอก อาร์อาร์ดี (Rhegmatogenous retinal detachment หรือ RRD)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

จอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดีคืออะไร?

โรคจอตาหลุดลอก

จอตาหลุดลอกอาร์ อาร์ ดี (RRD, Rhegmatogenous retinal detachment) เป็นการหลุดลอกของจอตาชนิดที่พบบ่อยกว่า จอตาหลุดลอกจากการดึงรั้ง (Traction retinal tear) หรือหลุดลอกจากมีของเหลวแทรกระหว่างชั้นของจอตา (Exudative retinopathy) ทั้งนี้ จอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดี เกิดจากมีการฉีกขาดของจอตา (อ่านเพิ่มเติมเรื่องชั้นต่างๆของจอตา จากบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา)

จอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดี เกิดโดยที่จอตาชั้นรับรู้การเห็นภาพ (Sensory retina) หลุดออกจากจอตาชั้นนอก (Retinal epithelium) ซึ่ง 90 -97% ของผู้ป่วย จักษุแพทย์สามารถตรวจพบรอยฉีกขาดของจอตาได้

-ลักษณะจอตาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ ได้แก่ การที่แพทย์ตรวจพบสิ่งผิดปกติต่างๆ ดังนี้

1. มี Retinal breaks (จอตาฉีกขาด) เป็นรอยขาดของชั้นรับรู้การเห็นภาพ (Sensory retina) อาจจะฉีกขาดเป็นรูปเกือกม้า (Horse shoe) เป็นรูกลม (Hole) เป็นรอยขาดคล้ายเป็นฝา (Flap) หรือร่วมกับลักษณะฉีกขาดแบบมีฝาเปิดอยู่ (Operculated) ซึ่งลักษณะของรูฉีกขาดเหล่านี้ บ่งถึงโอกาสจอตาที่เหลือหลุดลอกออกมาแตกต่างกัน การฉีกขาดของจอตาอาจเกิดขึ้นเอง หรือจากได้รับอุบัติเหตุบริเวณลูกตาก็ได้ โดยทั่วไป หากพบรอยฉีกขาด ควรให้การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ เพื่อรักษาโดยการปิดขอบที่ฉีกขาดให้ติดแน่นไว้ ป้องกันไม่ให้น้ำวุ้นตา เข้าไปเซาะให้จอตาหลุดลอก

2. มี Posterior Vitreous detachment (PVD) ในภาวะปกติตัวน้ำวุ้นตา หรือวุ้นตา (Vitreous) มีลักษณะเป็นเจล (Gel) นาบอยู่กับผิวจอตาอย่างหลวมๆ แต่บริเวณรอบๆจานประสาทตา (ส่วนที่ใยประสาทของจอตามารวมกันเป็นประสาทตา หรือ Optic disc) และบริเวณขอบๆของจอตาจะมีการยึดแน่นกว่าจอตาบริเวณอื่น เมื่อคนเราอายุมากขึ้น หรือในคนที่น้ำวุ้นตาผิดปกติ มีความเสื่อมสลายตัวกลายเป็นน้ำบางส่วน ตามด้วยการหดตัวของน้ำวุ้นตา ทำให้น้ำวุ้นตาที่อยู่ส่วนหลัง หลุดออกมาจากจอตา เกิดการดึงรั้งจอตาในบางบริเวณ ทำให้จอตาฉีกขาด น้ำวุ้นตาส่วนอื่น จึงอาจเข้าแทรกตามรอยฉีกขาด ดันให้จอตาหลุดลอกในที่สุด

3. มี Lattice degeneration เป็นรอยแหว่งของจอตาชั้นในสุด (ชั้น Internal limiting membrane) ร่วมกับน้ำวุ้นตาที่เสื่อมเป็นน้ำในบริเวณนั้น ตามด้วยชั้นต่างๆของ จอตาบางลง หากตรวจพบควรรับการรักษาด้วยเลเซอร์คล้ายๆกับผู้ป่วยจอตาฉีกขาด (อ่านเพิ่มเติมเรื่องชั้นต่างๆของจอตา จากบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา)

4. มี Vitreoretinal tuft คือ รอยนูนของจอตาบริเวณขอบๆ อาจเป็นเหตุให้มีจอตาหลุดลอกตามมา ทั้งนี้มักเป็นโรคเกิดแต่กำเนิด

5. ผู้ที่มีจอตาหลุดลอกข้างหนึ่ง โอกาสที่จอตาอีกข้างจะหลุดลอกมีสูง กล่าวคือ พบได้ถึง 10% ในตาทั่วไป และประมาณ 20 – 30% ในผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดต้อกระจกมาแล้ว เมื่อเทียบกับคนทั่วไป ที่มีอุบัติการณ์ของจอตาหลุดลอกเพียง 0.07% ผู้ที่มีจอตาหลุดลอกข้างหนึ่ง จึงควรต้องระมัดระวังในตาอีกข้างด้วยการสังเกตอาการและพบ จักษุแพทย์/หมอตาสม่ำเสมอตามนัด หรือรีบพบก่อนนัดเมื่อการเห็นภาพเลวลง หรือผิดปกติไปจากเดิม

จอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดีเกิดได้อย่างไร?

โดยทั่วไปจอตาหลุดลอกชนิดอาร์อาร์ดี มักจะเริ่มด้วยมีการหลุดลอกของน้ำวุ้นตารอบๆจานประสาทตาและบริเวณขอบๆของจอตา (PVD) หรือการมีความเสื่อมที่เรียกว่า Lattice degeneration มีการดึงรั้งจอตาบางส่วน ทำให้จอตาฉีกขาด น้ำวุ้นตาบางส่วนที่เสื่อมจนกลายเป็นน้ำใสจะเข้าไปแทรกตามรอยจอตาที่ฉีกขาด เซาะให้จอตาหลุดลอกออกมาในที่สุด หากจอตาที่ฉีกขาดอยู่ด้านบนหรือมีน้ำวุ้นตาดึงรั้งที่ขอบรอยฉีกขาด จะทำให้จอตาหลุดลอกได้อย่างรวดเร็ว กินบริเวณกว้าง ทำให้สายตามัวลงมากขึ้นๆ ตามขนาดของการหลุดลอก ระยะเวลาที่หลุดลอกออกมายิ่งนาน ยิ่งจะทำให้เซลล์รับรู้การเห็นของจอตาเสื่อมและตาย ไม่สามารถมองเห็นได้อีก ถ้าหลุดลอกไม่นาน สามารถรับการรักษาให้ติดกลับเหมือนเดิมได้ การมองเห็นอาจจะกลับคืนมาได้ หากหลุดลอกนานเข้า มีพังผืดดึงรั้งมากขึ้นๆ โอกาสจะผ่าตัดให้ติดกลับมาเหมือนเดิมยิ่งทำได้ยากขึ้น

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดจอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดี?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดจอตาลอกอาร์อาร์ดี ได้แก่

1. ผู้มีสายตาสั้นมาก มีการเสื่อมของน้ำวุ้นตาในอายุที่น้อยกว่าปกติ อีกทั้งมีจอตายืดออกจนบางกว่าของคนทั่วไป จึงมีการฉีกขาดง่ายกว่าในคนทั่วไป

2. ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดต้อกระจกไปแล้ว ผู้ป่วยเหล่านี้มักมี PVD ร่วมด้วย

3. ผู้ที่เคยรับอุบัติเหตุบริเวณตา

4. ผู้ที่เคยหรือมีการอักเสบภายในตา

5. มีประวัติจอตาหลุดลอกของสมาชิกในครอบครัว และ/หรือ มีประวัติจอตาหลุดลอกไปข้างหนึ่งแล้ว

จอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดีมีอาการอย่างไร?

อาการของจอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดี คือ

1. มีอาการของ PVD หรือความผิดปกติในน้ำวุ้นตา ได้แก่ เห็นอะไรเป็นจุด หรือแผ่นดำๆ ลอยไปมา (Eye floater) ในปริมาณมาก

2. เห็นแสงวาบๆ (Flashing) จากมีการกระตุ้นจอตาจากน้ำวุ้นตาที่เข้าไปในจอตาจากรูจอตาที่ฉีกขาด

3. ตาเห็นภาพมัวหรือมืดเป็นแถบๆตามตำแหน่งของจอตาที่หลุดลอก บางคนอาจมีอาการคล้ายคนปิดม่านบังตา

4. ตามัวลง หรือถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา จะถึงขั้นตาบอดได้เมื่อการหลุดลอกลามมาถึงบริเวณจอตาส่วนที่เรียกว่า Macula (อ่านเพิ่มเติมเรื่องกายวิภาคของจอตา จากบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา)

แพทย์วินิจฉัยจอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดีได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยจอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดี ได้จาก

1. ผู้ป่วยต้องรับการตรวจจอตาอย่างละเอียดโดยการขยายม่านตาให้กว้างที่สุด ตรวจดูขอบเขตของจอตาที่หลุดลอก แล้ววาดรูปเก็บไว้เพื่อการเปรียบเทียบผลการรักษา

2. ตรวจหารูฉีกขาดที่จอตาว่าอยู่บริเวณใดบ้าง เพราะอาจมีมากกว่าหนึ่งแห่ง

3. ตรวจดูน้ำวุ้นตาอย่างละเอียดว่า มีการหดดึงรั้งจอตารุนแรงแค่ไหน เพื่อพิจารณาเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป

4. วัดความดันลูกตา ความดันลูกตามักจะลดต่ำกว่าปกติหรือต่ำกว่าลูกตาอีกข้าง ร่วมด้วยมีการอักเสบเล็กน้อยภายในลูกตา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยภาวะ/โรคนี้

5. ตรวจตาอีกข้างว่ามีภาวะเสี่ยงหรือผิดปกติหรือไม่ เช่น มีรูที่จอตาหรือมี Lattice degeneration ต้องรีบป้องกันจอตาหลุดลอกในตาข้างดีไว้ด้วย

6. หากไม่สามารถตรวจจอตาเนื่องจากมีต้อกระจก หรือ มีเลือดออกในน้ำวุ้นตา อาจต้องตรวจลูกตาด้วย อัลตราซาวด์ ช่วยการวินิจฉัย

รักษาจอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดีอย่างไร?

การรักษาจอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดีจากทุกปัจจัย ต้องรักษาโดยวิธีผ่าตัดเพื่อทำให้จอตาที่หลุดลอกกลับไปติดที่เดิมโดยวิธี

1. ใช้แสงเลเซอร์ในกรณีมีจอตาฉีกขาดและมีการหลุดลอกในวงแคบๆ อาจใช้เลเซอร์ยิงไปที่จอตา เพื่อป้องกันไม่ให้จอตาหลุดลอกขยายวงกว้างออกไป

2. ถ้าจอตาหลุดลอกเป็นบริเวณกว้างไม่สามารถใช้วิธีที่ 1 ดังได้กล่าวแล้วในข้อ 1 ในการรักษาได้ ต้องทำการผ่าตัดโดยวิธี

  • Scleral buckling เป็นการหนุนตาขาวให้ไปติดจอตาที่หลุดลอก
  • Pneumatic retinopexy ใช้ฉีดแก๊สเข้าไปในช่องน้ำวุ้นตา ดันให้จอตาที่หลุดลอกเข้าไปติดที่เดิม
  • Vitrectomy เป็นการตัดน้ำวุ้นตาที่ดึงรั้งจอตาให้ฉีกขาดออก อาจร่วมกับฉีดแก๊สหรือใช้สาร ซิลิโคนเหลว (Liquid silicone) อัดให้จอตาติดกลับที่เดิม

ทั้งนี้ ทุกวิธีผ่าตัดข้างต้นต้องร่วมกับการอุดรอยฉีกขาดที่จอตาด้วย แสงเลเซอร์ความเย็น (Cryotherapy) หรือ จี้ด้วยความร้อน (Diathermy) เพื่อปิดรอยฉีกขาดนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้การรักษาได้ผล หมายถึง หมอตา/จักษุแพทย์สามารถทำให้จอตาที่หลุดลอกกลับไปที่เดิมได้ แต่การมองเห็นยังขึ้นอยู่กับว่า จอตาที่หลุดลอกเป็นเวลานานจะเสื่อมคุณภาพไปแล้วแค่ไหน การหลุดลอกนั้นทำให้จอตาส่วน Macula หลุดไปด้วยหรือไม่ ผลการผ่าตัดว่า ผู้ป่วยกลับมาเห็นดีแค่ไหนจึงขึ้นกับระยะเวลาที่หลุดลอก พยาธิสภาพที่ล้ำเข้าไปบริเวณ Macula เป็นหลัก การมารับการผ่าตัดยิ่งเร็วจะเกิดผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่า (อ่านเพิ่มเติมเรื่องชั้นต่างๆของจอตา จากบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา)

ป้องกันจอตาหลุดลอกอย่างไร? ควรพบจักษุแพทย์เมื่อไร?

การป้องกันจอตาหลุดลอกและการพบจักษุแพทย์ คือ

1. ผู้มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ควรรับการตรวจ จอตา เป็นระยะๆจากจักษุแพทย์ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น จะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ

2. ผู้มีอาการเห็นจุด/แผ่นดำ ลอยไปมา ร่วมกับมีแสงวาบๆ (Flashing) คล้ายแสงจากฟ้าแลบ ควรพบหมอตา/จักษุแพทย์ตรวจจอตาทันที หากพบจอตาฉีกขาดจะได้รับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ (Laser retinopexy) ซึ่งเป็นวิธีรักษาง่ายๆ ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่มีการเสียเลือด ทั้งนี้เพื่อป้องกัน ไม่ให้จอตาหลุดลอก ซึ่งเมื่อจอตาหลุดลอกไปแล้ว การรักษาจะยุ่งยากกว่า และผลผ่าตัด/ผลการรักษาไม่แน่นอน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นจอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดี?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นจอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดี คือ

  • ปฏิบัติตามจักษุแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • พูดคุย ปรึกษา จักษุแพทย์ให้เข้าใจในโรคและในผลการรักษา เพื่อการยอมรับ เพื่อการปรับตัว
  • ถ้ามีสายตาเสียไปบ้างแล้ว ควรปรับสถานที่พักอาศัยให้เข้ากับสายตา เพื่อการช่วยเหลือตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเพิ่มแสงสว่างในบ้าน การจัดวางสิ่งของต่างๆ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่รุนแรงจากการเดินชน รวมทั้งการจัดหาผู้ช่วยเหลือในเรื่องที่จำเป็นต่างๆ เชน ในการไปโรงพยาบาล เป็นต้น
  • พบจักษุแพทย์ตามนัดเสมอ
  • รีบพบจักษุแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการทางสายตาผิดไปจากเดิม หรือ เมื่อสายตาเลวลง หรือเมื่อกังวลในอาการ

Updated 2017,Aug19