โซมาโตสแตติน (Somatostatin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: โซมาโตสแตตินคืออะไร?
- โซมาโตสแตตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โซมาโตสแตตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โซมาโตสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โซมาโตสแตตินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมให้ยาควรทำอย่างไร?
- โซมาโตสแตตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โซมาโตสแตตินอย่างไร?
- โซมาโตสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโซมาโตสแตตินอย่างไร?
- โซมาโตสแตตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- คาร์ซินอยด์ เนื้องอกคาร์ซินอยด์ (Carcinoid)
- สภาพโตเกินไม่สมส่วน (Acromegaly) สภาพร่างยักษ์ (Gigantism)
บทนำ: โซมาโตสแตตินคืออะไร?
โซมาโตสแตติน (Somatostatin) คือ ฮอร์โมนในมนุษย์ที่ผลิตจากสมองส่วนไฮโปธาลามัส, รวมถึงเนื้อเยื่อตับอ่อน, และเนื้อเยื่อกระเพาะอาหาร-ลำไส้, มีหน้าที่ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนที่ช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของมนุษย์, ฮอร์โมนโซมาโตสแตติน ยังมีชื่อเรียกอื่นที่นักวิทยาศาสตร์ใช้กันเป็นประจำ เช่น
- Growth hormone–inhibiting hormone (GHIH)
- Growth hormone release–inhibiting hormone (GHRIH)
- Somatotropin release–inhibiting factor (SRIF)
- Somatotropin release–inhibiting hormone (SRIH)
ทั้งนี้ หน้าที่หลักๆของฮอร์โมนโซมาโตสแตติน: เช่น
- ควบคุมการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย
- มีอิทธิพลต่อสารสื่อประสาทและการแบ่งตัวของเซลล์ในร่างกาย
- ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน Insulin, Glucagon (ฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด), Prolactin (ฮอร์โมนควบคุมการหลั่งน้ำนม) รวมถึง Thyroid-stimulating hormone (ฮอร์โมนควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์)
- ยับยั้งการปลดปล่อยฮอร์โมนในระบบทางเดินอาหารที่เกี่ยวกับการย่อยและดูดซึมอาหารเช่น Gastrin, Cholecystokinin, Secretin, Motilin, Vasoactive intestinal peptide และ Enteroglucagon
- ลดการบีบตัวของลำไส้รวมถึงลดปริมาณการไหลเวียนเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงลำไส้ด้วย
- ลดการหลั่งเอนไซม์ในตับอ่อน
จากฤทธิ์และหน้าที่ตามที่ได้ระบุมา ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ผลิตยาที่มีโครงสร้างเลียนแบบฮอร์โมนตัวนี้’เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางคลินิก, โดยใช้ยับยั้งสภาวะของผู้ป่วยที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดมากจนเกินไป จนก่อให้เกิดอาการโรคนั่นเอง, หรือในบางสถานการณ์ต้องใช้ยานี้เพื่อหยุดการหลั่งฮอร์โมนบางตัวเพื่อช่วยบำบัดอาการของโรคบางอย่างที่เกิดขึ้น เช่น ช่วยลดอาการเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้, หรือใช้เป็นยาช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดตับอ่อน, รวมถึงใช้ยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยของตับอ่อนและของลำไส้เล็กภายหลังจากการผ่าตัดอวัยวะดังกล่าว
ยาประเภทฮอร์โมนทั้งหลายที่รวมถึงยาโซมาโตสแตตินล้วนแล้วแต่มีการออกฤทธิ์ได้อย่างมากมายถึงแม้จะใช้ในขนาดต่ำๆ, จึงถือเป็นข้อห้ามใช้ยาโซมาโตสแตตินกับกลุ่มผู้ป่วย สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)
ยาโซมาโตสแตติน ยังสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบการทำงานต่างๆของร่างกายเช่น อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในช่วงแรกของการได้รับยา ซึ่งหลังจากนั้นอีก 2 - 3 ชั่วโมง ก็อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงติดตามมาได้
คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้จัดให้ยาโซมาโตสแตตินอยู่ในหมวดยาอันตราย, และมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาฉีด, อีกทั้งต้องอาศัยหัตถการทางการแพทย์ที่ถูกต้องร่วมประกอบในการให้ยานี้กับผู้ป่วย, การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว, และจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
โซมาโตสแตตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโซมาโตสแตตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารทั้งแบบที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการแบบเฉียบพลัน
- ป้องกันภาวะแทรกซ้อนในตับอ่อนหลังผ่านการผ่าตัดตับอ่อน
- ยับยั้งการหลั่งสารคัดหลั่งบางชนิด เช่น น้ำย่อยจากอวัยวะที่ได้รับการผ่าตัดอย่างเช่นตับอ่อนและลำไส้เล็กส่วนต้น
* หมายเหตุ: ในต่างประเทศได้มีการสังเคราะห์ยาเลียนแบบฮอร์โมนโซมาโตสแตตินที่มีชื่อว่า ‘Octreotide,’ ซึ่งยา Octreotide สามารถอยู่ในร่างกายได้นานกว่ายาโซมาโตสแตติน, ทางคลินิกได้นำมารักษาโรคที่เกิดจากร่างกายมีฮอร์โมนบางตัวสูงด้วยถูกกระตุ้นให้เกิดการผลิตมากจนเกินไป เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะ Carcinoid syndrome (กลุ่มอาการที่เกิดจากสารสร้างจากเนื้องอกชนิด ‘คาร์ซินอยด์’ ซึ่งก่อให้เกิดอาการต่างๆเป็นๆหายๆ เช่น ท้องเสีย ร้อนวูบวาบ) และ โรค อะโครเมกาลี (Acromegaly/สภาพโตเกินไม่สมส่วน)
โซมาโตสแตตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโซมาโตสแตตินสามารถออกฤทธิ์/มีกลไกการออกฤทธิ์:
- ยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตจากต่อมใต้สมอง (Growth hormone จาก Anterior pituitary)
- ยับยั้งการหลั่ง Thyrotrophin (ฮอร์โมนช่วยสร้างฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์) และ Corticotropin (ฮอร์โมนควบคุมความเครียด) จากต่อมใต้สมอง
- ยังยั้งการหลั่งฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ชื่อ Glucagon และ Insulin จากตับอ่อน
- มีฤทธิ์ควบคุมการหลั่งน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
จากอิทธิพลของการยับยั้งฮอร์โมนต่างๆรวมถึงยับยั้งสารคัดหลั่ง (เช่น เอนไซม์/น้ำย่อย) ดังที่ได้กล่าวมา ส่งผลให้เกิดการบรรเทาอาการปวดของแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ในระดับหนึ่ง และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและอาการที่มีเลือดออกจากแผลในทางเดินอาหาร รวมถึงให้ผลการรักษาบรรเทาอาการต่างๆตามสรรพคุณ
โซมาโตสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโซมาโตสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีด ขนาดความแรง 3 มิลลิกรัม (3,000 ไมโครกรัม) ต่อ 1 ขวด/Vial
โซมาโตสแตตินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโซมาโตสแตตินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่อายุ 16 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นด้วยการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆโดยใช้เวลามากกว่า 1 นาทีในขนาด 3.5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จากนั้นให้หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 3.5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมงเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ระยะเวลาการรักษาอยู่ที่ 50 ชั่ว โมง - 14 วันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ซึ่งต้องนำอาการของผู้ป่วยมาพิจารณาประกอบกัน
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)และผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี: ยังไม่มีคำแนะนำทางคลินิกในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโซมาโตสแตติน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโซมาโตสแตตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมให้ยาควรทำอย่างไร?
เนื่องจากยาโซมาโตสแตติน เป็นยาฉีดที่ใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งบุคคลากรทางการแพทย์จะมีตารางเวลาการให้ยานี้กับผู้ป่วยโดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์และกระทำในสถานพยาบาล การลืมให้ยานี้กับผู้ป่วยจึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก
โซมาโตสแตตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโซมาโตสแตตินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง): เช่น
- เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและติดตามมาด้วยภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- คลื่นไส้
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- มีอาการร้อนวูบวาบ
- อาจพบอาการผื่นคัน
- เกล็ดเลือดต่ำ
- อาจพบความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วครู่
มีข้อควรระวังการใช้โซมาโตสแตตินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้โซมาโตสแตติน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- แพทย์จะคอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, ระดับอิเล็กโทรไลต์/แร่ธาตุ/เกลือแร่ในเลือด, และการขับออกของปัสสาวะในขณะที่ได้รับยานี้
- ในขณะที่ทำการให้ยานี้แพทย์/พยาบาลจะคอยตรวจสอบควบคุมสัญญาณชีพของผู้ป่วยให้ อยู่ในภาวะปกติอยู่ตลอดเวลา
- *กรณีพบอาการแพ้ยานี้ต้องหยุดให้ยานี้ทันทีแล้วรักษาผู้ป่วยตามอาการอย่างเหมาะสม
- หลังการให้ยานี้และมีอาการดีขึ้น ให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซมาโตสแตตินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โซมาโตสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโซมาโตสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาโซมาโตสแตติน ร่วมกับยา Insulin, Metformin อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและน้ำตาลในเลือดต่ำในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์/พยาบาลจะคอยเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติเสมอ
- การใช้ยาโซมาโตสแตติน ร่วมกับยา Atenolol, Amiodarone, Carvedilol (ยาลดความดันโล หิต), Digoxin, Diltiazem, Lidocaine, Propranolol อาจทำให้หัวใจเต้นช้าลง ปวดหัว วิงเวียน เป็นลม จนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาโซมาโตสแตติน ร่วมกับยาชนิดรับประทานใดๆ หรือร่วมกับการรับประทานอาหาร สามารถทำให้ระบบการดูดซึมยาต่างๆและการดูดซึมอาหารของร่างกายด้อยประสิทธิภาพลงไป การใช้ยาโซมาโตสแตตินร่วมกับยาชนิดรับประทานต่างๆหรืออาหารต่างๆจึงควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ควรเก็บรักษาโซมาโตสแตตินอย่างไร?
ควรเก็บยาโซมาโตสแตติน: เช่น
- เก็บยาตามเงื่อนไขที่ระบุมากับเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โซมาโตสแตตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโซมาโตสแตติน มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Somatostatin Lyomark (โซมาโตสแตติน ไลโอมาร์ค) | Lyomark Pharma |
Somatostatin-Eumedica (โซมาโตสแตติน ยูเมดิกา) | Eumedica |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Somatostatin [2022,Aug13]
- https://www.drugs.com/cons/sandostatin-lar-depot.htmlhttps://www.mims.com/Thailand/drug/info/Somatostatin%20Lyomark/?type=brief [2022,Aug13]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Somatostatin-Eumedica/?type=brief [2022,Aug13]
- https://www.mims.com/india/drug/info/somatostatin?type=full&mtype=generic [2022,Aug13]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/insulin-with-sandostatin-1340-0-1739-1107.html [2022,Aug13]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/coreg-with-sandostatin-531-266-1739-1107.html [2022,Aug13]