สภาพโตเกินไม่สมส่วน (Acromegaly) สภาพร่างยักษ์ (Gigantism)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 8 เมษายน 2560
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดสภาพโตเกินไม่สมส่วน?
- สภาพโตเกินไม่สมส่วน มีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยสภาพโตเกินไม่สมส่วนได้อย่างไร?
- รักษาสภาพโตเกินไม่สมส่วนได้อย่างไร?
- สภาพโตเกินไม่สมส่วนมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- สภาพโตเกินไม่สมส่วนมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- มีวิธีตรวจคัดกรอง สภาพโตเกินไม่สมส่วนไหม?
- ป้องกันสภาพโตเกินไม่สมส่วนได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- เนื้องอก (Tumor)
- เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
บทนำ
สภาพโตเกินไม่สมส่วน (Acromegaly) เป็นโรคที่เกิดจากมีฮอร์โมนที่เรียกว่า โกรทฮอร์โมน เรียกย่อว่า ‘ฮอร์โมน จีเอช’ (Growth hormone, GH หรือ Human growth hormone ย่อว่า HGH หรือ hGH) หรือแปลง่ายๆว่า ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต)ถูกสร้างขึ้นมากจากต่อมใต้สมองจนสูงเกินปกติ
ฮอร์โมนจีเอช สร้างจากต่อมใต้สมอง และมีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและของอวัยวะทุกชนิดของร่างกาย โดยเฉพาะ กระดูก และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้จึงมีการเจริญเติบโตของร่างกาย(ของเนื้อเยื่อและอวัยวะทุกส่วน)โตเกินปกติ แต่ไม่สมส่วน รวมทั้งมีการทำงานที่ผิดปกติไปด้วย จึงส่งผลให้นอกจากผู้ป่วยจะมีร่างกายโตเกินไม่สมส่วนแล้ว ยังมีอาการผิดปกติต่างๆอีกมากมายที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของทุกอวัยวะ รวมทั้งของต่อมไร้ท่อที่สร้างฮอร์โมนต่างๆด้วย (อ่านเพิ่มเติมใน haamor.com บทความเรื่อง โรคต่อมไร้ท่อ)
สาเหตุที่ทำให้มีปริมาณ จีเอชฮอร์โมนสูงเกินปกติ เกือบทั้งหมดเกิดจากเนื้องอกชนิดไม่ใช่มะเร็งของต่อมใต้สมอง ทั้งนี้ถ้าโรคเกิดในวัยเด็ก หรือในช่วงวัยรุ่น ในวัยที่กระดูกยังมีการเจริญเติบโตอยู่ จะส่งผลให้กระดูก และกล้ามเนื้อเจริญเกินปกติ ผู้ป่วยจึงไม่หยุดสูง จะสูงได้มากๆและตัวใหญ่ จึงเรียกโรคนี้ว่า ‘สภาพร่างยักษ์ (Gigantism)’ ซึ่งโรคนี้ในเด็กจะพบมีการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายที่เกิดได้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ได้เร็ว และได้รับการรักษาได้ทันท่วงที แต่ถ้าเกิดโรคนี้ในผู้ใหญ่ที่กระดูกหยุดการเจริญเติบโตแล้ว โรคจะดำเนินไปอย่างช้าๆ สภาพร่างกายผู้ป่วยจะค่อยๆเปลี่ยนไปช้าๆ ไม่สูง หรือไม่ใหญ่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ล่าช้า มักมาพบแพทย์ด้วยโรคอื่นๆจากผลข้างเคียงของโรคนี้ โรคที่เกิดในผู้ใหญ่นี้ เรียกว่า ‘โรคสภาพโตเกินไม่สมส่วน (Acromegaly)’
เนื่องจากทั้งโรคสภาพโตเกินไม่สมส่วน และโรคสภาพร่างยักษ์ มีธรรมชาติของโรคคล้ายกัน ที่รวมถึง อาการ การวินิจฉัย ผลข้างเคียง การรักษา บทความนี้จึงขอกล่าวถึงโรคทั้ง 2 ไปด้วยกัน และเพื่อไม่ให้แต่ละหัวข้อยาวเกินไป จึงของใช้คำว่า ‘สภาพโตเกินไม่สมส่วน’ ในส่วนที่เป็นหัวข้อ
สภาพโตเกินไม่สมส่วน เป็นโรคพบได้น้อย แต่พบได้บ่อยกว่า โรคสภาพร่างยักษ์มาก
สภาพโตเกินไม่สมส่วน พบผู้ป่วยในแต่ละปีได้ประมาณ 3-4 รายต่อประชากร 1 ล้านคน พบได้ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิและในผู้ชาย โดยผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในช่วงอายุ 30-45 ปี แต่เมื่อแพทย์สอบถามประวัติทางการแพทย์เพิ่มเติม มักพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการผิดปกติมาได้ 5-15 ปี (เฉลี่ยประมาณ 8 ปี)
สภาพร่างยักษ์ เป็นโรคพบได้น้อยมากๆ การศึกษาต่างๆ มักเป็นรายงานผู้ป่วยเป็นรายๆไป จึงไม่มีสถิติเกิดโรคที่ชัดเจน
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดสภาพโตเกินไม่สมส่วน?
สภาพโตเกินไม่สมส่วน และสภาพร่างยักษ์ ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเกิดจากมีเนื้องอกของต่อมใต้สมอง ชนิดเซลล์เนื้องอกสร้างฮอร์โมนชื่อ จีเอชฮอร์โมน ซึ่งถ้าเนื้องอกขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร เรียกว่า “Microadenama” แต่ถ้าเนื้องอกโตมากกว่า 1 เซนติเมตรที่โรคจะรุนแรงกว่า เรียกว่า “Macroadenama”
อย่างไรก็ตาม ส่วนน้อยมาก พบสภาพโตเกินไม่สมส่วนเกิดจากมีเนื้องอกหรือมะเร็งของบางอวัยวะที่เซลล์มะเร็งอาจสร้างจีเอชฮอร์โมนได้ เช่น ปอด ตับอ่อน ต่อมหมวกไต และที่พบได้น้อยมากๆๆลงไปอีก คือ จากมีการทำงานผิดปกติของวงจรกำกับการสร้างจีเอชฮอร์โมนของสมอง
ส่วนสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็ง หรือการทำงานผิดปกติของวงจรควบคุมการสร้างจีเอชฮอร์โมน ยังไม่ทราบ
สภาพโตเกินไม่ส่วน มีอาการอย่างไร?
สภาพโตเกินไม่สมส่วน และสภาพร่างยักษ์ส่วนใหญ่จะคล้ายกัน ยกเว้น สภาพโตเกินไม่สมส่วน สภาพร่างกาย/รูปลักษณะจะเปลี่ยนแปลงช้า ใช้เวลาเป็นหลายๆปี แต่ในสภาพร่างยักษ์ ผู้ป่วยจะสูงใหญ่รวดเร็วเห็นได้ชัดเจนซึ่งอาการที่คล้ายคลึงกัน เป็นอาการที่เกิดได้กับทุกเนื้อเยื่อ และทุกอวัยวะของร่างกาย อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- อาการทางกระดูก: เช่น กระดูกยาว กว้าง หนา (โดยเฉพาะ กะโหลก และกราม) กระดูกเปราะกว่าปกติส่งผลให้กระดูกหักง่าย มีปุ่มกระดูกงอกตามข้อต่างๆ ส่งผลให้ ข้ออักเสบ/ ข้อเสื่อม ปวดข้อ นิ้วมือ นิ้วมือ นิ้วเท้า ใหญ่ ห่าง จากการหนาตัวของเนื้อเยื่อรอบๆนิ้ว และโรคกระดูกพรุน
- อาการทางเนื้อเยื่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังจะ หนา แข็ง กว่าปกติ ผิวหยาบ แห้ง แต่ต่อมเหงื่อโตกว่าปกติจึงมีเหงื่อออกมาก
- อาการต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อมัดโตแต่กล้ามเนื้ออ่อนแรงกว่าปกติ
- อาการทางระบบหายใจ: เช่น จากเนื้อเยื่อต่างๆหนากว่าปกติ ลิ้นใหญ่ผิดปกติ ส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบแคบ มักเกิดโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ
- อาการทางหัวใจ: เช่น กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อหลอดเลือดหนาผิดปกติ ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ
- อาการทางสมองและทางตา: เช่น ก้อนเนื้องอกที่โตจะส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรัง และก้อนอาจโตจนกดประสาทตา ส่งผลให้การเห็นภาพผิดปกติ
- อาการทางระบบสืบพันธ์: เช่น มีฮอร์โมนเพศผิดปกติ ส่งผลต่อรูปร่างของอวัยวะเพศ ความรู้สึกทางเพศ การเจริญพันธ์ และประจำเดือนผิดปกติ(ในผู้หญิง)
- อาการต่อต่อมไร้ท่ออื่นๆ: โรคนี้จะมีผลต่อต่อมไร้ท่อต่างๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ส่งผลให้การทำงานของต่อมเหล่านี้ผิดปกติ เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ภาวะต่อมหมวกไตทำงานลดลง
- อื่นๆ: เช่น โรคเบาหวาน
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีร่างกายที่เจริญเติบโตผิดปกติ และ/หรืออาการผิดปกติต่างๆดังได้กล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยสภาพโตเกินไม่สมส่วนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยสภาพโตเกินไม่สมส่วนและสภาพร่างยักษ์ได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกัน ได้แก่ จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจดูภาพลักษณ์ การตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนจีเอชและระดับฮอร์โมนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เอกซเรย์ภาพกระดูก โดยเฉพาะ กะโหลก กราม มือ และเท้า และการตรวจภาพต่อมใต้สมองด้วยคอมพิวเตอร์เอกซเรย์ หรือ เอมอาร์ไอ ซึ่งโรคนี้ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยจากการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาสภาพโตเกินไม่สมส่วนได้อย่างไร?
การรักษาสภาพโตเกินไม่สมส่วน และสภาพร่างยักษ์ ใช้วิธีเช่นเดียวกัน ทั้งนี้จะเลือกใช้วิธีใด ขึ้นกับ อายุผู้ป่วย อาการผู้ป่วย ขนาดก้อนเนื้อ และดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งวิธีรักษาได้แก่
- การใช้ยาต่างๆ: ซึ่งมีหลายชนิด โดยอาจใช้ยาเพียงชนิดเดียว หรือหลายๆชนิดร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น ยาลดการสร้างจีเอชฮอร์โมน (เช่นยา Octreotide, Lanreotide), ยาลดระดับจีเอชฮอร์โมนในกลุ่ม Dopamine agonists (เช่น Bromocriptine), ยาต้านการทำงานของจีเอชฮอร์โมน (เช่นยา Pegvisomant)
- การผ่าตัดเนื้องอกต่อมใต้สมอง
- การฉายรังสีรักษาที่ต่อมใต้สมอง
นอกจากนั้น คือ การรักษาโรคต่างๆที่เป็นผลข้างเคียงจาก สภาพโตเกินไม่สมส่วน/ สภาพร่างยักษ์ เช่น การรักษาโรคเบาหวาน การรักษาโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
สภาพโตเกินไม่สมส่วนมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของสภาพโตเกินไม่สมส่วน และสภาพร่างยักษ์ ขึ้นกับการมาพบแพทย์ได้เร็วก่อนที่จะเกิดโรคเรื้อรัง การรักษาควบคุมเนื้องอกนั้นได้ดี และการรักษาควบคุมโรคเรื้อรังต่างๆได้ดี
สภาพโตเกินไม่สมส่วน จัดเป็นโรคเรื้อรัง โดยทั่วไปผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากโรคที่เป็นผลข้างเคียง เช่น โรคหัวใจ และผู้ป่วยมักมีอายุสั้นกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคเรื้อรังต่างๆได้เป็นอย่างดี โอกาสมีชีวิตได้ยืนยาวก็สูงขึ้น
ส่วน สภาพร่างยักษ์ ถ้าได้รับการรักษาได้เร็วก่อนที่จะเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ผู้ป่วยมักมีอายุได้ยืนยาวเช่นเดียวกับคนทั่วไป
สภาพโตเกินไม่สมส่วนมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจาก สภาพโตเกินไม่สมส่วน และสภาพร่างยักษ์ คือ การเกิดโรคเรื้อรังต่างๆในทุกระบบอวัยวะของร่างกาย เช่น โรคกระดูก โรคข้อ โรคหัวใจ โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคของต่อมไทรอยด์
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยด้วยโรค สภาพโตเกินไม่สมส่วน และสภาพร่างยักษ์ ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- รักษา ควบคุม โรคเรื้อรังต่างๆให้ได้ดี (อ่านเพิ่มเติมได้ในรายละเอียดของแต่ละโรคได้ในเว็บ haamor.com เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ)
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น ปวดศีรษะมากขึ้น ตาเห็นภาพผิดปกติมากขึ้น อ้วน หรือผอมอย่างรวดเร็ว หรือมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก ท้องเสียมาก หรือ เมื่อกังวลในอาการ
มีวิธีตรวจคัดกรอง สภาพโตเกินไม่สมส่วนไหม?
เนื่องจากยังไม่รู้สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของ สภาพโตเกินไม่สมส่วนและสภาพร่างยักษ์ ปัจจุบันจึงยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบทั้ง 2 โรค
ป้องกันสภาพโตเกินไม่สมส่วนได้อย่างไร?
เนื่องจากยังไม่รู้สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของ สภาพโตเกินไม่สมส่วนและสภาพร่างยักษ์ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันทั้ง 2 โรคนี้
บรรณานุกรม
- http://emedicine.medscape.com/article/925446-overview#showall [2017,April8]
- Melmed,S. (2006). Acromegaly. NEJM. 355, 2558-2573