คาร์ซินอยด์ เนื้องอกคาร์ซินอยด์ (Carcinoid)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 2 กุมภาพันธ์ 2562
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- เนื้องอกคาร์ซินอยด์มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากอะไร?
- เนื้องอกคาร์ซินอยด์มีกี่ชนิดและมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกคาร์ซินอยด์ได้อย่างไร?
- เนื้องอกคาร์ซินอยด์ มีกี่ระยะ?
- รักษาเนื้องอกคาร์ซินอยด์ อย่างไร?
- เนื้องอกคาร์ซินอยด์รุนแรงไหม?
- ตรวจคัดกรองเนื้องอกคาร์ซินอยด์ อย่างไร?
- ป้องกันเนื้องอกคาร์ซินอยด์ อย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไหร่? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เนื้องอก (Tumor)
- มะเร็ง (Cancer)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- เนื้องอกเน็ท มะเร็งเน็ท (NET or Neuroendocrine tumor)
บทนำ
เนื้องอกคาร์ซินอยด์ (Carcinoid หรือ Carcinoid tumor) เป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งในกลุ่มเนื้องอกเน็ท มะเร็งเน็ท(NET or Neuroendocrine tumor) เป็นเนื้องอกที่เกิด จากเซลล์ที่สร้างและหลั่งฮอร์โมนและทำงานสัมพันธ์กับระบบประสาทที่เรียกว่า Neuroendocrine cell ซึ่งเนื้องอกคาร์ซินอยด์เกิดกับทุกอวัยวะ แต่ที่พบบ่อยคือ
- อวัยวะของระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ช่องปากไปจนถึงทวารหนัก พบได้ประมาณ 60-80%ของโรคนี้ทั้งหมด
- อวัยวะในระบบทางเดินหายใจ พบได้ ประมาณ 20-30%
- ที่เหลือเป็นส่วนที่พบในอวัยวะอื่นๆรวมกัน
ทั้งนี้ในระบบทางเดินอาหาร อวัยวะที่พบโรคนี้ได้บ่อย คือ ลำไส้เล็ก ไส้ติ่ง (โดยเฉพาะในเด็ก) และลำไส้ใหญ่ส่วนที่เรียกว่า ไส้ตรง)
เนื้องอกคาร์ซินอยด์ เป็นเนื้องอกมีธรรมชาติของโรคเป็นได้ทั้งเนื้องอกทั่วไปที่ไม่ใช่มะเร็ง/เนื้องอกไม่ร้าย(Non cancerous tumor หรือ Benign tumor) กล่าวคือ ไม่มีการลุกลามและแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองและ/หรือไปยังอวัยวะอื่นๆ และเป็นเนื้องอกที่โตช้า
อย่างไรก็ตามประมาณ 10-20%ของเนื้องอกคาร์ซินอยด์ มีลักษณะธรรมชาติของโรคเป็นมะเร็ง/เนื้องอกชนิดร้าย(Malignant carcinoid tumor) คือ ก้อนเนื้อมักมีขนาดโตมากกว่า 1-2 ซม. แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆได้ ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย จะแพร่กระจายไป ตับ บ่อยที่สุด รองลงมาคือ ปอด แต่ไม่ค่อยลุกลาม/แพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง
เนื้องอกคาร์ซินอยด์เป็นโรคพบน้อย ประปราย โดยพบประมาณ 0.7-4.5รายต่อประชากร 1 แสนคน พบในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบสูงในผู้ใหญ่ช่วงอายุ 40-65 ปี ผู้หญิงพบบ่อยกว่าผู้ชายเล็กน้อย
เนื้องอกคาร์ซินอยด์มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากอะไร?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกคาร์ซินอยด์ แต่มีการศึกษารายงานว่า
- สัมพันธ์กับพันธุกรรมผิดปกติบางชนิดที่ไม่ใช่พันธุกรรมถ่ายทอดได้ และ
- บางรายงานพบว่า เกิดโรคได้สูงขึ้นในคนที่มีประว้ติครอบครัวเป็นโรคนี้
เนื้องอกคาร์ซินอยด์มีกี่ชนิด และมีอาการอย่างไร?
เนื้องอกคาร์ซินอยด์ มี2ชนิด คือ
ก. ชนิดที่ไม่สร้างฮอร์โมน: มักเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก โตไม่เกิน 1-2 ซม. และมักไม่ก่ออาการ ตรวจพบโดยบังเอิญจากการเป็นโรคอื่น เช่น เป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ ที่หลังผ่าตัดไส้ติ่งแล้วตรวจพยาธิสภาพของไส้ติ่ง จึงพบมีก้อนเนื้อคาร์ซินอยด์ เป็นต้น
ข. ชนิดที่สร้างฮอร์โมน: เนื้องอกกลุ่มนี้มีได้ตั้งแต่ขนาดเล็ก 1ซม. ไปจนถึงก้อนโตหลายซม. หรือที่คลำก้อนได้ โดยฮอร์โมนที่สร้างเป็นสารประเภทที่เรียกว่า Amine และสาร Polypeptide(โมเลกุลของกรดอะมิโนที่มารวมตัวต่อกันเป็นสายยาว ที่เป็นสารเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของร่างกาย) ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักมีอาการผิดปกติจากฮอร์โมนที่ก้อนเนื้องอกสร้างขึ้น ซึ่งอาการที่พบ ไม่ใช่อาการเฉพาะโรค แต่เป็นอาการเหมือนจากโรคอื่นๆทั่วไป
ทั้งนี้ เนื้องอกนี้ในระบบทางเดินอาหารที่สร้างฮอร์โมน ก้อนเนื้อมักมีขนาดเล็ก ฮอร์โมนเหล่านี้จะสร้างได้น้อย จึงมักถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยตับ (เลือดจากอวัยวะในระบบทางเดินอาหารจะผ่านเข้าตับโดยตรงเสมอ) จึงมักไม่ก่ออาการผิดปกติจากฮอร์โมนส่วนเกินนี้
แต่เมื่อก้อนเนื้อฯมีขนาดโตมาก (สร้างฮอร์โมนได้มากขึ้น) หรือ เมื่อโรคนี้แพร่กระจายไปสู่ตับที่ส่งผลให้ตับทำลายฮอร์โมนฯได้น้อยลง ปริมาณฮอร์โมนเหล่านี้ในร่างกายจึงสูงขึ้นมาก ผู้ป่วยจึงมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ทั้งนี้เนื้องอกคาร์ซินอยด์ของระบบทางเดินอาหารที่แพร่กระจายไปตับพบได้ประมาณ 10-20% โดยมักพบแพร่มาจากเนื้องอกฯลำไส้เล็กเป็นส่วนใหญ่
แต่ เนื้องอกคาร์ซินอยด์ที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจ มักก่อให้เกิดอาการเสมอ เพราะเลือดจากปอดที่มีฮอร์โมนเหล่านี้อยู่ไม่ได้ไหลเข้าสู่ตับโดยตรง ฮอร์โมนจึงมีในกระแสเลือดได้สูงจนก่ออาการได้
อาการที่เกิดจากเนื้องอกคาร์ซินอยด์ ไม่ใช่อาการเฉพาะโรค แต่เป็นอาการเหมือนโรคต่างๆทั่วไป โดยมีหลากหลายอาการร่วมกัน จึงเรียกว่า “กลุ่มอาการคาร์ซินอยด์(Carcinoid syndrome)” โดยอาการมักเป็นๆหายๆ พยากรณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดเมื่อใด หรือสัมพันธ์กับอะไร อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- ใบหน้าแดง
- รู้สึกร้อนวูบวาบ
- ปวดท้องเรื้อรัง ปวดได้ในตำแหน่งต่างๆของช่องท้อง ไม่แน่นอน
- ท้องเสีย
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เป็นบางครั้ง
- อาจมีอาการคล้ายคนเป็นโรคหืด
- มีผื่นขึ้นที่ผิวหนังส่วนใดก็ได้
- อาจมีความดันโลหิตสูง
นอกจากนั้น อาจมีอาการต่างๆได้อีกที่พบได้น้อยกว่า เช่น
- มีอาการจาก ภาวะขาดวิตามิน บี-3 จากเซลล์ก้อนเนื้อนำวิตามินบี-3 ไปใช้สร้างฮอร์โมน จึงส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะขาดวิตามินบี-3 ได้
- มีอาการของโรคลิ้นหัวใจ จากฮอร์โมนที่ก้อนเนื้อสร้างส่งผลให้เกิดพังผืดกับลิ้นหัวใจ
- เมื่อเกิดก้อนเนื้อในระบบทางเดินอาหาร
- อาจทำให้มีอุจจาระเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำเหมือนยางมะตอย จากมีเลือดออกในก้อนเนื้อจึงส่งผลให้มีเลือดออกในทางเดินอาหาร
- หรือเมื่อก้อนเนื้อโตมากขึ้นอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของลำไส้/ลำไส้อุดตัน เกิดอาการปวดท้องรุนแรง และอาเจียนมากโดยเฉพาะ หลังกินอาหารหรือดื่มน้ำ
- เมื่อโรคเกิดในปอด ก้อนเนื้ออาจอุดตันทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดอาการ ไอเรื้อรัง ปอดอักเสบ หรือ ปอดบวมได้
แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกคาร์ซินอยด์ได้อย่างไร?
จากอาการจะเห็นได้ว่า เนื้องอกคาร์ซินอยด์ มีอาการ ไม่แน่นอน เป็นๆหายๆ และเหมือนกับโรคอื่นๆ ดังนั้นจึงส่งผลให้เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก แพทย์อาจต้องใช้เวลาเป็นหลายเดือนกว่าจะวินิจฉัยโรคได้
อย่างไรก็ตาม แพทย์วินิจฉัยโรคเนื้องอกคาร์ซินอยด์ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ การเจ็บป่วยต่างๆ การใช้ยาต่างๆ และประวัติการรักษาโรคต่างๆของผู้ป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจภาพอวัยวะต่างๆที่มีอาการ หรือที่แพทย์สงสัยว่ามีรอยโรคด้วย เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- บางครั้งอาจมีการตรวจภาพก้อนเนื้อที่ตรวจพบด้วยสารกัมมันตรังสี (Isotope) ที่เรียกว่า Iodine-131 Meta-iodobenzylguanidine scan (MIBG scan)
- บางครั้งมีการส่องกล้องตรวจอวัยวะต่างๆตามอาการผู้ป่วย
- การตรวจเลือดและการตรวจปัสสาวะเพื่อหา สาร หรือฮอร์โมนต่างๆที่ก้อนเนื้อสร้างขึ้น เช่น สาร Chromogranin A (CgA), สาร 5-Hydroxyidoleaceticacid (5-HIAA), เป็นต้น
- และบางครั้งเมื่อตรวจพบก้อนเนื้อ จะมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
เนื้องอกคาร์ซินอยด์ มีกี่ระยะ?
โดยทั่วไปส่วนใหญ่ คาร์ซินอยด์ เป็นก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็ง เป็นก้อนเนื้อทั่วไป จึงมักไม่มีการจัดระยะโรค แต่ถ้าพบมีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆแล้ว จึงจัดเป็นมะเร็ง และจัดเป็นโรคระยะที่ 4
รักษาเนื้องอกคาร์ซินอยด์ อย่างไร?
แนวทางการรักษาเนื้องอกคาร์ซินอยด์ คือ การรักษาก้อนเนื้องอก, การใช้ยาต้านฮอร์โมนที่หลั่ง/สร้างจากเนื้องอก, และการรักษาประคับประคองตามอาการ
ก. การรักษาก้อนเนื้องอก:
- การรักษาหลักของเนื้องอกคาร์ซินอยด์ คือ การผ่าตัด เพราะเซลล์ของคาร์ซินอยด์ มักดื้อต่อทั้งรังสีรักษาและต่อยาเคมีบำบัด
- เมื่อผ่าตัดไม่ได้: แพทย์อาจพิจารณาตามดุลพินิจของแพทย์ และสภาพร่างกายผู้ป่วย เช่น
- รักษาด้วยวิธีทางรังสีร่วมรักษา คือการใส่สารอุดตันในหลอดเลือดที่เลี้ยงก้อนเนื้อเพื่อทำให้เซลล์ก้อนเนื้อตายจากขาดอาหาร หรือ ด้วยการใช้ยาสารกัมมันตรังสี (Isotope labeled Octreotide) หรือ การจี้ให้เซลล์เนื้องอกตายด้วยคลื่นเสียง (Radio-fequency ablation, R-F ablation) ซึ่งถ้าก้อนเนื้อเล็กลงจนผ่าตัดได้ แพทย์อาจรักษาต่อเนื่องด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้อ
- หรือ ยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา
- เมื่อผ่าตัดออกได้ไม่หมด: แพทย์จะพิจารณารักษาต่อเนื่องด้วย ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา ตามความเหมาะสมในแต่ละผู้ป่วย หรือ อาจพิจารณารักษาเช่นเดียวกับกรณีผ่าตัดไม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เป็นกรณีแต่ละผู้ป่วย
ข. การใช้ยาต้านฮอร์โมนที่สร้างจากเนื้องอกคาร์ซินอยด์: เช่นยา Somatostatin, Octreotide, Interferon alfa เป็นต้น
ค. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น
- ยาแก้ปวดท้อง
- ยาขยายหลอดลม
- ยาแก้ไอ
- ยาแก้ท้องเสีย เป็นต้น
ง. การใช้ยารักษาตรงเป้า/ การรักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย
เนื้องอกคาร์ซินอยด์ รุนแรงไหม?
ความรุนแรงของเนื้องอกคาร์ซินอยด์/การพยากรณ์โรค ขึ้นกับว่า
- โรคแพร่กระจายหรือยัง
- เป็นโรคของอวัยวะไหน (ถ้าโรคเกิดที่ลำไส้เล็ก โรคมักรุนแรง และมีการแพร่กระจายได้สูง)
- การผ่าตัดก้อนเนื้อได้หรือไม่ (ถ้าผ่าไม่ได้ หรือผ่าตัดได้ไม่หมด โรครุนแรง )
- สุขภาพทั่วไป และอายุของผู้ป่วย
ก. กรณีสามารถผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมด:
- เมื่อเป็นโรคที่เกิดกับไส้ติ่ง หรือ กับไส้ตรง: อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 95-100%
- เมื่อก้อนเนื้อเกิดที่ลำไส้เล็ก: อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 60% เพราะจะมีการแพร่กระจายของโรคเกิดขึ้นตามมาในภายหลังได้ และ
- เมื่อก้อนเนื้อเกิดที่ปอด: อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 80-90%
ข. ส่วนเมื่อมีโรคแพร่กระจายแล้ว อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 0-5% โดยทั่วไปมักมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2-3 ปีหลังการวินิจฉัยได้ว่ามีโรคแพร่กระจาย
ค. กรณีผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้ไม่หมด หรือผ่าตัดไม่ได้ แพทย์ผู้รักษาจะให้การพยากรณ์โรคเป็นแต่ละรายผู้ป่วย ขึ้นกับ
- อาการ
- ความรุนแรงของอาการ
- การตอบสนองของโรคต่อวิธีรักษาอื่นๆที่ไม่ใช่ผ่าตัด
ตรวจคัดกรองเนื้องอกคาร์ซินอยด์ อย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบเนื้องอกคาร์ซินอยด์ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ โดยเฉพาะ อาการเกิดขึ้นเรื้อรัง หรือเป็นหายๆ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อให้ตรวจพบโรคได้แต่เนิ่นๆ ที่จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น
ป้องกันเนื้องอกคาร์ซินอยด์ อย่างไร?
เนื้องอกคาร์ซินอยด์ เป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคคือ พันธุกรรม จึงเป็นโรคที่ป้องกันไม่ได้
ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ โดยเฉพาะอาการเกิดขึ้นเรื้อรัง หรือเป็นหายๆ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?และควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ โดยเฉพาะ อาการเกิดขึ้นเรื้อรัง หรือเป็นหายๆ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
ส่วนเมื่อได้ทราบแล้วว่า ตนเองเป็นโรคเนื้องอกคาร์ซินอยด์ การดูแลตนเอง คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน และเนื่องจากเป็นโรคที่มักเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร และฮอร์โมน ดังนั้นจึงควรสังเกตเสมอในเรื่องของการบริโภค ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และยาต่างๆว่า ชนิดใดมีผลกระตุ้นให้เกิดอาการ หรือ ทำให้อาการรุนแรงขึ้น เพื่อการหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นนั้นๆ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
- อาการต่างๆเลวลง
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกหรือท้องเสียต่อเนื่อง
- เมื่อกังวลในอาการ
ทั้งนี้ ในผู้ป่วยที่โรคมีการแพร่กระจาย คือ เป็นมะเร็งคาร์ซิอยด์ การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยจะคล้ายกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆทุกชนิด ปรับใช้ด้วยกันได้ และยังเช่นเดียวกับในการดูแลตนเองกรณีเป็นโรคคาร์ซินอยด์ทั่วไปที่ไม่ใช่มะเร็งดังได้กล่าวในตอนต้น
นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และ เรื่อง
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
บรรณานุกรม
- Aggarwal,G. et al. (2008). Carcinoid tumors. Cleaveland Clinic Journal Of Medicine.75,849-855.
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- Kulke,M., and Mayer,R. (1999). Carcinoid tumors. NEJM. 340, 858-868.
- Maggard,M. et al. (2004). Updated population-based review of carcinoid tumors. Ann Surg.240,117-122.
- Maroun,J. et al. (2006). Guidelines for the diagnosis and management of carcinoid tumours. Curr Oncol. 13,67-76.
- Robertson,R. (2006). Carcinoid tumors. Am Fam Physician. 74,429-434.
- http://en.wikipedia.org/wiki/Carcinoid [2019,Feb2]
- http://www.cancer.net/cancer-types/carcinoid-tumor/overview [2019,Feb2]
- http://emedicine.medscape.com/article/986050-overview#showall [2019,Feb2]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21476126 [2019,Feb2]