ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ภาวะเลือดออกที่ผิวสมอง (Epidural hema toma)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 24 มีนาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกคืออะไร?
- ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกเกิดจากสาเหตุใด?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก?
- ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกมีอาการอย่างไร?
- ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อใด?
- วินิจฉัยภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกได้อย่างไร?
- รักษาภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกอย่างไร?
- ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกมีผลแทรกซ้อนอย่างไร?
- ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
- ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกป้องกันได้หรือไม่?
- ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ (Intracranial hemorrhage)
- ภาวะเลือดออกในโพรงสมอง (Intraventricular hematoma)
- ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Subdural hematoma)
- ภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง (Intracerebral hemorrhage)
- เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นอะแรชนอยด์ (Subarachnoid hemorrhage)
- โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก (Ischemic and Hemorrhagic Stroke)
- อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- ผู้สูงอายุ (Older person)
บทนำ
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับสมอง ก่อให้เกิดเลือดออกในสมองได้หลายตำแหน่ง และมีอาการแตกต่างกันออกไป ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก หรือภาวะเลือดออกที่ผิวสมอง (Epidural hematoma หรือ Extradural hematoma หรือ Epidural hemorrhage หรือ Extra dural hemorrhage) เป็นอีกภาวะหนึ่งที่พบบ่อย มีอันตรายมากน้อยแค่ไหน จะรักษาหายหรือ ไม่ ติดตามจากบทความนี้ครับ
ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกคืออะไร?
ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก คือ ภาวะที่มีเลือดออกระหว่างกะโหลกศีรษะและเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก คือชั้นที่เรียกว่า ดูรา (Dura) โดยเกิดจากการฉีกขาดของหลอดเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมอง หรือหลอดเลือดระหว่างกะโหลกศีรษะและเยื่อหุ้มสมองชั้นดูรา ส่งผลให้เนื้อสมองมีการถูกกดเบียด จึงทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ พูดไม่ชัด หรือหมดสติ
ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานพบภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกได้ประมาณ 2% ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะ ภาวะนี้พบได้ในทุกอายุ แต่พบได้น้อยในอายุที่ต่ำกว่า 2 ปีและในอายุที่มากกว่า 60 ปี และภาวะนี้พบในผู้ชายได้บ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 4 เท่า
ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกเกิดจากสาเหตุใด?
ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก มีสาเหตุหลักจากการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ ทั้งอุบัติเหตุทางการจราจร ตกจากที่สูง การกระแทกที่ศีรษะ หรือจากการเล่นกีฬา
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก?
ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ได้แก่
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการเดินเซและล้มง่าย
- ผู้มีอุบัติเหตุที่ศีรษะ
- ผู้ดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด
- ผู้ที่ไม่ใส่หมวกนิรภัย เวลาขับขี่ยานพาหนะหรือเล่นกีฬาที่มีการปะทะ
ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกมีอาการอย่างไร?
อาการจากภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ได้แก่
- ภาวะสับสน
- วิงเวียนศีรษะ
- ซึมลง
- ปวดศีรษะรุนแรง
- อาเจียน
- ชัก
- แขนขาอ่อนแรง
- พูดลำบาก พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก
- รอยฟกช้ำบริเวณเบ้าตา หลังหู (จากล้มแล้วมีเลือดออก)
- น้ำใสๆไหลออกจากหู และ/หรือจากจมูก (CSF rhinorrhea, น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง, ที่เกิดจากมีรอยฉีกขาดของเยื่อหุ้มสมอง)
- หมดสติ โคม่า
- เสียชีวิต (ตาย)
ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อใด?
ผู้ป่วยภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เมื่อมีอุบัติเหตุที่ศีรษะแล้วมีอาการหมดสติ ลืมเหตุการณ์ ปวดศีรษะรุนแรง หรือมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ โดยเฉพาะผู้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือด
*****หมายเหตุ โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย คือ “โทรฯ 1669” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สพฉ.) ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
วินิจฉัยภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกได้โดย ใช้ข้อมูลจากประวัติอา การ ประวัติโรคประจำตัวและการใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประสาท และการตรวจสืบค้นด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง
รักษาภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกอย่างไร?
การรักษาภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ โดยประเมินจาก อาการผิดปกติของผู้ป่วย, ค่าคะแนนจาก “มาตรกลาสโกวโคม่า (Glasgow Coma Scale GCS)” และจากลักษณะความผิดปกติที่พบจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ทั้งนี้ โดยทั่ว ไป การรักษาจะเป็นการผ่าตัด เมื่อผู้ป่วยมีความผิดปกติทางระบบประสาท, มีการกดเบียดเนื้อสมองจากก้อนเลือดที่ออก, และ/หรือ เมื่อมีเลือดออกหนามากกว่า 10 มม.(มิลลิเมตร) โดยเป็นการการผ่าตัดที่นำเลือดออกมา
นอกจากนั้น การรักษาอื่นๆ คือ การให้ยารักษาตามอาการของผู้ป่วย เช่น ยาแก้ปวดศีรษะ ยาลดสมองบวม อาจให้ยากันชัก เพื่อป้องกันการชักด้วย และการทำกายภาพบำบัดกรณีมีความพิการเกิดขึ้น
ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกมีผลแทรกซ้อนอย่างไร?
ผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่อาจพบได้จากภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก คือ
- ชัก
- ภาวะเลือดออกซ้ำ
- ภาวะติดเชื้อใน ระบบทางเดินหายใจ และ/หรือในระบบทางเดินปัสสาวะ
- แผลกดทับ จากการต้องนอนรักษาตัวนาน
- ภาวะเลือดออกซ้ำเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก
- ความพิการหลงเหลือ เช่น อัมพาต พูดไม่ชัด
ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ส่วนใหญ่ได้ผลดีในการรักษา ยกเว้นผู้ป่วยจะมาพบแพทย์/โรงพยาบาลล่าช้ามาก หรือให้การวินิจฉัยล่าช้า เนื่องจากอาการไม่ชัดเจน และ/หรือผู้ป่วยมีภาวะก้านสมองถูกกดทับเป็นเวลานานก่อนที่มารับการรักษา โดยผู้ป่วยเมื่อได้รับการรักษาทันเวลา มักจะหายดีเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม ถ้าอาการรุนแรง และ/หรือ มีค่าคะแนน “มาตรกลาสโกวโคม่า (Glasgow Coma Scale GCS) ต่ำตั้งแต่แรก ก็อาจมีโอกาสเสียชีวิตได้เช่นกัน
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองหลังออกจากโรงพยาบาลของผู้ป่วยภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก คือ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ค่อยๆฝึกการเคลื่อนไหว การออกกำลัง ความจำ ตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพ บำบัด แนะนำ เพื่อให้สมรรถภาพร่างกายกลับมาเป็นปกติ
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
- ทานยาที่แพทย์สั่งให้สม่ำเสมอ ไม่ขาดยา
- ระวังการล้ม เพราะเป็นสาเหตุให้เลือดออกซ้ำได้
- หลีกเลี่ยงการทานยาที่ทำให้เลือดออกง่าย หรือหยุดยาก
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
ผู้ป่วยเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ มีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม หรือ อาการต่างๆเลวลง เช่น อาการอ่อนแรง ปวดศีรษะ ชัก กลืนลำบาก ปัสสาวะไม่ได้ พูดลำบาก เดินลำบากมากขึ้น มีไข้ และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ
ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกป้องกันได้หรือไม่?
การป้องกันภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการเกิดอุ บัติเหตุที่ศีรษะ โดยการใส่หมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่ยานพาหนะ, ถ้าทานยาละลายลิ่มเลือด ก็ต้องระวัง (ตามแพทย์แนะนำ) เพื่อไม่ให้เกิดระดับยาเกิน ไม่ควรซื้อยาทานเอง ทานอาหารเสริม และ/หรือสมุนไพร เพราะอาจก่อให้เกิดการตีกันของยา (ปฏิกิริยาระหว่างยา) ได้