ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ (Intracranial hemorrhage)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ (Intracranial hemorrhage ย่อว่า ICH หรือ Intracranial bleed) คือ โรค/ภาวะที่มีเลือดออกภายในกะโหลกศีรษะ จากหลอดเลือดในกะโหลกศีรษะเกิดรอยแตก หรือรอยรั่ว ที่ส่วนใหญ่พบมีสาเหตุจากอุบัติเหตุรุนแรงที่ศีรษะ

ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ แบ่งตามตำแหน่งที่เกิดเลือดออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มเลือดออกในตัวเนื้อสมอง (Intra-axial hemorrhage) และกลุ่มเลือดออกนอกตัวเนื้อสมอง (Extra-axial hemorrhage)

1. ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะที่เกิดในตัวเนื้อสมอง (Intra-axial hemorrhage) พบได้ 2 ลักษณะ (ตำแหน่ง) คือ

  • เลือดออกในเนื้อสมอง/ ภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง (Intracerebral hemorrhage) และ
  • เลือดออกในโพรงสมอง/ ภาวะเลือดออกในโพรงสมอง (Intraventricular hemorrhage)

2. ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะที่เกิดนอกตัวเนื้อสมอง (Extra-axial hemorrhage) พบได้เป็น 3 ลักษณะ (ตำแหน่ง) คือ

  • เลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก/ ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Epidural hematoma)
  • เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง/ ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Subdural hematoma)
  • และเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง/ ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarach noid hemorrhage)

ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ เป็นภาวะพบบ่อย แต่ไม่มีรายงานสถิติในภาพรวมของทุกสาเหตุร่วมกัน เนื่องจากการศึกษาสถิติ มักแยกศึกษาเฉพาะในแต่ละสาเหตุ เช่น ในสหรัฐ อเมริกา ในแต่ละปี พบผู้ป่วยภาวะเลือดออกในเนื้อสมองได้ 12-15 รายต่อประชากร 100,000 คน เป็นต้น

ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ พบในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน

อนึ่ง ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะภาพรวมของเลือดออกในกะโหลกศีรษะเท่านั้น ไม่แยกรายละเอียดของแต่ละภาวะเลือดออกฯ เพราะได้แยกเขียนรายละเอียดของแต่ละภาวะเลือดออกฯ เป็นแต่ละบทความ โดย นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า (เช่น ปัจจัยเสี่ยง อาการ การรักษา การพยากรณ์โรค การป้องกัน) แนะนำให้อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com ดังนี้

  • ภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง
  • ภาวะเลือดออกในโพรงสมอง
  • ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก
  • ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก
  • ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง

ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ

ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่พบบ่อยที่สุด คือ จากการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น จากอุบัติเหตุรถยนต์ การตกจากที่สูง การล้ม (มักพบในผู้สูงอายุ) การทะเลาะวิวาท หรือจากการคลอด (ในเด็กแรกเกิด)

นอกจากนั้น สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่พบได้ คือ

  • โรคหลอดเลือดสมอง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก)
  • โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้
  • โรคจากการผิดปกติของหลอดเลือดสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง, โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ เอวีเอ็ม
  • โรคมะเร็งสมอง
  • โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
  • โรคครรภ์เป็นพิษ (ในหญิงตั้งครรภ์)
  • สมองอักเสบติดเชื้อรุนแรง
  • กินยาละลายลิ่มเลือด หรือ ยาต้านเกล็ดเลือด
  • โรคเลือดชนิดที่ทำให้มีเลือดออกได้ง่าย เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • สูบบุหรี่จัด
  • ดื่มสุราจัด

ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะมีอาการอย่างไร?

อาการหลักของภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันได้แก่

  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • ชา และกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง
  • อาการอ่อนแรง
  • ตาพร่า
  • กลืนลำบาก
  • การพูดผิดปกติ เช่น พูดช้า พูดไม่ชัด พูดไม่ได้
  • อาจมี คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง
  • อาจมีอาการชัก
  • ระดับการรู้สึกตัวผิดปกติ เช่น สับสน วิงเวียน กระสับกระส่าย ซึม หมดสติ และอาจเสียชี วิต (ตาย) ในที่สุด

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’ ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

*****หมายเหตุ โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย คือ “โทรฯ 1669” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สพฉ.) ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

แพทย์วินิจฉัยภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติอุบัติเหตุ โรคประจำตัว การกินยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
  • การตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นกับสิ่งที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การเจาะหลัง เป็นต้น

รักษาภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ในระยะแรกมักเป็นการรักษาในโรง พยาบาล ทั้งนี้วิธีรักษาจะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น สาเหตุ ความรุนแรงของอาการ, ตำแหน่งที่เกิดเลือดออก, ปริมาณเลือดที่ออก, เลือดที่ออกหยุดได้เองหรือไม่

ในกรณีอาการน้อยมาก และรอยโรคไม่ชัดเจน แพทย์มักใช้การเฝ้าสังเกตอาการในโรงพยาบาลอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง

ถ้าอาการมาก หรือเลือดออกไม่หยุด หรือสาเหตุเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง หรือหลอดเลือดสมองผิดปกติเอวีเอ็ม แพทย์มักรักษาด้วยการผ่าตัดสมอง เพื่อปิดหลอดเลือด และเพื่อนำก้อนเลือดออก ไม่ให้กดเบียดทับเนื้อสมอง

นอกจากนั้น คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดศีรษะ, ยากันชัก, ยาลดความดันโลหิต และการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำกรณีผู้ป่วยมีระดับการรู้สึกตัวได้ไม่ดี

ส่วนในระยาวหลังอาการผิดปกติต่างๆคงที่ และควบคุมได้แล้ว การรักษาคือ

  • การทำกายภาพบำบัด กรณีมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • การฝึกพูด กรณีมีปัญหาในการพูด
  • ร่วมกับ
    • การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ และ
    • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งที่สำคัญ คือ
      • ไม่สูบบุหรี่
      • ไม่ดื่มสุรา
      • ออกกำลังกาย/เคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ

ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

  • ถ้าอาการไม่รุนแรง เลือดออกน้อย และออกในตำแหน่งที่ไม่สำคัญ อาจไม่พบมีผลข้างเคียง
  • แต่ถ้าอาการรุนแรง หรือเลือดออกในส่วนสำคัญของสมอง ผลข้างเคียงคือ ความพิการตลอดไป เช่น แขนขาอ่อนแรง, อาการชัก, มีปัญหาในการพูด ในการขับถ่าย ในความจำ เป็นต้น

ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ

  • สาเหตุ
  • ความรุนแรงของอาการ
  • ตำแหน่งที่เกิดเลือดออก
  • ปริมาณเลือดที่ออก และ
  • การพบแพทย์/มาโรงพยาบาลช้าหรือเร็ว

กรณี เลือดออกน้อย, อาการเริ่มแรกน้อยมาก, การพยากรณ์โรคมักดี และรักษาหายเป็นปกติได้

แต่กรณี พบแพทย์/มาโรงพยาบาลล่าช้า, อาการรุนแรงตั้งแต่แรก, หรือเลือดออกมาก, ผู้ป่วยมักมีความพิการหลงเหลืออยู่หลังการรักษาเสมอ และในกรณีที่เลือดออกรุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้จากสมองขาดเลือดและ/หรือจากมีความดันในกะโหลกศีรษะสูง

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
  • กินยาต่างๆตามแพทย์แนะนำให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ทำกายภาพบำบัด และออกกำลังกาย ตามควรกับสุขภาพทุกวันตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด
  • กรณีเกิดอัมพาต ให้ดูแลเหมือนในผู้ป่วยอัมพาต (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง อัมพาต)
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง และโรคประจำตัวต่างๆให้ได้ดี
  • ระมัดระวังไม่ออกแรงเบ่ง เช่น เบ่งอุจจาระ (ท้องผูก), ยกของหนัก, ไอ จาม รุนแรง, เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกซ้ำอีก
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ไม่ดื่มสุรา
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการใหม่ที่ผิดปกติไปจากเดิม
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมาก คลื่นไส้มาก
    • เมื่อกังวลในอาการ และ
    • *ถ้ากลับมามีอาการเหมือนครั้งแรกที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที่ เพราะอาจมีเลือดออกซ้ำได้

ป้องกันภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะอย่างไร?

การป้องกันภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ คือ การหลีกเลี่ยง/ป้องกันสาเหตุ (ที่หลีก เลี่ยง/ป้องกันได้) ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ที่สำคัญ คือ

  • ป้องกันอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อใช้รถยนต์ การสวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่จักรยานยนต์
  • การป้องกัน รักษา ควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรค เบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ฝากครรภ์เสมอเมื่อตั้งครรภ์ เพื่อควบคุมภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุรา

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Intracranial_hemorrhage [2019,Nov23]
  2. http://emedicine.medscape.com/article/1163977-overview#showall [2019,Nov23]