ภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง (Intracerebral hemorrhage)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง (Intracerebral hemorrhage) จัดเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาตชนิดหนึ่ง ซึ่งพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมากเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก) เราจึงควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอา การ สาเหตุการเกิดโรค การรักษา จึงควรต้องติดตามบทความนี้เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

ภาวะเลือดออกในเนื้อสมองคืออะไร?

ภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง

ภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง คือ ภาวะที่มีเลือดออกที่เกิดภายในตัวเนื้อสมอง (ไม่ใช่ออกเหนือหรือใต้เยื่อหุ้มสมอง) โดยเกิดจากการแตกของหลอดเลือดในตัวเนื้อสมอง ทำให้เนื้อสมองส่วนข้างเคียงกับก้อนเลือดที่เกิดจากเลือดออกนั้นถูกกดเบียด ส่งผลให้มีอาการผิดปกติต่างๆทางระบบประสาทเกิดขึ้น

ภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง เป็นภาวะพบได้บ่อย โดยในสหรัฐอเมริกา แต่ละปีพบได้ประ มาณ 12-15 รายต่อประชากร 100,000 คน พบได้ในทุกอายุ แต่พบได้สูงขึ้นในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน

ภาวะเลือดออกในเนื้อสมองมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของภาวะเลือดออกในสมองที่พบบ่อย แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1. สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอุบัติเหตุต่อสมอง/ต่อศีรษะ (Traumatic brain injury)

2. สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุต่อสมอง (Non-traumatic intracerebral hemorrhage) เช่น จาก

  • โรคความดันโลหิตสูงที่รักษาควบคุมได้ไม่ดี
  • หลอดเลือดสมองผิดปกติ เช่น โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม โรคหลอดเลือด สมองโป่งพอง
  • การติดเชื้อพยาธิในสมอง มักพบในผู้ที่ชอบกินอาหารปรุงสุกๆดิบๆ
  • เนื้องอกสมอง
  • โรคที่มีความผิดปกติการแข็งตัวของเลือด และ/หรือ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ)
  • การทานยาละลายลิ่มเลือดเช่น ในโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่พบในผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยมะเร็ง
  • ดื่มสุรา

ภาวะเลือดออกในเนื้อสมองมีอาการอย่างไร?

อาการผิดปกติที่พบบ่อยจากภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง ได้แก่

  • แขน ขาอ่อนแรง
  • ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท
  • พูดไม่ชัด นึกคำพูดลำบาก
  • เดินเซ
  • วิงเวียนศีรษะ
  • ปวดศีรษะอาเจียน
  • มองเห็นภาพไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน
  • ชัก
  • ซึมหมดสติโคม่า
  • เสียชีวิต (ตาย) ได้สูง

เมื่อใดควรพบแพทย์?

ผู้ป่วยควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ ไม่แนะนำให้ดูแลตนเองที่บ้าน

*****หมายเหตุ:โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย คือ “โทรฯ 1669” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สพฉ.) ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะเลือดออกในเนื้อสมองอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง โดยจะใช้ข้อมูลจากประวัติอาการผิดปกติดัง กล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประสาท และการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ถ้าพบว่ามีเลือดออกในสมองจริง แพทย์ก็จะพิจารณาให้การตรวจสืบค้นเพิ่มเติมอีกตามความเหมาะสมต่อ ไป (เช่น การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยวิธีการทางรังสีร่วมรักษา) เพื่อหาสาเหตุและให้การรัก ษาที่เหมาะสมต่อไป

รักษาภาวะเลือดออกในเนื้อสมองอย่างไร?

การรักษาภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง ประกอบด้วยการให้ยาตามสาเหตุ การผ่าตัด และการทำกายภาพบำบัด

การที่แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัด ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ โดยประเมินเบื้องต้นจากค่า ”มาตรกลาสโกวโคม่า Glasgow Coma Scale: GCS” ซึ่งถ้าพบว่ามีค่าคะแนนต่ำ ความผิดปกติทางระบบประสาทก็มีมาก และ/หรือ ผลการตรวจจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง พบ ว่ามีก้อนเลือดออกขนาดใหญ่ และ/หรือมีการกดเบียดของก้อนเลือดต่อเนื้อสมอง ที่ทำให้แนวกลางของสมองเคลื่อนที่ผิดปกติ ก็มีความจำเป็นต้องผ่าตัด

แต่ถ้าอาการทั้งหมดที่ประเมินได้ ไม่รุนแรง แพทย์ก็จะใช้วิธีรักษาด้วยยา ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

เลือดออกในเนื้อสมองมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากภาวะเลือดออกในเนื้อสมองที่พบได้ เช่น

  • อาการชัก
  • อัมพาตของแขน ขา
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และ/หรือ ในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • แผลกดทับ
  • โรคซึมเศร้า
  • ข้อยึดติด
  • เลือดออกซ้ำในเนื้อสมอง

ภาวะเลือดออกในเนื้อสมองมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก) เนื่องจากจะมีการเพิ่มขึ้นของความดันในโพรงกะโหลกศีรษะอย่างมากในช่วงแรกของอาการ จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ภาวะแทรกซ้อน) และเสียชีวิตได้สูงในช่วงแรกของภาวะนี้

แต่ถ้าผู้ป่วยมีเลือดออกไม่มากและอาการไม่รุนแรง ผลการรักษาดีมาก อาการจะค่อยๆดีขึ้นหลังจากก้อนเลือดถูกดูดซึมหมด ทั้งนี้ภายในระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์

ดังนั้นการรักษาภาวะนี้ในช่วงแรก จึงมีความสำคัญอย่างมาก ที่จะต้องรีบแก้ไขรักษาภา วะแทรกซ้อน และภาวะความดันในโพรงกะโหลกศีรษะที่สูงในช่วงแรกของภาวะนี้

ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไร?

ผู้ป่วยภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง ควรดูแลตนเองโดย

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดแนะนำ
  • รักษาควบคุมโรคประจำตัวให้ดี กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • หมั่นทำกายภาพบำบัดตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดแนะนำ สม่ำเสมอไม่ย่อท้อต่อการทำกายภาพบำบัด และต่อการรักษาซึ่งอาจใช้เวลานาน
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ผู้ป่วยควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดถ้ามีอาการผิด ปกติทางระบบประสาทเพิ่มเติมใหม่, และ/หรืออาการเดิมทรุดลง, มีไข้, เสมหะมีสีเขียว (การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ), ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะลำบาก (การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ), ปวดศีรษะมากขึ้น, ชัก, และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะเลือดออกในเนื้อสมองอย่างไร?

ภาวะเลือดออกในเนื้อสมองนี้สามารถป้องกันได้ เพราะสาเหตุที่พบบ่อย คือ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี อุบัติเหตุที่ศีรษะ และการทานยาละลายลิ่มเลือด ดังนั้นการป้องกันที่ดี คือ การรักษาควบคุมภาวะความดันโลหิตสูงให้ดี, ระวังการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ (เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อใช้รถยนต์, การสวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่จักรยานยนต์), และการทานยาละ ลายลิ่มเลือดนั้น ต้องควบคุมระดับยาให้ดีตามแพทย์แนะนำ ระวังไม่ให้เกิดระดับยาเกิน รวมทั้งต้องระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาชนิดอื่นๆ ที่รวมถึงอาหารเสริมและ/หรือสมุนไพรซึ่งไม่ควรทาน เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา