ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Subdural hematoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สมองเป็นอวัยวะที่สำคัญอวัยวะหนึ่งของร่างกาย ดังนั้นเมื่อมีโรคเกิดขึ้นที่สมองก็จะส่ง ผลให้เกิดภาวะผิดปกติที่รุนแรง โรคภัยต่อสมองก็มีมากทั้งการติดเชื้อ อุบัติเหตุ หลอดเลือดสมอง รวมทั้งภาวะเลือดออกในสมอง เลือดออกในสมองนั้นแบ่งได้ 3 ส่วน คือ

  • เลือดออกในเนื้อสมอง
  • เลือดออกในโพรงน้ำในสมอง
  • เลือดออกส่วนอื่นๆของสมอง/ขมอง เช่น เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง, เลือด ออกที่ผิวสมอง/เลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Epidural hematoma), และ เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Subdural hematoma)

“โรค/ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ย่อว่า เอสดีเอช (Subdural hematoma หรือ Subdural hemorrhage หรือย่อว่า SDH)” คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด อันตรายแค่ไหน ใครมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้บ่อย ต้องติดตามจากบทความนี้

เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกคืออะไร?

ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก

เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก คือ โรค/ภาวะที่มีเลือดออกระหว่างเนื้อสมองกับเยื่อหุ้มสมองชั้นที่เรียกว่า Dura โดยมักเกิดจากศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หรืออาจเกิดขึ้นเองก็ได้ เช่น ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด หรือผู้สูงอายุ ทั้งนี้ พบภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกได้ในทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้ หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน โดยพบภาวะนี้ที่เกิดเลือดออกอย่างเฉียบพลัน (ที่เรียกว่า ระยะเฉียบพลัน) ได้ประมาณ 5-25%ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะ ส่วนกรณีที่เกิดเลือดออกเรื้อรัง (ที่เรียกว่า ระยะเรื้อรัง) มีรายงานในแต่ละปี พบได้ประมาณ 1.5-3 รายต่อประชากร 100,000 คน

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก?

ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ได้บ่อย คือ

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยทานยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด
  • ผู้ป่วยโรคตับ
  • ผู้ป่วยมีปัญหาเลือดออกง่าย หรือการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • ผู้ดื่มสุรา
  • เด็กทารกระหว่างการคลอด ได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะอย่างแรง หรือถูกจับโยน หรือถูกโยกศีรษะไปมา
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะเป็นประจำ เช่น เกิดอุบัติเหตุ ชกมวย กี ฬาที่มีการปะทะรุนแรงที่ไม่มีการป้องกัน

เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกมีอาการอย่างไร?

อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

1. ระยะเฉียบพลัน (Acute subdural hematoma) คืออาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มักรุนแรง และทำให้เสียชีวิตได้ มักเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุรุนแรงที่ศีรษะ โดยอาการที่พบได้ คือ

  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • แขนขาอ่อนแรง
  • อาเจียน
  • หมดสติ โคม่า ขึ้นกับความรุนแรง มักเกิดขึ้นทันทีหลังจากเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดเลือดออกในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด

2. ระยะเรื้อรัง (Chronic subdural hematoma) ผู้ป่วยมักไม่ทราบระยะเวลาเกิดอาการที่ชัดเจน อาการต่างๆจะค่อยเป็นค่อยไป หรือผู้ป่วย/ครอบครัวไม่รู้เลยว่ามีอาการผิด ปกติเกิดขึ้น ได้แก่

  • ปวดศีรษะเรื้อรัง อาเจียน
  • หลงลืม
  • เดินเซ
  • พูดลำบาก นึกคำพูดลำบาก
  • แขนขาอ่อนแรง
  • วิงเวียนศีรษะ
  • ชัก
  • หมดสติ โคม่า
  • บางคนไม่มีอาการใดๆ แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญก็มี เช่น จากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองในโรคมะเร็ง เป็นต้น

เมื่อใดควรไปพบแพทย์?

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อมีอาการปวดศีรษะผิดปกติ คือ ไม่หายและเป็นมากขึ้นๆ และ/หรือ มีอาการ หลงลืม เดินเซ ชัก ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล หรือการที่ประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะรุนแรง มีอาการสลบ ลืมเหตุการณ์ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน ก็ควรรีบไปโรงพยาบาลทัน ที

*****หมายเหตุ: โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย คือ “โทรฯ 1669” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สพฉ.) ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

วินิจฉัยเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก จาก ข้อมูลจากประวัติอาการ โรคประ จำตัว อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ยาที่ทาน ร่วมกับ การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประสาท ที่สำคัญคือ การตรวจสืบค้นเพิ่มเติมด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง นอก จากนี้ แพทย์จะส่งตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือดหรือไม่

รักษาเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกอย่างไร?

การรักษาเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการผิดปกติ, ขนาดของรอยโรคที่เกิดขึ้น, และความผิดปกติของระบบอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย ถ้ามีปัญ หาความผิดปกติทางระบบประสาทที่รุนแรง โดยดูจากค่ามาตรกลาสโกวโคม่า (Glasgow Coma Scale: GCS) ถ้ามีค่าคะแนนต่ำ ก็พิจารณาผ่าตัดสมองอย่างเร่งด่วน เพื่อนำเลือดที่ออกใต้เยื่อหุ้มสมองนั้นออกมาจากตำแหน่งดังกล่าว

โดยทั่วไป แพทย์มักจะผ่าตัดสมองถ้ามีเลือดออกหนามากกว่า 10 มม. (มิลลิเมตร) และ /หรือ ก้อนเลือดที่ออกมีการกดเบียดเนื้อสมองอย่างมาก จนแนวกลางของสมองเคลื่อนไปจากเดิมประมาณ 5 มม. ที่เรียกว่า Midline shift หรือเมื่อตรวจติดตามอาการ พบค่าคะแนน GCS ลดลงจากเดิม (จากเมื่อแรกตรวจผู้ป่วย) มากกว่า 2 ค่าคะแนน, รูม่านตาโตขึ้นและ/หรือไม่ตอบ สนองต่อแสงไฟฉาย ผู้ป่วยก็ต้องได้รับการผ่าตัดสมอง

นอกจากนั้นคือ การทำกายภาพบำบัด กรณีมีแขนขาอ่อนแรง หรือมีความผิดปกติในการพูด

ภาวะแทรกซ้อนจากเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ที่อาจพบได้ เช่น

  • ชัก ที่อาจพบเกิดขึ้นได้ตลอดไป แต่มักควบคุมอาการได้ดีจากการใช้ยากันชัก
  • สมองบวม
  • เลือดออกซ้ำใต้เยื่อหุ้มสมองหลังผ่าตัดสมองแล้ว
  • ติดเชื้อในสมองจากแผลผ่าตัด (สมองอักเสบ)
  • ปวดศีรษะเรื้อรัง
  • พิการตลอดไป เช่น แขนขาอ่อนแรง พูดลำบาก/พูดไม่ชัด อาการชา
  • โคม่า
  • เสียชีวิต (ตาย)

เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก คือ ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ขณะที่ค่าคะแนน GCS ยังดี เช่น ตั้งแต่ 13-15 ผลการรักษาดีเยี่ยม แต่ผลการรักษาลดหลั่นลงไปตาม ค่าคะแนนที่ลดลง

ควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก กรณีมีความผิดปกติทางระบบประสาทหลงเหลืออยู่นั้น ก็ต้องเน้นการทำกายภาพบำบัดเป็นหลัก, การรักษาควบคุมโรคประจำ ตัวที่มีอยู่, ระมัดระวังการทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด ที่อาจส่งผลให้เกิดการเกิดเลือดออกซ้ำได้, ป้องกันการล้มหรืออุบัติเหตุที่ศีรษะ, ถ้ามีอาการชักก็ต้องทานยากันชักให้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่อดนอน ระมัดระวังการขับรถกรณีมีอาการชักที่ยังควบคุมไม่ได้

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

เมื่อมีอาการผิดปกติใดๆ โดยเฉพาะทางระบบประสาท เช่น อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น การชักซ้ำบ่อยๆ เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะซ้ำ เดินเซ และหลงลืมมากขึ้น และ/หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ ก็ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกป้องกันได้หรือไม่?

ป้องกันเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ได้โดย

  • ไม่ดื่มสุรา
  • ระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น ใช้เข็มขัดนิรภัยเมื่อใช้รถ และสวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่จักรยานยนต์
  • ถ้าทานยาละลายลิ่มเลือด ต้องดูแลตนเองให้ดีอย่าให้เกิดอุบัติเหตุ และติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดระดับยาเกิน
  • ระมัดระวังไม่ให้ล้ม ศีรษะกระแทกพื้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เช่น การล้มในห้องน้ำ
  • อย่าโยนเด็กทารกเล่นไปมา