เจ็บเมื่อร่วมเพศ หรือ เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ (Dyspareunia)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 6 กุมภาพันธ์ 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- เจ็บเมื่อร่วมเพศมีสาเหตุจากอะไร?
- เจ็บเมื่อร่วมเพศมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- แพทย์วินิจฉัยและหาสาเหตุเจ็บเมื่อร่วมเพศอย่างไร?
- รักษาเจ็บเมื่อร่วมเพศอย่างไร?
- เจ็บเมื่อร่วมเพศก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- เจ็บเมื่อร่วมเพศมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ป้องกันเกิดเจ็บเมื่อร่วมเพศอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- อวัยวะเพศภายนอกสตรี: กายวิภาคอวัยวะเพศภายนอกสตรี (Anatomy of female external genitalia) / สรีรวิทยาอวัยวะเพศภายนอกสตรี (Physiology of female external genitalia)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรี (Anatomy and physiology of female internal genitalia)
- วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause)
- ภาวะช่องคลอดแห้ง (Vaginal dryness) / ภาวะร้อนวูบวาบในวัยหมดประจำเดือน (Hot flashes in postmenopause)
- การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease)
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis / Chocolate cyst)
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)
บทนำ:คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
เจ็บเมื่อร่วมเพศ(Dyspareunia) คือ อาการเจ็บ/ปวดที่เกิดเมื่อมีการร่วมเพศ ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดพบในเพศหญิง อาจเกิดในช่วงเล้าโลม, ขณะร่วมเพศ, หรือ ภายหลังร่วมเพศ ก็ได้ จนอาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถร่วมเพศได้ หรือกลัว/ปฏิเสธการร่วมเพศ โดยอาจมีสาเหตุจากโรคทางกายของอวัยวะเพศและ/หรืออวัยวะในอุ้งเชิงกราน หรือจากปัญหาด้านจิตใจ/อารมณ์/จิตเวชก็ได้ แต่เป็นโรคที่แพทย์สามารถดูแลรักษาควบคุมจนผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิต
เจ็บเมื่อร่วมเพศ/เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช่โรค(โรค-อาการ-ภาวะ) แต่เป็นอาการผิดปกติที่พบบ่อยในเพศหญิง พบประมาณ 3-28%ของเพศหญิงทุกวัยทั่วโลก พบในเพศชาย 1-5% และในเพศหญิงพบได้สูงขึ้นในวัยใกล้หมดประจำเดือนและวัยหมดประจำเดือน
อนึ่ง:
- ชื่ออื่นของ เจ็บเมื่อร่วมเพศ(ดิสพารูเนีย/ Dyspareunia) คือ เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์, เจ็บปวดเมื่อร่วมเพศ, เจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์
เจ็บเมื่อร่วมเพศมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
เจ็บเมื่อร่วมเพศ/เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ทั้งในเพศหญิงและเพศชายมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจาก 2 สาเหตุคือ สาเหตุด้านร่างกาย, และ สาเหตุด้านจิตใจ
สาเหตุด้านร่างกาย: ได้แก่
- เพศหญิง: เช่น
- ลักษณะผิดปกติทางกายวิภาคของอวัยวะเพศและ/หรืออวัยวะในท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน เช่น
- การผิดรูปของ อวัยวะเพศของเพศหญิงเอง(เช่นของ ช่องคลอด มดลูก), กระเพาะปัสสาวะ
- การผิดรูปของอวัยวะเพศชาย
- มดลูกหย่อน, กะบังลมหย่อน
- ภาวะผิดปกติ/โรคของอวัยวะเพศและ/หรืออวัยวะในท้องน้อย เช่น
- มีพังผืดในท้องน้อย
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- อวัยวะเพศและ/หรืออวัยวะในท้องน้อยเคยได้รับบาดเจ็บ เช่น
- จากการคลอด
- การผ่าตัดต่างๆในท้องน้อย
- ภาวะผิดปกติของฮอร์โมนเพศ เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, ช่องคลอดฝ่อ
- โรคต่างๆของอวัยวะเพศ และ/หรือ ของอวัยวะในท้องน้อย เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, ช่องคลอดอักเสบ, กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ, กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน, โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ, ปีกมดลูกอักเสบ
- โรคผิวหนังต่างๆที่เกิดที่อวัยวะเพศ เช่น เริม
- เนื้องอกในท้องน้อย เช่น เนื้องอกมดลูก, เนื้องอกรังไข่
- มะเร็งอวัยวะสืบพันธ์ เช่น มะเร็งอวัยวะเพศหญิง, มะเร็งช่องคลอด, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งอัณฑะ, มะเร็งอวัยวะเพศชาย
- เพศชาย: เช่น
- อวัยวะเพศผิดปกติทางกายวิภาค เช่น อวัยวะเพศคด, เนื้อเยื่อยึดหนังหุ้มหัวอวัยวะเพศ(Frenulum)สั้นหรือยาวผิดปกติ
- ภาวะองคชาตแข็งค้าง
- โรคผิวหนังต่างๆที่เกิดทีอวัยวะเพศ เช่น เริม
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, ท่อปัสสาวะอักเสบ
- โรคต่อมลูกหมาก เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ, ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ
- มะเร็งอวัยวะเพศชาย, มะเร็งอัณฑะ
สาเหตุด้านจิตใจ
สาเหตุด้านจิตใจ เป็นสาเหตุเหมือนกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ทั่วไปได้แก่
- มีประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในวัยเด็ก
- อายุ: โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพศหญิง
- คิดว่าเพศสัมพันธ์เป็นการไม่สมควร, เป็นความผิด
- ไม่มีการเล้าโลมให้มีอารมณ์ทางเพศที่สมบูรณ์
- ไม่เข้าใจวิธีมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง, วิธีสอดใส่อวัยวะเพศ
- อาจกังวล/กลัวการตั้งครรภ์
- ความเครียด, วิตกกังวล, และ/หรือ ซึมเศร้า
เจ็บเมื่อร่วมเพศ มีอาการอย่างไร?
อาการเจ็บเมื่อร่วมเพศ/เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์:
- อาจเกิดเพียงตำแหน่งเดียวของอวัยวะเพศ หรือทุกส่วนของอวัยวะเพศ, อาจเจ็บเพียงผิวๆ หรือตื้นๆ, หรือ อาจเจ็บลึกๆ อาจลึกลงไปเป็นการเจ็บในท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน, ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
- อาจเจ็บในครั้งแรกของการมีเพศสัมพันธ์ ครั้งต่อไปอาการเจ็บจะลดลงเรื่อยๆ
- อาจเจ็บตั้งแต่เริ่มกระบวนการมีเพศสัมพันธ์, ขณะกำลังสอดใส่, ขณะมีเพศสัมพันธ์, หรือ หลังมีเพศสัมพันธ์ที่อาจนานเป็นวันก็ได้
- อาจเกิดเฉพาะกับคู่นอนเพียงบางคน
- อาการที่อาจเกิดร่วมด้วย เช่น
- คันอวัยวะเพศ
- อวัยวะเพศมีแผล, ฉีกขาด
- อวัยวะเพศออกผื่น เช่น เริม หรือติดเชื้อรา(เป็นฝ้าขาวเหมือนน้ำนม/เชื้อราในข่องคลอด)
- อวัยวะเพศเลือดออก
- อวัยวะเพศ บวม แดง
- มีฝ้าขาว-ฝ้าแดงที่อวัยวะเพศ
- ตกขาวในเพศหญิง
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
เมื่อมีอาการเจ็บเมื่อร่วมเพศ/เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ที่เกิดบ่อย จนเป็นปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์หรือกระทบต่อความสัมพันธ์กับคู่นอน ควรพบสูตินรีแพทย์ในเพศหญิง หรือ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะในเพศชาย, หรือจิตแพทย์, เพื่อหาสาเหตุและได้รับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสม
แพทย์วินิจฉัยและหาสาเหตุเจ็บเมื่อร่วมเพศ อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยอาการและหาสาเหตุเจ็บเมื่อร่วมเพศ/เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ได้จากลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ได้แก่
- ซักถามประวัติลักษณะอาการที่เกิดโดยละเอียด เช่น อายุ โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ ประวัติการผ่าตัด การคลอด การงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัว ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับคู่นอน
- การตรวจร่างกายทั่วไป
- การตรวจภายใน ในเพศหญิง เพื่อตรวจลักษณะอวัยวะเพศทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงการตรวจคลำท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน
- อาจมีการตรวจทางทวารหนัก
- การตรวจ ดู คลำ อวัยวะเพศชาย(ในผู้ป่วยเพศชาย)
- อาจมีการตรวจเพื่อการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมเมื่อพบความผิดปกติและตามดุลพินิจของแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เช่น
- การตรวจเชื้อ และ/หรือ การเพาะเชื้อ กรณีมีตกขาว(ในสตรี) หรือ สารคัดหลั่ง/หนองในเพศชาย
- ตรวจแป๊บสเมียร์ในเพศหญิง
- การตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเมื่อตรวจพบรอยโรคที่อวัยวะเพศเพื่อแยกว่าไม่ใช่มะเร็ง
รักษาเจ็บเมื่อร่วมเพศอย่างไร?
แนวทางการรักษาเจ็บเมื่อร่วมเพศ/เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ คือ การรักษาตามสาเหตุ ร่วมกับการรักษาตามอาการ ได้แก่
- การรักษาสาเหตุ: เช่น
- ใช้ยาหล่อลื่น, ยาฮอร์โมน, กรณีช่องคลอดฝ่อจากวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือ วัยหมดประจำเดือน
- การผ่าตัด กรณีมีความผิดปกติทางกายวิภาคของอวัยวะเพศ
- รักษาโรคติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรณีสาเหตุมาจากการติดเชื้อฯ
- รักษาโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ, ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ
- รักษาเนื้องอกต่างๆของอวัยวะสืบพันธ์และในท้องน้อย
- รักษามะเร็งอวัยวะสืบพันธ์และในท้องน้อย
- รักษาทางจิตเวชกรณีสาเหตุมาจากด้านจิตใจ เช่น ความเครียด, โรคซึมเศร้า, ปัญหาความรุนแรงทางเพศทั้งในปัจจุบันและในอดีตที่รวมถึงในวัยเด็ก
- การเรียนรู้วิธีมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกที่ควร โดยโดยเฉพาะในเพศหญิง คือ การปรึกษาสูตินรีแพทย์
- การบริหารความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออวัยวะต่างๆในท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน ที่เรียกว่า การขมิบช่องคลอด/การขมิบช่องทวารเบา(Kegel exercise)ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติทั้งในเพศหญิงและเพศชาย
(แนะนำอ่านรายละเอียดโรค/ภาวะต่างๆที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงวิธีดูแลรักษาจากเว็บ haamor.com เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, ช่องคลอดฝ่อ, ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ, ฯลฯ)
- การรักษาตามอาการ: เช่น ยาแก้ปวด, ยาคลายเครียด, ยาต้านเศร้า, ยา/สารหล่อลื่นอวัยวะเพศขณะร่วมเพศ, ฯลฯ
เจ็บเมื่อร่วมเพศก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากอาการเจ็บเมื่อร่วมเพศ/เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ คือ ปัญหาในชีวิตสมรส, ที่รวมถึงภาวะมีบุตรยาก
เจ็บเมื่อร่วมเพศมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของอาการเจ็บเมื่อร่วมเพศ/เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ จะขึ้นกับสาเหตุ แต่อย่างไรก็ตาม เป็นอาการที่แพทย์สามารถดูแลรักษาให้กลับมามีคุณภาพชีวิตได้ในระดับหนึ่ง ขึ้นกับสาเหตุ และความรุนแรงของสาเหตุ แต่การรักษาต้องได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทั้งผู้ป่วยและคู่นอน นอกจากนั้น การรักษาต้องเป็นการรักษาต่อเนื่อง เป็นเวลานานเป็นเดือน อาจหลายเดือน และอาจมีค่าใช้จ่ายสูง
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการเจ็บเมื่อร่วมเพศ/เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์:
- ที่สำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจและการเข้าถึงสาเหตุ, การยอมรับในสาเหตุ, การพบแพทย์เพื่อรับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์, ร่วมกับการดูแลตนเองที่จะแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุ และ
- ป้องกัน ดูแลรักษา ควบคุมโรค/ภาวะต่างๆ ที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในโรค/ภาวะต่างๆที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงวิธีดูแลรักษา, การดูแลตนเอง, จากเว็บ haamor.com เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, ช่องคลอดฝ่อ, ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ, ฯลฯ)
ป้องกันเกิดเจ็บเมื่อร่วมเพศอย่างไร?
การป้องกันอาการเจ็บเมื่อร่วมเพศ/เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ให้ได้เต็มร้อยเป็นไปได้ยากเพราะขึ้นกับแต่ละสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุจะเป็นธรรมชาติตามอายุที่มากขึ้น เช่น ช่องคลอดฝ่อ หรือ การมีความผิดปกติทางกายวิภาคของอวัยวะสืบพันธ์
ดังนั้นการป้องกันที่ช่วยลดอาการนี้ลงได้ระดับหนึ่ง คือ
- เมื่อมีอาการควรต้องรีบพบแพทย์
- ดูแลตนเองเพื่อ ป้องกัน ดูแลรักษา และควบคุมโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุให้ได้เป็นอย่างดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในโรค/ภาวะต่างๆที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงวิธีป้องกันจากเว็บ haamor.com)
บรรณานุกรม
- Dean A, Seehusen, et al . Am Fam Physician. 2014;90(7):465-470.
- https://www.uptodate.com/contents/male-dyspareunia [2022,Feb5]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dyspareunia [2022,Feb5]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK562159/ [2022,Feb5]
- https://www.jeanhailes.org.au/health-a-z/sex-sexual-health/painful-sex-dyspareunia#what-is-dyspareunia [2022,Feb5]