เจียอาร์ไดอาซิส (Giardiasis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?วงจรชีวิตเป็นอย่างไร?พบบ่อยไหม?

เจียอาร์ไดอาซิส(Giardiasis) คือ โรคเกิดจากร่างกายติดเชื้อโปรโตซัว/สัตวเซลล์เดียว(Protozoa) ที่อยู่ในสกุล/Genus ชื่อ Giardia/เจียอาร์เดีย(บางคนออกเสียงว่า “ไกอาร์เดีย”) ซึ่งมีได้หลายชนิด/Species แต่ที่ก่อการติดโรคในคน คือ ชนิด Giardia lamblia (G. Lamblia)

วงจรชีวิต:   

เจียอาร์เดีย เป็นสัตว์เซลล์เดียวที่มีหนวด มีแหล่งรังโรคและโฮสต์(Host) คือ คน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งสัตว์ป่าและสัตว์บ้าน  เช่น สุนัข แมว  หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ หมี กวาง ฯลฯ  โดยที่มีวงจรชีวิตเป็น 2 ระยะ  คือ 

ก. โทรโฟซอยต์(Trophozoite):  เป็นระยะที่เซลล์โปรโตซัวเคลื่อนไหวได้ ซึ่งเป็นตัว/ระยะที่อาศัยในลำไส้เล็ก  เป็นตัวก่อโรค/ก่อให้เกิดอาการผิดปกติ  มีรูปร่างคล้ายหยดน้ำ ค่อนข้างใส ขนาดกว้างxยาวxหนา ประมาณ 5-15 x9-21x1-2  ไมโครเมตร(Micrometre) ซึ่งดำรงชีวิตโดยเกาะที่ผนังลำไส้เล็กและได้อาหารจากลำไส้เล็ก และจะเจริญเติบโตโดยการแบ่งตัวจาก 1 เซลล์ เป็น 2 เซลล์ในทุกๆ 9-12 ชั่วโมง,  Trophozoite สามารถหลุดปนออกมากับอุจจาระ และตรวจพบได้ แต่ไม่สามารถติดต่อสู่คนได้ และไม่สามารถมีชีวิตอยู่นอกโฮสต์ได้

Trophozoite นี้จะอาศัยอยู่เฉพาะที่ลำไส้ ไม่เคลื่อนที่ไปไหน จะแย่งอาหารจากลำไส้เล็กของคน และอาจก่อการอักเสบที่ผนังลำไส้ นอกจากนั้นยังทำให้ลำไส้ดูดซึมสารอาหารบางชนิดได้ลดลง เช่น  ไขมัน  คาร์โบไฮเดรตในกลุ่ม lactose(มีมากในนม) วิตามินเอ  และวิตามิน บี 12

ข. Infective cyst : เรียกสั้นๆว่า Cyst/ซีสต์ เป็นระยะที่เชื้อติดต่อสู่คนได้ โดยเซลล์ระยะนี้จะมีถุงหุ้มเป็นผนังบางๆ ซึ่งถุงหุ้มนี้จะช่วยให้เชื้อทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกโฮสต์ โดยถ้าอยู่ในแหล่งน้ำที่อุณหภูมิอบอุ่นจะอยู่ได้นานประมาณ 2-3 เดือน, ในดินที่ชุ่มชื้นอบอุ่น อยู่ได้นานประมาณ 7 เดือน, และอยู่ในอุจจาระได้นานประมาณ 1 สัปดาห์, แต่ในที่แห้งแล้งและอุณหภูมิสูงจะอยู่ได้ในระยะสั้นๆ,  

โดยซีสต์นี้ จะตรวจพบในอุจจาระเช่นกัน โดยมีรูปไข่  ลักษณะใส ขนาด กว้างxยาวxหนา ประมาณ 7-10x10-20x0.3-0.5 ไมโครเมตร ซึ่งซีสต์ที่ปนมาในอุจจาระ เมื่อปนในแหล่งน้ำ หรือปนเปื้อนในอาหาร เมื่อคนดื่ม/กิน ซีสต์จะเข้าไปเจริญเติบโตและก่อโรคในลำไส้เล็กต่อไป  นอกจากนี้ โดยทฤษฎี แมลง/แมลงวันที่ตอมอุจจาระสามารถเป็นพาหะโรคนี้ได้จากซีสต์เหล่านี้ในอุจจาระ

การฆ่าเชื้อเจียอาร์เดีย

เจียอาร์เดีย ทั้ง2ระยะ สามารถฆ่าตายได้ด้วยการต้มเดือด(อุณหภูมิตั้งแต่ 100 องศาเซลเซียส/Celsius ขึ้นไป) นานอย่างน้อย 1 นาที,  แต่น้ำยาฆ่าเชื้อ Chlorine dioxide,  การกรองน้ำด้วยวิธีทั่วไป, และน้ำยาฆ่าเชื้อคลอรีนในรูปแบบอื่น เช่น Hypochlorite สามารถลดปริมาณเชื้อลงได้แต่ไม่ทำให้เชื้อหมดไปหรือตายได้ทั้งหมด

อนึ่ง: ทั้ง2ระยะสามารถฆ่าตายได้ด้วยแสงยูวีและโอโซน แต่ประสิทธิภาพของตัวเครื่องและวิธีการต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ไม่สามารถใช้ในบ้านได้

เจียอาร์เดีย เป็นสัตว์เซลล์เดียวที่พบทุกประเทศทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ แต่จะพบสูงในประเทศที่การสาธารณสุขพื้นฐานยังไม่ดี ในเรื่องของแหล่งน้ำกิน น้ำใช้ ส้วม และการกำจัดอุจจาระทั้งคน และสัตว์ มีการศึกษาพบการติดเชื้อนี้ในประเทศกำลังพัฒนา(รวมประเทศไทย)เฉลี่ยประมาณ 30%ของประชากรแต่เฉพาะประเทศในเขตร้อนที่มีรายงาน พบสูง50%-80%, ในสหรัฐอเมริกาพบ3%-7% เพศหญิงและเพศชายพบเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน และเป็นโรคของคนทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ แต่พบได้บ่อยในช่วงวัยเด็ก  ด้วยเหตุที่เด็กยังไม่รู้จักการดูแลสุขอนามัย โดยเฉพาะเด็กในสถานเลี้ยงเด็ก

โรคเจียอาร์ไดอาซิสเกิดได้อย่างไร?วงจรการติดเชื้อเป็นอย่างไร?

เจียอาร์ไดอาซิส

การติดเชื้อเจียอาร์เดีย/โรคเจียอาร์ไดอาซิส/เจียอาร์เดีย เป็นโรคเกิดจากคนดื่มน้ำ/เครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเจียอาร์เดียจากอุจจาระคนหรืออุจจาระสัตว์(ส่วนใหญ่เป็นอุจจาระคน)ที่ติดเชื้อนี้   ซึ่งเชื้อนี้จะมีอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไปในทุกประเทศ (เช่น บ่อน้ำบาดาล แหล่งน้ำขัง  ทะเลสาบ  ลำคลอง หนอง บึง สระว่ายน้ำ)ที่อาจปนเปื้อนอุจจาระคนได้ โดยเฉพาะแหล่งน้ำนิ่ง   ทั้งนี้รวมไปถึงจากสระว่ายน้ำด้วย แต่ก็สามารถพบติดต่อจากการปนเปื้อนในอาหารได้เช่นกัน เช่น จากผักสด ผลไม้ ที่ล้างไม่สะอาด  นอกจากนั้นยังพบว่าติดต่อได้จาก’มือสู่ปาก’ คือมือสัมผัสก้น/อุจจาระจากคนสู่คนจากสัมผัสอุจจาระกันและกัน (เช่น ในการเลี้ยงเด็ก หรือ ดูแลผู้ป่วย), และจากการมีเพศสัมพันธ์ทางปากและ/หรือทางทวารหนัก

วงจรการติดเชื้อ:

วงจรการติดเชื้อของโรคนี้ เริ่มจากคนถ่ายอุจจาระที่มีเชื้อนี้ที่อยู่ในรูปของ “ซีสต์”  แล้วคนจะกิน/ดื่มซีสต์ที่ปนเปื้อนใน น้ำดื่ม น้ำใช้ อาหาร เมื่อซีสต์เข้าสู่กระเพาะอาหาร ผนังซีสต์จะถูกย่อยออกและได้เป็นเจียอาร์เดีย ระยะ Trophozoite ที่จะไปเจริญเติบโตในลำไส้เล็ก บางส่วนก่อให้เกิดอาการ บางส่วนเจริญไปเป็น ซีสต์ แล้วปนออกมาในอุจจาระ  คนดื่ม/กิน ซีสต์ วนเวียนเป็นวงจรชีวิตของเจียอาร์เดีย และของการติดเชื้อโรคนี้ไม่สิ้นสุดถ้าไม่มีการรักษาและการปรับปรุงการสาธารณสุขพื้นฐาน

*ทั้งนี้ ระยะเวลาตั้งแต่กินซีสต์เข้าไป จนถึงมีซีสต์ที่เกิดใหม่และปนออกมา กับอุจจาระที่สามารถตรวจอุจจาระพบได้ จะประมาณ 1-3 สัปดาห์

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเจียอาร์ไดอาซิส?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดการติดเชื้อเจียอาร์เดีย/โรคเจียอาร์ไดอาซิส/เจียอาร์เดีย  ได้แก่

  • เด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กในสถานเลี้ยงเด็ก
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งสาธารณสุขพื้นฐานเกี่ยวกับ น้ำกิน น้ำใช้ ยังไม่ดีพอ, คนที่เดินทางท่องเที่ยวในแหล่งเหล่านี้, และคนที่ทำงานในสถานที่แออัด เช่น สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ค่ายอพยพ ค่ายทหาร
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือ สัมผัสสัตว์เหล่านี้
  • ผู้มีเพศสัมพันธ์ ทางปาก และ/หรือ ทางทวารหนัก

โรคเจียอาร์ไดอาซิสอาการอย่างไร?

ผู้ติดเชื้อเจียอาร์เดีย/โรคเจียอาร์ไดอซิส/เจียอาร์เดีย บางคนอาจไม่มีอาการ  *แต่เมื่อมีอาการ อาการมักเกิดประมาณ 1-2 สัปดาห์(อาจนานได้ถึง 3 สัปดาห์)หลังได้รับเชื้อ  

 โดยอาการที่เกิดขึ้น จะไม่ใช่อาการเฉพาะโรค แต่เป็นเหมือนอาการท้องเสียจากสาเหตุทั่วๆไป

  • อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
  • ท้องเสีย: มักท้องเสียเป็นน้ำ มีกลิ่นเหม็น ไม่มีเลือดปน อาจมีเนื้ออุจจาระปนได้ ซึ่งจะมีลักษณะ เบา ลอยน้ำ และเป็นมัน
  • ปวดท้อง มักเป็นแบบปวดบีบ ปวดได้ทั่วท้อง ไม่ปวดเฉพาะจุด 
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ  เรอมีกลิ่นเหม็น
  • คลื่นไส้ อาจอาเจียน
  • น้ำหนักตัวลด/ผอมลง
  • ภาวะขาดน้ำ ถ้าท้องเสียรุนแรง
  • ส่วนอาการที่พบได้น้อย: เช่น คัน, ผิวหนังขึ้นผื่น, บวมรอบตา, บวมตามข้อต่างๆ

โดยทั่วไป ถ้าไม่รักษา: อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-4 สัปดาห์ร่างกายจะปรับตัวได้  แต่อาการอาจเกิดอยู่นานกว่านี้ หรืออาจเป็นๆหายๆตราบเท่าที่มีเชื้อนี้อยู่ในลำไส้

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการท้องเสียนานเกิน 3-4 วัน และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง โดยเฉพาะเมื่อกลับจากการเดินทางไปยังแหล่งที่การสาธารณสุขยังไม่ดี ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ, แต่ถ้าท้องเสียจนมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย หรือท้องเสียเลวลงหลังดูแลตนเอง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้อรอจนถึง 3-4 วัน

แพทย์วินิจฉัยเจียอาร์ไดอาซิสได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยการติดเชื้อเจียอาร์เดีย/โรคเจียอาร์ไดอาซิส/เจียอาร์เดีย ได้จาก

  • ประวัติอาการ ประวัติถิ่นที่พักอาศัย  ประวัติการเดินทาง/ท่องเที่ยว 
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจอุจจาระ(ซึ่งอาจต้องตรวจซ้ำ มักตรวจ 3 วันติดต่อกัน จึงจะตรวจพบ ซีสต์ หรือ Trophozoite)
  • กรณีตรวจไม่พบซีสต์ หรือ Trophozoite จากการตรวจอุจจาระซ้ำหลายครั้ง แต่อาการผู้ป่วยน่าสงสัย:
    • แพทย์อาจตรวจอุจจาระด้วยวิธีเฉพาะที่เรียกว่า ELISA (Enzyme-linked immunosorbent assay) ทั้งนี้ การเพาะเชื้อจากอุจจาระ  ไม่ได้ประโยชน์เพราะมักไม่พบเชื้อนี้

รักษาเจียอาร์ไดอาซิสได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาการติดเชื้อเจียอาร์เดีย/โรคเจียอาร์ไดอาซิส/เจียอาร์เดีย  คือ การใช้ยาฆ่าเชื้อเจียอาร์เดีย และการรักษาตามอาการ

ก. ยาฆ่าเชื้อเจียอาร์เดีย: เช่น ยา Metronidazole,  Tinidazole, Nitazoxanide, Albendazole,  Nitazoxanide

ข. การรักษาตามอาการ/การรักษาประคับประคองตามอาการ: ขึ้นกับแต่ละอาการของผู้ป่วย เช่น ยาแก้ปวดท้อง  และที่สำคัญ คือ รักษาและป้องกันภาวะขาดน้ำด้วยการดื่ม ‘ผงละลายเกลือแร่โออาร์เอส (ORS)’

โรคเจียอาร์ไดอาซิสก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการติดเชื้อเจียอาร์เดีย/โรคเจียอาร์ไดอาซิส/เจียอาร์เดีย   เช่น

  • ภาวะขาดน้ำ จากมีท้องเสียต่อเนื่องอาจนานเป็นสัปดาห์ถ้าไม่มีการรักษา
  • ภาวะที่ดื่มนมแล้วจะท้องเสียมากขึ้นจากปกติ ด้วยเชื้อเจียอาร์เดียทำให้เกิดการอักเสบของผนังลำไส้เล็ก ทำให้ไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลแลคโตส(Lactose, น้ำตาลในนม)ได้
  • ภาวะขาดอาหาร(ทุพโภชนา)จากทั้งท้องเสียและเชื้อนี้แย่งอาหารจากลำไส้  
  • ในเด็ก จะพบว่ามีการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งด้านร่างกายและด้านอารมณ์

โรคเจียอาร์ไดอาซิสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การติดเชื้อเจียอาร์เดีย/โรคเจียอาร์ไดอาซิส/เจียอาร์เดีย มีการพยากรณ์โรคโดย:

  • ทั่วไป เป็นโรคไม่รุนแรง ไม่ทำให้ถึงตาย  โรคมักรักษาได้หายจากการกินยาฆ่าเชื้อนี้ 
  • แต่สามารถติดเชื้อซ้ำได้เสมอถ้ายังขาดสุขอนามัยพื้นฐาน โดยเฉพาะจากน้ำดื่ม น้ำใช้ เพราะดังกล่าวแล้วว่า คนมักติดเชื้อนี้จากการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ/อุจจาระของคนที่ติดเชื้อนี้
  • อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการติดเชื้อจำนวนมากในเด็กอ่อน สามารถทำให้ถึงตายได้ จากเด็กท้องเสียรุนแรงจนเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง      

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีการติดเชื้อเจียอาร์เดีย/โรคเจียอาร์ไดอาซิส/เจียอาร์เดีย เช่น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • รักษาสุขอนามัยในการขับถ่าย ถ่ายอุจจาระโดยใช้ส้วมเสมอ ถ้าเป็นไปได้ช่วงที่ยังตรวจพบเชื้อนี้ในอุจจาระ ควรแยกส้วมกับผู้อื่น
  • ล้างมือทุกครั้ง ก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • ดื่มแต่น้ำสะอาด ถ้าเป็นแหล่งน้ำจากธรรมชาติ ควรต้องเป็นน้ำต้มเดือดนานอย่างน้อย 1 นาที
  • รักษาความสะอาดอาหารเสมอ โดยเฉพาะ ผักสด ไม่บริโภคพืชที่ใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • การมีเพศสัมพันธ์ทางปากและทางทวารหนัก ควรใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • ไม่วายน้ำในสระนำที่ไม่แน่ใจเรื่องความสะอาด ระมัด ระวังไม่กลืนน้ำขณะว่ายน้ำในทุกสถานที่
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • อาการต่างๆแย่ลง เช่น ปวดท้องมากขึ้น ท้องเสียบ่อยขึ้น
  • เกิดมีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น อุจจาระเป็นเลือด
  • อาการที่เคยรักษาหายแล้ว กลับมามีอาการอีก เช่น กลับมาท้องเสียเหมือนเดิม
  • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูก คลื่นไส้
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคเจียอาร์ไดอาซิสได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่วัคซีนหรือยาใดที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อเจียอาร์เดีย/โรคเจียอาร์ไดอาซิส/เจียอาร์เดีย  แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพโดย ดื่มน้ำ และบริโภคอาหารที่สะอาดไม่ปนเปื้อนอุจจาระคนและสัตว์, ถ้าเป็นน้ำดื่มจากธรรมชาติควรต้มให้เดือดก่อนนำมาดื่ม นอกจากนั้น ได้แก่

  • ใช้ส้วมในการขับถ่ายอุจจาระเสมอ
  • ไม่นำอุจจาระมาเป็นปุ๋ย
  • ล้างมือทุกครั้ง ก่อนกินอาหาร และขับถ่าย
  • ใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางปากและทางทวารหนัก
  • รักษาความสะอาด อาหาร เครื่องปรุง เครื่องใช้ในการทำครัว และน้ำดื่ม น้ำใช้
  • ระวังน้ำเข้าปากจากการว่ายน้ำในสระน้ำที่รักษาความสะอาดได้ไม่ดีพอ
  • รณรงค์ให้ทุกคนรู้จักโรคนี้ และช่วยกันดูแลให้ชุมชนให้รู้จักรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)

 

บรรณานุกรม

  1. Anchalee Tungtrongchitr. Et al. (2010).J Health Popul Nutr. 28, 42-52.
  2. https://extension.psu.edu/removing-giardia-cysts-from-drinking-water  [2021,Nov27]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/176718-overview#showall [2021,Nov27]
  4. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/giardia-lamblia.html [2021,Nov27]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Giardiasis [2021,Nov27]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Giardia_duodenalis [2021,Nov27]
  7. https://www.cdc.gov/healthywater/drinking/travel/backcountry_water_treatment.html [2021,Nov27]
  8. https://www.cdc.gov/parasites/giardia/ [2021,Nov27]