ออเรนโอฟิน (Auranofin)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 7 ธันวาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาออเรนโอฟินมีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?
- ยาออเรนโอฟินออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาออเรนโอฟินมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาออเรนโอฟินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาออเรนโอฟินมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาออเรนโอฟินมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- มีข้อควรระวังในการใช้ยาออเรนโอฟินอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาออเรนโอฟินอย่างไร?
- ยาออเรนโอฟินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- โรคข้อ (Joint disease)
- ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis)
- ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate, MTX)
- ซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine)
- ทูเบอร์คูลิน (Tuberculin test)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาออเรนโอฟิน (Auranofin) คือ ยาในกลุ่มสารประกอบจำพวกทองคำ มีฤทธิ์ลดการทำ งานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย จัดเป็นหนึ่งในยาของกลุ่ม ‘**ดีมาร์ดส’ นิยมใช้ยานี้เมื่อประสบความล้มเหลวจากยาปรับระดับภูมิคุ้มกันฯอื่นๆ เช่น ยาในกลุ่มเสตียรอยด์, ยาเมโธเทรกเซต (Methotrexate), ยาซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine), และยาเลฟลูโนไมด์ (Leflunomide)
ข้ออักเสบรูมาตอยด์/โรคข้อรูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะเกิดการอักเสบของ ข้อและ/หรือของอวัยวะต่างๆได้ เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายและพันธุกรรม ในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยอาจเริ่มต้นจากอาการข้อฝืด/ข้อติดและเกิดการอักเสบตามข้อต่างๆของร่างกายโดยเฉพาะข้อนิ้วมือและข้อมือร่วมกับอาการปวดตามข้อนั้นๆ
**จากที่โรคนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกายที่ผิดปกติ การรักษาจึงนิยมใช้ยาที่ปรับระดับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันฯให้ลดลงเพื่อลดการอักเสบในบริเวณต่างๆ เรียกยาในกลุ่มนี้ว่า ‘ดีมาร์ดส (Disease-modifying Antirheumatic Drugs; DMARDs)’ ร่วมกับการให้ยาเพื่อลดความเจ็บปวด/ยาแก้ปวด
การใช้ยาออเรนโอฟิน ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามระดับของเม็ดเลือด(ซีบีซี)อย่างสม่ำเสมอจึงควรใช้ยานี้อย่างเคร่งครัดตามแพทย์สั่งเท่านั้น
ยาออเรนโอฟินมีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?
ยาออเรนโอฟินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)ในผู้ใหญ่ นิยมใช้ยานี้เป็นยาทางเลือกในการรักษาหลังการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันฯทางเลือกแรกล้มเหลว เช่น ยาในกลุ่ม เสตียรอยด์ (Steroids), ยาอะซาโธโอพรีน (Azathioprine) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาออเรนโอฟินในการรักษาในโรคนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในฉลากยา (Off label uses) เช่น
ก. โรคเฟลทีส์ซินโดรม (Felty’s Syndrome): ซึ่งเป็นโรคที่พบได้น้อย มีอาการโรคข้อรูมาตอยด์ร่วมกับมีม้ามโตและมีจำนวนเม็ดเลือดขาวลดลง
ข. โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic Arthritis): เป็นโรคทางผิวหนังที่มีลักษณะของผื่นเหมือนสะเก็ดเงินร่วมกับการอักเสบของข้อส่วนปลาย (Peripheral joints เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้ว เท้า) ร่วมกับข้อกระดูกสันหลัง (Axial joint) และการอักเสบของเอ็นบริเวณที่เกาะกับกระดูก (Enthesis)
ค. โรคข้อรูมาตอยด์ชนิดจูวีนีล (Juvenile Rheumatoid Arthritis): เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกายซึ่งเกิดการทำลายเนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง โดยจะพบการอักเสบและหนาตัวขึ้นของเซลล์บุผิวข้อ (Synovial Membrane) ทำให้ข้อเกิดการติดขัดในการเคลื่อน ไหว (Stiffness)
ยาออเรนโอฟินออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาออเรนโอฟิน เป็นสารประกอบจำพวกทองคำ กลไกการออกฤทธิ์ที่แน่ชัดของยานี้ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ แต่มีการศึกษาพบว่า ยาออเรนโอฟินมีส่วนเกี่ยวข้องกับการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แคปปาไคเรส (IκB/Inhibitor of kappa B kinase) และเอนไซม์ไธโอรีดอซินรีดักเทส (Thioredoxin reductases) ทั้งสองเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันฯของร่าง กาย ผลจากการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทั้งสองชนิด ทำให้เกิดการลดการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันฯของร่างกายและลดการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย นำไปสู่การลดการอักเสบในส่วนของข้อต่างๆ และฤทธิ์ของยายังช่วยป้องกันการทำลายกระดูกและกระดูกอ่อนจากการอักเสบได้อีกด้วย
ยาออเรนโอฟินมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาออเรนโอฟินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย/เภสัชภัณฑ์:
- เป็นยาเม็ด หรือ ยาแคปซูล ขนาดความ แรง 3 มิลลิกรัมต่อเม็ดหรือต่อแคปซูล
ยาออเรนโอฟินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาออเรนโอฟิน มีขนาดยาแนะนำสำหรับการรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ในผู้ใหญ่วันละ 6 มิลลิกรัม โดยอาจแบ่งการบริหารยา/การรับประทานยาวันละ 1 - 2 ครั้ง แพทย์ผู้ทำการรักษาอาจพิจารณาเพิ่มขนาดยาเป็น 9 มิลลิกรัมต่อวันโดยแบ่งให้ 3 เวลา (รับประทานครั้งละ 3 มิลลิกรัม หรือ 1 เม็ดวันละ 3 ครั้ง) หากอาการไม่ดีขึ้นหลังเริ่มต้นการรักษาไปแล้ว 6 เดือน
อนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยานี้ เช่น อาการปวดท้อง คลื่นไส้ แนะนำให้รับประทานยานี้หลังอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึก ษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาออเรนโอฟินควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยา แพ้สารเคมี และแพ้อาหารทุกชนิด
- ประวัติการใช้ยาทั้งยาที่ซื้อทานเองและยาที่แพทย์สั่งจ่าย วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร โดยเฉพาะการใช้ยาอื่นเพื่อการรักษาอาการข้ออักเสบ การใช้ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoid) และยาเพนิซีลลาไมน์ (Penicillamine, ยารักษาพิษจากทองแดง)
- ประวัติ โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคเลือด โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflam matory Bowel Disease) การขึ้นผื่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง(Eczema) โรคลูปัสอีริทีมาโตซัส (Systemic Lupus Erythematosus/ โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี: ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันฯของร่าง กายทำงานผิดปกติโดยทำการต่อต้านทำลายเซลล์ของร่างกายเอง) โรคเกี่ยวข้องกับการทำงานผิดปกติของไขกระดูก และประวัติการรักษาโรคโดยใช้รังสีรักษา
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาออเรนโอฟิน ให้รับประทานโดยทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้เวลาการรับ ประทานยาในมื้อถัดไปให้ข้ามมื้อยานั้นไป และรับประทานยาตามมื้อยาถัดไปตามปกติโดยไม่ต้อง เพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาออเรนโอฟินมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ยาออโรนโอฟินอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) บางประการ เช่น
- ปวดท้อง
- รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
- คลื่นไส้อาเจียน
- การรับรสอาหารเปลี่ยนไป
- มีลมในกระเพาะอาหารมากขึ้น/มีแก๊สในกระเพาะอาหาร
- ผมร่วง
- ท้องเสีย
*อนึ่ง:
- *หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าอาการแย่ลงหรือไม่ทุเลา ให้รีบแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
- *หากรับประทานยาออเรนโอฟินแล้วมีอาการดังจะกล่าวต่อไป ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน ได้แก่
- *เกิดอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน อาการบวมของริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา ใบหน้า หรือหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก,
- *หรืออาการข้างเคียงที่มีความรุนแรง เช่น อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด หรืออุจจาระมีสีดำและเหนียว ผิวหนังมีห้อเลือด เกิดมากและ/หรือที่ขยายตัวกว้างขึ้นเรื่อยๆ มีอาการติดเชื้อบ่อย เช่น เจ็บคอ มีแผลในปาก มีไข้ หนาวสั่น มีการไหลของเลือดที่ผิดปกติ (เลือดออกมากผิดปกติหรือเลือดออกง่ายผิดปกติ) มีอา การเหนื่อยล้าอย่างรุนแรง
ยาออเรนโอฟินมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
ยาออเรนโอฟินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
ก. การใช้ยานี้ร่วมกับยากดการทำงาน/การสร้างเม็ดเลือดของไขกระดูกจะทำให้เกิดพิษต่อไขกระดูกได้ เช่น การใช้ร่วมกับยารักษามะเร็ง/ยาเคมีบำบัด (Antineoplastics) การใช้ยานี้ร่วมกับรังสีรักษาและยากดภูมิคุ้มกันฯเช่น ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine) ยากลุ่มเสตียรอยด์ในขนาดยาที่สูง
ข. ร่วมกับยาเพนิซีลลาไมน์ (Penicillamine): การใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันทำให้ผลข้างเคียงของยาออเรนโอฟินต่อระบบเลือด/ระบบโลหิตวิทยาสูงขึ้นเช่น ความเสี่ยงการเกิดภาวะเลือดจาง/ภาวะซีด เม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดต่ำลงมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการให้ยาสองชนิดนี้ร่วมกัน
ค. ร่วมกับยาฟีไนทอยน์ (Phenytoin): ซึ่งเป็นยากันชัก เนื่องจากยาออเรนโอฟินอาจ จะทำให้ระดับยาฟีไนทอยด์ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้เกิดพิษจากยาฟีไนทอยด์ ผู้ป่วย ที่ใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันควรได้รับการตรวจจัดระดับยาฟีไนทอยด์เป็นระยะๆตามแพทย์ผู้รักษาแนะนำ
มีข้อควรระวังในการใช้ยาออเรนโอฟินอย่างไร?
มีข้อควรระวังในการใช้ยาออเรนโอฟิน เช่น
- ไม่ใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาออเรนโอฟินขณะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร รวมไปถึงไม่ควรตั้ง ครรภ์ภายหลังหยุดยาไปแล้วน้อยกว่า 6 เดือน เนื่องจากยานี้อยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานาน
- การรักษาด้วยยานี้ใช้ระยะเวลาในการออกฤทธิ์และเห็นผลการรักษาในช่วง 3 - 6 เดือน ไม่ได้เห็นผลโดยทันทีหลังรับประทานยา ผู้ป่วยจึงควรรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง
- ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)เนื่องจากไม่มีผลการศึกษาด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลจากการใช้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิดเมื่อใช้ยานี้เพราะจะเพิ่มผลข้างเคียงจากยานี้ให้สูงขึ้น
- หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรงเป็นระยะเวลานานๆเนื่องจากยาออเรนโอฟินอาจ ส่งให้ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดดมากกว่าปกติ หากมีความจำเป็นต้องออกแดดนานให้ทาผลิต ภัณฑ์กันแดดก่อนออกแดดทุกครั้งขณะใช้ยานี้
- หากต้องทำการตรวจวัณโรคโดยวิธี ทดสอบทูเบอร์คูลิน (Tuberculin Test) ให้แจ้งผู้ทำการตรวจว่ากำลังใช้ยานี้อยู่เพราะอาจทำให้ผลตรวจผิดพลาดได้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาออเรนโอฟินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาออเรนโอฟินอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาออเรนโอฟิน: เช่น
- เก็บในภาชนะบรรจุหรือบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมของผู้ผลิต
- เก็บในอุณหภูมิห้องปกติ ควรหลีกเลี่ยงที่อับชื้น เช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำ ห้องครัว หรือบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง
- เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาออเรนโอฟินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาออเรนโอฟิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ริดอรา (Ridaura) | แกล็กโซสมิทไคล์น |
บรรณานุกรม
- กัลยกร เชาวว์วิศิษฐ. โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน. สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย
- ปารวี สุวรรณาลัย. ข้ออักเสบรูมาตอยด์. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
- มานิตย์ วัชร์ชัยนันท์. Juvenile Arthritis http://vatchainan2.blogspot.com/2012/09/juvenile-arthritis-1.html [2021,Dec4]
- https://www.rxlist.com/ridaura-drug.htm [2021,Dec4]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/auranofin?mtype=generic [2021,Dec4]
- https://www.medicinenet.com/feltys_syndrome/article.htm [2021,Dec4]