ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 10 เมษายน 2562
- Tweet
- ข้ออักเสบสะเก็ดเงินคือโรคอะไร?
- ข้ออักเสบสะเก็ดเงินมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยอย่างไร?
- รักษาอย่างไร?
- มีการพยากรณ์โรคอย่างร?
- บรรณานุกรม
- โรคข้อ (Joint disease)
- ข้ออักเสบ (Arthritis)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- โรคภูมิแพ้ตนเอง หรือโรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) และโรคภูมิแพ้ (Allergy)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- ยาปรับเปลียนการดำเนินโรครูมาตอยด์
- ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ (Phosphodiesterase inhibitor)
- ยากดภูมิคุ้มกัน(Immunosuppressants or Immunosuppressive agents)
ข้ออักเสบสะเก็ดเงินคือโรคอะไร?
โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน(Psoriatic arthritis) คือ โรคข้ออักเสบเรื้อรังที่เป็นๆหายๆ และถ้าไม่ได้รับการรักษาโรคจะค่อยๆเลวลงเรื่อยๆจนข้อนั้นอาจใช้งานไม่ได้ถาวร ซึ่งข้ออักเสบนี้จะสัมพันธ์กับโรคผิวหนังที่เรียกว่า ‘โรคสะเก็ดเงิน’ ที่เป็นโรคผิวหนังในกลุ่มโรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน ดังนั้น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน จึงจัดอยู่ในกลุ่มโรคออโตอิมมูนด้วยเช่นกัน
ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน พบได้ประมาณ 30%ของโรคสะเก็ดเงิน และมักพบเกิดภายใน10ปีหลังการเกิดโรคสะเก็ดเงิน โดยทั่วไปพบอาการทางผิวหนังและข้ออักเสบเกิดพร้อมกันได้ และประมาณ 15% พบอาการข้ออักเสบนำมาก่อนอาการทางผิวหนัง
นอกจากนี้ ข้ออักเสบสะเก็ดเงินพบได้ประมาณ 40-50%ในผู้มีจีน/ยีน/Gene ผิดปกติ เช่นจีนชนิด HLA-B27
ข้ออักเสบสะเก็ดเงินพบทั่วโลก แต่พบบ่อยกว่าในคนผิวขาว พบทุกอายุ ส่วนใหญ่พบในช่วงอายุ 30-55ปี และพบได้ในเด็กซึ่งมักมีอาการข้ออักเสบฯนำมาก่อนมีโรคสะเก็ดเงินที่ผิวหนัง ผู้หญิงและผู้ชาย พบโรคข้ออักเสบฯนี้ใกล้เคียงกัน
ข้ออักเสบสะเก็ดเงินมีอาการอย่างไร?
อาการโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน พบเกิดกับทุกข้อทั่วร่างกาย แต่พบบ่อยที่ ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า ข้อศอก ข้อเข่า ข้อกระดูกคอ ข้อกระดูกสันหลัง ซึ่งถ้าอาการไม่รุนแรง การอักเสบมักเกิดเพียง1-2ข้อ แต่ถ้าอาการรุนแรง จะเกิดการอักเสบได้หลายๆข้อพร้อมกัน
อาการพบบ่อยของข้ออักเสบสะเก็ดเงิน ได้แก่
- อาการ ปวดข้อ ข้อบวม และข้อยึดติดเคลื่อนไหวลำบาก
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อย่างมาก ถึงแม้จะพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม
- พบผื่นโรคสะเก็ดเงินที่ผิวหนัง แต่ส่วนน้อยประมาณ 15%อาจไม่พบผื่นสะเก็ดเงินร่วมด้วย แต่จะเกิดตามมาในภายหลัง
แพทย์วินิจฉัยอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ คือ อาการ ประวัติการเป็นโรคสะเก็ดเงินมาก่อน รวมถึงโรคสะเก็ดเงินในครอบครัว
- การตรวจร่างกาย การตรวจลักษณะข้อที่อักเสบ
- การตรวจสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจเลือดดู สารภูมิต้านทาน หรือ สารก่อภูมิต้านทาน ของโรคต่างๆที่อาการคล้ายๆกันเพื่อการวินิจฉัยแยกโรค เช่น โรคข้อรูมาตอยด์
- การตรวจภาพข้อต่างๆด้วยเอกซเรย์ เป็นต้น
รักษาอย่างไร?
การรักษาโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน มีหลายวิธี และอาจใช้หลายวิธีร่วมกัน ที่รวมถึงการรักษาควบคุมโรคสะเก็ดเงิน ทั้งนี้ ขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการ, การตอบสนองของโรคต่อการรักษาวิธีต่างๆ, และดุลพินิจของแพทย์
วิธีรักษาต่างๆ เช่น
- การใช้ยาต่างๆ เช่น
- การใช้ยาแก้ปวด /ยาแก้อักเสบในกลุ่ม เอ็นเสด/NSAIDs
- ยากลุ่มยาปรับเปลียนการดำเนินโรครูมาตอยด์
- ยากลุ่ม Biological response modifier คือ ยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเฉพาะบางส่วนที่เฉพาะเจาะจงกว่ากลุ่มยาปรับเปลียนการดำเนินโรครูมาตอยด์
- ยาบางตัวในกลุ่ม ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ (Phosphodiesterase inhibitor)
- อื่นๆ เช่น
- การฉายแสงยูวีที่ข้อที่มีอาการ
- การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ
- การผ่าตัดเพื่อแก้ไขการผิดรูปของข้อ เพื่อเพิ่มคุณภาพการทำงานของข้อ
มีการพยากรณ์โรคอย่างร?
โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เป็นโรคข้อเรื้อรังที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต ถ้าไม่รักษา อาการจะค่อยๆเลวลงจนใช้การข้อต่างๆไม่ได้ แต่เมื่อได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยชะลออาการต่างๆ ตลอดจนความเสียหายของข้อ และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นที่สามารถดำรงชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ
บรรณานุกรม
- https://www.aad.org/public/diseases/painful-skin-joints/psoriatic-arthritis [2019,March23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Psoriatic_arthritis [2019,March23]