วิตามินอี (Vitamin E or Alpha-tocopherol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 มกราคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- วิตามินอีมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- วิตามินอีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- วิตามินอีมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- วิตามินอีมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- วิตามินอีมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วิตามินอีอย่างไร?
- วิตามินอีมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาวิตามินอีอย่างไร?
- วิตามินอีมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วิตามินรวม มัลติวิตามิน เอ็มทีวี (Multivitamin: MTV)
- วิตามิน (Vitamin)
- อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ (Healthy diet)
- โรคเส้นประสาท (Peripheral neuropathy)
- อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
- โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก (Ischemic and Hemorrhagic Stroke)
- ภาวะขาดวิตามินอี (Vitamin E deficiency)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาวิตามินอี (Vitanin E) หรืออีกชื่อคือ ยาแอลฟา-โทโคเฟอรอล (Alpha-tocopherol) เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายด้วยมีคุณสมบัติและหน้าที่สำคัญๆ เช่น
- ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระโดยจะเข้าทำปฏิกิริยาเคมีกับอนุมูลอิสระต่างๆจนกระทั่งไม่สามารถแสดงฤทธิ์ที่มีผลกระทบต่อร่างกาย
- ช่วยควบคุมการทำงานของเอนไซม์ต่างๆในร่างกายมนุษย์
- วิตามินอีจะเป็นปัจจัยหรือองค์ประกอบในการควบคุมการแสดงออกของสารพันธุกรรม หรือยีน/จีน/Gene
- เป็นองค์ประกอบในการทำงานของระบบประสาท
- ช่วยยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดจึงช่วยลดการเกิดลิ่มเลือด
นอกจากนั้นยังมีหน้าที่อื่นๆในร่างกายที่ต้องอาศัยวิตามินอีมาเป็นปัจจัยสนับสนุนในการทำ งาน ซึ่งหากร่างกายขาดวิตามินอีอาจจะแสดงออกมาดังอาการต่างๆต่อไปนี้ เช่น
- เป็นโรคเซลล์ประสาทและระบบสั่งงานเสื่อม (Spinocerebellar ataxia) โรคนี้สามารถ ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยเกิดการฝ่อของสมองส่วน Cerebellum และมีอาการเดินเซด้วยกล้ามเนื้อสูญเสียการประสานงานกัน
- เกิดความผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อ (Myopathy)
- เกิดอาการโรคเส้นประสาท (Peripheral neuropathy)
- เกิดภาวะจอตาอักเสบ (Retinopathy)
- มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก (Red blood cell destruction)
- การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง (Impairment of immune response)
สำหรับในทางคลินิกวิตามินอีจะถูกใช้เพื่อป้องกันและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เกิดการเสื่อม สภาพหรือถูกทำลายด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น จากการฉายรังสีรักษา บางกรณียังมีการนำวิตามินอีมา ร่วมรักษาโรคมะเร็งอีกด้วย
ก่อนการเลือกใช้วิตามินอี แพทย์จะตรวจสอบและคัดกรองผู้ป่วยโดยใช้ประวัติทางการ แพทย์ของผู้ป่วยมาร่วมในการพิจารณาก่อนการจ่ายวิตามินอีให้กับผู้ป่วย เช่น
- ผู้ป่วยมีประวัติเม็ดเลือดแดงต่ำหรือไม่
- เป็น โรคตับ โรคไต หรือไม่
- เคยมีอาการแพ้ยาใดๆมาก่อนหรือไม่
- มีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดทางสมองแตก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor. com บทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก) หรือมีปัญหาเรื่องการเกาะตัวของเกล็ดเลือด/การเกิดลิ่มเลือดหรือไม่
- กรณีที่ผู้ป่วยมีแผนต้องเข้ารับการผ่าตัด แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยาวิตามินอีกับผู้ป่วย
อนึ่งกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีประวัติที่จะก่อให้เกิดปัญหาหลังใช้วิตามินอี ผู้ป่วยก็ยังต้องปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์เภสัชกรในการใช้ยาวิตามินอีอย่างเคร่งครัด เช่น
- ไม่ปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และ
- ไม่ใช้ยานี้เกินกว่าที่แพทย์กำหนด
- อีกทั้งต้องรับประทานวิตามินอีพร้อมอาหาร ด้วยวิตามินอีสามารถละลายได้ดีในไขมัน การรับประทานร่วมกับอาหารจะช่วยทำให้วิตามินนี้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดียิ่งขึ้น
ในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้วิตามินอีอยู่ในบัญชียาหลักแห่ง ชาติและอยู่ในหมวดของยาอันตราย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย/ผู้บริโภคจึงควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
วิตามินอีมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาวิตามินอีมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ:
- ป้องกันและบำบัดรักษาอาการจากภาวะขาดวิตามินอีของร่างกาย
- บำบัดอาการความจำเสื่อมชนิดที่เรียกว่า Alzheimer
วิตามินอีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาวิตามินอีคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระที่คอยทำให้เซลล์/เนื้อเยื่อของร่างกายเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านไขมันอิ่มตัวในเลือดที่มักจะมาเกาะตามผนังหลอดเลือดจนเกิดภาวะอักเสบและอุดตันของหลอดเลือด จากกลไกดังกล่าวส่ง ผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
วิตามินอีมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาวิตามินอีมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 50 ยูนิต/มิลลิลิตร
- ยาแคปซูลนิ่มชนิดรับประทาน ขนาด 400 และ 525 ยูนิต/แคปซูล
- เป็นส่วนผสมของกลุ่มยาวิตามินรวมชนิดฉีด
- เป็นส่วนผสมในนมผงดัดแปลงสำหรับเลี้ยงทารก
วิตามินอีมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาวิตามินอีมีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับอาการจากภาวะขาดวิตามินอี: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 60 - 75 ยูนิตหลังอาหาร
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): รับประทาน 1 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันหลังอาหาร
ข.สำหรับบำบัดอาการอัลไซเมอร์: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1,000 ยูนิตวันละ 2 ครั้งหลังอาหาร
- เด็ก: อัลไซเมอร์เป็นโรคในผู้สูงอายุจึงไม่มีการกำหนดขนาดรับประทานยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาวิตามินอี ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาวิตามินอี อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาวิตามินอี สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาวิตามินอีให้ตรงเวลา
วิตามินอีมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
สำหรับยาวิตามินอี สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ตาพร่า
- ท้องเสีย
- วิงเวียน
- ปวดหัว
- คลื่นไส้
- เป็นตะคริวที่หน้าท้อง
- อาจมีอาการอ่อนเพลีย
มีข้อควรระวังการใช้วิตามินอีอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาวิตามินอี เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่ได้มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารจะช่วยให้มีการดูดซึมยานี้ได้ดีขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมวิตามินอีด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
วิตามินอีมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาวิตามินอีมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้วิตามินอี ร่วมกับยา Tipranavir อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานวิตามินอี ร่วมกับยาที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ ด้วยวิตามินอีจะรบกวนการดูดซึมของธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย
- การรับประทานวิตามินอี ร่วมกับยา Aspirin อาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงของยา Aspirin หรือมีภาวะเลือดออกง่ายติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาวิตามินอีอย่างไร
ควรเก็บยาวิตามินอี:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
วิตามินอีมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาวิตามินอี มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bio-E-Vitamin (ไบโอ-อี-วิตามิน) | Pharma Nord SEA |
Philvita E (ฟิลไวตา อี) | Phil Inter Pharma |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/vitamin_e.html [2022,Jan1]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_E [2022,Jan1]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Bio-E-Vitamin/?type=BRIEF [2022,Jan1]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Philvita%20E/?type=BRIEF [2022,Jan1]
- https://www.drugs.com/sfx/vitamin-e-side-effects.html [2022,Jan1]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/vitamin-e-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Jan1]