ภาวะขาดวิตามินอี (Vitamin E deficiency)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? และแหล่งอาหาร

ภาวะขาดวิตามินอี (Vitamin E deficiency) คือ ภาวะที่ร่างกายได้รับวิตามินอีไม่เพียงพอ จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น

ภาวะขาดวิตามินอี เป็นภาวะที่พบน้อย เพราะเป็นวิตามินที่มีในพืชทุกชนิด แต่ถ้าเกิดภาวะนี้ขึ้น จะพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดจะใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและในเพศชาย

วิตามินอี (Vitamin E) เป็นสารในกลุ่มTocopherols และสารTocotrienols เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำมัน และสร้างได้จากพืช ส่วนสัตว์รวมถึงคนไม่สามารถสร้างวิตามินอีได้

วิตามินอี ถูกทำลายได้จาก แสงสว่าง ออกซิเจน ความร้อน รวมถึงการเก็บไว้นาน และในขั้นตอนของการถนอมอาหาร

วิตามินอี จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางลำไส้เล็ก โดยต้องอาศัยน้ำย่อยจากตับ (น้ำดี) และจากตับอ่อน เมื่อเข้าสู่กระแสโลหิต จะเข้าสู่ตับเพื่อให้เซลล์ตับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพที่ร่างกายจะนำไปใช้ได้ ส่วนที่เหลือ ตับจะกำจัดออกทางน้ำดี และออกจากร่างกายทางอุจจาระ ส่วนน้อยในเลือดที่เหลือจากร่างกายนำไปใช้และสะสมแล้ว จะถูกกำจัดออกทางไต/ทางปัสสาวะ ทั้งนี้ เนื้อเยื่อที่เก็บสะสมวิตามินอี คือ กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อไขมัน และบางส่วนในปริมาณที่น้อยกว่าจะสะสมในตับ

แหล่งอาหาร:

วิตามิน อี เป็นวิตามินสร้างโดยพืช จึงมีในพืชทุกชนิด แต่อาหารที่มีวิตามินอีสูง เช่น น้ำมันพืชต่างๆ อาหารต่างๆที่เสริมวิตามิน อี (เช่น อาหารเช้าซีเรียล/Cereal นม โยเกิร์ต) เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ ถั่วลิสง ธัญพืชต่างๆ วิตามินอีในอาหารจากสัตว์มีปริมาณน้อยกว่าจากพืชมาก ที่พบได้ คือ ในเนื้อสัตว์ ไข่ และในตับ

ร่างกายต้องการวิตามิน อี วันละเท่าไร?

ภาวะขาดวิตามินอี

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไป ต่อปริมาณวิตามิน อี ที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies) ปี ค.ศ. 2011 คือ

วิตามิน อี มีประโยชน์และโทษอย่างไร?

ประโยชน์:

ประโยชน์ หรือ หน้าที่ของวิตามิน อี คือ

  • เป็นสารต้านอนุมูลอิสสระ (Antioxidant)ตัวสำคัญ ซึ่งคือสารที่มีหน้าที่ซ่อมแซมเซลล์ต่างๆที่เสียหาย สึกหรอ จากการใช้พลังงานต่างๆของเซลล์ร่างกาย
  • ช่วยการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย
  • ช่วยให้ความแข็งแรงต่อเม็ดเลือดแดง
  • ช่วยการทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์สมอง และเซลล์ประสาทซึ่งรวมทั้งเซลล์ของจอตา
  • และช่วยไม่ให้เลือดแข็งตัวโดยต้านการทำงานของเกล็ดเลือด

โทษ:

โทษ หรือ ผลข้างเคียงของวิตามิน อี มักไม่เกิดเมื่อกินจากอาหาร แต่อาจพบได้เมื่อได้รับการเสริมอาหารในปริมาณสูงและอย่างต่อเนื่อง คือ อาจทำให้เกิดอาการ

  • คลื่นไส้
  • ท้องอืด
  • ท้องเสีย
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • และเลือดออกได้ง่าย

ภาวะขาดวิตามิน อี มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

เนื่องจากวิตามินอี เป็นวิตามินที่มีอุดมสมบูรณ์ในพืชทุกชนิด ดังนั้นจึงมักไม่ค่อยพบภาวะขาดวิตามินอีจากการขาดอาหาร

แต่อาจพบภาวะขาดวิตามิน อีได้ โดยมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจาก

  • ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินอีได้ เช่น จากโรคทางพันธุกรรมที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมไขมันได้ (เป็นโรคพบน้อยมาก) ดังนั้นจึงขาดวิตามินอีตามไปด้วย เพราะวิตามินอี ละลายในไขมัน
  • จากโรคเรื้อรังของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับน้ำย่อยไขมัน คือ ตับ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคของถุงน้ำดี (เช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดี) และโรคตับอ่อน (เช่น โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง)
  • จากได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้จากโรคต่างๆ เช่นจาก โรคมะเร็ง อุบัติเหตุ หรือ การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน
  • จากการทำงานของระบบทางเดินอาหารยังเจริญเติบโตได้ไม่ดีพอ เช่น ในทารกคลอดก่อนกำหนด หรือในเด็กที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์มาก (ต่ำกว่า 1,500 กรัม)
  • จากร่างกายสูญเสียวิตามินอีสูงกว่าปกติ เช่น ในผู้ป่วยล้างไต

ภาวะขาดวิตามิน อี มีอาการอย่างไร?

อาการที่อาจพบได้จากภาวะขาดวิตามิน อี เช่น

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดได้ทั้งจากภาวะขาดวิตามินอี หรือ ภาวะมีวิตามิน อีสูงเกิน
  • อาการทางสมอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการ เดินเซ และ/หรือพูดไม่ชัด
  • ตาพร่าจากจอตาอักเสบ/เสื่อม
  • ภาวะซีด จากเม็ดเลือดแดงแตกง่าย
  • ติดเชื้อได้ง่าย จากมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลง

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามิน อี ได้อย่างไร?

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามินอีได้จาก

  • ประวัติอาการ ประวัติการกินอาหาร ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
  • การตรวจร่างกาย
  • แต่ในบางครั้ง อาจมีการตรวจเลือดดูค่าสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวิตามิน อี

รักษาภาวะขาดวิตามิน อี อย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะขาดวิตามิน อี คือ การให้วิตามินอีเสริมอาหาร อาจในรูปของการกิน หรือการฉีด และการให้อาหารที่มีวิตามิน อี สูง

ภาวะขาดวิตามิน อี รุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ภาวะขาดวิตามิน อี มักไม่รุนแรง เป็นภาวะที่รักษาได้ ยกเว้นอาการทางสมอง หรือทางจอตา ที่อาจไม่สามารถฟื้นตัวจนเป็นปกติได้

ส่วนผลข้างเคียงของการขาดวิตามิน อี คือ

  • อาการทางสมอง ดังกล่าวแล้ว
  • จอตาอักเสบ/เสื่อม
  • และภาวะซีด

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดวิตามิน อี ด้วยการกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกวัน

นอกจากนั้น เมื่อป่วยด้วยภาวะขาดวิตามินอี ควรดูแลตนเอง โดย

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • กินอาหารมีวิตามิน อี สูงในทุกมื้ออาหาร
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
    • อาการต่างๆเลวลง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะขาดวิตามิน อี อย่างไร?

สามารถป้องกันภาวะขาดวิตามิน อี ได้เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อการดูแลตนเองฯ’ ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน
  • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ เช่น โรคตับแข็ง โรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง โรค นิ่วในถุงน้ำดี และโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t2/?report=objectonly [2019,July20]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_E[2019,July20]
  4. http://www.moh.gov.my/images/gallery/rni/13_chat.pdf[2019,July20]
  5. https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminE-HealthProfessional/[2019,July20]
  6. http://www.ndhealthfacts.org/wiki/Vitamin_E [2019,July20]
  7. http://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_E_deficiency[2019,July20]
  8. https://emedicine.medscape.com/article/126187-overview#showall[2019,July20]