วิตามินรวม มัลติวิตามิน เอ็มทีวี (Multivitamin: MTV)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาวิตามินรวม หรือยามัลติวิตามิน (Multivitamin ที่นิยมเรียกย่อว่า เอ็มทีวี/MTV) เป็นผลิตภัณฑ์ยาที่ทางการแพทย์นำมาใช้เสริมสร้างสุขภาพของร่างกาย ประกอบไปด้วยกลุ่มวิตา มินและเกลือแร่/แร่ธาตุต่างๆที่มนุษย์สามารถได้รับจากการรับประทานอาหารอยู่แล้ว ปกติตำรับยาที่มีองค์ประกอบของวิตามินและเกลือแร่ตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไปก็สามารถเรียกวิตามินรวมได้แล้ว ทั้งนี้จะไม่นับองค์ประกอบที่เป็นยาสมุนไพร ฮอร์โมน รวมถึงยารักษาโรคชนิดต่างๆ นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวว่า วิตามินรวมไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งหรือโรคหัวใจได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิตามินรวมช่วยฟื้นฟูสภาพการทำงานของร่างกายได้ดีระดับหนึ่งโดยเฉพาะกับผู้ป่วยประเภทที่ขาดสารอาหาร (เช่น วิตามินรวม) เพียงแต่ต้องเลือกใช้อย่างถูกวิธีเช่น ขนาดรับประทานรวม ถึงระยะเวลาของการใช้ที่เหมาะสม

ด้วยเทคโนโลยีของยุคนี้ทำให้การพัฒนารูปแบบวิตามินรวมมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ชนิดรับประทานแบบยาเม็ด ยาเม็ดอม - เคี้ยว ยาแคปซูล ยาผงสำหรับละลายน้ำ ยาน้ำหรือแม้ กระทั่งยาฉีด ปกติวิตามินรวมชนิดรับประทานมักจะได้รับคำแนะนำให้รับประทานเพียงวันละ 1 - 2 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ประกอบกัน อย่างไรก็ตามอาจพบว่าวิตามินรวมบางสูตรตำรับต้องรับประทาน 3 - 7 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว

วิตามินรวมที่มีจำหน่ายตามร้านขายยามีอยู่หลายสูตรตำรับ และมักมีองค์ประกอบของวิตามินและเกลือแร่ดังต่อไปนี้เช่น

      • วิตามินที่ละลายได้ในน้ำเช่น วิตามินซี, บี1, บี12, บี3, บี5, บี12, กรดโฟลิก (บี 9), ไบโอติน (Biotin)
      • วิตามินที่ละลายในไขมันเช่น วิตามินเอ, ดี, อี, เค,
      • กลุ่มแร่ธาตุเช่น สังกะสี, แคลเซียม, แมกนีเซียม, โครเมียม (Chromium), แมงกานิส (Man ganese), โมลิบดีนัม (Molybdenum), เบต้าแคโรทีน และธาตุเหล็ก เป็นต้น

การจะเลือกใช้วิตามินรวมสูตรตำรับใดนั้นต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการใช้เช่น ใช้เสริมสร้างความสมบูรณ์ของร่างกาย หรือรักษาโรคขาดวิตามิน หรือใช้ฟื้นฟูร่างกายหลังจากการเจ็บป่วย นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาไปถึงสถานภาพของผู้ที่จะใช้วิตามินรวมเช่น เด็กเล็ก ผู้สูง อายุ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ตลอดจนผู้ที่อยู่ในสภาพขาดสารอาหาร ดังนั้นเกณฑ์การเลือกใช้จึงไม่ควรใช้วิธีการบอกต่อและไม่มีหลักฐานทางวิชาการยืนยันรับรอง ทาง เลือกที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุดคือ ควรใช้ยา/วิตามินรวมและปฏิบัติตนตามคำสั่งแพทย์ หรืออาจขอคำแนะนำปรึกษาจากเภสัชกรใกล้บ้านของท่าน

มัลติวิตามินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

มัลติวิตามิน

ยามัลติวิตามินมีสรรพคุณดังนี้เช่น

      • ใช้ชดเชยการขาดวิตามินของร่างกายของผู้สูงอายุ
      • ใช้เป็นยาร่วมรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ
      • สนับสนุนและช่วยเพิ่มความต้านทานโรคให้กับร่างกาย
      • ชะลอความเสื่อมของอวัยวะตามร่างกายเช่น ผิวพรรณ
      • เป็นส่วนประกอบในอาหารเสริมที่ใช้รับประทานเพื่อลดน้ำหนัก
      • เสริมสร้างสมรรถภาพการทำงานของร่างกายและสมอง

มัลติวิตามินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาวิตามินรวม/มัลติวิตามินจะขึ้นกับชนิดของวิตามินและเกลือแร่/แร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับ ซึ่งพอจะสรุปบางกลไกของวิตามินรวมได้ดังนี้เช่น

      • ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระที่คอยทำลายหรือก่อให้เกิดความเสื่อมต่อเซลล์ของร่างกายช่น ธาตุทองแดง, สังกะสี, แมงกานิส, เซเลเนียม, กลูตาไทโอน, วิตามินซีและอี, ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid), แคโรทีนอยด์ (Carotenoid)
      • ช่วยในการสังเคราะห์และซ่อมแซมสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) เช่น โฟเลต, วิตามินบี 6, บี12 นอกจากนี้โฟเลตและวิตามินบียังช่วยสนับสนุนการทำงานของสมองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
      • กระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่น วิตามินเอ, วิตามินอี, วิตามินซี, สังกะสี และแคลเซียม
      • ช่วยยับยั้งต้านทานการอักเสบของร่างกายเช่น วิตามินอี, วิตามินเอ และสังกะสี
      • ป้องกันการเกิดภาวะข้อกระดูกเสื่อมหรือฟื้นฟูกระดูกที่ได้รับความเสียหายเช่น วิตามินซี และ ดี
      • ช่วยควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติเช่น แมกนีเซียม และแคลเซียม
      • ทำงานร่วมและเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่าง กายเช่น วิตามินบี1, บี2, บี3, กรดแพนโทเทนิก (Pantothenic acid), ไบโอติน (Biotin), วิตามินบี6

ทั้งนี้ ยังมีกลไกอื่นๆอีกที่มีรายละเอียดมากมายและไม่สามารถนำมาแจกแจงได้หมดในบทความนี้ แต่พอจะสรุปและกล่าวได้ว่า วิตามินเกลือแร่ต่างๆมีหน้าที่และกลไกการออกฤทธิ์ตามธรรมชาติของตัวเองและมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

มัลติวิตามินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามัลติวิตามินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

      • ยารับประทานประเภทเม็ด แคปซูล แคปซูลนิ่ม
      • ยาเม็ดและยาผงที่ต้องละลายน้ำก่อนรับประทาน
      • ยาน้ำเชือมสำหรับเด็ก
      • ยาฉีดที่ต้องให้ทางหลอดเลือดดำ

มัลติวิตามินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยามัลติวิตามิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

      • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
      • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยามัลติวิตามินอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
      • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยามัลติวิตามินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

มัลติวิตามินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากการรับประทานวิตามินรวมอาจไม่สามารถตรวจพบได้ทั้งหมด แต่พอจะกล่าวโดยสังเขปได้ว่า วิตามินรวมสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้เช่นเดียวกับยาต่างๆอาทิเช่น มีอาการวิงเวียน บวมตามร่างกาย ท้องเสียอ่อนๆ หูดับ

หากมีอาการแพ้ยานี้มักพบผื่นคัน อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ปาก-ลิ้น-ใบหน้า-คอมีอาการบวม เป็นต้น ซึ่งหากพบเห็นอาการดังกล่าวหลังใช้ยานี้ควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อทำการบำบัดรักษาโดยเร็วที่สุด

มีข้อควรระวังการใช้มัลติวิตามินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามัลติวิตามิน/วิตามินรวมดังนี้เช่น

      • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบในวิตามินรวม
      • ห้ามใช้วิตามินรวมที่มีองค์ประกอบของธาตุเหล็กกับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร, ผู้ป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก, ผู้ป่วยโลหิตจางชนิด Megaloblastic anemia
      • ห้ามปรับขนาดการรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
      • ห้ามใช้วิตามินรวมนานเกินจากคำสั่งแพทย์ ด้วยมีวิตามินบางกลุ่มที่จะสะสมในชั้นไขมันของร่างกายจนก่อให้เกิดอันตรายได้
      • ระวังการใช้ยาวิตามินรวมกับเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การจะใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
      • การใช้วิตามินรวมที่มีวิตามินซีเป็นส่วนประกอบกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจทำให้น้ำตาลในเลือดมีระดับปริมาณที่ผิดปกติ
      • หลีกเลี่ยงการซื้อยานี้มารับประทานเอง
      • หยุดการใช้ยาทันทีเมื่อพบว่ามีอาการแพ้ยาเกิดขึ้น
      • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
      • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
      • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมมัลติวิตามินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

มัลติวิตามินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยามัลติวิตามินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

      • การรับประทานวิตามินรวมซึ่งมีกรดโฟลิกเป็นองค์ประกอบร่วมกับยา Fluorouracil (ยาเคมีบำบัด) อาจทำให้ผลข้างเคียงจากยา Fluorouracil มีเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยจะพบอาการโล หิตจาง มีภาวะเลือดออกง่าย เกิดการติดเชื้อตามมา เส้นประสาทถูกทำลาย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังซีด อ่อนเพลีย วิงเวียน เป็นลม อุจจาระมีสีคล้ำ ปวดตามร่างกาย และอาจมีไข้ หนาวสั่น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
      • การรับประทานยา Dicumarol หรือ Warfarin ร่วมกับวิตามินรวมที่มีวิตามินเคเป็นองค์ ประกอบอาจทำให้ลดฤทธิ์การรักษาของ Dicumarol หรือ Warfarin จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
      • การใช้ยา Bortezomib ร่วมกับวิตามินรวมที่มีวิตามินซีเป็นองค์ประกอบอาจทำให้ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตเซลล์มะเร็งของยา Bortezomib ลดน้อยลง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน
      • การใช้ยา Paricalcitol/ยาใช้รักษาโรคต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกินปกติร่วมกับวิตามินรวมจะต้องมีการควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือดให้อยู่ในระดับปกติเสมอ หากพบอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ทันที หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นราย บุคคลไป

ควรเก็บรักษามัลติวิตามินอย่างไร?

สามารถเก็บรักษายามัลติวิตามินภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

มัลติวิตามินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยามัลติวิตามินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Blackmores Multivitamins + Minerals (แบล็คมอร์ มัลติวิตามิน + มิเนอรัล) Blackmores
Multivitamin Asian Union (มัลติวิตามิน เอเชียน ยูเนียน) Asian Union
Multivitamin GPO (มัลติวิตามิน จีพีโอ) GPO
Multivitamin Greater Pharma (มัลติวิตามิน เกร๊ทเตอร์ฟาร์มา) Greater Pharma
Multivitamin Picco (มัลติวิตามิน พิคโค) Picco Pharma
Multivitamin Suphong Bhaesaj (มัลติวิตามิน สุพงษ์เภสัช) Suphong Bhaesaj
Pancebrin (แพนเซบริน) Eli Lilly
Seven Seas Multivitamin With Lysine (เซเว่นซีส์ มัลติวิตามิน วิช ไลซีน) Merck
Viotrum Multivitamin Plus (ไวโอทรัม มัลติวิตามิน พลัส) Biopharm
Vita-M (ไวตา-เอ็ม) Patar Lab

 

บรรณานุกรม