รีพาไกลไนด์ (Repaglinide)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 รีพาไกลไนด์ (Repaglinide) คือ ยารักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 และอยู่ในหมวดยาเมกลิทิไนด์ (Meglitinides) ห้ามนำยานี้ไปใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1  กลไกการออกฤทธ์หลักๆของยารีพาไกลไนด์ คือ การกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาในปริมาณที่มากขึ้นและเพียงพอที่จะกระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลกลูโคส (Glucose) ในกระแสเลือดได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยารีพาไกลไนด์จะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยมีการดูดซึมจากทางระบบเดินอาหารและจะกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 56% จากนั้นตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้มากกว่า 98% ตับจะคอยทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและมีส่วนน้อยที่ขับออกไปทางปัสสาวะ

มีข้อพึงระวังการใช้ยารีพาไกลไนด์ที่แพทย์มักจะนำมาพิจารณาประกอบก่อนการจ่ายยานี้ให้ผู้ป่วย เช่น

  • ผู้ป่วยเคยแพ้ยานี้หรือไม่
  • ป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทใดด้วยยานี้เหมาะกับโรคเบาหวานประเภทที่ 2
  • ผู้ป่วยอยู่ในภาวะเบาหวานที่มีระดับความรุนแรงมาก เช่น Diabetic ketoacidosis (เลือดเป็นกรดจากคีโตนเบาหวาน) หรือ Diabetic coma/โคม่าจากเบาหวาน
  • ผู้ป่วยมีการใช้ยา Gemfibrozil หรือ Insulin อยู่ก่อนหน้านี้หรือไม่ ด้วยการใช้ทั้ง2ตัวร่วมด้วยจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมาก
  • ผู้ป่วยที่เป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาหรือไม่
  • ผู้ป่วยติดสุรา หรือมีร่างกายทรุดโทรมด้วยเหตุขาดอาหาร หรืออยู่ในช่วงป่วยด้วยอาการ ติดเชื้ออย่างรุนแรง และมีไข้สูงอยู่ด้วยหรือไม่
  • เป็นผู้ป่วยที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัดหรือไม่

ทั้งนี้เงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้นล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการใช้ยารีพาไกลไนด์ได้ทั้งสิ้น นอก จากนี้ยังมียาชนิดอื่นๆที่ผู้ป่วยอาจต้องใช้เป็นประจำและยาเหล่านั้นอาจจะมีปฏิกิริยาระหว่างยากับ ยารีพาไกลไนด์ได้ ดังนั้นจึงควรแจ้งแพทย์ผู้รักษาเสมอว่าผู้ป่วยกินยาอะไรอยู่ก่อนแล้ว

ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุยารีพาไกลไนด์เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและระบุเงื่อนไขใช้เฉพาะกับผู้ป่วยที่ต้องใช้ยากลุ่ม Sulfonylureas และแพ้ยา Sulfonamides

จะเห็นว่าการใช้ยารีพาไกลไนด์รักษาโรคเบาหวานมีเงื่อนไขที่มากมายพอสมควร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยจึงควรใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด

 อนึ่งในต่างประเทศยาชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จักของยารีพาไกลไนด์คือ GlucoNorm, Surepost, NovoNorm และ Prandin 

รีพาไกลไนด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

รีพาไกลไนด์

ยารีพาไกลไนด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาอาการโรคเบาหวานประเภทที่ 2

รีพาไกลไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธิ์ของยารีพาไกลไนด์คือ ตัวยาจะกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินอย่างมีความสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เหมือนปกติหรือใกล้เคียงปกติ

รีพาไกลไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

 ยารีพาไกลไนด์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 0.5, 1 และ 2 มิลลิกรัม/เม็ด

รีพาไกลไนด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยารีพาไกลไนด์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: ขนาดรับประทานเริ่มต้น 0.5 มิลลิกรัมก่อนมื้ออาหาร 30 นาที หากเป็นผู้ป่วย เบาหวานที่เพิ่งเปลี่ยนมารับประทานยารีพาไกลไนด์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเริ่มต้นเป็น 1 - 2 มิลลิกรัม ทั้งนี้รับประทานยานี้ได้ถึงวันละ 4 ครั้ง (รับประทานตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา) โดยขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา และขนาดรับประทานได้สูงสุดไม่เกิน 16 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงขนาดยานี้และผลข้างเคียงของยาในผู้ป่วยเด็ก การใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยารีพาไกลไนด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น       

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยารีพาไกลไนด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

 หากลืมรับประทานยารีพาไกลไนด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

รีพาไกลไนด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยากลุ่มรีพาไกลไนด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น  

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • คลื่นไส้
  • ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก
  • อาเจียน
  • อาหารไม่ย่อย
  • ไซนัสอักเสบ
  • ปวดหลัง
  • มีผื่นคัน
  • ลมพิษ
  • ตาพร่า

*อนึ่ง: กรณีที่ได้รับยารีพาไกลไนด์เกินขนาด จะพบอาการน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรง เกิดอาการชัก มีอาการอาจเข้าขั้นโคม่า รวมถึงสูญเสียการทำงานของระบบประสาท หากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้รีพาไกลไนด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารีพาไกลไนด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานที่อยู่ในภาวะเลือดเป็นกรด (เลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน) หรือผู้ป่วยโรคตับในระดับรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 1
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม         
  • ระวังการใช้ยานี้กับคนชราที่มีอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป
  • หมั่นตรวจสอบน้ำตาลในเลือดเมื่อใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว, ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะโคม่า, ผู้ป่วยหลังผ่าตัด และผู้ป่วยโรคตับ, โรคไต
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรต้องเรียนรู้อาการจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เพื่อการดูแล/ช่วยเหลือตนเองรวมถึงเพื่อการป้องกันมิให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยารีพาไกลไนด์ด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

รีพาไกลไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยารีพาไกลไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยารีพาไกลไนด์ ร่วมกับยา Warfarin, ยากลุ่ม Beta-blockers, กลุ่ม Imidazoles, กลุ่มMacrolides, กลุ่ม MAOIs, กลุ่ม NSAIDs, Chloramphenicol, Cyclosporine, Deferasirox (ยากำจัดธาตุเหล็กออกจากกระแสเลือด), Gemfibrozil, Mifepristone, Montelukast, Probenecid, Salicylates, Sulfonamides, Trimethoprim อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามมาจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยารีพาไกลไนด์ ร่วมกับกลุ่มยา Calcium channel blockers, กลุ่มยา Phenothiazines, กลุ่มยา Sympathomimetics, Corticosteroids, ยาขับปัสสาวะ, ยาเม็ดคุมกำเนิดเช่น Estrogen, ยา Isoniazid, Nicotinic acid, Phenytoin, Thyroid hormones อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงตามมาจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยารีพาไกลไนด์ ร่วมกับยา Barbiturates, Carbamazepine, Rifamycins อาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยารีพาไกลไนด์ด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษารีพาไกลไนด์อย่างไร?

 ควรเก็บยารีพาไกลไนด์:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

รีพาไกลไนด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

         ยารีพาไกลไนด์  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
NovoNorm (โนโวนอร์ม) Novo Nordisk
Prandin (แพรนดิน) Novo Nordisk

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Repaglinide   [2022,June4]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Meglitinide   [2022,June4]
  3. https://www.drugs.com/pro/repaglinide-tablets.html  [2022,June4]
  4. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=6&rctype=1C&rcno=4200041&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no=  [2022,June4]