ฟลาโวเซท (Flavoxate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ฟลาโวเซทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ฟลาโวเซทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟลาโวเซทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟลาโวเซทมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฟลาโวเซทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟลาโวเซทอย่างไร?
- ฟลาโวเซทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟลาโวเซทอย่างไร?
- ฟลาโวเซทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- ต้อหิน (Glaucoma)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบทางเดินปัสสาวะ (Anatomy and physiology of Urinary tract)
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
- ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)
- ปัสสาวะไม่ออก (Urinary retention)
บทนำ: คือยาอะไร?
ฟลาโวเซท (Flavoxate) คือ ยาบรรเทาอาการปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด ที่รวมถึงอาการปวดจากอาการดังกล่าว, เป็นยากลุ่ม Antimuscarinic สามารถออกฤทธิ์โดยตรงที่ผนังกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะ ที่รวมถึงกระเพาะปัสสาวะ โดยทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อดังกล่าว, สามารถพบเห็นยานี้บ่อยในท้องตลาดภายใต้ชื่อการค้าว่า “Urispas”
ยาฟลาโวเซท ถูกจัดเป็นยาอันตราย และมีข้อจำกัดการใช้ที่ผู้บริโภคควรทราบ เช่น
- ต้องไม่เคยมีประวัติแพ้ยาฟลาโวเซทมาก่อน
- ต้องไม่มีภาวะอุดตันของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร/ลำไส้อุดตัน หรือ ในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ต้องไม่มีภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือเลือดออกบริเวณทวารหนัก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง เลือดออกในทางเดินอาหาร)
- ต้องไม่เป็นผู้ป่วยด้วยโรคต้อหิน
- ไม่ใช่ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา
นอกจากนั้น ก่อนการใช้ยาฟลาโวเซท ผู้ป่วยควรผ่านการตรวจร่างกาย เพื่อคัดกรองว่าเหมาะสมที่จะได้รับยานี้หรือไม่, การใช้ยานี้จะมีระยะเวลาที่เหมาะสมโดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำเอง, ผู้ป่วยต้องไม่ปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
ยาฟลาโวเซท ยังก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) และรบกวนต่อการทำงานของร่างกายได้หลายระบบอวัยวะ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ระบบเลือด ระบบหัวใจและหลอดเลือด การทำงานของไต ผิวหนัง และการมองเห็นภาพ, จากข้อจำกัดและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมากมาย ‘จึงมีข้อจำกัดการใช้ยานี้เฉพาะกับผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปเท่านั้น’, และในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น
- หากเกิดอาการวิงเวียน ต้องไม่พยายามขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ หรือทำงานกับเครื่องจักร ด้วยอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ต้องไม่รับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เจือปน ด้วยจะทำให้เกิดภาวะกดการทำงานของระบบประสาทได้มากขึ้น เช่น สับสน กระสับกระส่าย
- ไม่ควรอยู่ที่ที่มีอุณหภูมิสูงๆ ด้วยระหว่างการใช้ยานี้ ร่างกายจะมีสภาพทนต่ออุณหภูมิสูงๆได้ไม่ดีเท่าเดิม
- ยานี้สามารถกระตุ้นให้ตาไวต่อแสงสว่างมากขึ้น กรณีต้องออกในที่แจ้งจึงควรใส่แว่นตาดำ/แว่นตากันแดดเพื่อกรองแสงป้องกัน
- *หากพบอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ ฉุกเฉิน
- เมื่ออาการทางปัสสาวะเริ่มดีขึ้น แพทย์จะปรับลดขนาดการใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสม แต่ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาล รวมถึงมีจำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไป
ฟลาโวเซทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาฟลาโวเซทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- บำบัดอาการปัสสาวะบ่อย
- บำบัดอาการถ่ายปัสสาวะขัด/ปัสสาวะลำบาก
ฟลาโวเซทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟลาโวเซท คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยตรงกับผนังกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะระบบต่างๆที่รวมถึงระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการคลายตัวของกล้ามเนื้อดังกล่าว ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงภาวะระงับอาการปวดภายหลังใช้ยานี้ จึงมีผลให้เกิดฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ
ฟลาโวเซทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟลาโวเซท มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด
ฟลาโวเซทมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฟลาโวเซทมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 100 – 200 มิลลิกรัม, วันละ 3 ครั้ง, ก่อน หรือหลังอาหารก็ได้, และเมื่ออาการดีขึ้น แพทย์จะค่อยๆปรับลดขนาดรับประทานลงมา
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ขนาดการใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟลาโวเซท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลาโวเซท อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟลาโวเซท สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาฟลาโวเซท ตรงเวลา
ฟลาโวเซทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟลาโวเซทสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว ชีพจร/หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ปากคอแห้ง
- ผลต่อระบบการมองเห็น/ผลต่อตา: มีภาวะตาพร่า ความดันตาสูง
- ผลต่อระบบประสาท: เกิดอาการ วิงเวียน ปวดหัว รู้สึกสับสน ง่วงนอน กระสับกระส่าย ซึ่งอาการเหล่านี้จะพบมากหากใช้ยากับผู้ป่วยสูงอายุ
- ผลต่อระบบการทำงานของไต: อาจมีอาการปัสสาวะไม่ออก
- ผลต่อระบบเลือด: อาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้ฟลาโวเซทอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลาโวเซท เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- อาการข้างเคียงของยานี้บางอย่างที่อาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นรักษา ด้วยร่างกายจะคอยปรับสภาพจนกระทั่งอาการข้างเคียงเหล่านั้นหายไป
- *หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อมีอาการแพ้ยานี้ และต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
- พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลาโวเซทด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฟลาโวเซทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟลาโวเซทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาฟลาโวเซท ร่วมกับยา Propoxyphene อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงบางอย่างเพิ่มขึ้น เช่น วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน และขาดสมาธิ เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการเหล่านี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ฟลาโวเซท ร่วมกับยา Potassium chloride อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น หรือก่อให้เกิดแผลและมีเลือดออกในบริเวณอวัยวะดังกล่าว หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ฟลาโวเซท ร่วมกับยา Zonisamide อาจทำให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น เกิดภาวะลดการหลั่งเหงื่อ สุ่มเสี่ยงกับการเกิดภาวะเป็นโรคลมแดด กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ฟลาโวเซท ร่วมกับยา Sodium oxybate อาจเพิ่มอาการข้างเคียงต่างๆ ติดตามมา เช่น ง่วงนอน วิงเวียน รู้สึกสับสน ซึมเศร้า ความดันโลหิตต่ำ การทรงตัวของร่างกายไม่เป็นปกติ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาฟลาโวเซทอย่างไร?
ควรเก็บยาฟลาโวเซท: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ฟลาโวเซทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟลาโวเซท มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Flavorin (ฟลาโวริน) | T. O. Chemicals |
Flavo-Spa (ฟลาโว-สปา) | Utopian |
Spasdic-100 (สแปสดิก-100) | Medicine Products |
Spasuri (สปาซูริ) | Central Poly Trading |
Urispas 200 (ยูริสพาส 200) | Recordati |
Uroxate (ยูร็อกเซท) | General Drugs House |
U-Spa (ยู-สปา) | Sriprasit Pharma |
Voxate-200 (ว็อกเซท-200) | Masa Lab |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Muscarinic_antagonist [2022,Sept24]
- https://www.drugs.com/pro/flavoxate.html [2022,Sept24]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Flavoxate [2022,Sept24]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=flavoxate [2022,Sept24]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/flavoxate-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Sept24]