ปานแดงในเด็กเล็ก (Infantile hemangioma)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ปานแดงในเด็กเล็ก หรือ ปานแดงในทารก หรือ ปานแดงในเด็กแรกเกิด(Infantile hemangioma หรือ Capillary hemangioma หรือ Strawberry hemangioma) คือ โรคเนื้องอกของหลอดเลือดชนิดไม่ใช่มะเร็ง เป็นโรคเกิดที่ผิวหนังในเด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก) เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นเนื้องอกที่พบบ่อยในวัยเด็กคือ พบได้ประมาณ 4% ของเด็กวัยก่อน 1 ปี พบในเด็กหญิงบ่อยกว่าเด็กชายในอัตราส่วนประมาณ 3-5:1 ทั้งนี้ โรคนี้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากเนื้องอกชนิดอื่นคือ ระยะแรกๆ เนื้องอกจะเติบโต แต่หลังจากนั้น จะค่อยๆลดขนาดลง และหายไปได้เอง

อะไรเป็นสาเหตุ/กลไกการเกิดโรคปานแดงในเด็กเล็ก?

ปานแดงในเด็กเล็ก

ปานแดงในเด็กเล็ก/ปานแดงในทารก/ปานแดงในเด็กแรกเกิด เป็นเนื้องอกที่ผิวหนัง ที่ประกอบด้วยเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบของหลอดเลือด เนื้องอกจึงมีสีแดงหรือสีแดงเข้ม ทั้งนี้ขึ้นกับระดับความลึกของเนื้องอก

ได้มีความพยายามในการศึกษาถึงสาเหตุการเกิดเนื้องอกหลอดเลือดนี้ แต่ยังเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุและกลไกการเกิดชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ หรือโรคทางพันธุกรรม แต่ก็มีบางการศึกษาพบว่า โรคนี้อาจมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

อนึ่ง เด็กทารกจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากขึ้น หากมีปัจจัยเสี่ยงดังนี้คือ

  • ทารกเพศหญิง
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • ทารกน้ำหนักน้อย
  • มารดาอายุมากกว่า 30 ปี และ/หรือ
  • มารดาคลอดบุตรมาแล้วหลายคน

อาการของโรคปานแดงในเด็กเล็กเป็นอย่างไร?

อาการของโรคปานแดงในเด็กเล็ก/ปานแดงในทารก/ปานแดงในเด็กแรกเกิด:

  • เมื่อแรกเกิด มักจะยังไม่พบปานแดงในเด็กเล็ก/ปานแดงในทารก/ปานแดงในเด็กแรกเกิด โดยอาจพบได้เป็นลักษณะของผิวหนังที่มีเส้นเลือดฝอยอยู่มาก ผิวหนังจะมีสีเข้มขึ้นกว่าปกติ หรือสีซีดกว่าปกติ ในบริเวณที่กำลังจะมีปานแดงในเด็กเล็กเกิดขึ้น
  • ส่วนมาก เนื้องอกปานแดงนี้ จะเริ่มขยายขนาดขึ้นภายในขวบปีแรกของเด็ก โดยจะขยายขนาดอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 1 ถึง 5 เดือน จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่เนื้องอกลดขนาดลง จนค่อยๆหายไปในที่สุด
  • เนื้องอกนี้ที่อยู่ในผิวหนังชั้นบนจะมีสีแดงสด หากอยู่ในผิวหนังชั้นลึกจะมีสีออกน้ำเงิน รูปร่างของเนื้องอกอาจเป็นก้อนหรือเป็นผืนหนาๆ โดยทั่วไปขนาดจะอยู่ระหว่าง 0.5-5 เซนติเมตร
  • ประมาณ 70% ของผู้ป่วย เนื้องอกจะยุบหายไปก่อนอายุ 7 ปี
  • หลังจากเนื้องอกหายไปแล้ว ประมาณ 38% ของผู้ป่วย พบว่ามีรอยของเนื้องอกหลงเหลืออยู่ในลักษณะเป็นแผลเป็น (มักพบเมื่อปานแดงฯมีขนาดใหญ่)

อนึ่ง ปานแดงในเด็กเล็ก /ปานแดงในทารก/ปานแดงในเด็กแรกเกิด ส่วนใหญ่จะเกิดที่ผิวหนัง (มักพบที่ผิวหนังในส่วน ศีรษะและลำคอ เช่น ใบหน้า, หนังศีรษะ) และมักเกิดในตำแหน่งเดียว แต่ก็พบเกิดในหลายตำแหน่งได้ นอกจากนั้น บางครั้งยังสามารถพบเกิดได้ในส่วนอื่นๆของร่างกาย เช่นที่ ตับ ม้าม กล่องเสียง ระบบทางเดินอาหาร

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

ในเด็กทารก จะมีการตรวจร่างกายทุกครั้งที่ฉีดวัคซีนอยู่แล้ว จึงจัดเป็นการเฝ้าระวังโรคปานแดงในเด็กเล็กไปในตัว และเนื่องจากเป็นเนื้องอกที่หายได้เอง จึงมีเนื้องอกปานแดงนี้เพียงบางตำแหน่งเท่านั้นที่อาจเกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งที่ควรติดตามการเจริญเติบโตอย่างใกล้ชิด คือ ควรพบแพทย์และพบแพทย์ตามนัดเสมอ เช่น

  • โรคที่เกิดบริเวณใบหน้าที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร ซึ่งแพทย์จะตรวจร่างกายทารกเพิ่มเติม เพื่อหาความผิดปกติอื่นๆที่อาจพบร่วมได้ เช่น ความผิดปกติของเส้นเลือดในสมอง
  • โรคที่เกิดบริเวณหนังตา ที่อาจบดบังการมองเห็น หรือทำให้เกิดการมองเห็นที่ผิดปกติ
  • โรคที่เกิดบริเวณกรามล่าง ที่อาจทำให้เกิดปัญหาในการหายใจ
  • โรคที่เกิดบริเวณหลัง และทวารหนัก ที่อาจสัมพันธ์กับความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ

แพทย์วินิจฉัยโรคปานแดงในเด็กเล็กได้อย่างไร?

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคปานแดงในเด็กเล็ก/ปานแดงในทารก/ปานแดงในเด็กแรกเกิด ได้จาก

  • การสอบถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของทั้งทารกและของมารดา
  • การตรวจร่างกายเด็กฯ และ
  • การตรวจรอยโรค

แพทย์รักษาโรคปานแดงในเด็กเล็กอย่างไร?

หลักในการรักษาโรคปานแดงในเด็กเล็ก/ปานแดงในทารก/ปานแดงในเด็กแรกเกิด ขึ้นอยู่กับ

  • การที่แพทย์ชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับในการรักษา และผลข้างเคียงจากการรักษา โดยพิจารณาจาก
    • ขนาด
    • ตำแหน่งของรอยโรค
    • ร่วมกับผลกระทบทางด้านจิตใจต่อเด็ก เช่น ปานแดงฯขนาดใหญ่บนใบหน้า อาจทำการรักษาก่อนเด็กเข้าโรงเรียน เพื่อป้องกันปัญหาทางจิตใจเด็ก เป็นต้น

ทั้งนี้ หากตัดสินใจในการรักษาแล้ว แนวทางในการรักษาโรคปานแดงในเด็กเล็กฯมีดังนี้คือ

  • รับประทานยาสเตียรอยด์ เป็นเวลา 4-8 สัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยๆลดขนาดยาลง ซึ่งการรักษาวิธีนี้ ทำให้ก้อนเนื้องอกลดขนาดลงได้ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วย ส่วนผลข้างเคียงจากยา เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และ/หรือ อัตราการเพิ่มของส่วนสูงลดลงในระหว่างการได้รับยา
  • การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าที่ก้อนเนื้องอก/ตัวปานแดงฯ ซึ่งวิธีนี้ เหมาะกับเนื้องอกขนาดไม่ใหญ่ ในบริเวณ ปาก จมูก แก้ม หู โดยผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น ผิวหนังบริเวณที่ฉีดยาบางลง และ/หรือ อาการแพ้ยา เช่น ขึ้นผื่น
  • การรักษาด้วยยาชนิดอื่นๆ เช่น ยาเคมีบำบัดบางชนิด (เช่น ยา Vincristine) ซึ่งเป็นตัวเลือกหลังๆเนื่องจากมีผลข้างเคียงจากยาค่อนข้างสูง
  • การผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอก/ปานแดงฯออก มักทำที่อายุ 3-5 ปีก่อนเด็กเข้าเรียน โดยผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น อาการเลือดออกจากกการผ่าตัด เนื่องจากเป็นเนื้องอกที่มีเส้นเลือดอยู่มาก
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ (Pulse dye laser) โดยให้การรักษาทุก 2-4 สัปดาห์ ทั้งนี้ จำนวนครั้งในการรักษาขึ้นกับขนาดของปานแดงฯ

โรคปานแดงในเด็กเล็กก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรคปานแดงในเด็กเล็ก/ปานแดงในทารก/ปานแดงในเด็กแรกเกิด คือ

  • เนื้องอก/รอยโรคในบริเวณที่มีการเสียดสี เช่น บริเวณปาก บริเวณทวารหนัก รอยพับแขนขา อาจเกิดแผลขึ้นได้ พบได้ประมาณ 15% ของผู้ป่วย ซึ่งอาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียตามมาได้ โดยเมื่อเกิดผลข้างเคียงในลักษณะนี้ การรักษา คือ การทำเลเซอร์ ร่วมกับการทายาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชวนะ
  • นอกจากนั้น คือ ปัญหาด้านภาพลักษณ์/ความสวยงามของเด็ก

โรคปานแดงในเด็กเล็กมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรคปานแดงในเด็กเล็ก/ปานแดงในทารก/ปานแดงในเด็กแรกเกิดได้แก่

  • เป็นเนื้องอกที่ไม่ทำให้ถึงตาย
  • มักไม่ก่ออาการอื่นๆ ยกเว้น เกิดที่บางตำแหน่ง ดังได้กล่าวแล้วใน หัวข้อ การพบแพทย์)
  • *ไม่กลายไปเป็นมะเร็ง
  • เป็นโรคที่ส่วนใหญ่หายได้เอง และ
  • เป็นโรคที่มักไม่กลับเป็นซ้ำ

ดูแลผู้ป่วยอย่างไร?

การดูแลเด็กโรคปานแดงในเด็กเล็ก/ปานแดงในทารก/ปานแดงในเด็กแรกเกิด คือ

  • คุณพ่อคุณแม่ช่วยสังเกตการณ์โตของก้อนเนื้องอก/ของปานแดงฯ โดยเฉพาะในบริเวณสำคัญ เช่น กรามล่าง รอบตา ใกล้ทวารหนัก และระวังไม่ให้เกิดการเสียดสีที่เนื้องอกให้เกิดแผล
  • ซึ่งเมื่อปานแดงฯโตเร็ว และ/หรือมีแผล ควรรีบนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?

ควรนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ

  • เกิดแผลขึ้นที่เนื้องอก/ปานแดงฯ หรือ
  • มีอาการผิดปกติที่เกิดจากเนื้องอก/ปานแดงฯ เช่น
    • เนื้องอกโตอย่างรวดเร็วบริเวณตา บังการมองเห็น หรือ
    • เนื้องอกบริเวณกรามล่าง ที่เป็นสาเหตุให้ทารกมีการหายใจที่ผิดปกติ

ป้องกันโรคปานแดงในเด็กเล็กได้อย่างไร?

เนื่องจากโรคปานแดงในเด็กเล็ก/ปานแดงในทารก/ปานแดงในเด็กแรกเกิด เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิด ดังนั้น จึงยังไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้

บรรณานุกรม

  1. Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest,Amy S.Paller ,David J. Leffell,Klaus Wolff, Amy S. Paller, David J.Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in general medicine ; eighth edition ; Mc Grawhill medical
  2. Infantile hemangiomas: medscape ; http://emedicine.medscape.com/article/1083849-overview [2020,Dec26]
  3. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2020 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2555
  4. วิกิโรควิกิยาสุขภาพเด็กสุขภาพผู้สูงอายุสุขภาพผู้หญิงและความงามเกร็ดสุขภาพสุขภาพทั่วไปเพศศึกษาBLOG