มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคมะเร็งผิวหนัง หรือ มะเร็งผิวหนัง(Skin cancer หรือ Cutaneous carcinoma)คือโรคที่เซลล์ผิวหนังชั้นเยื่อบุผิวเกิดการเจริญแบ่งตัวรวดเร็วเกินปกติโดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวนี้ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนมะเร็ง/แผลมะเร็งขึ้น ที่เรามักพบอาการคือ ที่ผิวหนังมีก้อนเนื้อโตเร็ว และ/หรือเป็นแผลแข็งเรื้อรังที่รักษาไม่หาย และทั้งก้อน/แผลมะเร็งจะค่อยๆขยายใหญ่ขึ้นจนรุกราน/ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อชั้นใต้/ชั้นลึกต่อเยื่อบุผิว เช่น ชั้นกล้ามเนื้อซึ่งอาจกินลึกถึงกระดูกและเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง อาจร่วมกับมีต่อมน้ำเหลืองใกล้กับแผลโตจนคลำได้ และเมื่อลุกลามมาก ก็จะแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกายซึ่งที่พบบ่อยที่สุด คือ ปอด และสมอง

โรคมะเร็งผิวหนัง เป็นโรคมะเร็งพบได้สูงในคนผิวขาว แต่พบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อยมากในคนไทย ซึ่งสถิติโรคมะเร็งผิวหนังไม่อยู่ใน 10 ลำดับมะเร็งพบบ่อยของทั้งหญิงและชายไทย

โรคมะเร็งผิวหนังเป็นโรคของผู้ใหญ่ พบได้สูงขึ้นเมื่อสูงอายุขึ้น ทั้งนี้โอกาสเกิดในผู้หญิง และในผู้ชายใกล้เคียงกัน

โรคมะเร็งผิวหนังมีกี่ชนิด?

มะเร็งผิวหนัง

โรคมะเร็งผิวหนังมีได้หลากหลายชนิด แต่ที่พบบ่อย คือชนิด/กลุ่ม คาร์ซิโนมา (Carcinoma) ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม/ชนิดคือ ‘โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา (Non melanoma skin cancer)’ และ’โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา(Melanoma หรือ Malignant melanoma)’ ส่วนโรคมะเร็งผิวหนังชนิดอื่นๆพบได้เพียงประปราย เช่น กลุ่มซาร์โคมา(Sarcoma) ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งผิวหนัง โดยทั่วไปจึงหมายถึง โรคมะเร็งผิวหนังคาร์ซิโนมาทั้ง 2 โรคดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งรวมทั้งในบทความนี้ด้วย

ก. โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับเนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) ของผิวหนัง ที่พบบ่อยมี 2 ชนิด คือ ชนิด เบซาลเซลล์ หรือเรียกย่อว่า บีซีซี (Basal cell Carcinoma หรือ BCC) และชนิดสะความัส หรือเรียกย่อว่า เอสซีซี (Squamous cell carcinoma หรือ SCC)

  • โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์ เป็นโรคมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบในอายุ 40-50 ปีขึ้นไป (แต่อายุน้อยกว่านี้ก็พบได้) ผู้ชายพบมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย มักพบเกิดในบริเวณใบหน้า มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อสีคล้ำ เมื่อเป็นน้อยๆอาจมองดูคล้ายกระ แต่จะโตเร็ว และแตกเป็นแผลเรื้อรังได้ เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงต่ำ และมักไม่มีการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิต/เลือด ดังนั้นจึงมักไม่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต แต่อาจลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองได้
  • โรงมะเร็งผิวหนังชนิดสะความัส เป็นโรคมะเร็งผิวหนังพบบ่อยรองจากชนิดเบซาลเซลล์ มักพบในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (แต่อายุน้อยกว่านี้ก็พบได้) ผู้หญิงและผู้ชายมีโอ กาสเกิดเท่ากัน เป็นมะเร็งที่รุนแรงกว่าชนิด เบซาลเซลล์ เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงปานกลาง สามารถลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตได้สูงกว่าชนิดเบซาลเซลล์เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือเมื่อเป็นเซลล์มะเร็งที่เซลล์มีการแบ่งตัวสูง ซึ่งเมื่อแพร่ กระจาย มักแพร่กระจายสู่ปอด

ข. โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับเซลล์สร้างเม็ดสีของผิวหนังที่เรียกว่า เมลาโนไซต์ (Melanocyte) เป็นมะเร็งพบได้ทั้งในเด็กโต (ในคนอายุต่ำกว่า 20 ปีพบมะเร็งชนิดนี้ได้ประมาณ 1% ของมะเร็งชนิดนี้ทั้งหมด) และจะพบสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น จนพบได้สูงสุดในช่วงอายุ 45-65 ปี ต่อจากนั้นจะพบได้น้อยลง ผู้ชายพบได้สูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองและแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตได้สูง ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักไปยัง ปอด กระดูก และสมอง (แนะนำอ่านเพิ่มเติมบทความเรื่อง มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ได้ในเว็บ haamor.com)

มะเร็งผิวหนังเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจุบัน สาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง ทั้ง 2 กลุ่มที่กล่าวแล้ว ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบมีปัจจัยเสี่ยงดังนี้ คือ

  • การได้รับแสงแดดเรื้อรัง โดยเฉพาะแสงแดดจัด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด
  • คนที่มีผิวบาง
  • มีแผลเรื้อรัง เช่น แผลเรื้อรังจากสารเคมี เพราะการอักเสบเรื้อรัง อาจเป็นสาเหตุให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์ไปเป็นเซลล์มะเร็งได้
  • ผิวหนังสัมผัสสารพิษเรื้อรัง เช่น สารอาร์ซีนิค/สารหนู (Arsenic เป็นสารพิษ ที่เมื่อร่างกายได้รับต่อเนื่อง จะก่อให้เซลล์เกิดการบาดเจ็บ จนอาจกลายพันธ์เป็นเซลล์มะเร็ง หรือ เซลล์ถูกทำลายจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ ) เป็นต้น
  • ผิวหนังสัมผัสรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิด ไอออนไนซ์ (Ionizing radiation/ รังสีที่ทำให้เซลล์บาดเจ็บ เสียหาย และตายจากการแตกตัวของโมเลกุลในเซลล์เป็นประจุบวก และประจุลบ เช่น รังสีเอกซ์ หรือ รังสีที่ใช้ตรวจและรักษาโรค) ในปริ มาณสูงเรื้อรัง
  • จากมีโรคที่ส่งผลให้เกิดภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายบกพร่อง เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์
  • จากการกลายพันธุ์ ของไฝ ซึ่งสังเกตได้จาก ไฝจะเจริญเติบโตลงลึกในเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง อาจแตกเป็นแผล อาจมีเลือดออก และมักโตเร็ว
  • จากมีพันธุกรรมผิดปกติบางชนิด เช่น โรค Xeroderma pigmentosum (โรคที่เซลล์ผิวหนังไวต่อแสงแดดมากผิดปกติ จึงเกิดมะเร็งผิวหนังได้ง่าย) อย่างไรก็ตามพบโรคทางพันธุกรรมเหล่านี้ได้น้อยมากๆ
  • รังสีจากโทรศัพท์มือถือ มีบางการศึกษา2-3 การศึกษาที่รายงานว่า อาจเป็นสาเหตุมะเร็งผิวหนังได้ แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

โรคมะเร็งผิวหนังมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบบ่อยของโรคผิวหนัง คือ

  • การมีตุ่ม หรือ ก้อนเนื้อ หรือแผลเรื้อรังที่ผิวหนัง พบได้ในทุกบริเวณ รวมทั้ง ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหนังศีรษะ หรือ
  • ไฝต่างๆที่โตเร็ว อาจเจ็บ แตกเป็นแผล มีเลือดออกเรื้อรัง
  • อาจพบก้อนมะเร็งฯเพียงก้อนเนื้อเดียว หรือหลายๆก้อนเนื้อพร้อมๆกัน และ
  • เมื่อโรคลุกลาม อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงกับผิวหนังส่วนที่เกิดโรค โต คลำได้ เช่น ที่หน้าหู หรือลำคอ เมื่อมีแผล/ก้อนเนื้อที่หนังศีรษะ หรือใบหน้า, ที่รักแร้ เมื่อมีก้อนเนื้อ/แผลที่มือ หรือแขน, หรือที่ขาหนีบเมื่อมีก้อนเนื้อ/แผลที่เท้า หรือ ขา

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังได้จาก ประวัติการได้รับปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวในหัวข้อ’ปัจจัยเสี่ยงฯ’ การตรวจลักษณะก้อนเนื้อ แผล หรือไฝ ด้วยตาเปล่า การตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ แผล หรือไฝเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

นอกจากนั้นจะมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อจัดระยะโรค และประเมินสุขภาพผู้ป่วย เช่น การถ่ายเอกซเรย์ภาพปอดดูการแพร่กระจายของโรคสู่ปอด การตรวจเลือดต่างๆ เพื่อดูการทำ งานของ ไขกระดูก (ตรวจซีบีซี/CBC) ตับ และของไต เป็นต้น การตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งสู่ตับ แต่ทั้งนี้ การตรวจเพิ่มเติมต่างๆจะขึ้นกับ ชนิดของเซลล์มะเร็ง ขนาดของก้อนมะเร็ง การมีต่อมน้ำเหลืองโต และดุลพินิจของแพทย์

โรคมะเร็งผิวหนังมีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งผิวหนังมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ แต่แบ่งตามชนิดของเซลล์มะเร็งด้วย ดังนี้

ก. ระยะโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา:

  • ระยะที่ 1 ก้อนหรือแผลมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซ็นติเมตร (ซม.)
  • ระยะที่ 2 ก้อนหรือแผลมะเร็งโตเกิน 2 ซม. หรือขนาดใดก็ได้ แต่เป็นเซลล์มะ เร็งชนิดมีการแบ่งตัวสูง หรือลุกลามลงลึกใต้ผิวหนัง
  • ระยะที่ 3 ก้อนหรือแผลมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่ออื่นที่อยู่ติดผิวหนัง หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงเพียงต่อมเดียวและต่อมมีขนาดโตไม่เกิน 3 ซม.
  • ระยะที่ 4 ก้อนหรือแผลมะเร็งลุกลามเข้ากระดูก หรือเส้นประสาท หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 1 ต่อม หรือ ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 3 ซม. หรือ โรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักเข้าสู่ปอด

ข. ระยะโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา: ซึ่งบางระยะของโรคแบ่งย่อยได้อีก แต่มักใช้สำหรับแพทย์โรคมะเร็งเพื่อใช้ช่วยในการพิจารณาวิธีรักษา และเพื่อการศึกษา

  • ระยะที่ 1 ก้อนหรือแผลมะเร็งขนาดโตไม่เกิน 2 มิลลิเมตร (มม.) โดยแบ่งย่อยตาม ขนาดก้อน การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และการมีแผลแตก เป็นระยะ1A และ1B
  • ระยะที่ 2 ก้อนหรือแผลมะเร็งขนาดโตมากกว่า 2 มม. โดยแบ่งย่อยตาม ขนาดก้อน การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และการมีแผลแตก เป็นระยะ2A ระยะ2B และระยะ 2C
  • ระยะที่ 3 โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง โดยแบ่งย่อยตาม ขนาดก้อน การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง การมีแผลแตก และจำนวนต่อมน้ำเหลืองที่โรคลุกลาม เป็นระยะ 3A ระยะ3B และระยะ3C
  • ระยะที่ 4 โรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักแพร่กระจายสู่ ปอด กระดูก และสมอง

อนึ่ง ถ้าเซลล์มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในเนื้อเยื่อบุผิว เรียกว่า เป็นมะเร็งระยะยังไม่มีการรุกราน(Preinvasive หรือ Preinvasive cancer) จัดเป็น ‘มะเร็งระยะศูนย์(Stage0) อีกชื่อคือ Carcinoma in situ ’ ดังนั้น หลายท่านจึงยังไม่จัดโรคระยะ0 นี้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะมะเร็งแท้จริงต้องมีการรุนราน(Invasive) ซึ่งโรคมะเร็งผิวหนังระยะนี้ ยังพบได้น้อยมาก

โรคมะเร็งผิวหนังรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังทุกชนิดคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ การรักษาหลัก ได้แก่ การผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็ง และผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่มีโรคลุกลามแล้ว หลังจากนั้นจะมีการประ เมินระยะโรค และการลุกลามของเซลล์มะเร็งจากก้อนเนื้อและจากต่อมน้ำเหลืองจากการผ่าตัดโดยการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค ซึ่งถ้าพบว่า โรคเป็นชนิดรุนแรง เช่น ลุกลามเข้าเส้นประสาท แพทย์มักพิจารณาให้การรักษาต่อเนื่องด้วย การฉายรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด ส่วนยารักษาตรงเป้า (ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง) ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาถึงแม้บางตัวยาจะนำมาใช้ทางคลินิกบ้างแล้วก็ตาม

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งผิวหนัง ขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

  • การผ่าตัด เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • รังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริ เวณฉายรังสีรักษา) และอาการบวมแขน หรือ ขา เมื่อมีการฉายรังสีบริเวณต่อมน้ำเหลือง รักแร้ หรือขาหนีบ จากการเกิดพังผืดหลังฉายรังสี จึงส่งผลให้ท่อน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือขาหนีบอุดตัน(ขึ้นกับว่าฉายรังสีฯจุดใด) จึงเกิดภาวะน้ำเหลืองคั่งในบริเวณ แขน หรือขา
  • ยาเคมีบำบัด เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง)
  • ยารักษาตรงเป้า ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลต่างๆติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง)

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังขึ้นกับวิธีรักษา โดยผลข้างเคียงจะมีโอกาสเกิดสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน และ/หรือ
  • เมื่อผู้ป่วยสูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว โดยเฉพาะ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคที่ก่อการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง และในผู้สูงอายุ

โรคมะเร็งผิวหนังรุนแรงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรคมะเร็งผิวหนังขึ้นกับ ชนิดของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรค ตำแหน่งที่เกิดโรค อายุและสุขภาพผู้ป่วย

ก. ชนิดของเซลล์มะเร็ง: เรียงตามลำดับความรุนแรงโรคจากน้อยไปหามาก คือ ชนิดเบซาลเซลล์ ชนิดสะความัส และชนิดเมลาโนมา

ข. ระยะของโรค:

  • โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา อัตรารอดชีวิตที่ 5 ปีภายหลังการรักษา
    • ประมาณ 90-100% ในโรคระยะที่ 1
    • ประมาณ 70-80% ในโรคระยะที่ 2
    • ประมาณ 50% ในโรคระยะที่ 3
    • และประมาณ 0-30% ในโรคระยะที่ 4
  • โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา อัตรารอดชีวิตที่ 5 ปีภายหลังการรักษาใน
    • ระยะที่ 1: ประมาณ 75-80 %
    • ระยะที่ 2: ประมาณ 40-70%
    • ระยะที่ 3: ประมาณ 30-40%
    • และระยะที่ 4: ประมาณ 0-10 %

ค. ตำแหน่งที่เกิดโรค โรคมะเร็งที่อยู่ในตำแหน่งที่สามารถผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกได้หมด ความรุนแรงโรคน้อยกว่า เมื่อผ่าตัดได้ไม่หมด หรือผ่าตัดไม่ได้

ง. อายุและสุขภาพผู้ป่วย ดังกล่าวแล้ว ถ้าผ่าตัดไม่ได้ จากอายุ และ/หรือจากสุขภาพ ความรุนแรงของโรคจะสูงขึ้น//การพยากรณ์โรคไม่ดี

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งผิวหนังไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งผิวหนังทุกชนิดให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ หมั่นสังเกตผิวหนังทุกส่วนของตนเองเสมอ เมื่อพบก้อนเนื้อ หรือ ไฝ ที่โตเร็ว หรือมีลักษณะผิดปกติดังกล่าวในหัวข้ออาการ หรือมีความกังวลเมื่อพบมีก้อนเนื้อ หรือมีไฝ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัย และเพื่อการรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่นๆ

ป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังอย่างไร?

วิธีป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด โดยการไม่ตากแดด แต่ถ้าจำเป็น ควรสวมหมวก กางร่ม ใส่แว่นกันแดด สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใช้เสื้อผ้าสีอ่อน และการทายา/ครีมกันแดด ซึ่งมีค่าป้องกันแสงแดด เอสพีเอฟ (SPF ,Sun protection factor, ป้องกันแสงชนิด ยูวีบี/UVB เป็นส่วนใหญ่) ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป และค่า พีเอ (PA,Protection grade for UVA,ป้องกันแสงชนิดยูวีเอ/UVA เป็นส่วนใหญ่) +++

นอกจากนั้น คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น การสัมผัสสารเคมีต่างๆเรื้อรัง และการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือ โรคเอดส์

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็ง? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดจะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ทั้งนี้รวมถึงในมะเร็งผิวหนัง แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  2. Edge, S. et al. (2010). AJCC: Cancer staging handbook. New York: Springer
  3. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers
  4. Halperin, E., Perez, C., and Brady, L. (2008). Perez and Brady: Principles and practice of Radiation Oncology (5th edition). Philadelphia: Wolters Kluwer/ Lippincott Williams & Wilkins
  5. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Skin_cancer [2018,Sept15]
  7. https://www.cancer.org/cancer/cancer-causes/radiation-exposure/cellular-phones.html [2018,Sept15]
  8. https://www.cancer.org/cancer/melanoma-skin-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates-for-melanoma-skin-cancer-by-stage.html [2018,Sept15]